—–เมืองตุนหวง (敦煌) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกานซู่ (甘肅省) ในภาคตะวันตกของจีน เป็นเมืองศูนย์กลางของ 2 มณฑลและ 1 เขตปกครองตนเอง คือ มณฑลกานซู่ มณฑลชิงไห่ (青海省) และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (新疆維吾爾自治區) มีพื้นที่ราว 3 หมื่นตารางกิโลเมตร —–ในอดีตเส้นทางสายไหมเริ่มต้นจากจีนผ่านทะเลทรายทากลามากัน (塔克拉瑪干沙漠) ไปจนถึงประเทศทางตะวันตก เมืองตุนหวงตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม จึงเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้านการค้า มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่อเนื่องยาวนาน เป็นทางผ่านและจุดแวะพักสำคัญ ซึ่งพ่อค้าและนักเดินทางนิยมกัน ทั้งยังเป็นจุดรวมของอารยธรรมจีนกับอารยธรรมตะวันตก เดิมทีมีกองทหารคอยคุ้มกันพ่อค้าและนักเดินทางด้วย —–เมืองตุนหวงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา สังคม และการค้าที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10 เมืองนี้ผ่านการปกครองโดยหลายราชวงศ์ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน อย่างไรก็ตาม หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา เส้นทางสายไหมเริ่มเสื่อมความนิยมลง เนื่องจากเทคโนโลยีการเดินเรือพัฒนาก้าวหน้า เมืองตุนหวงจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลง ภาพแผนที่เมืองตุนหวง —–ในค.ศ. 366 มีตำนานเล่าว่าหลวงจีนรูปหนึ่งชื่อ เล่อจุน (樂尊) ได้จาริกผ่านมา แล้วเกิดนิมิตเห็นภาพพระพุทธรูปพันองค์มีแสงเรืองรองในท้องฟ้ายามราตรีเหนือเนินเขาหมิงซา (鳴沙山) จึงถือเอานิมิตนั้นเป็นแรงบันดาลใจอันมุ่งมั่นลงมือสกัดหินหน้าผาเพื่อสร้างวัดถ้ำที่มีพระพุทธรูปไว้สักการะ ต่อมามีผู้สานต่องานจนคริสต์ศตวรรษที่ 10 เมืองตุนหวงมีผู้ศรัทธาสร้างวัดถ้ำถึง 15 แห่ง รวมทั้งมีการแกะสลักและวาดภาพอย่างต่อเนื่องจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 —–ถ้ำที่สำคัญและมีชื่อเสียงคือถ้ำโม่เกา (莫高窟) เป็นแหล่งรวมคัมภีร์และเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก มีเอกสารโบราณกว่า 4 หมื่นชิ้น เป็นเอกสารในช่วง ค.ศ. 405-1002 เอกสารเหล่านี้บันทึกเป็นภาษาซอกเดีย (Sogdian) ภาษาอุยกูร์ และภาษาเตอร์กิกซอกเดีย คาดว่าเขียนโดยพ่อค้าต่างชาติ บันทึกต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูของตุนหวงในสมัยนั้น ที่ช่วยให้เข้าใจเส้นทางสายไหมมากขึ้น ดังนั้นหากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ถ้ำโม่เกาถือเป็นคลังข้อมูลอันสูงค่า ห้องเก็บคัมภีร์ —–สินค้านำเข้าหลักในสมัยราชวงศ์ถังผ่านเส้นทางสายไหม ได้แก่ ผ้าเปอร์เซีย ผ้าไหม น้ำหอม โลหะ อัญมณี ฯลฯ ส่วนสินค้าที่ผลิตในแถบตุนหวงและส่งออกได้แก่ ผ้าไหมหลากหลายชนิด ผลิตภัณฑ์จากฝ้าย ขนแกะ ขนสัตว์ ใบชา เครื่องกระเบื้อง ยา สมุนไพร หยก อูฐ แกะ สีย้อมผ้า ผลไม้แห้ง งานปักผ้า ฯลฯ —–สมัยราชวงศ์ถังเศรษฐกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเมืองใหญ่อย่างตุนหวง วัฒนธรรมตุนหวงโดยมากได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจงหยวน[1] ในยุคถัง ที่น่าสนใจคือข้อมูลเรื่องความรักและเพศสัมพันธ์ของหญิงชายในยุคนั้น เพราะช่วยสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและสังคมของผู้คนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี แบ่งได้หลายประเด็น ดังนี้ เอกสารจำนวนมากภายในถ้ำ อายุที่นิยมแต่งงาน —–อายุที่คนสมัยนั้นนิยมแต่งงานมีหลากหลาย สำหรับผู้ชายมีทั้งอายุ 15 ปี และ20 ปี ส่วนผู้หญิงตั้งแต่อายุ 15-19 ปี เพราะราชวงศ์ถังในแต่ละสมัยมีข้อกำหนดเรื่องอายุแต่งงานที่แตกต่างกัน จึงส่งผลถึงประเพณีการแต่งงานของชาวบ้าน เช่น สมัยจักรพรรดิถังไท่จง (唐太宗 ค.ศ. 598-649) มีการกำหนดให้ผู้ชายแต่งงานเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ผู้หญิงแต่งงานเมื่ออายุ 15 ปีขึ้นไป ในสมัยโบราณเมื่อผู้ชายอายุครบ 20 ปีต้องเข้าพิธีสวมหมวก (冠禮) เพื่อแสดงว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ส่วนฝ่ายหญิงเมื่ออายุครบ 15 ปีต้องร่วมพิธีใช้ปิ่นปักผม (笄禮) อายุของผู้เข้าพิธีสอดคล้องกับข้อกำหนดของจักรพรรดิถังไท่จง —–ต่อมาใน ค.ศ. 734 จักรพรรดิถังเสวียนจง (唐玄宗 ค.ศ. 685-762) กำหนดให้ผู้ชายแต่งงานเมื่ออายุ 15 ปีขึ้นไป และผู้หญิงแต่งงานได้เมื่ออายุ 13 ปีขึ้นไป —–กระทั่งยุคจักรพรรดิถังไต้จง (唐代宗 ค.ศ. 726-779) หลังจากเหตุการณ์กบฏอันสื่อ (安史之亂) บ้านเมืองยังไม่สงบ งานแต่งงานจำต้องเลื่อนออกไปหลายงาน ส่งผลให้คู่แต่งงานมีอายุมากขึ้น แม่สื่อ —–สังคมศักดินามีข้อกำหนดที่ครอบคลุมถึงพิธีแต่งงาน บิดามารดาและแม่สื่อคอยเป็นธุระให้ทุกเรื่อง เช่นเดียวกับชาวจีนสมัยถัง แม่สื่อเป็นที่นิยม อาจเพราะสมัยนั้นหญิงชายไม่มีโอกาสได้พบกัน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับชนชั้น ฐานะ และสังคม ได้แก่ —–ถึงกระนั้น หญิงชายบางคนก็แหวก “ม่านประเพณี” ไม่ยอมถูกบีบบังคับแบบเดิม และหาทางเลือกคู่เองตามต้องการ โดยเฉพาะแถบพื้นที่ตุนหวงที่มีมากขึ้น ในช่วงนั้นหญิงสาวค่อนข้างมีฐานะทางสังคม จึงเลือกสามีได้อย่างอิสระ สินสอดทองหมั้น —–เอกสารที่ตุนหวงจำนวนไม่น้อยสะท้อนวัฒนธรรมเรื่องสินสอดทองหมั้น ฝ่ายชายต้องให้สินสอดฝ่ายหญิง โดยทั่วไปในหมู่ประชาชนมอบสินสอดทองหมั้นกว่า 20 อย่าง เช่น ทองคำ หยก ที่นอน ผ้าห่ม ผ้าไหม ม้า หมู แพะ ผลไม้ น้ำมัน เกลือ ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู พริก ขิง ต้นหอม กระเทียม ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นของกินและของใช้ในชีวิตประจำวัน ค่านิยมอยู่ก่อนแต่ง —–ชาวตุนหวงยุคนั้นมีค่านิยมอยู่ก่อนแต่งเช่นกัน แต่มีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ลักษณะคล้ายกับการอยู่ก่อนแต่งของชาวตะวันตกในปัจจุบัน หากตัดสินใจว่าจะอยู่ก่อนแต่ง ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะทำหนังสือข้อตกลงการอยู่ก่อนแต่ง เพื่อเป็นหลักปฏิบัติที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมพร้อมใจ เพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา —–ชาวตุนหวงให้ความสำคัญแก่เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างยิ่ง พวกเขาเห็นว่าเพศสัมพันธ์เป็นพื้นฐานสำคัญด้านความสุขของชีวิตคู่และเพื่อสืบพันธุ์ ในยุคนั้นหนังสือเพศศึกษาค่อนข้างเป็นที่นิยม ก่อนแต่งงานสามีภรรยาจะอ่านเป็นความรู้และนำมาปฏิบัติ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญแก่การจัดที่นอน เวลามีเพศสัมพันธ์จะกั้นฉากเพื่อความเป็นส่วนตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เจ้าบ้านจะให้สาวใช้รอชำระล้างและเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังเสร็จกิจเพื่อสุขอนามัยที่ดี —–การมีเพศสัมพันธ์ของชาวตุนหวงยังได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋า เพราะเต๋ามีแนวคิดที่เรียกว่า ‘กามศิลป์ในห้องหอ’ (房中術) เนื้อหาบรรยายว่า “น้ำอสุจิของบุรุษและโลหิตของสตรีเป็นสิ่งสูงค่ายิ่ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์หลายครั้งย่อมเป็นผลเสียแก่ร่างกาย” จิตรกรรมฝาผนังภาพเปลือย —–จิตรกรรมฝาผนังบางส่วนในถ้ำเมืองตุนหวงสะท้อนภาพลักษณ์เรื่องเพศ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 เมื่อมีการเผยแพร่พุทธศาสนาเข้าสู่แผ่นดินจีนแล้ว พุทธศิลป์คันธาระและพุทธศิลป์กรีกก็เข้าสู่จีนทางตะวันตกเฉียงเหนือ ส่งผลให้จีนได้รับอิทธิพลด้านการแสดงออกด้วย การเปลือยกายหรือเปลือยครึ่งท่อนกลายเป็นเรื่องปกติทางภาคตะวันตกของจีน รวมถึงพื้นที่แถบตุนหวงและทัวปาน (土魯番)
จิตรกรรมฝาผนังชิวฉือ —–จิตรกรรมฝาผนังชิวฉือ (龜茲壁畫) สะท้อนเรื่องดังกล่าวได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ภาพการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รัก การเต้นรำ การร้องรำทำเพลง ปรากฏประปรายอยู่ตามถ้ำที่อำเภอป้ายเฉิง (拜城) กว่า 500 จุด ผู้คนยุคหลังจึงสามารถเข้าใจและเห็นภาพวัฒนธรรมสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ชาวถังในภาคตะวันตกของจีนยังนิยมการเต้นรำเปลือยของหญิงสาว พวกเธอจะแต่งกายกึ่งเปลือย หวีผมทรงสูง โชว์หน้าอกและสะดือ สวมกระโปรงบางๆ ปักผ้าลวดลายต่างๆ —–นอกจากนี้ยังมีภาพชุดที่เกี่ยวกับการร่วมรักอีก 4 ภาพที่ค่อนข้างล่อแหลม —–ภาพที่ 1 เป็นภาพร่วมรักในท่านอน —–ภาพที่ 2 เป็นภาพร่วมรักในท่านั่ง —–ภาพที่ 3 เป็นภาพร่วมรักในท่ายืน —–ภาพที่ 4 เป็นภาพผู้หญิงโก้งโค้ง ผู้ชายสอดใส่อวัยวะเพศจากด้านหลัง มีผู้ชายอีกคนที่องคชาตชูชันยืนมองอยู่ข้างๆ —–สิ่งสำคัญคือภาพเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในถ้ำเมืองตุนหวงอันเป็นถ้ำทางพุทธศาสนา แสดงให้เห็นว่าผู้คนในยุคนั้นสนใจประเด็นนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพุทธศาสนาในยุคนั้นเกี่ยวพันกับไสยศาสตร์ เป็นไปได้ที่ภาพการร่วมเพศอาจเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ หรือพุทธตันตระ อันมีความเชื่อว่าตัณหาต้องดับด้วยตัณหา หนึ่งสามีหลายภรรยา —–การมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องที่พบเห็นได้เช่นกัน โดยมากมักมีภรรยา 2-3 คน แต่ถ้าเป็นชนชั้นสูงก็จะมีภรรยาจำนวนมากขึ้น ในครอบครัวผู้มีอันจะกินหรือชนชั้นสูง เมียหลวงและเมียน้อยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พวกเธอไม่ต่างอะไรกับของเล่นสำเร็จความใคร่ของผู้ชาย เชื่อกันว่าการมีภรรยามากแสดงถึงสถานะทางสังคมที่สูง แต่จากข้อมูลต่างๆ พบว่าเป้าหมายของการมีภรรยาหลายคนมี 3 ข้อ ได้แก่ การหย่าร้าง —–ผู้หญิงในสังคมศักดินาไม่มีอิสระในการหย่าร้าง เนื่องจากเพศชายมีสถานะเหนือกว่า ขณะเดียวกันผู้หญิงที่ถูกผู้ชายหย่าถือว่าเสื่อมเสียอย่างยิ่ง ช่วงชีวิตที่เหลือแทบต้องตากหน้าอยู่ในสังคม แต่พื้นฐานของชายหญิงในตุนหวงค่อนข้างเสมอภาค ผู้หญิงแต่งงานใหม่เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ขั้นตอนการหย่าก็ไม่ซับซ้อน ผู้ชายต้องเขียน ‘หนังสือปลดปล่อยภรรยา’ 《放妻書》แล้วให้ฝ่ายหญิงและพยานยินยอม จึงจะหย่ากันได้อย่างถูกต้อง ส่วนสาเหตุหลักของการหย่า เช่น นิสัยไม่ลงรอยกัน ภรรยากระทำผิด ภรรยาเป็นผู้ขอหย่า สามีเสียชีวิต เป็นต้น —–เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนค่านิยมและวิถีชีวิตของชาวจีนเมื่อพันกว่าปีก่อนทั้งในด้านเพศสัมพันธ์และการแต่งงาน บางส่วนก็เหมือน บางส่วนก็แตกต่างกับปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง [1] จงหยวน (中原) คือ ภาคกลางของแผ่นดินจีนในยุคโบราณ โดยนัยหมายถึงศูนย์กลางอารยธรรมของจีน ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณมณฑลเหอหนาน (ตอนกลางและตอนปลายลุ่มแม่น้ำฮวงโห) เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์