—–ในสมัยโบราณการที่ผู้หญิงจะมีอิทธิพลเหนือผู้ชายนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ หากแต่มีสตรีผู้หนึ่งซึ่งทรงอิทธิพลเหนือบุรุษผู้หนึ่ง และบุรุษผู้นั้นก็เป็นถึงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิง อิทธิพลที่ว่านี้หาใช่อำนาจบารมี หาใช่ทรัพย์สินไม่ แต่เป็นความรักซึ่งฮ่องเต้พระองค์นี้มีให้แก่สตรีผู้นี้ซึ่งนางใดจะแทนที่ได้ นามของเธอคือ ว่านเจินเอ๋อร์

ว่านเจินเอ๋อร์


—–ว่านเจินเอ๋อร์
(萬貞兒 ค.ศ. 1430-1487) หรือว่านกุ้ยเฟย (萬貴妃) ชาวเมืองจูเฉิง (諸城) มณฑลซานตง (山東) เป็นพระสนมเอกของจักรพรรดิหมิงเซี่ยนจง (明憲宗 หรือจูเจี้ยนเซิน 朱見深 ค.ศ. 1447-1487)

—–ขณะอายุได้ 4 ขวบ ว่านกุ้ย (萬貴) บิดาของว่านเจินเอ๋อร์ซึ่งเป็นข้าราชการประจำอำเภอถูกเนรเทศเนื่องจากกระทำผิดกฎหมาย ว่านเจินเอ๋อร์จึงถูกส่งเข้าวัง โดยเริ่มเป็นนางกำนัลในพระตำหนักของซุนไทเฮา (孫太后 ค.ศ. 1933-1462) ด้วยความที่เป็นเด็กเฉลียวฉลาด นางจึงได้รับความเอ็นดูจากซุนไทเฮาเป็นอย่างมาก

 

ชีวิตดรุณ

—–เมื่อเติบโตขึ้นเป็นสาวรุ่นอายุ 19 ปี ก็มีรับสั่งให้ว่านเจินเอ๋อร์ไปดูแลองค์รัชทายาทจูเจี้ยนเซินที่มีพระชนมายุเพียง 2 พรรษา และนี่คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ต่างฐานันดรระหว่างพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์และพระพี่เลี้ยง

จักรพรรดิหมิงอิงจง

—–ในช่วงรัชศกเจิ้งถ่ง (正統 ค.ศ. 1436-1449) ปีที่ 14 ของจักรพรรดิหมิงอิงจง (明英宗 หรือจูฉีเจิ้น 朱祁镇 ค.ศ. 1427-1464) ผู้เป็นพระราชบิดาของรัชทายาทจูเจี้ยนเซินถูกชนเผ่าหว่าล่า (瓦剌 ชนเผ่ามองโกเลียที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอาณาจักรหมิง) จับกุมตัวไประหว่างการนำทัพทำศึก เมื่อจักรพรรดิตกเป็นเชลย ราชสำนักย่อมไม่อาจขาดประมุขได้ ซุนไทเฮาและเหล่าขุนนางจึงพร้อมใจกันยกราชสมบัติให้จูฉีอวี้ (朱祁鈺 พระอนุชาต่างพระมารดาของจักรพรรดิหมิงอิงจง) ขึ้นเป็นจักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ (明景帝 ค.ศ. 1428-1457 จักรพรรดิองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์หมิง) ซึ่งทรงครองราชย์เพียง 8 ปีก็สวรรคต ทว่าในระหว่างนั้นเอง จูเจี้ยนเซินไม่เพียงถูกปลดออกจากตำแหน่งรัชทายาท แต่ยังถูกกักกันให้อยู่แค่ในตำหนักของตนเองเท่านั้น เนื่องจากจักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ต้องการแต่งตั้งพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ จูเจี้ยนจี้ (朱見濟 ค.ศ. 1448-1453) ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน


—–
ภายหลังหัวหน้าชนเผ่าหว่าล่ายอมปล่อยตัวจูฉีเจิ้นคืนสู่พระราชวังปักกิ่ง แต่ทุกอย่างกลับไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พระองค์ทรงต้องยอมรับตำแหน่งไท่ซ่างหวง (太上皇) กลายเป็นจักรพรรดิผู้สละราชสมบัติ และถูกกักขังไว้ที่ตำหนักเฮยหว่าเตี้ยน (黑瓦殿 ตำหนักกระเบื้องดำ) ภายในพระราชวังปักกิ่ง จนกระทั่งต้น ค.ศ. 1457 ขณะที่จักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ทรงประชวรหนัก เนื่องด้วยเสียพระทัยกับการสิ้นพระชนม์ของรัชทายาทจูเจี้ยนจี้ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา เหล่าขุนนางที่ภักดีต่อจักรพรรดิหมิงอิงจงจึงฉวยโอกาสยึดอำนาจ แล้วเชิญพระองค์กลับมาครองราชย์อีกครั้ง

—–เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการปลดจักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ออกจากตำแหน่ง และกำจัดข้าราชการที่จงรักภักดีต่อจักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ทิ้งเสีย รวมทั้งแต่งตั้งจูเจี้ยนเซินขึ้นเป็นรัชทายาทเหมือนเดิม

—–ตลอดเวลา 8 ปีแห่งการครองราชย์ของจักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ ไม่มีใครสนใจใยดีว่าจูเจี้ยนเซินจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เป็นตายร้ายดีอย่างไร จะมีก็เพียงแต่ว่านเจินเอ๋อร์ที่คอยปกป้องดูแลอยู่เคียงข้าง พระองค์เสมอ พระองค์จึงทรงรู้สึกปลอดภัย และรักว่านเจินเอ๋อร์เหมือนแม่ เหมือนพี่สาว และช่วยให้มีความหวังในการดำรงชีวิตต่อไป

—–เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ความรู้สึกนี้ก็ได้สั่งสมจนกลายเป็นความรักอันลึกซึ้งไปตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

 

จอมใจจักรพรรดิ

จักรพรรดิหมิงเซี่ยนจง

—–หลังจากจักรพรรดิหมิงอิงจงสวรรคต องค์รัชทายาทจูเจี้ยนเซินซึ่งขณะนั้นอายุ 18 ปี ก็ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์หมิง นามว่า หมิงเซี่ยนจง (明憲宗 ค.ศ. 1447-1487) พระองค์ต้องการแต่งตั้งว่านเจินเอ๋อร์เป็นฮองเฮา ขณะนั้นว่านเจินเอ๋อร์มีอายุ 35 ปี เทียบเท่ากับพระมารดาโจวไทเฮา (周太后) ผู้ซึ่งทรงคัดค้านอย่างแข็งขันว่า จะให้นางกำนัลผู้มีฐานะต่ำต้อยเป็นถึงฮองเฮาได้อย่างไร? พระนางจึงเลือกบุตรีตระกูลอู๋ ผู้เพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติขึ้นเป็นฮองเฮาแทน และให้ว่านเจินเอ๋อร์เป็นกุ้ยเฟย (貴妃) แต่ทว่าหลังพระราชพิธีอภิเษกสมรสอันยิ่งใหญ่ จักรพรรดิเซี่ยนจงกลับไม่สนใจไยดีอู๋ฮองเฮา (吳皇后) แต่มักเสด็จไปบรรทมที่ตำหนักของว่านกุ้ยเฟยเป็นประจำ อู๋ฮองเฮาทรงไม่เข้าใจว่า พระองค์สู้หญิงวัยกลางคนอย่างว่านกุ้ยเฟยไม่ได้ตรงไหน? ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม ความสามารถและสติปัญญา แม้กระทั่งวงศ์ตระกูลก็สูงกว่านาง เมื่อคิดดังนี้แล้วยิ่งทำให้พระนางทั้งโกรธทั้งอับอาย

—–ในปีรัชศกเฉิงฮว่าที่ 2 (成化二年) ว่านกุ้ยเฟยซึ่งขณะนั้นมีอายุ 37 ปี ได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง จักรพรรดิหมิงเซี่ยนจงทรงดีพระทัยเป็นอย่างมาก จึงแต่งตั้งให้พระนางเป็นหวงกุ้งเฟย และเตรียมสถาปนาพระโอรสเป็นรัชทายาท แต่อนิจจา! 1 ปีให้หลัง พระราชโอรสก็สิ้นพระชนม์ นับแต่นั้นมานางก็ไม่ให้กำเนิดทายาทอีกเลย

—–ถึงกระนั้นจักรพรรดิหมิงเซี่ยนจงก็ยังโปรดนางเหมือนเดิม พระองค์มักทรงขลุกอยู่กับนาง แต่ยิ่งโปรดพระนางมากเท่าไหร่ นางก็ยิ่งหยิ่งยโสมากเท่านั้น แม้กระทั่งเวลาเข้าเฝ้าฮองเฮา นางกลับเชิดหน้า วางมาด ขาดความเคารพยำเกรง บ่อยครั้งเข้าก็ทำให้อู๋ฮองเฮากริ้ว และทนไม่ไหวจึงได้กล่าวโทษอย่างรุนแรง แต่นางนอกจากไม่เกรงกลัวแล้ว ยังใช้คำพูดหยาบคายเหน็บแนม เยาะเย้ย ทำให้อู๋ฮองเฮาจึงมีรับสั่งให้ลากพระนางออกไปโบยจนลุกไม่ขึ้น

—–เรื่องที่เกิดขึ้นบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โต จนความทราบถึงพระกรรณของจักรพรรดิหมิงเซี่ยนจง พระองค์กริ้วมาก เสด็จไปหาว่านกุ้ยเฟยด้วยความเป็นห่วง และออกพระโอษฐ์ว่าจะคาดโทษฮองเฮา ว่านกุ้ยเฟยแสร้งทำเป็นเหนี่ยวรั้งพระองค์ไว้ พลางออดอ้อน “หม่อมฉันอายุเยอะแล้ว ความงามมีแต่จะเสื่อมถอย มิอาจสู้หญิงงามที่สวยดุจสวรรค์รังสรรค์อย่างฮองเฮาได้ ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้หม่อมฉันออกจากวัง เพื่อมิให้ฮองเฮากริ้ว หม่อมฉันก็คงไม่ต้องโดนโบยอีก”

—–เมื่อได้ฟังเช่นนั้นพระองค์ทั้งเกลียดฮองเฮา ทั้งสงสารว่านกุ้ยเฟย และครั้นทอดพระเนตรรอยเลือดซิบๆ เป็นทางยาวก็บันดาลโทสะจนตัวสั่น พระองค์ตรัสแก่ไทเฮาว่า “อู๋ฮองเฮาวางตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นฮองเฮา ละเมิดกฎมนเทียรบาล ไม่อาจปกครองฝ่ายในได้อีก ข้าต้องการปลดอู๋ฮองเฮาออกจากตำแหน่ง” โจวไทเฮาทรงเตือนว่า “มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งไปเพียง 1 เดือน ก็จะถอดยศแล้ว ใครรู้จะไม่เป็นเรื่องตลกขบขันหรือ?”  แต่จักรพรรดิเซี่ยนจงก็ทรงยืนกรานหนักแน่น และมีรับสั่งให้ปลดฮองเฮาออกจากตำแหน่งทันที ส่วนว่านกุ้ยเฟยแม้หมายปองตำแหน่งฮองเฮา แต่นางก็รู้ดีว่าโจวไทเฮาต้องไม่ทรงยินยอม และตั้งแง่รังเกียจที่นางอายุมาก อีกทั้งฐานะยังต่ำต้อยด้วย

—–ผ่านไปแค่ 2 เดือน โจวไทเฮาก็มีคำสั่งให้แต่งตั้งบุตรีตระกูลหวาง (王氏) ขึ้นเป็นฮองเฮา หวางฮองเฮามีนิสัยอ่อนโยน ไม่ชอบมีเรื่องมีราวกับใคร เมื่อรู้ว่าจักรพรรดิเซี่ยนจงโปรดว่านกุ้ยเฟย พระนางจึงไม่คิดจะเป็นศัตรูด้วย ทำได้เพียงเจียมเนื้อเจียมตัวและอดกลั้น ประหนึ่งเป็นเพียงหุ่นเชิดก็พอ

—–เมื่อเวลาผ่านไปว่านกุ้ยเฟยยิ่งมีอำนาจและอิทธิพลภายในวังเพิ่มมากขึ้น ทว่านางไม่พอใจเพียงแค่นี้ แต่ยังขยายอำนาจและอิทธิพลออกนอกพระราชวัง ด้วยการร่วมมือกับเหล่าขันทีและขุนนางที่ยอมสวามิภักดิ์กับพระนางทั้งที่อยู่ในและนอกพระราชวัง โดยก่อตั้งหน่วยสืบราชการลับซีฉ่าง (西廠) เพื่อส่งคนไปติดตาม สอดแนมสืบข่าวตั้งแต่ขุนนาง (โดยเฉพาะขุนนางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระนาง) จนถึงประชาชน เป็นเหตุให้ผู้คนเกรงกลัวอิทธิพลอันล้นเหลือของนาง แม้แต่จักรพรรดิเซี่ยนจงก็ยังทรงเชื่อฟังนาง

—–อยู่มาวันหนึ่ง จักรพรรดิเซี่ยนจงหวนคิดถึงพระโอรสที่ล่วงลับไปแต่เด็ก จึงตรัสแก่จางหมิ่น (張敏) ขณะที่ส่องคันฉ่องเห็นเส้นพระเกศาขาวแซมอยู่ “ข้านั้นอายุเยอะแล้ว กลับยังไม่มีทายาทมาสืบราชบัลลังก์” จางหมิ่นได้ฟังดังนั้นก็คุกเข่าลงพลางกล่าวว่า “ขอพระองค์โปรดให้อภัยหม่อมฉันด้วยพะยะค่ะ หม่อมฉันขอกราบทูลว่า พระองค์ทรงมีพระโอรสแล้วพะยะค่ะ” จักรพรรดิเซี่ยนจงทรงสดับดังนั้นก็ทั้งตกพระทัยและดีพระทัยไปพร้อมกัน

—–เรื่องราวชวนพิศวงนี้เริ่มต้นเมื่อราวรัชศกเฉิงฮว่า (成化) ปีที่ 3  (ค.ศ. 1467) เมื่อครั้งชนเผ่าถู่จู๋ (土族 ชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณมณฑลชิงไห่และมณฑลกานซู่) ก่อการกบฏ จักรพรรดิเซี่ยนจงทรงส่งแม่ทัพใหญ่ไปปราบปราม หลังเหตุการณ์สงบลงก็นำลูกสาวของหัวหน้าชนเผ่าแซ่จี่ (紀姓) เข้าวังไปช่วงดูแลท้องพระคลังของฝ่ายใน ตามปกติจักรพรรดิเซี่ยนจงมักเสด็จไปยังท้องพระคลังเพื่อสอบถามถึงจำนวนเงินคงคลังว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด ด้วยความที่นางเป็นคนน่ารัก สวยงาม พูดจาฉะฉาน คล่องแคล่ว พระองค์รู้สึกถูกพระทัยและเรียกนางเข้าถวายตัว

—–ผ่านไปเดือนกว่าๆ นางก็ตั้งครรภ์ เรื่องนี้รู้ถึงหูของว่านกุ้ยเฟย จึงเกิดความอิจฉาและจงเกลียดจงชังเป็นอย่างมากจึงสั่งให้นางไปทำแท้ง คนรับใช้ใกล้ชิดโกหกว่านางไม่ได้ตั้งครรภ์ แค่มีเนื้องอกอยู่ในช่องท้อง แต่ว่านกุ้ยเฟยยังไม่ไว้วางใจจึงส่งตัวไปไว้ที่ตำหนักเย็น และว่านกุ้ยเฟยก็คอยสอดส่องอยู่ตลอด  จนกระทั่งนางคลอดลูกชาย ว่านกุ้ยเฟยสั่งให้จางหมิ่นนำทารกไปกำจัดเสีย จางหมิ่นเห็นทารกน่าเกลียดน่าชัง พลางคิดไปว่าจักรพรรดิเซี่ยนจงทรงมีพระชนมายุมากแล้ว พระราชโอรสหลายพระองค์หากไม่เสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ ก็เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก
—–จนบัดนี้จักรพรรดิเซี่ยนจงก็ยังไม่มีทายาท ดังนั้นจางหมิ่นจึงเสี่ยงชีวิต นำทารกไปซ่อนไว้ในห้องลับ เลี้ยงดูด้วยแป้ง น้ำผึ้ง จางหมิ่นทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง และสามารถรอดหูรอดตาของว่านกุ้ยเฟยได้ทุกครั้ง ต่อมาอู๋ฮองเฮา (ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง) ทราบเรื่อง จึงรับทารกมาไว้ที่ตำหนักของตัวเอง ช่วยเลี้ยงดูจนกระทั่งองค์ชายน้อยตอนนี้อายุ 6 พรรษาแล้ว

—–จักรพรรดิเซี่ยนจงได้ฟังดังนั้นก็ดีพระทัยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้รีบไปเชิญองค์ชายน้อยมาเข้าเฝ้า ครั้งแรกที่ทรงพบหน้ากับพระโอรส พระองค์ทั้งทรงดีพระทัยและเศร้าพระทัย รีบอุ้มพระโอรสขึ้นไว้ในอ้อมแขน แล้วให้ประทับที่พระเพลาของพระองค์ ทอดพระเนตรอยู่เป็นนาน แล้วตรัสเบาๆ ว่า “ลูกคนนี้ช่างเหมือนข้าเสียจริง เป็นลูกของข้าจริงๆ!”

 

ซูเฟย

—–วันรุ่งขึ้น เหล่าขุนนางทราบข่าวต่างร่วมแสดงความยินดีแก่พระองค์และอวยพรองค์ชายน้อยอย่างพร้อมเพรียงกัน นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนางจี่เป็นซูเฟย (淑妃) และตั้งชื่อพระราชโอรสว่า “โย่วเชิง” (祐樘)

—–เวลาผ่านไปไม่นาน จี่ซูเฟยก็เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ (สันนิษฐานกันว่า นางอาจโดนวางยาหรือถูกจับแขวนคอ) แต่จักรพรรดิเซี่ยนจงกลับไม่ติดพระทัยกับการเสียชีวิตของนาง จึงมีพระบรมราชโองการให้จัดงานฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อเห็นจี่ซูเฟยสิ้นบุญแล้ว ขันทีจางหมิ่นก็คิดว่าตัวเองคงหนีไม่พ้นมือสังหารของว่านกุ้ยเฟยเป็นแน่ จึงชิงฆ่าตัวตายก่อน

 

วาระสุดท้ายของชีวิต

—–ว่านกุ้ยเฟยพยายามหาวิธีกำจัดโย่วเซิง ทายาทของจี่ซูเฟย แต่ไม่อาจลงมือได้โดยง่าย เพราะโจวไทเฮานำองค์ชายน้อยไปเลี้ยงดู และปกป้องพระนัดดาราวกับไข่ในหิน ต่อมาจักรพรรดิเซี่ยนจงแต่งตั้งโย่วเซิงเป็นรัชทายาท

—–เรื่องนี้ทำให้ว่านกุ้ยเฟยพยายามคิดหาแผนการเพื่อสั่นคลอนตำแหน่งรัชทายาท แต่หาวิธีเท่าไหร่ก็ไม่อาจทำอะไรองค์รัชทายาทได้ สุดท้ายนางก็ล้มป่วย และสิ้นพระชนม์ในฤดูใบไม้ผลิของรัชศกเฉิงฮว่าที่ 23 (ค.ศ. 1487) รวมพระชนมายุ 58 พรรษา เมื่อจักรพรรดิเซี่ยนจงทรงทราบข่าวก็เสียพระทัยเป็นอย่างมาก รู้สึกเหมือนสูญเสียอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตไป ทรงรำพึงว่า “ว่านกุ้ยเฟยไม่อยู่แล้ว ข้าก็คงอยู่อีกไม่นาน!” พระองค์มีพระบรมราชโองการให้จัดพิธีฌาปนกิจว่านกุ้ยเฟยดั่งจักรพรรดินี พร้อมยกเลิกงานว่าราชการ 7 วัน

—–เดือนแปดปีเดียวกัน จักรพรรดิเซี่ยนจงทรงพระประชวรหนักเนื่องจากทรงตรอมพระทัย และสวรรคตตามว่านกุ้ยเฟยไปด้วยพระชนมายุเพียง 41 พรรษา พร้อมทิ้งปริศนาตำนานรักให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งสองว่า เหตุใดผู้หญิงที่มีอายุมากกว่าถึง 17 ปีจึงสามารถกุมหัวใจขององค์จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต …

 

เรื่องโดย เสี่ยวเฉิน