—–ต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ค.ศ. 25-220) ถือเป็นช่วงที่สังคมจีนเต็มไปด้วยความเชื่อที่แตกต่าง ผู้คนส่วนใหญ่ศรัทธาในอำนาจเหนือธรรมชาติ บ้างศรัทธาในเทพเจ้า เชื่อว่าการสักการะบูชาเทพเจ้าด้วยเครื่องเซ่นต่างๆ จะทำให้ชีวิตตนและครอบครัวอยู่ดีมีสุข บ้างศรัทธาในฟ้าดิน เชื่อมั่นว่าฟ้าและดินประทานพรและลงโทษมนุษย์ได้ ตลอดจนศรัทธาเรื่องภูตผีปีศาจและอำนาจลึกลับ แม้กระทั่งลัทธิหรู (儒家) ในเวลานั้นก็ยังค่อยๆ ผิดเพี้ยนจนคล้ายจะเป็น ‘ไสยศาสตร์หรู’ เข้าไปทุกขณะ ท่ามกลางความเชื่อเรื่องเทพเจ้า ฟ้าดิน และภูตผีปีศาจ บัณฑิตหนุ่มคนหนึ่งยืนหยัดในความคิดที่แตกต่าง เสนอแนวคิดที่มองทุกสิ่งตามความเป็นจริงและปฏิเสธความเชื่องมงายทั้งปวง บัณฑิตผู้นั้นมีนามว่า หวังชง (王充)

—–หวังชง มีชื่อรองว่า จ้งเริ่น (仲任) ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่เมืองไคว่จี[1] (會稽) หวังชงกำพร้าบิดาซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวตั้งแต่ยังเล็ก ฐานะทางบ้านจึงค่อนข้างยากจน แต่ถึงกระนั้นเขาก็ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี หวังชงเป็นเด็กฉลาดและใฝ่รู้ เขาเริ่มเรียนอ่านเขียนตั้งแต่อายุ 6 ปี ครั้นอายุได้ 8 ปี ก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนในหมู่บ้าน เขามุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการเรียนเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีความสามารถโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ จึงเป็นที่รักใคร่ของบรรดาอาจารย์ กระทั่งหวังชงอ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉาน เขาจึงลาออกจากโรงเรียนและเริ่มศึกษาตำราขงจื่อ (孔子) และเหลาจื่อ (老子) อย่างจริงจัง

—–เมื่ออายุได้ 18 ปี หวังชงเดินทางไปยังเมืองลั่วหยาง (洛陽) เมืองหลวงของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเพื่อเข้าศึกษาในสำนักราชบัณฑิต (太学) สถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในฐานะนักเรียน ‘หัวกะทิ’ ของหมู่บ้าน การมุ่งหน้าสู่เมืองลั่วหยางไม่เพียงแต่เปิดโอกาสด้านการศึกษา แต่ยังทำให้หวังชงได้รู้จักกับนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงแห่งยุคฮั่นมากมาย เช่น หวนถัน (桓譚) ยอดปราชญ์มากความสามารถ ผู้เชี่ยวชาญทั้งปรัชญาขงจื่อ ดาราศาสตร์และดนตรี ปันเปียว (班彪) ผู้เป็นเลิศด้านประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นต้น นอกจากการศึกษาในชั้นเรียน หวังชงยังขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการอ่านหนังสือ แต่เนื่องจากฐานะทางบ้านที่ค่อนข้างขัดสน จึงใช้วิธีการตระเวนไปตามหอประวัติศาสตร์ หอสมุดหลวง และหอสมุดประชาชน เพื่ออ่านหนังสือทุกประเภทตั้งแต่คัมภีร์โบราณ ตำราขงจื่อ ตำราเหลาจื่อ ไปจนถึงตำราของสำนักอื่นๆ โดยไม่แบ่งแยก นอกจากพรแสวงที่หมั่นหาความรู้อยู่เสมอแล้ว เขายังมีพรสวรรค์ด้านความจำเป็นเลิศ สามารถจดจำเนื้อหาทั้งหมดได้จากการอ่านผ่านตาเพียงครั้งเดียว  ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนยกย่องให้เขาเป็นผู้รอบรู้ในทฤษฎีปรัชญาทุกสำนัก

—–แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตหนุ่มผู้รอบรู้และปราดเปรื่อง ทว่าเส้นทางรับราชการของเขากลับไม่ได้ราบรื่นและก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น หลังจากสำเร็จการศึกษา หวังชงมีความฝันเหมือนกับเหล่าบัณฑิตทั้งหลายว่าจะได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางใหญ่ในราชสำนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วหวังชงกลับเป็นได้เพียงขุนนางระดับท้องถิ่นเท่านั้น บางช่วงได้เป็นขุนนางประจำอำเภอ บางช่วงโชคดีก็ได้เป็นขุนนางประจำเมือง ซึ่งล้วนเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เหตุเพราะเขาไม่อาจทนกับระบบราชการที่เลวร้ายในขณะนั้นได้ หวังชงระบายความอัดอั้นอันเกิดจากความตกต่ำของสังคมและระบบราชการออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่สนใจอำนาจชนชั้นปกครองผ่านงานเขียนที่มีชื่อว่า ‘เล่ยไฮ่เพียน’ 《累害篇》

—–เล่ยไฮ่เพียนนับเป็นงานเขียนที่ตีแผ่ความจริงด้านมืดของสังคมผ่านประสบการณ์ชีวิตของหวังชง เขามองว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่เพราะไร้ความสามารถ แต่เพราะภัยร้ายจากมนุษย์ด้วยกันเองต่างหากที่เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความเหนื่อยหน่าย (ของผู้ไม่ได้รับราชการ) 3 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 เหนื่อยหน่ายจากการเลือกคบเพื่อน หากเลือกคบเพื่อนไม่ดีจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน และมิตรภาพจะค่อยๆ ผันแปรเป็นความเกลียดชัง ประการที่ 2 คือ เหนื่อยหน่ายจากเพื่อนใจแคบ ริษยาเมื่อเห็นเพื่อนได้ดีกว่าตน และประการที่ 3 คือเหนื่อยหน่ายจากการรักษามิตรภาพ หากไม่รู้จักรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนให้ดีอยู่เสมอ อาจนำไปสู่การผิดใจและกลายเป็นศัตรูกันในที่สุด
  2. การประทุษร้าย (ในระบบราชการ) 3 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 คือ การแข่งขันในระบบราชการ บัณฑิตทั้งหลายต่างแก่งแย่งกันเพื่อตำแหน่งขุนนาง เมื่อสอบเข้ารับราชการได้แล้วก็แก่งแย่งกันเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง โดยคุยโวอวดอ้างว่าตนเก่งกาจ หัวหน้าก็พลันหลงเชื่อโดยปราศจากการไตร่ตรองและตรวจสอบ ประการที่ 2 คือ การใส่ร้ายป้ายสีจากขุนนางฝ่ายไม่ดี หวังทำลายชื่อเสียงเพราะริษยาขุนนางที่ตั้งใจทำงานและได้รับความดีความชอบมากกว่า และประการที่ 3 คือ ขุนนางผู้กุมอำนาจเล่นพรรคเล่นพวก และใช้อำนาจทำร้ายผู้ไม่เห็นด้วยทุกครั้งที่มีโอกาส

—–ด้วยเหตุที่หวังชงยืนหยัดในความเชื่อของตนเอง ไม่ยอมคล้อยตามสังคมกระแสหลัก เขาจึงมักจะมีปากเสียงกับผู้มีอำนาจเหนือกว่าอยู่บ่อยครั้ง จนเขาถอดใจและเลือกที่จะหันหลังให้กับเส้นทางสายการเมือง การตัดสินใจออกจากราชการในครั้งนั้นสร้างความเจ็บปวดให้กับหวังชงไม่น้อยแต่มิอาจทำอะไรได้ หวังชงเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยวัย 33 ปี เขามุ่งมั่นศึกษาคัมภีร์โบราณ และเขียนตำราของตัวเอง ขณะนั้นสังคมฮั่นตะวันออกเป็นสังคมที่เชื่อว่าฟ้า ดิน และมนุษย์สัมพันธ์กัน ส่งผลซึ่งกันและกัน โดยมองว่าฟ้าคือเทพเจ้าสูงสุด มีตัวตน มีความรู้สึก และมีอำนาจในการปกป้องคุ้มครองผู้มีคุณธรรมและลงโทษผู้ไร้คุณธรรม ความเชื่อนี้ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดทางการเมืองเรื่องอาณัติสวรรค์ การยกฐานะของฮ่องเต้ให้เป็นโอรสแห่งฟ้า คือเป็นผู้ที่ได้รับอำนาจจากฟ้ามาปกครองประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ท่ามกลางความคิดความเชื่อเรื่องฟ้า ดิน และเทพเจ้า หวังชงได้เสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับระบบความเชื่อของสังคมกระแสหลักออกมาเสมอ และมักจะถูกโจมตี ถูกวิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดนอกรีต หรือแม้กระทั่งโดนสั่งห้ามเผยแพร่แนวคิดนั้นๆ อีกต่อไป ทว่าหวังชงยังคงไม่ลดละ ก่อนจะตกผลึกเป็นแนวคิดศรัทธาความจริง และมองทุกสิ่งเป็นสสารอย่างเท่าเทียม ซึ่งภายหลังได้เรียกแนวคิดประเภทนี้ว่า ‘แนวคิดสสารนิยม‘ (唯物主義)

—–หวังชงเชื่อว่าฟ้าและดินเป็นสสารตามธรรมชาติ ไม่มีตัวตนและปราศจากความรู้สึกนึกคิด ส่วนมนุษย์ก็เป็นสสารตามธรรมชาติเช่นกัน ทั้ง 3 สิ่งไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ เมื่อไม่เชื่อมโยงกันก็ไม่สามารถส่งผลกระทบถึงกันได้ หวังชงกล่าวไว้ว่า “การกระทำของคนไม่สามารถทำให้ฟ้าปลื้มปีติหรือโกรธเคืองได้ และฟ้าก็ไม่อาจประทานพรหรือสำเร็จโทษมนุษย์ได้เช่นกัน”  ดังนั้นสภาพสังคม คุณธรรมจริยธรรมและการเมืองการปกครองก็ไม่มีความเกี่ยวโยงกับภัยพิบัติหรือความแปรปรวนบนโลกมนุษย์ ความเชื่อที่ว่า ‘ฟ้าลงโทษ’ จึงเป็นเพียงการนำความคิดความรู้สึกของตนไปตีความแทนฟ้าเท่านั้น

—–อีกทั้งความเชื่อเรื่องภูต ผี และวิญญาณที่ครอบงำจิตใจของคนในสมัยนั้น หวังชงโต้แย้งโดยยึดหลักการของตนที่ว่า โลกใบนี้มีเกิดย่อมมีดับ คนเรามีชีวิตอยู่ได้เกิดจากการรวมกันเป็นหนึ่งของลมปราณและเลือดเนื้อ เมื่อคนตายไป เลือดเนื้อก็แห้งเหือด ลมปราณก็หมดสิ้น เมื่อไม่มีลมปราณ ร่างก็เน่าเปื่อย และกลายเป็นดินเป็นปุ๋ยในที่สุด เมื่อไม่มีอะไรหลงเหลือ แล้วจะมีผีได้อย่างไร หวังชงเชื่อว่า คนตายก็ไม่ต่างอะไรกับกองไฟที่มอดแล้ว เมื่อไฟดับลง แสงสว่างที่เคยมีก็มืดลงด้วยนั่นเอง การใช้ความคิดสสารนิยมอธิบายการเกิดการดับของมนุษย์ของหวังชงเป็นการโต้แย้งต่อความเชื่อเรื่องภูตผี การเวียนว่ายตายเกิด และเวรกรรมโดยสิ้นเชิง

—–ไม่เพียงแต่เสนอแนวคิดที่ขัดกับกระแสนิยมของสังคม แต่หวังชงยังกล้าตั้งข้อสงสัยต่อแนวคิดจิตนิยม (唯心主義) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตตลอดจนการเมืองการปกครองในสมัยฮั่นเป็นอย่างมาก เขาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องปราชญ์ที่ว่า ปราชญ์คือผู้หยั่งรู้ทุกสรรพสิ่งบนโลก คนกลุ่มนี้ถือกำเนิดจากเทพเจ้า จึงมีสถานะสูงส่งและมีความสามารถเหนือคนธรรมดาทั่วไป หวังชงชี้ให้เห็นว่าความคิดเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แท้จริงแล้วนักปราชญ์เป็นเพียงคนธรรมดาที่มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ มากกว่าผู้อื่น จึงมีความคิดความอ่านเหนือกว่าคนทั่วไปเท่านั้น

—–การมองทุกสิ่งตามความเป็นจริงของหวังชงทำให้เขาถูกสังคมกระแสหลักตราหน้าว่าเป็นกบฏทางความคิด แต่ในอีกมุมหนึ่ง หวังชงคือผู้กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ตัวอย่างเห็นได้จากบันทึกประจำตระกูลหวัง (王) คนจีนเคารพบรรพบุรุษของตนเป็นอย่างมาก ตามทัศนคติของชาวจีนแล้ว ไม่ว่าตอนมีชีวิตอยู่จะมีนิสัยเช่นไร แต่เมื่อเสียชีวิตไปแล้วบรรพบุรุษจะต้องเป็นผู้มีความดีพร้อม สูงส่งและควรค่าแก่การเคารพกราบไหว้ บันทึกประจำตระกูลจึงควรบันทึกแต่คุณูปการและคุณงามความดีที่คนเหล่านั้นเคยสร้างไว้ ทว่าหวังชงกลับกล้าที่จะบันทึกเรื่องราวตามจริง ทั้งเรื่องที่ปู่ของเขามักไปรังแกและรีดไถชาวบ้านจนชื่อเสียงครอบครัวตกต่ำ เป็นที่รังเกียจของคนละแวกนั้น พอถึงรุ่นพ่อของเขาก็ยังคงมีนิสัยอันธพาล ระรานชาวบ้าน ทั้งยังเอาแต่เที่ยวเตร่ ไม่ทำการทำงาน จนวันหนึ่งพ่อและลุงของเขาไปมีเรื่องกับตระกูลติง (丁) ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ในแถบนั้น สุดท้ายจึงต้องหนีมาลงหลักปักฐานที่เมืองไคว่จีและยึดอาชีพค้าขายประทังชีวิต หวังชงเห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้คือความจริง จึงตัดสินใจบันทึกเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่บิดเบือนหรือปรุงแต่ง และไม่ใส่ใจแม้จะโดนสังคมรอบข้างประณามว่าเป็นคนอกตัญญู

—–แม้แต่ฮ่องเต้ที่อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน หวังชงยังกล้าเสียดสีความเชื่อเรื่องชาติกำเนิดของหลิวปัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 25) ว่า “คำกล่าวที่ว่ามารดาของหลิวปังสมสู่กับมังกร หลังจากนั้นก็ให้กำเนิดหลิวปังถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นจริงได้ เหตุเพราะสัตว์จำพวกเดียวกันเท่านั้นจึงจะผสมพันธุ์กันได้ ม้าเพศผู้กับวัวเพศเมียไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ฉันใด นกยูงเพศผู้กับไก่เพศเมียก็ไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ฉันนั้น ขนาดสัตว์ยังไม่สามารถผสมพันธุ์ข้ามชนิดได้ แล้วมนุษย์กับสัตว์อย่างมังกรจะร่วมสมสู่และมีทายาทด้วยกันได้อย่างไร หากว่าหลิวปังเป็นโอรสมังกรจริง เช่นนั้นควรจะต้องมีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศอย่างเช่นมังกรได้ ทว่าทรงทำไม่ได้ แล้วจะเชื่อว่าทรงเป็นโอรสมังกรได้อย่างไร”

—–แนวคิดเรื่องสสารนิยมและการศรัทธาในความจริงของหวังชงถูกรวบรวมและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นสำคัญ คือตำราลุ่นเหิง 《論衡》 ซึ่งเนื้อหาเต็มไปด้วยการโต้แย้งทางความคิดที่เชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปรัชญา ศีลธรรมจรรยา ศาสนา และการดำเนินชีวิตในสังคม อธิบายมุมมองต่อโลกและชีวิตมนุษย์บนพื้นฐานของแนวคิดสสารนิยม ตีแผ่และวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องฟ้า ดิน และเทพเจ้า ตำราทั้งหมดมี 30 ผูก แบ่งออกเป็น 85 บท (ปัจจุบันคงเหลืออยู่ 84 บท) รวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 กว่าตัวอักษร ใช้เวลารวบรวมข้อมูลและประพันธ์กว่า 30 ปีจึงแล้วเสร็จ

—–หลังจากตำราลุ่นเหิงได้เผยแพร่ออกไป หวังชงกลายเป็นหนึ่งในนักคิดที่มีชื่อเสียงในสมัยฮั่นตะวันออก จนมีคนกล่าวว่า “แม้แต่เมิ่งเคอ[2] (孟軻) สวินชิง[3] (荀卿) หยางสง[4] (楊雄) และซือหม่าเชียน[5] (司馬遷) ก็ไม่อาจเทียบเทียมหวังชงได้” กระทั่งความทราบถึงฮ่องเต้ฮั่นจางตี้ (漢章帝) จึงได้เชิญหวังชงให้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ทว่าขณะนั้นหวังชงสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงจึงปฏิเสธไป ต่อมาในปี ค.ศ. 97 หวังชงก็เสียชีวิตด้วยวัย 71 ปี หลงเหลือแต่เพียงตำราลุ่นเหิงอันเป็นผลงานชิ้นเอกที่เขาทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตตกผลึกเป็นสมบัติทางปัญญาอันล้ำค่าของจีนมาจนถึงปัจจุบัน

 

[1] ชื่อเมืองโบราณ ปัจจุบันคืออำเภอหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียง (浙江)

[2]เมิ่งเคอ หรือ เมิ่งจื่อ (孟子 372-289 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีชีวิตอยู่ในยุคจั้นกั๋ว (戰國 475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่รองจากขงจื่อ และเป็นเจ้าของแนวคิดที่ว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดีมาแต่กำเนิด แต่สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไป

[3]สวินชิง หรือ สวินจื่อ (荀子 313-238 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักปรัชญาที่สำคัญในยุคจั้นกั๋ว และเป็นศิษย์คนสำคัญของขงจื่อ แต่สวินชิงมีมุมมองต่อมนุษย์ต่างจากเมิ่งเคอโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เขาเชื่อว่าตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมาชั่วร้าย ต้องมีกฎระเบียบเพื่อควบคุมความประพฤติ และต้องได้รับการศึกษาเพื่อขัดเกลามนุษย์ให้กลายเป็นคนดี

[4]หยางสง (53 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 18) นักปรัชญาและนักวรรณคดีผู้มีชื่อเสียงสมัยฮั่นตะวันตก

[5]ซือหม่าเชียน (ราว 145-90 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่สมัยฮั่นตะวันตก เจ้าของผลงาน ‘บันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้’ 《史記》

 

เรื่องโดย องค์หญิงหลันเหลียน