—–เมื่อหนทางที่ห่างไกลทำให้คนสองคนไม่อาจพบหน้ากันได้ ของแทนใจจึงเป็นเหมือนสายใยแห่งความรักความคิดถึงที่เชื่อมสองใจไว้ด้วยกัน ยามต้องไกลห่างจากบุรุษอันเป็นที่รัก สตรีในยุคโบราณจะมอบของรักของหวงหรือของที่ติดตัวเป็นประจำให้ฝ่ายชายดูต่างหน้ายามคิดถึง ของแทนใจจากสตรีจีนในยุคโบราณนั้นมีหลากหลาย แต่ที่พบเห็นได้บ่อยมีอยู่ 6 สิ่งดังนี้

—–1. เมล็ดมะกล่ำ : เมล็ดมะกล่ำมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘เมล็ดแห่งความคิดถึง’ มีที่มาจากบทกวี ‘เมล็ดแห่งความคิดถึง’ 《相思豆》 ของหวังเหวย (王維) ยอดกวีในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ความว่า “เมล็ดมะกล่ำถือกำเนิดเกิดแดนใต้ คราวสันต์พลันแตกใบแผ่กิ่งก้าน เชิญท่านเก็บเมล็ดงามตามต้องการ เป็นดั่งสาส์นแทนคิดถึงซึ้งซ่านใจ” (紅豆生南國, 春來發幾枝。願君多采擷, 此物最相思。)  แต่เดิมกลอนบทนี้สื่อถึงมิตรภาพของเพื่อนรักที่อยู่ห่างไกล ต่อมาการตีความเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเมล็ดมะกล่ำมีสีสันและรูปทรงที่คล้ายรูปหัวใจ จึงนิยมใช้แทนความรักของหนุ่มสาว ด้วยเหตุนี้มะกล่ำจึงกลายเป็นตัวแทนของความรักและความคิดถึงจวบจนปัจจุบัน

—–2. แหวน : ในยุคโบราณผู้หญิงที่สวมแหวน หมายถึงหญิงที่แต่งงานหรือมีคู่หมั้นหมายแล้ว เพราะแหวนถือเป็นของแทนใจยอดนิยมอย่างหนึ่งของชาวจีน โดยการใช้แหวนเป็นของแทนใจปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝 ค.ศ. 420-581) ในบันทึกอี้ย่วน[1]《異苑》ของหลิวจิ้งซู (劉敬叔) ในบทฉินซู่[2] (秦樹)  กล่าวถึงหญิงคนรักของฉินซู่ที่มอบแหวนเป็นของแทนใจให้ฉินซู่ก่อนทั้งคู่จะลาจากกัน ต่อมาวัฒนธรรมการให้แหวนจึงค่อยๆ เปลี่ยนจากหญิงให้ชาย เป็นชายให้หญิงอย่างในปัจจุบัน

—–3. ปิ่นปักผม : ปิ่นปักผมไม่เพียงแต่เป็นเครื่องประดับศีรษะของสตรีที่ถึงวัยออกเรือนเท่านั้น แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องแทนใจของชาวจีนมาตั้งแต่โบราณ คู่รักหรือคู่สามีภรรยาในบางท้องถิ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า เมื่อจำต้องแยกจากกัน ฝ่ายหญิงจะหักปิ่นเสียบผมของตนเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเก็บไว้กับตนเอง อีกส่วนมอบแก่ฝ่ายชายไว้เป็นของดูต่างหน้าและรอวันที่ทั้งคู่จะได้กลับมาพบกันอีกครั้ง

—–4. ถุงเครื่องหอม : เรื่องราวของถุงเครื่องหอมมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในตำราหลี่จี้ 《禮記》กล่าวว่าเมื่อคนหนุ่มสาวจะไปพบผู้ใหญ่ต้องพกถุงเครื่องหอมติดตัวไปด้วยทุกครั้งเพื่อแสดงถึงความเคารพ ถุงเครื่องหอมจึงกลายเป็นของติดตัวที่สำคัญชิ้นหนึ่งมาตั้งแต่ยุคโบราณ ด้วยเหตุนี้เองคู่รักจึงมักมอบถุงเครื่องหอมที่พกติดตัวของตนให้กับอีกฝ่ายเพื่อใช้เป็นตัวแทนความคิดถึง แม้ตัวจะอยู่ห่างไกลแต่กลิ่นหอมที่คุ้นเคยจะช่วยคลายเหงาราวกับมีคนรักอยู่ใกล้ๆ

—–5. หวี : หวีถือเป็นของแทนใจแสนโรแมนติกชิ้นหนึ่ง ชาวจีนเชื่อว่าการใช้หวีที่คนรักมอบให้สางผมก็เหมือนกับมีคนรักมาสางผมให้ ในยุคโบราณการมอบหวีให้กัน ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความคิดถึง แต่ยังหมายถึงการให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้ชีวิตด้วยกันจนแก่เฒ่า และครองรักยาวนานจนผมเปลี่ยนสีไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังเป็นการปลอบใจผู้รับ สื่อถึงให้ปมทุกข์ในใจคลี่คลายอย่างง่ายดาย

 

—–6. เส้นผม : คนจีนมีความเชื่อว่าทุกส่วนของร่างกายได้มาจากบิดามารดา การรักและทะนุถนอมร่างกายตนไม่ให้ถูกทำร้ายจึงถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการี ดังนั้นในอดีตหากหญิงสาวคนใดยอมตัดปอยผมตัวเองให้แก่ฝ่ายชาย นั่นหมายถึงการแสดงความรักอันสูงสุด เสมือนการตกลงปลงใจว่าจะมอบหัวใจและชีวิตที่เหลืออยู่ให้กับชายคนรักแต่เพียงผู้เดียว

 

[1] บันทึกอี้ย่วน ภายในรวบรวมบทความสั้นๆ ทั้งสิ้น 382 บท เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ ภูต ผี วิญญาณและเทพเจ้า เป็นต้น

[2] ฉินซู่เป็นชาวเมืองเพ่ยจวิ้น (沛郡) วันหนึ่งขณะเดินทางกลับจากเมืองหลวงก็ล่วงเข้าเวลากลางคืน ฉินซู่จึงขอค้างแรมที่กระท่อมข้างทาง หลังจากได้พูดคุยกับหญิงสาวเจ้าของกระท่อม ทั้งคู่เกิดมีใจตรงกันจึงตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยา เช้าวันรุ่งขึ้นทั้งสองร่ำลากันด้วยความอาลัย หญิงสาวจึงมอบแหวนคู่หนึ่งให้ฉินซู่โดยคล้องกับชายผ้าพร้อมผูกปมไว้เพื่อเป็นที่ระลึก หลังจากฉินซู่ออกเดินทาง กระท่อมหลังนั้นก็กลายเป็นหลุมศพ แหวนที่ได้มาก็หายไปเหลือแต่ปมผ้าที่ผูกไว้

 

เรื่องโดย ไห่ กวง เฉิน