เกร็ดวัฒนธรรมดินแดนหลังคาโลก

เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์


 

——เขตปกครองตนเองทิเบต (西藏自治區) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เป็นที่ราบสูงซึ่งสูงที่สุดในโลก จึงได้รับการขนานนามว่า ‘ดินแดนหลังคาโลก’ ผู้คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยาน เนื่องด้วยที่ราบสูงทิเบตมีอากาศหนาวจัด ประกอบกับมีความกดอากาศและออกซิเจนต่ำ จึงมีประชากรอาศัยอยู่ไม่มาก จากปัจจัยหลากหลายประการทำให้วัฒนธรรมทิเบตค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งอาจแปลกประหลาดในสายตาผู้คนในภูมิภาคอื่น

 

เหตุใดชาวทิเบตนิยมโปะมูลวัวไว้บนผนัง

——‘สมบัติ’ ในความคิดของคนทั่วไปอาจเป็นบ้าน ที่ดิน อัญมณี หรือเงินทอง แต่สำหรับชาวทิเบตแล้ว สมบัติล้ำค่าของพวกเขาคือ ‘มูลวัว’

——ในหมู่ชาวทิเบตมีคำกล่าวว่า “บุตรไม่รังเกียจหน้าตาอัปลักษณ์ของมารดา มนุษย์ไม่รังเกียจความสกปรกของมูลวัว” (子不嫌母醜,人不嫌牛糞髒) กล่าวคือ ชาวทิเบตไม่รู้สึกรังเกียจความสกปรกของมูลวัว ในทางกลับกันยังมองมูลวัวเป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ เพราะมูลวัวมีประโยชน์หลากหลายด้าน

——มูลวัวในภาษาทิเบตเรียกว่า ‘จิ๋วหว่า’ (久瓦) หมายถึง เชื้อเพลิง เนื่องจากชาวทิเบตใช้มูลวัวเป็นเชื้อเพลิงมานานนับพันปี ทั้งหุงหาอาหาร ต้มน้ำ หรือให้ความอบอุ่น เพราะที่ราบสูงทิเบตไม่มีป่าไม้ ทำให้ขาดแคลนเชื้อเพลิง ชาวทิเบตจึงต้องนำมูลวัวมาผสมกับฟางข้าวสาลี ปั้นเป็นก้อนแล้วโปะไว้ตามกำแพงบ้านเพื่อตากแดดให้แห้ง มูลวัวที่ผสมกับฟางข้าวสาลีเมื่อแห้งแล้วจะไม่แตกหักง่ายและยังเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี จากนั้นนำเชื้อเพลิงมูลวัวแห้งไปกองไว้ตามลานบ้าน หรือบางบ้านอาจวางไว้ตามกองหินพุทธมณี[1] บ้านที่มีเชื้อเพลิงมูลวัวจำนวนมากจะถูกมองว่าเป็นบ้านที่ร่ำรวย สมาชิกในครอบครัวขยันขันแข็ง

มูลวัวบนผนัง

——จุดเด่นของเชื้อเพลิงมูลวัวมีหลายประการ เช่น มูลวัวแห้งมีจุดเผาไหม้ต่ำ ประกอบกับบริเวณที่ราบสูงทิเบตมีออกซิเจนน้อย ทำให้เผาไหม้ได้นาน ไฟจากการจุดเชื้อเพลิงมูลวัวจะไม่แรงมากเหมือนเชื้อเพลิงชนิดอื่น มูลวัวแห้งมีส่วนประกอบของต้นหญ้ามาก เวลาเผาไหม้จึงมีควันน้อยและไร้กลิ่นเหม็น ในทางกลับกันยังส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งชาวทิเบตก็ไม่รู้สึกรังเกียจแต่รู้สึกผูกพัน เพราะกลิ่นดังกล่าวทำให้นึกถึงบ้านอันแสนอบอุ่น

——นอกจากนี้ ชาวทิเบตยังใช้ประโยชน์จากมูลวัวในด้านอื่นๆ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่างๆ เนื่องจากมีความเชื่อเรื่องความหมายแฝง เช่น พิธีกรรมทางศาสนา พิธีแต่งงาน พิธีศพ งานปีใหม่ การตกแต่งบ้านเรือน หรือการรักษาโรคบางชนิด

——ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพิธีแต่งงาน ชาวทิเบตจะวางถังใส่น้ำสะอาดและถุงใส่มูลวัวไว้ในงานเพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคล อีกทั้งแขวนผ้าคาตะ[2] ผืนยาวสีขาวบริสุทธิ์ไว้ด้านบน เป็นสัญลักษณ์ว่าคู่บ่าวสาวจะใช้ชีวิตหลังแต่งงานอย่างมีความสุข

หน้ากากที่มีมูลวัวเป็นส่วนผสม

——หน้ากากเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชาวทิเบต เนื่องจากหน้ากากเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา ในบรรดาหน้ากากหลากหลายประเภท มีหน้ากากชนิดหนึ่งที่มีมูลวัวเป็นส่วนผสม ชาวทิเบตจะผสมมูลวัวกับพืชและสมุนไพรหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน จากนั้นค่อยผสมกับเส้นใยผ้า หน้ากากที่ได้จะมีน้ำหนักเบา ไม่ผุพังง่าย ป้องกันแมลง และทนทาน นิยมนำไปแขวนเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

——แม้ว่าปัจจุบันชาวทิเบตจำนวนมากจะหันมาใช้ก๊าซแอลพีจี (ก๊าซปิโตรเลียมเหลว) หรือก๊าซธรรมชาติแทนเชื้อเพลิงมูลวัว แต่หลายๆ ครอบครัวยังคงใช้เชื้อเพลิงมูลวัวอยู่ ส่วนบางครอบครัวที่ไม่ได้ใช้แล้วก็ตกแต่งผนังบ้านด้วยเชื้อเพลิงมูลวัวเพื่อแสดงความผูกพันแทน

ปัจจุบันเชื้อเพลิงมูลวัวกลายมาเป็นเครื่องตกแต่ง

 

ชาวทิเบตอาบน้ำเพียง 3 ครั้งตลอดชีวิตจริงหรือไม่

——หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘ชาวทิเบตอาบน้ำเพียง 3 ครั้งตลอดชีวิต’ (西藏人一生只洗三次澡) คือ ตอนเกิด ตอนแต่งงาน และตอนตาย แต่เรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ เพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น

สภาพอากาศหนาวเย็นของทิเบต

——สาเหตุหลักที่ชาวทิเบตอาบน้ำ 3 ครั้งตลอดชีวิต คือตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา ชาวทิเบตส่วนใหญ่เป็นชนร่อนเร่ทำปศุสัตว์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมิได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง พวกเขาต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นประจำเพื่อแสวงหาทุ่งหญ้าอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทุ่งหญ้าแต่ละแห่งมิได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำไปเสียทุกที่ ประกอบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในแถบทิเบตค่อนข้างต่ำ แม้จะไม่อาบน้ำเนื้อตัวก็ไม่สกปรก ชาวทิเบตไม่นิยมอาบน้ำภายใต้อุณหภูมิประมาณ 0 องศาเซลเซียส การอาบน้ำ 3 ครั้งตลอดชีวิตจึงเหมาะสมสำหรับชีวิตบนที่ราบสูงมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ นอกจากอุณหภูมิอันหนาวเย็นแล้ว ทิเบตยังมีอากาศแห้ง การอาบน้ำจึงไม่ใช่เรื่องดี ในทางกลับกันการรักษาความมันของผิวหนังต่างหากที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับอากาศหนาว แต่หากร่างกายสกปรกมากจริงๆ ชาวทิเบตจะใช้ผ้าเช็ดตามเนื้อตัวแทน

——นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวกับศาสนา ชาวทิเบตเชื่อว่าการอาบน้ำเป็นการไม่เคารพต่อพุทธศาสนา กล่าวกันว่าการอาบน้ำจะล้างเอาความทรงจำในอดีตชาติไป และเป็นบ่อเกิดของความโชคร้าย สำหรับชาวทิเบตผู้เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา การอาบน้ำยังจะทำให้บุญที่ได้สั่งสมมาตลอดชีวิตลดลง ประหนึ่งชะล้างเอาความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาออกไป

ชาวทิเบตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

——ต่อมาความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของยุคสมัยส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวทิเบตเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับวัฒนธรรมของชาวฮั่นที่เข้ามาผสมผสาน ทำให้ชาวทิเบตยุคใหม่ไม่เคร่งครัดธรรมเนียมเดิม เหลือเพียงคนวัยกลางคนหรือวัยชรา โดยเฉพาะชาวบ้านซึ่งอาศัยในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้นที่ยังยึดมั่นตามความเชื่อของบรรพบุรุษ

 

เทศกาลอาบน้ำ ทำให้ร่างกายบริสุทธิ์ประดุจเกิดใหม่

——เทศกาลอาบน้ำเป็นเทศกาลสำคัญของชาวทิเบต จัดขึ้นในช่วงต้นเดือน 7 ตามปฏิทินทิเบต เนื่องจากเป็นช่วงที่มองเห็นดาวศุกร์หรือที่ชาวทิเบตเรียกว่าดาวชี่ซาน (棄山星) ได้ด้วยตาเปล่า และจัดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 700 ปี ชาวทิเบตจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลอาบน้ำ

เทศกาลอาบน้ำ

——ช่วงเทศกาลอาบน้ำเป็นเวลาที่ฤดูฝนเพิ่งผ่านพ้นไป แสงแดดเจิดจ้า ชาวทิเบตทุกเพศทุกวัยจะมารวมตัวกันริมแม่น้ำ ตอนกลางวันจะซักเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม พอตกกลางคืนทุกคนจะลงอาบน้ำในแม่น้ำ ท่ามกลางแสงดาวศุกร์ เนื่องจากชาวทิเบตเชื่อว่าแสงของดาวศุกร์จะทำให้น้ำในแม่น้ำกลายเป็น ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งช่วยขจัดโรคภัย ผู้ชายจะมีสุขภาพแข็งแรง ส่วนผู้หญิงเลือดลมจะไหลเวียนดี น้ำจะช่วยชะล้างโรคเรื้อรังต่างๆ ของผู้หญิง ขณะเดียวกันยังนำโชคดีมาให้

——ชาวบ้านบางคนจะนำของกิน เช่น แซมปา[3] เหล้าข้าวบาร์เล่ย์ หรือชาเนยแบบทิเบต ไปนั่งกินกันที่ริมน้ำ สมาชิกในครอบครัวจะปูเสื่อหรือพรมนั่งกินอาหารพลางพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน

——แม้วัฒนธรรมทิเบตอาจดูแปลกประหลาดในสายตาผู้คนในภูมิภาคอื่น แต่วัฒนธรรมเหล่านี้ล้วนแฝงด้วยภูมิปัญญาอันเฉียบแหลม เพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอดและดำเนินชีวิตประสานไปกับธรรมชาติอย่างลงตัว

 


[1] กองหินพุทธมณีคือกองหินที่มีลักษณะคล้ายเจดีย์ ชาวบ้านจะแกะสลักหรือวาดเป็นรูปต่างๆ หรือถ้อยคำที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาลงบนหินในช่วงฤดูหนาวที่ออกไปทำการเกษตรไม่ได้

[2] ผ้าคาตะคือผ้าคล้องคอของชาวทิเบต เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ มักนำมาใช้ในพิธีต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีศพ หรือมอบให้ผู้ใหญ่เพื่อแสดงความนอบน้อม

[3] แซมปาคืออาหารหลักของชาวทิเบต ส่วนมากทำจากข้าวบาร์เล่ย์ผสมกับชาเนย