‘แพะ’ สัตว์มงคลของจีน

เรื่องโดย ปภาวี แต่สกุล


 

——ความเชื่อเรื่องสิริมงคลได้ซึมซาบอยู่ในวิถีชีวิตของชาวจีนอย่างกลมกลืนและแนบแน่นมาช้านาน แม้จะยังไม่สามารถระบุแน่ชัดว่า ความเชื่อเรื่องสิริมงคลของชาวจีนเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด มีที่มาอย่างไร แต่มีข้อสันนิษฐานที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อมนุษย์เราใฝ่หาความสุข ความงาม และความปลอดภัย ก็ย่อมอยากให้ทุกสิ่งในชีวิตสมหวังดังที่ปรารถนาเป็นธรรมดา ซึ่งเห็นได้จากความเชื่อต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น พืช (ดอกบัว ต้นสน ฯลฯ) สัตว์ในตำนาน (กิเลน หงส์ มังกร ฯลฯ) สิ่งของ (หยก เชือกถักแบบจีน ฯลฯ) ตัวเลข (เลขคู่ 4 6 8 ฯลฯ) รวมทั้งเทศกาล อักษรจีน การกระทำ และสัตว์นานาชนิด ฯลฯ จดหมายข่าวฯ ฉบับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเดือนนี้จึงขอนำเรื่อง ‘แพะ’ หนึ่งในสัตว์สิริมงคลของจีนมาเสนอดังนี้

 

ที่มาของการเขียนอักษร

——คำว่า ‘แพะ’ อักษรจีนเขียนว่า 羊 ออกเสียงว่า ‘หยาง’ เป็นรูปแบบการเขียนที่พัฒนามาจากอักษรภาพในยุคโบราณ เริ่มตั้งแต่อักษรกระดองเต่า คือ  ซึ่งเส้นตัวอักษรแสดงถึงรูปลักษณ์ภายนอกของแพะ โดยเฉพาะส่วนศีรษะ กล่าวคือ มีเขาอันแข็งแกร่งสองข้างโค้งงอ มีปากเป็นรูป V อยู่ใต้จมูก ส่วน ─ บ่งบอกว่าเป็นสัตว์กินหญ้าพวกเคี้ยวเอื้อง ในช่วงเวลาหลายพันปีนั้น รูปแบบการเขียนอักษร    ได้เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาและปรากฏตัวอักษร    และ     และ 羊 ตามพัฒนาการของแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นอักษรกระดองเต่า (甲骨文) การแกะสลักบนโลหะสำริด (金文) หรือเขียนเป็นข่ายซู (楷书) ตามที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน อักษรตัวนี้ยังคงสื่อความหมายว่า ‘แพะ’ มาโดยตลอด นอกจากนั้นยังถูกนำมาใช้สื่อถึงความเป็นสิริมงคลด้วย แม้ว่าตอนหลังมีการประดิษฐ์อักษร 祥 (อ่านว่า เสียง) เพิ่มขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายว่า ‘เป็นมงคล หรือ สิริมงคล’ โดยเฉพาะ แต่ชาวจีนก็ยังนิยมใช้อักษร 羊 ควบคู่กับอักษร 祥 ในความหมายว่าเป็นสิริมงคลสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

ความหมายของอักษรแพะ ()

——ผู้คนสมัยก่อนนำแพะไปเชื่อมโยงกับเทพเจ้า เนื่องจากบรรพบุรุษของชาวจีนมีทัศนคติที่ดีต่อแพะ มองว่าแพะเป็นสัตว์ไม่ดุร้าย มีนิสัยเชื่องและไม่เคยทำร้ายเจ้าของ จึงนำมาเป็นเครื่องบูชาและประกอบพิธีเซ่นไหว้ หากมีการเซ่นไหว้ด้วยสัตว์เลี้ยงหกชนิดพร้อมกัน คือ วัว แพะ ม้า หมู หมา และไก่ ย่อมนับเป็นเครื่องบูชาชั้นสูงสุด เรียกว่าไท่เหลา (太牢) ใช้เฉพาะการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ได้แก่ พิธีบวงสรวงฟ้าของพระเจ้าแผ่นดิน ดังเห็นได้จากอักษร 祥 ในรูปอักษรโลหะสำริดคือ  ประดิษฐ์จากอักษร 羊 (แพะ) ที่เพิ่มเติมส่วน     (示 ในปัจจุบันหมายถึงการสำแดงออกให้เห็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ฟ้าหรือดิน) หมายถึงการเซ่นไหว้ สื่อความหมายโดยรวมในแง่ดีว่าเป็นสิ่งมงคล ด้วยเหตุนี้ อักษร 羊 ที่แปลความว่า ‘แพะ’ เมื่อเป็นส่วนประกอบของตัวอักษรอื่นจึงสื่อความหมายเชิงบวกที่หลากหลาย เช่น 鲜 (อ่านว่า เซียน สื่อถึงความสดใหม่) 美 (อ่านว่า เหม่ย สื่อถึงความงดงาม) 群 (อ่านว่า ฉวิน สื่อถึงฝูงหรือกลุ่ม) รวมถึงคำว่า 善 (อ่านว่า ซ่าน สื่อถึงความดี, บุญกุศล)

——ตามคำอธิบายของสวี่เซิ่น (许慎 ราว ค.ศ. 58-147) ในหนังสือ ‘อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร’《说文解字》 ได้ระบุไว้ว่า ‘ ใช้แทนความหมาย 祥 หมายถึง ดี เป็นสิริมงคล’ ต่อมาในยุคราชวงศ์ชิง เมื่อนักวิชาการนามว่าต้วนอี้ว์ไฉ (段玉裁 ค.ศ.1735-1815) ชำระหนังสือ ‘อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร’ และอธิบายเพิ่มเติมในตำรา《说文解字注》ว่า ‘ในสมัยโบราณคำว่า羊 มีความหมายว่าสวยและสมบูรณ์ สันนิษฐานว่ามาจากสำนวนที่ว่าแพะยิ่งตัวใหญ่ยิ่งสมบูรณ์งดงาม (羊大则肥美)’

เครื่องทองสำริดที่มีหัวแพะสี่ทิศในสมัยราชวงศ์ซาง

——ในแง่ของการออกเสียง คำว่า ‘羊 หยาง’ พ้องเสียงกับคำว่า 阳 (พระอาทิตย์) และ 洋 (มหาสมุทร) ซึ่งทั้ง 3 สิ่งล้วนเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีคำว่า 羊膜囊 แปลว่า ‘ถุงน้ำคร่ำ’ 羊水 แปลว่า ‘น้ำคร่ำ’ บ่งบอกความสำคัญที่มีต่อชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่ง

——ในแง่อาหารการกิน เนื้อแพะเป็นเนื้อที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของชาวจีน เนื้อแพะมีความเนียนนุ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหมูและเนื้อวัวแล้ว เนื้อแพะมีไขมันและคอเลสเตอรอลน้อยกว่า จึงเชื่อว่าเนื้อแพะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และมีรสชาติเป็นเลิศ ดังนั้นคำว่า ‘鲜’ (สด) จึงมีคำว่า 羊 เป็นส่วนประกอบหลัก

เหยือกเหล้าในสมัยราชวงศ์ซาง

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนกับแพะ

——การเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญในการเลี้ยงชีพ อีกทั้งด้วยลักษณะนิสัยของแพะที่เชื่องและไม่ทำร้ายเจ้าของ ชาวจีนจึงรู้สึกว่าแพะมีความอ่อนโยนเป็นมิตร กล่าวกันว่ายามใดแพะอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งและขาดแคลนน้ำดื่ม มันจะเดินตามเจ้าของอย่างสงบเสงี่ยม แสดงออกซึ่งความอดทน และความมุ่งมั่นในการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ จนก่อเกิดความเชื่อเรื่องปีนักษัตร คือปีมะแม (羊年) เป็นที่มาของการนำแพะมาเปรียบเทียบลักษณะนิสัยของคนที่เกิดปีมะแม แต่ในขณะเดียวกันก็มีนิสัยดื้อรั้นไม่ฟังใคร เสมือนแพะสองตัวเวลาชนเขากันเมื่อไรก็จับแยกออกจากกันได้ยาก พวกมันจะขัดขืนและยืนหยัดไว้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะล้มลงหรือตาย ด้วยเหตุผลนานัปการที่กล่าวมาข้างต้น แพะจึงถูกมองว่าเป็นสัตว์มงคล ได้รับการเชิดชูจนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘ความอดทน มุ่งมั่น สู้ไม่ถอย ความนอบน้อม มีคุณธรรม ฯลฯ’

การชนเขาของแพะ

สำนวนที่เกี่ยวกับแพะ

——เนื่องจากชาวจีนดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเกษตรกรรมมาช้านาน จึงมีการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ รอบตัวและนำมาใช้ในสำนวนหลายสำนวน ทำให้ภาษาจีนสื่อความหมายที่หลากหลายและมีชีวิตชีวามากขึ้น มีสำนวนมากมายที่เกี่ยวข้องกับแพะ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวจีนที่อยู่ร่วมกับแพะอย่างใกล้ชิด เช่น

  • 替罪羊 หมายถึง ผู้ที่รับเคราะห์แทนผู้อื่น ตรงกับสำนวนไทยว่า แพะรับบาป
  • 亡羊补牢 (แพะหายล้อมคอก) หมายถึง ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจึงค่อยหาวิธีแก้ไข คล้ายกับสำนวนไทยว่า วัวหายล้อมคอก แต่ในภาษาจีนยังมีอีกนัยหนึ่งว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะล้อมคอกเพื่อป้องกันแพะหาย
  • 顺手牵羊 (ถือโอกาสจูงแพะของคนอื่นมาเป็นของตนเอง) หมายถึง หยิบฉวยสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนเองโดยไม่ได้ลงทุนลงแรง หรือพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อยเพราะโอกาสเอื้ออำนวย
  • 羊毛出在羊身上 (ขนแพะมาจากตัวแพะเอง) หมายถึง ได้รับประโยชน์หรือทรัพย์สินจากผู้ใดผู้หนึ่งแล้วนำกลับมาให้ผู้นั้นต่อ โดยที่ตนเองไม่เสียอะไร คล้ายกับสำนวนไทยว่า อัฐยายซื้อขนมยาย
  • 挂羊头,卖狗肉 (แขวนหัวแพะ ขายเนื้อสุนัข) หมายถึง อ้างชื่อเสียงที่ดี แต่ขายของคุณภาพไม่ดีหรือไม่ดีเท่า ตรงกับสำนวนไทยว่า ย้อมแมวขาย

 

แพะและความกตัญญู

——ในสมัยราชวงศ์ฮั่น วัฒนธรรมของลัทธิขงจื่อให้ความสำคัญแก่ ‘ความกตัญญูและความภักดี’ จนกลายเป็นแนวคิดหลักที่ว่า ความกตัญญูต่อบิดามารดาถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม เมื่อลูกแพะดื่มนม ลูกแพะจะคุกเข่าอยู่ข้างๆ กายแม่ แสดงถึงความถ่อมตนและรู้คุณ ดังนั้นสำนวนที่ว่า ‘รู้ค่าน้ำนม’ (跪乳之恩) จึงเป็นสำนวนที่ใช้กันโดยทั่วไป ภาพลูกแพะคุกเข่าดื่มนมแม่จึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวของชาวจีน

ลูกแพะคุกเข่าดื่มนมแม่

 

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเมืองกวางเจาและแพะ

——แพะยังเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกวางเจา (广州市) ซึ่งมีสมญานามว่า ‘เมืองห้าแพะ (五羊城) หรือเมืองแห่งแพะ (羊城) ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยราชวงศ์โจว (周朝 1123 – 256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) แคว้นฉู่ (楚国) สร้างเมืองฉู่ถิง (楚庭) หรือกวางเจาในปัจจุบัน แต่เดิมผู้คนอยู่กันอย่างอดอยากเพราะเกิดภัยพิบัติติดต่อกันหลายปี ที่นาแห้งแล้ง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้ วันหนึ่ง ปรากฏเมฆ 5 ก้อนบนท้องฟ้า บนก้อนเมฆเหล่านั้นมีเทพเจ้าอยู่ห้าองค์ แต่ละองค์ใส่เสื้อผ้าสีสันต่างกัน ทั้งสีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว และสีม่วง เทพแต่ละองค์ยังขี่แพะที่มีสีสันต่างกันอีกด้วย แพะแต่ละตัวต่างคาบต้นข้าวหนึ่งต้นหกรวง แล้วค่อยๆ ปล่อยลงไปในเมืองนี้ เทพเจ้าประทานข้าวและแพะห้าตัวให้แก่ผู้คน นอกจากนี้ยังประทานคำอวยพรให้เมืองนี้ปราศจากความอดอยากชั่วลูกชั่วหลาน หลังจากนั้นก็เหาะขึ้นท้องฟ้าไป ด้วยเหตุนี้กวางเจาจึงกลายเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในหลิ่งหนาน[1] (岭南) นี่จึงเป็นที่มาของสมญานามว่า ‘เมืองแห่งแพะ’ เนื่องจากประชาชนต้องการแสดงความขอบคุณต่อเหล่าเทพเจ้า จึงสร้างวัดห้าเซียน (五仙观) ในวัดมีรูปปั้นของเทพเจ้าห้าองค์ และสร้างอนุสาวรีย์ห้าแพะ (五羊石像) ไว้เป็นที่ระลึก

รูปปั้นของเทพเจ้าห้าองค์

——นอกจากนี้ ยังมีอีกตำนานที่ใกล้เคียงกันเล่าว่า ปลายราชวงศ์โจว เมืองกวางเจาประสบกับภัยแล้งครั้งใหญ่ ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารขาดแคลน ประชาชนอดอยากข้นแค้น ถึงกระนั้นทางการก็ยังคงขูดรีดภาษีจากชาวบ้าน บิดาของเด็กหนุ่มผู้หนึ่งถูกทางการจับเพราะขาดส่งข้าวเปลือก และหากยังไม่สามารถนำข้าวเปลือกมาส่งทางการจะต้องถูกทิ้งลงทะเลเป็นอาหารของปลาฉลามในอีก 3 วันข้างหน้า เด็กหนุ่มอับจนหนทางที่จะช่วยเหลือบิดา จึงร่ำไห้น้ำตานองหน้าไม่ขาดสาย เสียงร้องไห้ที่แสนเศร้าโศกอาดูรได้ยินไปถึงเทพผู้ดูแลทิศทั้งห้า จึงส่งเทวทูตประจำทิศมายังโลกมนุษย์ เทวทูตบูรพาแต่งองค์และทรงแพะสีมรกต เทวทูตอุดรแต่งองค์และทรงแพะสีนิล เทวทูตทักษิณแต่งองค์และทรงแพะสีแดง เทวทูตปัจฉิมแต่งองค์และทรงแพะสีขาว ส่วนมัชณิมเทวทูตแต่งองค์และทรงแพะสีเหลือง เทวทูตทั้งห้าต่างถือรวงข้าวเบญรงค์ (รวงข้าวห้าสี) มายังโลกมนุษย์ และกล่าวกับเด็กหนุ่มว่า “เจ้าร่ำไห้เพื่อผู้เป็นบิดา  โศกาเพื่อปวงประชา  มีจิตกตัญญู มีใจรักทวยราษฎร์ สรวงสวรรค์ประจักษ์แล้ว” จากนั้นก็ยื่นรวงข้าวให้เด็กหนุ่ม พร้อมทั้งกำชับให้นำเมล็ดข้าวไปหว่านภายในคืนนี้พอฟ้าสางก็เก็บเกี่ยวได้ ก่อนจากไปเทวทูตทั้งห้าได้ประทานพรว่า “เบญจทิศ  แม่คงคา  แลมหาสมุทร  ขอหว่านเมล็ดพันธุ์ เลี้ยงประชาราษฎร์” เด็กหนุ่มปฏิบัติตามที่เทวทูตกำชับไว้ วันรุ่งขึ้นก็เก็บเกี่ยวรวงข้าวสีเหลืองทองอร่ามได้หลายกระบุง นำไปช่วยชีวิตของบิดาไว้ได้ ต่อมาเทวทูตทั้งห้ามายังโลกมนุษย์อีกครั้งเพื่อสอนวิธีเพาะปลูกแก่สองพ่อลูก ครั้นเจ้าหน้าที่ของทางการรู้เข้าก็รีบพากันมาที่บ้านของทั้งสอง เทวทูตทั้งห้าจึงเหินฟ้าขึ้นสวรรค์ในทันใด ลืมแพะทั้ง 5 ตัวไว้ในโลกมนุษย์ เมื่อเจ้าหน้าที่จะเข้าไปจับ แพะทั้ง 5 ก็กลายร่างเป็นหินทันที

อนุสาวรีย์ห้าแพะ

 


[1] หลิ่งหนาน (岭南) คือ ดินแดนแห่งเทือกเขาทางตอนใต้ทั้งห้าประกอบด้วยเทือกเขาเยว่เฉิงหลิ่ง (越城岭) ตูผังหลิ่ง (都庞岭) เหมิจู๋หลิ่ง (萌渚岭) ฉีเถียนหลิ่ง (骑田岭) และต้าโซ่วหลิ่ง (大庾岭) ปัจจุบันครอบคลุมบริเวณมณฑลกวางตุ้ง (广东) มณฑลกวางสี (广西) เกาะไหหลำ (海南) มณฑลหูหนาน (湖南) มณฑลเจียงซี (江西) ฯลฯ