บูเช็กเทียนปลิดชีพพระธิดา ปริศนาแห่งตราบาปก่อนครองอำนาจในราชบัลลังก์

เรื่องโดย พลพัธน์ ภูรีสถิตย์


พระจักรพรรดินีนาถบูเช็กเทียน (ภาพจากหนังสือ《集古像讚》พิมพ์ในสมัยราชวงศ์หมิง)

——-เรื่องราวของบูเช็กเทียน หรือ “อู่เจ๋อเทียน” (武則天 ค.ศ. 624 – 705) เป็นหนึ่งในหัวข้อประวัติศาสตร์จีนที่มีผู้สนใจกันมาก ในฐานะจักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวเหนือบัลลังก์มังกร ระยะเวลาราวกึ่งศตวรรษที่ทรงครองแผ่นดินจีน[1] ถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618 – 907) อย่างไม่มีข้อคัดค้าน แม้กระนั้น ในพระราชประวัติของพระองค์ มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งยังคงสร้างความกังขาแก่ผู้ศึกษาโดยทั่วไปว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ นั่นคือเมื่อครั้งพระนางบูเช็กเทียนยังเป็นพระสนมตำแหน่งเจาอี๋ (昭儀) ได้ปลงพระชนม์พระธิดาซึ่งมีพระชันษาเพียง 7 วัน แล้วทำอุบายใส่ร้ายปรปักษ์แห่งราชสำนักฝ่ายในอย่างหวังฮองเฮา (王皇后) เพื่อปูทางขึ้นสู่อำนาจของพระนางในภายหลัง

——เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นน่าสนใจซึ่งผู้เขียนจะหยิบยกความในบันทึกประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ในกรณีดังกล่าว

  • กรณีพระธิดาสิ้นพระชนม์

——ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าพระนางบูเช็กเทียนทรงมีพระราชโอรสธิดากับพระจักรพรรดิถังเกาจงทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่

  1. องค์ชายหลี่หง (李弘 ค.ศ. 652 – 675)  สิ้นพระชนม์กะทันหันขณะมีพระชนมายุ 23 ชันษา
  2. องค์หญิงอันติ้ง (安定公主 ค.ศ. 654) สิ้นพระชนม์หลังจากประสูติได้ไม่นาน
  3. องค์ชายหลี่เสียน (李賢 ราวค.ศ. 655 – 684) เป็นรัชทายาทในปลายรัชกาลพระจักรพรรดิถังเกาจง พระนามว่ารัชทายาทจางหวย (章懷太子) สิ้นพระชนม์หลังจากพระราชบิดาสวรรคตไม่นาน
  4. องค์ชายหลี่เสี่ยน (李顯 ค.ศ. 656 – 710) เสวยราชย์เป็นพระจักรพรรดิถังจงจง (唐中宗) หลังจาก
    พระนางบูเช็กเทียนถูกขุนนางบังคับให้สละราชสมบัติ
  5. องค์ชายหลี่ต้าน (李旦 ค.ศ. 662 – 716) เสวยราชย์เป็นพระจักรพรรดิถังรุ่ยจง (唐睿宗)
  6. องค์หญิงไท่ผิง (太平公主 ราวค.ศ. 665 – 713) เจ้านายฝ่ายในที่มีบทบาททางการเมืองสูงตั้งแต่รัชกาล
    พระนางบูเช็กเทียนจนถึงรัชกาลถังรุ่ยจง

——“องค์หญิงอันติ้ง” หรือที่เอกสารประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังบางฉบับออกพระนามว่า องค์หญิงอันติ้งซือ (安定思公主) เป็นพระธิดาองค์รองของพระนางบูเช็กเทียน ประสูติเมื่อค.ศ. 654 หลังจากมีพระประสูติการได้หนึ่งสัปดาห์ หวังฮองเฮาซึ่งยังไร้หน่อเนื้อเชื้อไขหรือผู้สืบสายโลหิตก็เสด็จฯ มาเยี่ยมถึงตำหนัก ปรากฏว่าพอเสด็จฯ กลับไปแล้ว ตกเย็น องค์หญิงอันติ้งก็สิ้นพระชนม์

——ครั้นพระจักรพรรดิถังเกาจงทรงทราบข่าวก็เสียพระราชหฤทัยมาก และมีรับสั่งให้สอบสวนโดยเร็ว
ในจดหมายเหตุราชวงศ์ถัง “ถังฮุ่ยเย่า”《唐會要》ม้วน 3 ซึ่งถูกชำระในสมัยต้นราชวงศ์ซ่ง ได้บันทึกผลการสอบสวนไว้ว่า หวังฮองเฮาเป็นผู้ปลงพระชนม์องค์หญิงอันติ้ง จากนั้นในปีถัดมา พระมาตุลา (ลุง) ของหวังฮองเฮาก็วางแผนลอบปลงพระชนม์ฮ่องเต้ พระจักรพรรดิถังเกาจงจึงมีพระบรมราชโองการว่า “ด้วยหวังฮองเฮากับมเหสีเซียวซูเฟย (蕭淑妃) นั้นสมคบกันปรุงพิษหมายปลงพระชนม์ ให้ถอดลงเป็นสามัญชนทั้งคู่ มารดาพี่น้องทั้งปวงให้ถอดยศแล้วเนรเทศไปอยู่หลิ่งหนาน (嶺南)[2] เป็นเหตุให้หวังฮองเฮากับมเหสีเซียวซูเฟยถูกถอดพระอิสริยยศและถูกจองจำ แล้วสิ้นพระชนม์อยู่ในที่คุมขังหลังจากนั้นไม่นาน

จักรพรรดิถังเกาจง

——–เอกสารประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ถังอีกฉบับคือ จิ้วถังซู《舊唐書》ได้บันทึกเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ขององค์หญิงอันติ้งไว้ในม้วนที่ 4 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในรัชกาลพระจักรพรรดิถังเกาจงแต่เพียงว่า มีการเคลื่อนพระศพจากวัดเต๋อเย่ (德業寺) ไปฝังที่วัดฉงจิ้ง (崇敬寺) ตามราชประเพณีราชวงศ์ถัง แต่ในม้วนที่ 6 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ
พระนางบูเช็กเทียนโดยตรง ได้บันทึกความคิดเห็นของขุนนางกรมอาลักษณ์ (史臣曰) ในตอนท้ายไว้ว่า พระนางบูเช็กเทียนขณะยังเป็นพระสนมได้ปลงพระชนม์พระธิดาเองด้วยการบีบพระศอ เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ย้อนแย้งกับผลการสอบสวนข้างต้น

——-นอกจากข้อมูลที่ปรากฏในจิ้วถังซูแล้ว เอกสารประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังอีกสองฉบับคือ ซินถังซู《新唐書》และ สรรนิพนธ์จือจื้อทงเจี้ยน《資治通鑒》ก็มีเนื้อหาสอดคล้องกันในเรื่องนี้ว่าเป็นแผนการของพระนางบูเช็กเทียนที่จงใจปลงพระชนม์พระธิดาเพื่อป้ายสีหวังฮองเฮาซึ่งเป็นศัตรูคนสำคัญนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งซินถังซูได้วิพากษ์อย่างเปิดเผยว่าเรื่องนี้ถือเป็นความด่างพร้อยและความโหดร้ายประการหนึ่งในพระราชประวัติของพระนาง

  • บันทึก “ซินถังซู” และสรรนิพนธ์ “จือจื้อทงเจี้ยน”

——ในบันทึกซินถังซู ที่ชำระโดยโอวหยางซิว (歐陽修  ค.ศ. 1007 – 1072) และกลุ่มนักปราชญ์ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งอยู่ถัดจากสมัยบูเช็กเทียนราว 300 ปี ได้กล่าวถึงเรื่องปลงพระชนม์พระธิดาไว้ว่า เมื่อพระสนมเจาอี๋ประสูติพระธิดาแล้ว ต่อมาไม่นานก็เอาพระเขนย (หมอน) กดพระพักตร์พระธิดาจนสิ้นลมปราณ ครั้นพระราชสวามีเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมพระธิดาและทรงทราบว่าพระธิดาสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ก็แสร้งครวญว่าหวังฮองเฮาที่เสด็จมาเมื่อกลางวันเป็นผู้บังอาจกระทำความผิดอุกฉกรรจ์นี้ นางกำนัลซ้ายขวาในตำหนักก็ให้การตรงกัน  แต่ด้วยเวลานั้นพระสนมเจาอี๋กำลังเป็นที่โปรดปราน จึงมิได้ทรงซักไซ้ไล่เลียงอะไรอีก เรื่องปลงพระชนม์พระธิดาในซินถังซูนั้นอยู่ในบทย่อยชื่อ ฮองเฮาบูเช็กเทียนในรัชกาลพระจักรพรรดิเกาจง (高宗則天武皇后) ม้วนที่ 76 บทว่าด้วยพระมเหสีภาคต้น (后妃傳上)

——-ส่วนในจือจื้อทงเจี้ยน เอกสารประวัติราชวงศ์ซึ่งมีซือหม่ากวง (司馬光 ค.ศ. 1019 – 1086) เป็นผู้ชำระในสมัย
ราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960 – 1279) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทว่าด้วยราชวงศ์ถัง เหตุการณ์ในรัชกาลพระจักรพรรดิถังเกาจง เช่นเดียวกัน เนื้อหามีอยู่ว่า เนื่องจากความขัดแย้งในราชสำนักฝ่ายในระหว่างพระสนมเจาอี๋กับหวังฮองเฮาและมเหสีเซียวซูเฟย พระสนมเจาอี๋จึงทำอุบายปลงพระชนม์พระธิดาที่เพิ่งประสูติด้วยการเอาพระเขนยกดพระพักตร์ แล้วทำทีคร่ำครวญว่าหวังฮองเฮาที่เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมก่อนหน้านั้นเป็นผู้ลงมือ พระจักรพรรดิถังเกาจงทรงเชื่อคำของพระสนมเจาอี๋อย่างไม่เคลือบแคลงสงสัยอันใด เป็นเหตุให้หวังฮองเฮาต้องเสื่อมพระเกียรติยศ วงศาคณาญาติของพระสนมเจาอี๋ที่รับราชการเป็นขุนนางมักเย้ยหยันหวังฮองเฮาในเรื่องที่ไม่มีพระหน่อ (บุตรธิดา) อยู่เนืองๆ อิทธิพลและอำนาจของสนมเจาอี๋ในราชสำนักก็ยิ่งเพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว

——-มีข้อควรสังเกตว่า ซินถังซูค่อนข้างมีอคติในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพระนางบูเช็กเทียน ในตอนท้ายของ
บทว่าด้วยพระนางบูเช็กเทียนและพระจักรพรรดิถังจงจง (則天皇后・中宗) ผู้ชำระกล่าวถึงพระนางในเชิงเปรียบเทียบกับหลี่ว์ฮองเฮา (呂后) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202 ปีก่อนค.ศ.  –  ค.ศ. 8) ว่าทรงปลดกษัตริย์องค์เดิมออกและสถาปนาราชวงศ์ใหม่แล้วขึ้นครองราชสมบัติเอง เป็นสิ่งที่ผิดต่อจารีตการปกครองในคัมภีร์ชุนชิว《春秋》ของขงจื่อ (孔子) และผิดต่ออาณัติสวรรค์ สวรรค์จึงไม่พอใจ แผ่นดินเกิดความวุ่นวาย ขุนนางและราษฎรได้รับความเดือดร้อนสืบมาจนถึงรัชกาลพระจักรพรรดิถังจงจง ซึ่งต้องพลอยรับกรรมที่ไม่ได้ก่อไปด้วย

——-ข้อมูลเรื่องปลงพระชนม์พระธิดานั้น มีการนำไปอ้างอิงในงานค้นคว้าของต่างประเทศด้วย เช่น Chronicle of the Chinese Emperors ของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ Anne Paludan ที่ตีพิมพ์เมื่อค.ศ. 1998 หรือบทความชื่อ
“The Demonization of Empress Wu” ของ Mike Dash นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวอังกฤษ แสดงว่ามี
นักประวัติศาสตร์ตะวันตกจำนวนหนึ่งให้น้ำหนักแก่ทฤษฎีนี้เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์จีนบางสำนัก หรือแม้แต่
นักวิชาการอิสระที่ศึกษาประวัติศาสตร์จีนอย่างทวีป วรดิลก ก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้อย่างมาก

——-อย่างไรก็ตาม มีผู้สันทัดกรณีตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้มีข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถืออยู่หลายแห่ง ในหน้าข้อมูลพระประวัติองค์หญิงอันติ้งซือในเว็บไซต์ baidu.com มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความไม่น่าเชื่อถือนี้ไว้ถึงห้าประการ และประการสำคัญที่สมควรกล่าวถึงคือหวังฮองเฮาถูกถอดพระอิสริยยศเนื่องจากกรณีลอบปรุงพิษเพื่อปลงพระชนม์พระจักรพรรดิถังเกาจง ไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าถูกปลดเพราะปลงพระชนม์พระธิดาแต่อย่างใด ความเป็นไปได้ที่ว่าแผนการดังกล่าวอาจไม่มีอยู่จริงแต่แรกจึงค่อนข้างสูง

  • ข้อสังเกตว่าด้วยปัญหาของข้อมูล

——เอกสารประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยมากเป็นงานชำระหลังจากสมัยราชวงศ์ถัง รวมทั้งบันทึกประวัติศาสตร์และสรรนิพนธ์สี่เรื่องที่อ้างถึงในบทความนี้ จิ้วถังซูอันเป็นหลักฐานชิ้นแรกสุดที่นำเสนอเรื่องการปลงพระชนม์พระธิดา ก็ชำระเมื่อค.ศ. 941 แล้วเสร็จเมื่อค.ศ. 945 ในสมัยราชวงศ์โฮ่วจิ้น (後晉 ค.ศ. 936 – 947) เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ แบบแผนการปกครอง และอื่นๆ ของราชวงศ์ถังที่กระจัดกระจายไปหลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย  ส่วนซินถังซูซึ่งกล่าวถึงกรณีปลงพระชนม์อย่างพิสดารฉบับหนึ่ง และได้โจมตีรัชกาลพระนางบูเช็กเทียนไว้มากมายนั้น ก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่พระจักรพรรดิซ่งเหรินจง (宋仁宗 ค.ศ. 1010  – 1063) โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระขึ้นใหม่ในค.ศ. 1044 เนื่องด้วยมีพระราชวินิจฉัยว่าหนังสือจิ้วถังซูที่ใช้เป็นตำราศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง มักมีปัญหาเรื่องความชัดเจนของข้อมูล การชำระครั้งนี้กินเวลานานถึง 17 ปี ส่วน
ถังฮุ่ยเย่าชำระในรัชกาลพระจักรพรรดิซ่งไท่จู่ (宋太祖 ค.ศ. 927  –  976) เมื่อค.ศ. 960 และจือจื้อทงเจี้ยนนั้นชำระเมื่อค.ศ. 1084

——การชำระเอกสารประวัติศาสตร์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากรัชกาลพระจักรพรรดิถังเกาจงล่วงไปหลายร้อยปี ถือเป็นหลักฐานชั้นหลัง ข้อมูลจึงอาจคลาดเคลื่อนได้ง่าย และเอกสารประวัติศาสตร์บางฉบับที่ใช้เวลาชำระนานหลายสิบปี เช่น ซินถังซูนั้น ผู้ชำระก็อาจต่อเติมเสริมแต่งข้อมูลได้เช่นกัน

——อีกประเด็นหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ ตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ถัง มีการฟื้นฟูแนวคิดของลัทธิขงจื่อหรือลัทธิหรูอย่างจริงจัง การฟื้นฟูดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพระนางบูเช็กเทียนครองราชสมบัติ ทรงรื้อฟื้นการสอบรับราชการอีกครั้ง มีนักประวัติศาสตร์ให้ความคิดเห็นว่านั่นเป็นกระบวนการหนึ่งในการเฟ้นหาผู้มีความสามารถเข้ารับราชการในราชสำนักและสร้างการยอมรับในหมู่ขุนนาง ด้วยเหตุนี้จึงมีการฟื้นฟูลัทธิขงจื่อในสมัยราชวงศ์ถังอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดแนวคิดที่เรียกกันว่าลัทธิขงจื่อแบบใหม่ (Neo- Confucianism 宋明理學) ในสมัยปลายราชวงศ์ถัง และตกทอดมาจนถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง

——แนวคิดสำคัญประการหนึ่งซึ่งเริ่มขยายตัวควบคู่กับการเกิดขึ้นของลัทธิขงจื่อใหม่ก็คือ แนวคิดว่าด้วยเพศสภาพระหว่างชาย-หญิง ที่มีการกดสถานะของเพศหญิงให้ด้อยกว่าเพศชายอย่างชัดเจน มีการสร้างตำราหนี่ว์หลุนอี่ว์《女論語》ที่เป็นกรอบจารีตสำหรับแนวปฏิบัติของสตรีในสังคมสมัยปลายราชวงศ์ถัง ยิ่งเมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์ซ่ง ราชสำนักซ่งได้ส่งเสริมลัทธิขงจื่อใหม่อย่างเต็มที่ จำนวนนักปราชญ์และผู้ศึกษาแนวคิดลัทธิขงจื่อใหม่จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักปราชญ์คนสำคัญของลัทธิขงจื่อใหม่ในสมัยต้นราชวงศ์ซ่งก็คือโอวหยางซิว ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรรมการชำระประวัติศาสตร์จนเกิดเป็นหนังสือซินถังซูนั่นเอง

——เข้าใจว่าการขยายตัวของลัทธิขงจื่อใหม่และแนวคิดเรื่องเพศสภาพของลัทธินี้จะมีผลให้นักปราชญ์ผู้ชำระหนังสือซินถังซูเห็นว่าการขึ้นสู่บัลลังก์ของพระนางบูเช็กเทียนเป็นสิ่งที่ผิดต่อจารีตและศีลธรรมตามขนบของลัทธิ
ขงจื่อใหม่ ในข้อความวิพากษ์ท้ายบทว่าด้วยพระนางบูเช็กเทียนและพระจักรพรรดิถังจงจงจึงมีการกล่าวโทษพระ
นางบูเช็กเทียนโดยอ้างตำราชุนชิว อันเป็นหนึ่งในห้าคัมภีร์《五經》ที่สำคัญของขงจื่อซึ่งใช้ศึกษากันมาแต่โบราณ แสดงว่าผู้ชำระน่าจะเป็นบัณฑิตที่นิยมลัทธิขงจื่อใหม่ในสมัยต้นราชวงศ์ซ่งนั่นเอง และอาจเป็นไปได้ว่า การยกกรณีปลงพระชนม์พระธิดามาบรรจุในเนื้อหาของซินถังซู ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้ชำระจิ้วถังซูเท่านั้น ก็เพื่อเพิ่มความหนักแน่นในการโจมตีพระนางบูเช็กเทียน แม้ข้อมูลดังกล่าวนั้นจะถือเป็นหลักฐานที่คลุมเครือก็ตาม

——ส่วนจือจื้อทงเจี้ยนที่เกิดขึ้นภายหลังการชำระประวัติศาสตร์ฉบับซินถังซูลุล่วงแล้วถึง 24 ปี ก็อาจได้รับอิทธิพลจากซินถังซู ทั้งนี้เพราะหนังสือจิ้วถังซูที่มีมาก่อนหน้านั้นได้ถูกห้ามพิมพ์ไปตั้งแต่ค.ศ. 1060 เมื่อมีการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังฉบับชำระใหม่ออกสู่สาธารณะ

ภาพบูเช็กเทียนจากหนังสือ《百美新詠圖傳》

——ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้จึงอาจสรุปได้ว่า เรื่องพระนางบูเช็กเทียนปลงพระชนม์พระธิดานั้น เป็นเรื่องที่ยังขาดน้ำหนักหรือพยานหลักฐานที่ควรแก่การเชื่อถือ หากพิจารณาจากหลักฐานอ้างอิง ซึ่งเป็นงานที่ชำระขึ้นหลังเหตุการณ์เป็นเวลาหลายร้อยปี และการชำระเอกสารประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ลัทธิขงจื่อใหม่มีแนวคิด
ต่อต้านบทบาทของสตรีเพศในสังคมนอกบ้านอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งเนื้อหาของเอกสารประวัติศาสตร์บางฉบับก็
ขัดแย้งกัน ดังนั้นแม้จะเป็นข้อมูลที่ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับใหม่ แต่ผู้อ่านก็พึงใช้วิจารณญาณในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าวด้วย


[1] บางข้อมูลก็ว่าทรงครองแผ่นดินจีนโดยพฤตินัยไม่น้อยกว่า 50 ปี นับตั้งแต่ปีค.ศ. 655 ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นฮองเฮา แล้วเริ่มค้ำจุนและหนุนหลังจักรพรรดิถังเกาจง (唐高宗 ค.ศ. 628 – 683) บริหารราชการแผ่นดิน

ค.ศ. 683 จักรพรรดิถังเกาจงเสด็จสวรรคต พระนางจึงได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

ค.ศ. 690 พระนางทรงขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ จนถึงค.ศ. 705 จึงสละราชสมบัติ รวมระยะเวลาทั้งหมด 16 ปี

[2] หลิ่งหนาน (嶺南) ดินแดนอนารยะตอนใต้ของจีน ตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาหนานหลิ่ง หรือหมายถึงพื้นที่ทั้งหมดของมณฑลกวางซี มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลไหหลำ รวมถึงบางส่วนของมณฑลหูหนานและมณฑลเจียงซีในปัจจุบัน

—–สี