หน่วยเวลาและเครื่องบอกเวลา
สมัยโบราณของจีน
เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์
——“ตีสามแล้ว… ระวังฟืนไฟ” คำเตือนนี้คงคุ้นหูผู้ที่ติดตามละครหรือภาพยนตร์จีนย้อนยุคเป็นอย่างดี เป็นคำเตือนของเจ้าหน้าที่แจ้งเวลาตอนกลางคืนตามท้องถนน แต่คนจีนสมัยโบราณทราบเวลาได้อย่างไรทั้งๆ ที่ไม่มีนาฬิกา หน่วยนับเวลาของจีนในอดีตเหมือนกับปัจจุบันหรือไม่
——ในยุคที่ยังไม่มีนาฬิกา มนุษย์กะเวลาด้วยการสังเกตดวงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก แต่การสังเกตดวงอาทิตย์เป็นอันตรายต่อดวงตา มนุษย์จึงประดิษฐ์เครื่องบอกเวลาที่ใช้หลักการจากเงาของแสงอาทิตย์ และพัฒนามาเป็นเครื่องนับเวลาอันมีเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันก็เกิดหน่วยบอกเวลาทั้งใหญ่เล็กขึ้น แต่ในบทความนี้จะกล่าวเฉพาะหน่วยเวลาสำคัญ…
หน่วยเวลา ‘สือเฉิน’ (時辰)
——‘สือเฉิน’ (時辰) หรือ ‘ชั่วยาม’ เรียกย่อๆ ว่า ‘สือ’ (時) เป็นหน่วยบอกเวลาสำคัญในสมัยโบราณ การแบ่งสือเฉินเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (西周 1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีทั้งแบ่งตามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ขึ้น ท้องฟ้าเปลี่ยนสี หรือกิจกรรมที่ผู้คนต้องกระทำในเวลานั้นๆ
——หน่วยเวลาที่ใช้ในปัจจุบันคือชั่วโมง (時) นาที (分) และวินาที (秒) แต่คนจีนสมัยก่อนใช้หน่วยเวลาตามชื่อเรียกของ ‘ตี้จือ’ [1] (地支 ภาคปฐพี) ซึ่งเรียกเป็นอักษรจีน 12 ตัว เช่น จื่อสือ (子時) โฉ่วสือ (丑時) ฯลฯ แบ่ง 1 วันเป็น 12 ช่วงเวลาเรียกว่า 12 สือเฉิน และ 1 สือเฉินเท่ากับ 2 ชั่วโมงในปัจจุบัน นอกจากนั้น คนโบราณยังนำปี 12 นักษัตรมาใช้เทียบกับแต่ละสือเฉินให้สอดคล้องกับกิจวัตรประจําวันของสัตว์ 12 ชนิด เช่น จื่อสือ (子時 หนูเริงร่ากล้าหาญ) โฉ่วสือ (丑時 วัวอิ่มสบาย) เป็นต้น
——ปลายสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) นาฬิกาแบบตะวันตกเริ่มเข้าสู่แผ่นดินจีน ผู้คนจึงแบ่งเวลาเป็น ‘ต้าสือ’ (大時 คือ 1 สือเฉิน) และ ‘เสี่ยวสือ’ (小時 คือครึ่งสือเฉิน) เมื่อนาฬิกาแพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน หน่วยเวลา ‘ต้าสือ’ ก็ค่อยๆ เลือนหายไป แต่ ‘เสี่ยวสือ’ ยังใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หมายถึง ‘ชั่วโมง’
——สือเฉินที่น่าสนใจคือ ‘อู่สือ’ (午時 คือช่วงเวลาเที่ยง) ที่ภายหลังเกิดคำที่เกี่ยวข้องจนถึงปัจจุบัน เช่น 上午 คือช่วงเวลาก่อนเที่ยง 中午 คือช่วงเที่ยง 下午 คือช่วงหลังเที่ยง
ตารางเวลาสือเฉิน | |||||
ลำดับ | ชื่อเวลา สมัยโจวตะวันตก |
ชื่อเวลาสมัยฮั่น | 12 นักษัตร | ช่วงเวลา | คำอธิบาย |
1 | จื่อสือ 子時 (zǐ shí) |
เย่ปั้น 夜半 (yè bàn) |
鼠 (หนู) | ก่อนยุคถัง 0:00-2:00 น. | สือเฉินแรก |
หลังยุคถัง 23:00-1:00 น. | |||||
2 | โฉ่วสือ 丑時 (chǒu shí) |
จีหมิง 雞鳴 (jī míng) |
牛 (วัว) | ก่อนยุคถัง 2:00-4:00 น. | สือเฉินที่ 2 |
หลังยุคถัง 1:00-3:00 น. | |||||
3 | หยินสือ 寅時 (yín shí) |
ผิงตั้น 平旦 (píng dàn) |
虎 (เสือ) | ก่อนยุคถัง 4:00-6:00 น. | ช่วงเวลาที่เปลี่ยนจากกลางคืนเป็นกลางวัน |
หลังยุคถัง 3:00-5:00 น. | |||||
4 | เหม่าสือ 卯時 (mǎo shí) |
รื่อชู 日出 (rì chū) |
兔 (กระต่าย) | ก่อนยุคถัง 6:00-8:00 น. | ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น |
หลังยุคถัง 5:00-7:00 น. | |||||
5 | เฉินสือ 辰時 (chén shí) |
สือสือ 食时 (shí shí) |
龍 (มังกร) | ก่อนยุคถัง 8:00-10:00 น. | ช่วงเวลากินอาหารเช้า |
หลังยุคถัง 7:00-9:00 น. | |||||
6 | ซื่อสือ 巳時 (sì shí) |
อวี๋จง 隅中 (yú zhōng) |
蛇 (งู) | ก่อนยุคถัง 10:00-12:00 น. | ช่วงเวลาใกล้เที่ยง |
หลังยุคถัง 9:00-11:00 น. | |||||
7 | อู่สือ 午時 (wǔ shí) |
รื่อจง 日中 (rì zhōng) |
馬 (ม้า) | ก่อนยุคถัง 12:00-14:00 น. | ช่วงเที่ยง |
หลังยุคถัง 11:00-13:00 น. | |||||
8 | เว่ยสือ 未時 (wèi shí) |
รื่อเตี๋ย 日昳 (rì dié) |
羊 (แพะ) | ก่อนยุคถัง 14:00-16:00 น. | พระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตก |
หลังยุคถัง 13:00-15:00 น. | |||||
9 | เซินสือ 申時 (shēn shí) |
ปูสือ 晡时 (bū shí) |
猴 (ลิง) | ก่อนยุคถัง 16:00-18:00 น. | พระอาทิตย์เตรียมลับขอบฟ้า |
หลังยุคถัง 15:00-17:00 น. | |||||
10 | โหย่วสือ 酉時 (yǒu shí) |
รื่อรู่ 日入 (rì rù) |
雞 (ไก่) | ก่อนยุคถัง 18:00-20:00 น. | ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตก |
หลังยุคถัง 17:00-19:00 น. | |||||
11 | ซวีสือ 戌時 (xū shí) |
หวงฮุน 黄昏 (huáng hūn) |
狗 (สุนัข) | ก่อนยุคถัง 20:00-22:00 น. | ช่วงเวลาพลบค่ำหลังจากพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า |
หลังยุคถัง 19:00-21:00 น. | |||||
12 | ไฮ่สือ 亥時 (hài shí) |
เหรินติ้ง 人定 (rén dìng) |
豬 (หมู) | ก่อนยุคถัง 22:00-24:00 น. | ช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดสนิท มนุษย์หยุดดำเนินกิจกรรมแล้วเข้านอน |
หลังยุคถัง 21:00-23:00 น. |
หน่วยเวลา ‘เค่อ’ (刻)
——ในช่วงก่อนสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก คนโบราณกำหนด 1 วันเท่ากับ 100 เค่อ (百刻製) ถือเป็นหน่วยการนับเวลาในยุคแรกๆ และถูกใช้มาเนิ่นนานที่สุด เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) ชาวจีนใช้การนับเวลาแบบ 100 เค่อ ควบคู่กับการทราบเวลาจากการวัดทิศทางและความยาวของเงาแดด เครื่องบอกเวลาที่ใช้คือนาฬิกาแดดแบบแท่น ‘กุยเปี่ยว’ (圭表) นาฬิกาแดดแบบแท่นประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นแท่งสูงจากพื้น เรียกว่า ‘เปี่ยว’ (表) อีกส่วนเป็นแท่นยาววางลาดบนพื้น เรียกว่า ‘กุย’ (圭) ใช้วิธีวัดความยาวของเงาแดดที่ตกกระทบส่วนที่เรียกว่า ‘กุย’ เมื่อถึงสมัยสุยถัง (隋唐 ค.ศ. 581-907) การวัดทิศทางของดวงอาทิตย์เปลี่ยนเป็น 12 สือเฉินอย่างเป็นทางการ ทำให้หน่วยเวลาของประเทศจีนในสมัยโบราณสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
——ปลายสมัยราชวงศ์หมิงต่อต้นสมัยราชวงศ์ชิง นาฬิกาอันทันสมัยแบบตะวันตกเริ่มแพร่หลายเข้าสู่จีน จึงเปลี่ยนการนับเวลามาเป็น 1 วันมี 24 ชั่วโมง เนื่องจาก 100 เค่อไม่อาจหารด้วยเวลา 24 ชั่วโมงได้ลงตัว จึงยากแก่การคำนวณ ต่อมาจึงแก้ไขเป็น 1 วันมี 96 เค่อ, 108 เค่อ และ 120 เค่อ จนในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) มีการประกาศอย่างเป็นทางการให้ 1 วันเท่ากับ 96 เค่อ และ 1 สือเฉินเท่ากับ 8 เค่อ แบ่งเป็น 4 เค่อบนและ 4 เค่อล่าง
——ในนิยายจีนโบราณมักมีคำพูดว่า ‘อู่สือซานเค่อตัดหัวนักโทษ’ (午時三刻處斬犯人) แล้วเวลา ‘อู่สือซานเค่อ’ (午時三刻) เท่ากับเท่าไร คนจีนโบราณแบ่ง 1 วันเท่ากับ 12 สือเฉิน หรือเท่ากับ 100 เค่อ แต่ละเค่อเท่ากับเวลาปัจจุบัน 14 นาที 24 วินาที หากคำนวณตามนี้ ‘อู่สือ’ ก็จะเท่ากับ 11 โมง 13 นาที ดังนั้น ‘อู่สือซานเค่อ’ จึงเท่ากับ 11 โมง 43 นาที 12 วินาที หรือเกือบๆ 11.45 น. หากยึดตามหลักสำนักหยินหยาง (陰陽家) เวลานี้จะมีพลังหยางมากที่สุด คนจีนโบราณจึงประหารนักโทษที่คดีอุกฉกรรจ์หรือมีความผิดมหันตโทษในเวลานี้ เพราะช่วงเวลาที่พลังหยางมากที่สุดจะทำให้พลังหยิน (陰氣) ของนักโทษสลายไปทันทีเมื่อถูกประหาร ดั่งคำกล่าวที่ว่า ‘แม้แต่ผีก็ยังเป็นไม่ได้’ (連鬼都不得做) ส่วนนักโทษที่มีความผิดลหุโทษจะถูกตัดหัวในเวลาเที่ยงตรง เนื่องจากพลังหยินยังพอหลงเหลือ จึงมีโอกาสได้ไปเป็นผี
หน่วยเวลา ‘เกิง’
——หน่วยเวลา ‘เกิง’ (更 การออกเสียงแบบเก่าอ่านว่า ‘จิง’) หรือ ‘กู่’ (鼓) มีที่มาจากวังหลวงสมัยราชวงศ์ฮั่น เวรของเจ้าหน้าที่ตอนกลางคืนแบ่งเวลาออกเป็น 5 กะ เรียกว่า ‘ห้าเกิง’ (五更) ต่อมาจึงได้กำหนด 1 เกิงเท่ากับ 1 สือเฉิน เวลากลางคืน 5 เกิง ประกอบด้วย
——เกิงที่ 1 เวลา 19:00-21:00 น. (ตรงกับสือเฉิน ‘ซวีสือ’ 戌時)
——เกิงที่ 2 เวลา 21:00-23:00 น. (ตรงกับสือเฉิน ‘ไฮ่สือ’ 亥時)
——เกิงที่ 3 เวลา 23:00-01:00 น. (ตรงกับสือเฉิน ‘จื่อสือ’ 子時)
——เกิงที่ 4 เวลา 01:00-03:00 น. (ตรงกับสือเฉิน ‘โฉ่วสือ’ 丑時)
——เกิงที่ 5 เวลา 03:00-05:00 น. (ตรงกับสือเฉิน ‘หยินสือ’ 寅時)
——สำนวน ‘ซานเกิงปั้นเย่’ (三更半夜) มีที่มาจากเกิงที่ 3 ในช่วงเวลา 23:00-01:00 น. สื่อความหมายว่าดึกดื่นเที่ยงคืน นอกจากนี้ชาวจีนมีคำพูดว่า ‘เกิงที่ 4 ทำกับข้าว เกิงที่ 5 ออกเรือ’ (四更造飯,五更開船) กล่าวคือ ตี 1 ถึงตี 3 ทำกับข้าว ตี 3 ถึงตี 5 ออกเรือนั่นเอง
——ในอดีตมีอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า ‘เกิงฟู’ (更夫) หรือ ‘ต่าเกิง’ (打更) คอยทำหน้าที่ตีเครื่องมือให้เกิดเสียง เช่น ฆ้อง กลอง คืนละ 5 ครั้งเพื่อแจ้งเวลาทั้ง 5 เกิง ปกติไปพร้อมกัน 2 คน คนหนึ่งถือฆ้อง อีกคนหนึ่งถือไม้ตี เกิงฟูทราบเวลาโดยการนั่งเฝ้าชุดถังน้ำหยดหรือจุดธูป จึงเป็นอาชีพที่ลำบากเพราะต้องอดตาหลับขับตานอนตลอดคืน เกิงฟูมีทั้งแบบที่ทางการเป็นผู้ว่าจ้างและเศรษฐีท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้าง
——นอกจากนี้เวลาแต่ละเกิงแบ่งได้เป็น 5 ‘เตี่ยน’ (點) เวลา 1 เตี่ยนเท่ากับ 24 นาที คำว่าเตี่ยนถูกใช้มาจนถึงปัจจุบันในความหมายว่า ‘โมง’ เช่น 五點 คือ 5 โมง
ชุดถังน้ำหยดบอกเวลา
——ก่อนสมัยราชวงศ์ชิงประเทศจีนไม่มีนาฬิกาบอกเวลา จึงต้องใช้เครื่องบอกเวลาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง และยึดหลักการง่ายๆ เช่น นาฬิกาแดดแบบแท่น (圭表) นาฬิกาแดดแบบกลม (日晷) แต่ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากใช้ได้แค่ตอนกลางวัน ต่อมาจึงได้ประดิษฐ์ ‘ชุดถังน้ำหยด’ (銅壺滴漏) เพื่อบอกเวลา ชุดถังน้ำหยดประกอบด้วยภาชนะรูปทรงเหมือนถัง 4 ใบวางลดหลั่นกัน ขอบส่วนล่างของถังแต่ละใบมีรูหรือก๊อกที่คอยปล่อยให้น้ำหยดลงในถังถัดไป ยกเว้นใบสุดท้ายที่มีแท่งเหล็กหรือไม้ซึ่งลอยขึ้นตามระดับน้ำ ปลายแท่งที่ลอยขึ้นจะตรงกับแท่งไม้ที่ยึดติดกับถังใบล่างสุดอีกแท่ง บนแท่งมีตัวอักษรสลักบอกหน่วยเวลาเป็น ‘เค่อ’ (刻) หรือ ‘สือเฉิน’ (時辰)
——คัมภีร์ ‘โจวหลี่’ 《周禮》บันทึกไว้ว่าเมื่อเกิดศึกสงครามต้องใช้ชุดถังน้ำหยดเพื่อบอกเวลาที่แม่นยำในการเคลื่อนทัพ ส่วนภาพที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีชุดถังน้ำหยดปรากฏอยู่คือภาพ ‘เถียนโล่วถู’ (田漏圖) จากภาพจะเห็นว่าชุดถังน้ำหยดในยุคแรกมีภาชนะด้านบน 1 ใบ และภาชนะรองรับน้ำอีก 1 ใบ การนับเวลาจึงไม่ค่อยแม่นยำนัก ต่อมามีการพัฒนาและคำนวณจนพบว่าหากใช้ภาชนะด้านบน 3 ใบจะได้เวลาแม่นยำที่สุด กล่าวได้ว่าชุดถังน้ำหยดมีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านวัฒนธรรมของจีนสมัยโบราณ
——บางครั้งมีการใช้ชุดถังน้ำหยดร่วมกับนาฬิกาแดดเพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น ในบันทึกประวัติศาสตร์ ‘สื่อจี้’ 《史記》กล่าวว่า ช่วงปลายยุคชุนชิว รัฐฉี (齊國) ทำสงครามกับรัฐเยียน (燕國) และรัฐฉีมักพ่ายแพ้ เจ้าครองรัฐฉีจึงแต่งตั้งซือหม่าหรางจวี (司馬穰苴) ให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด สิ่งแรกที่ซือหม่าหรางจวีทำคือปรับปรุงวินัยทหาร เขานัดปรึกษาหารือกับจวงเจี่ย (莊賈) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ช่วงเที่ยงของอีกวัน ซือหม่าหรางจวีสั่งให้คนติดตั้งชุดถังน้ำหยดกับนาฬิกาแดด เมื่อเครื่องนับเวลาทั้งสองบอกว่าถึงเวลานัด จวงเจี่ยกลับยังไม่มา ซือหม่าหรางจวีโกรธจัด สั่งประหารจวงเจี่ย ตั้งแต่นั้นมาทหารของกองทัพรัฐฉีก็ไม่มีใครกล้ามาสายอีก
——สมัยโบราณหอนาฬิกามักสร้างที่กลางเมือง สิ่งที่ใช้วัดเวลาในหอนาฬิกาก็คือชุดถังน้ำหยด เช่นหอนาฬิกาของปักกิ่งมีตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271-1368) เมื่อถึงปลายสมัยราชวงศ์ชิงนาฬิกาจากตะวันตกเริ่มได้รับความนิยม ชุดถังน้ำหยดก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงจนกลายเป็นของสะสม
——เวินถิงอวิ๋น (溫庭筠 ค.ศ. 812-870) กวีสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) เคยเขียนบทกลอนที่กล่าวถึงชุดถังน้ำหยด ความตอนหนึ่งว่า ‘ถังน้ำหยดจนหมดตื่นจากฝัน คนสูงศักดิ์ปริศนาควบม้าฝุ่นตลบ’ (銅壺漏斷夢初覺,寶馬塵高人未知) กลอนบทนี้สะท้อนชีวิตสองแบบ แบบแรกเป็นภาพฮ่องเต้ที่ไม่สนใจบ้านเมือง ออกล่าสัตว์แต่เช้าตรู่ อีกแบบเป็นภาพขุนนางใช้ชุดถังน้ำหยดเหมือนตั้งนาฬิกาปลุกไว้เพื่อให้เข้าไปทำงานแต่เช้าได้ตรงเวลา ผู้ประพันธ์บอกใบ้ถึงการให้ความสำคัญต่อเวลาของขุนนาง แต่ประชดเสียดสีฮ่องเต้ที่ไม่สนใจการบ้านการเมือง
นาฬิกาคำนวณดาราศาสตร์พลังน้ำ
——นาฬิกาดาราศาสตร์พลังน้ำ (水運儀象台) ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋ค.ศ. 960-1127) โดยซูซ่ง (蘇頌 ค.ศ. 1020-1101) นักดาราศาสตร์ชื่อดังและทีมงาน แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1092 เป็นอุปกรณ์คำนวณดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายอาคารสี่เหลี่ยม สูง 12 เมตร กว้าง 7 เมตร และเป็นเครื่องบอกเวลาอัตโนมัติที่ใช้น้ำเป็นตัวขับเคลื่อน
——นาฬิกาชนิดนี้มีกลไกซับซ้อน โครงสร้างแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 เป็นส่วนที่บอกเวลาและเป็นระบบขับเคลื่อนนาฬิกา หน้าต่างแสดงเวลามีป้ายบอกเวลาหมุนตามจำนวน 100 เค่อ ชั้นที่ 2 ติดตั้งลูกโลกแสดงตำแหน่งดวงดาวที่เรียกว่า ‘หุนเซี่ยง’ (渾象) ทรงกลมเหมือนลูกโลก มีปุ่มโลหะนูนขึ้นมาเลียนแบบดวงดาวในอวกาศ เหตุที่เป็นทรงกลมเนื่องจากคนจีนสมัยโบราณเชื่อว่าอวกาศมีรูปทรงเหมือนเปลือกไข่ ดวงดาวแต่ละดวงติดอยู่บนเปลือกไข่ ส่วนโลกที่เราอาศัยก็เหมือนไข่แดง ชั้นที่ 3 เป็นวงล้อดาราศาสตร์ที่เรียกว่า ‘หุนอี๋’ (渾儀) ลูกโลกและวงล้อช่วยให้สามารถสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ บอกการขึ้นและตกของดวงดาว รวมทั้งแสดงตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้า
——นาฬิกาดาราศาสตร์พลังน้ำแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของชาวจีนในสมัยโบราณ ถือเป็น ‘บรรพบุรุษ’ ของนาฬิกาและหอดาราศาสตร์ในปัจจุบัน
[1] ตี้จือ มีที่มาจากหลักแผนภูมิสวรรค์ (天干地支ภาคสวรรค์กับภาคปฐพี) ใช้สำหรับนับวันและปีแบบดั้งเดิม