ป้ายบรรพบุรุษ:
เครื่องผูกพันใจของทายาทผู้วายชนม์

เรื่องโดย ถิรวัสส์ อัครเดชเรืองศรี


ป้ายสถิตวิญญาณปฐมบรรพบุรุษตระกูลของผู้เขียน ณ นครโผวเล้ง (普寧市) มณฑลกวางตุ้ง (廣東省)

 

——ความกตัญญู (孝) ถือเป็นยอดคุณธรรมตามคติลัทธิหรู (儒家) ของขงจื่อ (孔子 551–479 ปีก่อนค.ศ.) ที่ฝังใจผู้คนในสังคมจีน ชาวจีนจึงดูแลปรนนิบัติบุพการียามท่านยังมีลมหายใจ และเซ่นไหว้ยามท่านลาโลกแล้ว ดุจท่านยังไม่จากไปไหน (祭如在) เฉกเช่นการปรนบัติเมื่อครั้งท่านมีชีวิตอยู่ (事死如事生)

——ในยุคก่อนพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีน ชาวจีนเชื่อว่า เมื่อมนุษย์สิ้นอายุขัย จักต้องมีที่สถิตให้ดวงวิญญาณ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นวิญญาณร้ายเร่ร่อน คอยรังควานชีวิตคนเป็น ประกอบกับเรื่อง “แกะสลักรูป ปรนนิบัติบุพการี” (刻木事親) ในหนังสือภาพยี่สิบสี่ยอดกตัญญู《二十四孝圖》ได้เล่าเรื่องของบุคคลหนึ่งนามว่า ติงหลาน (丁蘭) ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ค.ศ. 25–220) บิดามารดาล่วงลับตั้งแต่เขายังไม่รู้เดียงสา จึงหมดโอกาสตอบแทนพระคุณผู้ให้กำเนิด ได้แต่นำไม้มาแกะสลักเป็นรูปเคารพและเซ่นไหว้ทุกเช้าค่ำ ปรนนิบัติดุจท่านยังมีชีวิต นานวันเข้าภรรยาเลยทึกทักว่าเขางมงาย จึงนำเข็มมาจิ้มที่นิ้วของรูปเคารพด้วยความสงสัยใคร่รู้ ปรากฏว่ามีของเหลวสีแดงไหลซึม เมื่อติงหลานกลับถึงบ้านแล้วพบรูปเคารพมีรอยเปื้อนคล้ายคราบเลือด จึงถามคาดคั้นจนทราบความจริง จากนั้นติงหลานกับภรรยาก็เลิกร้างกัน ภายหลังผู้คนจึงยึดความกตัญญูของติงหลานเป็นแบบอย่าง และเริ่มสร้างป้ายไม้ แล้วเขียนหรือแกะสลักชื่อของบุพการีไว้เป็นที่ระลึก เรียกว่า เสินจู่ไผ (神主牌) หรือ ป้ายสถิตวิญญาณบรรพบุรุษ

——นักวิชาการจีนหลายคน เช่น เฉินเมิ่งเจีย (陳夢家 ค.ศ. 1911–1966) นักอักขรวิทยาและกวียุคจีนใหม่ เจียงเลี่ยงฟู (姜亮夫 ค.ศ. 1902–1995) อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักสรวิทยา รวมถึงสีว์จงซู (徐中舒 ค.ศ. 1898–1991) นักประวัติศาสตร์และนักอักขรวิทยา มีความเห็นสอดคล้องกันว่า อักษร “示” อันสื่อความหมายของการเซ่นไหว้ในรูปแบบอักษรกระดองเต่า (甲骨文)[1] มีลักษณะคล้าย แผ่นหินซึ่งใช้เป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (石主)

——ในคัมภีร์หลุนอวี่《論語》 มีเนื้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างป้ายสถิตภูมิเทวดาดังนี้ “คนสมัยเซี่ยใช้ไม้สน คนสมัยซางใช้ไม้ไซเปรส คนสมัยโจวใช้ไม้เกาลัด[2] จึงพออนุมานได้ว่า การทำป้ายบรรพบุรุษ เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์เซี่ย (夏 ราว 2,070–1,600 ปีก่อนค.ศ.) มีบางยุคใช้วัสดุจากหินในการสร้าง และยุคเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนตำนานของติงหลาน

 

  • แผ่นป้ายอันทรงคุณค่า

——ป้ายบรรพบุรุษเป็นที่สถิตดวงวิญญาณและเครื่องระลึกถึงบรรพบุรุษ ทั้งยังเป็นสื่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณตามคตินิยม เดิมทีนิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ไม้หอม หรือไม้มงคล ซึ่งเป็นวัสดุชั้นเลิศที่หาได้ในถิ่นนั้น แต่ในปัจจุบัน มีการใช้แผ่นหยกหรือแผ่นกระจก เพื่อที่ป้ายจะได้คงทนยิ่งขึ้น ตัวป้ายซึ่งบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของป้ายด้วยการเขียนหรือแกะสลักนั้น เป็นไม้สองแผ่นซ้อนกัน

——ไม้แผ่นหลังจารึกข้อมูลส่วนตัวของผู้วายชนม์ โดยมากระบุวันเดือนปีเกิดและวันเดือนปีตาย สถานที่ฝังศพหันทิศใด พิงภูเขาทิศไหน อยู่แห่งหนตำบลใด หากเป็นชาวจีนโพ้นทะเล อาจมีการระบุภูมิลำเนาเดิมไว้ด้วย

——ส่วนไม้แผ่นหน้าเป็นชื่อของผู้วายชนม์ มักขึ้นต้นด้วยอักษร (xiǎn) ซึ่งเป็นคำสรรเสริญผู้วายชนม์ว่ามีคุณธรรมและความประพฤติหมดจด (德行顯著) แล้วตามด้วยอักษร (zǔ บรรพบุรุษ) หรืออาจขึ้นต้นด้วยตัวใดตัวหนึ่งดังล่าว ตัวอักษรต่อมา หากเป็นฝ่ายชายจะตามด้วย (kǎo บิดาผู้ล่วงลับ) + ชื่อ + แซ่ + 公 (gōng สรรพนามเรียกเพศชายอย่างเคารพ) หากเป็นฝ่ายหญิงจะตามด้วย (bǐ มารดาผู้ล่วงลับ) + ชื่อ + แซ่เดิมก่อนสมรส + 氏 (shì สกุล) และมักลงท้ายด้วย () 神主 แปลว่า ที่สถิตดวงวิญญาณ (ของ)

——อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไป เพราะในความเป็นจริง แบบแผนของแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกัน โดยยึดถือปฏิบัติตามสิ่งที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

——การอัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษเข้าสถิตในป้าย เรียกว่าเตี๋ยนจู่ (點主 เตี่ยมจู้) เริ่มจากการเตรียมบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับบรรพบุรุษทั้งหมดบนแผ่นป้าย และร่างอักษรหวัง (王 อ๊วง) ไว้ก่อน เมื่อได้ฤกษ์ก็ใช้พู่กันเจิมขีด 丶 บนอักษรหวัง ให้เป็นอักษรจู่ (主 จู้) จึงเป็นที่มาของชื่อพิธีนี้ในภาษาจีน ดังตัวอย่างคำกลอนมงคลสำหรับอวยพรประกอบพิธี ในหนังสือประมวลองค์ความรู้ธรรมเนียมพิธีกรรมแต้จิ๋ว《潮俗儀禮備要》ความว่า

王字加點即為主       อักษรหวังเจิมขีดเป็นตัวจู่

乃翁名字登天府       นามบิดาขึ้นสู่สรวงสวรรค์

蔭你子孫長富貴       คุ้มลูกหลานมั่งมีนับอนันต์

世代興旺傳萬古       ทุกชั่วชั้นรุ่งเรืองสถาพร[3]

——แต่ในปัจจุบัน ช่างผู้ทำป้ายอาจเขียนอักษร จู่ เตรียมไว้ก่อน เมื่อถึงวันงาน จึงใช้พู่กันเจิมขีดบนอักษรพอเป็นพิธี

 

  • ศาลบรรพบุรุษ ศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจคนในวงศ์ตระกูล

——เมื่อมีการสร้างป้ายบรรพบุรุษ ย่อมมีการสร้างศาลบรรพบุรุษ เพื่อเป็นที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษอย่างถาวร และมีการสร้างทุกระดับชนชั้นในสังคมจีน ตั้งแต่ไท่เมี่ยว (太廟) สำหรับบวงสรวงดวงพระวิญญาณของอดีตจักรพรรดิ จงเมี่ยว (宗廟) สำหรับเชื้อพระวงศ์ เจียเมี่ยว (家廟) สำหรับเหล่าขุนนาง จนถึงฉือถัง (祠堂 สื่อตึ้ง) สำหรับราษฎร

——“ฉือถัง” (สือตึ้ง) แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ คือ

  1. จู่ฉือ (祖祠 โจ๋วซื้อ) สำหรับบรรพบุรุษสายตรง โดยมีบรรพบุรุษต้นสายสกุล (開基祖) หรือบรรพบุรุษต้นสาขาย่อย (開房祖) เป็นประมุขของศาล และอาจมีป้ายบรรพบุรุษที่ร่วมบรรพบุรุษทุกสายสถิตในศาลด้วย หากศาลบรรพบุรุษประเภทนี้สร้างบนบริเวณเคหสถานซึ่งผู้เป็นประมุขของบ้านเคยอยู่อาศัย จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จู่ซื่อ (祖室 โจ๋วสิก)
  2. จงฉือ (宗祠จงซื้อ) สำหรับบรรพบุรุษที่ไม่ใช่สายตรงเป็นประมุขของศาล อาจเป็นบุคคลที่สร้างคุณงามความดี มีชื่อเสียงจนเป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูล และทายาทร่วมแซ่สายอื่นให้ความเคารพนับถือ

——ศาลเหล่านี้จัดเป็นกุศลสถานในลัทธิขงจื่อ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของท้องถิ่นนั้น และตามกำลังทรัพย์แห่งวงศ์ตระกูล เพื่อแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือบรรพบุรุษ ทั้งยังมีเกียรติภูมิที่แตกต่างกันตามสถานภาพในสังคมของผู้สร้างอย่างชัดเจน

——แต่ละปีมีการนัดรวมญาติต่างกรรมต่างวาระ ณ ศาลบรรพบุรุษ เช่น เซ่นไหว้ประจำฤดู ได้แก่ ปักษ์วสันตวิษุวัต (春分ชุนเฟิน / ชุงฮุง) ประจำฤดูใบไม้ผลิ ปักษ์ศารทวิษุวัต (秋分ชิวเฟิน / ชิวฮุง) ประจำฤดูใบไม้ร่วง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ปักษ์เหมายัน (冬至 ตงจื้อ / ตังจี่) ประจำฤดูหนาว ตลอดจนวันรำลึกครบรอบวันสิ้นบุญของบรรพบุรุษ (忌辰หรือ จ๊อขี่ / จ๊อกี่ 做忌 ในภาษาแต้จิ๋ว) วันรำลึกวันคล้ายวันเกิดของบรรพบุรุษ และวันรำลึกครบรอบวันสร้างศาลบรรพบุรุษ ทั้งนี้แล้วแต่ธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบกันมาในท้องถิ่นหรือตระกูลนั้นๆ

——ศาลบรรพบุรุษไม่เพียงเป็นที่เซ่นไหว้ แต่ยังเป็นศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจคนในวงศ์ตระกูล และเป็นที่เปิดสำหรับทายาทในสกุลใช้จัดงานต่างๆ ทั้งงานมงคล เช่น งานแต่งงานรับสะใภ้เข้าตระกูล และงานอวมงคล เช่น งานศพ อีกทั้งเป็นที่ตั้งของชมรม กลุ่มองค์กรทางวัฒนธรรม และกิจกรรมส่วนรวม เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษยังคงสิงสถิตในบ้าน คอยคุ้มครองลูกหลานด้วยความห่วงใย เมื่อจัดกิจกรรมต่างๆ จึงถือบรรพบุรุษเป็นดุจร่มโพธิ์ร่มไทร ทายาทเลยต้องครองตัวด้วยหิริโอตตัปปะ คือมีความละอายบาปและความเกรงกลัวบาปอันเป็นเหตุให้ชื่อเสียงของบรรพบุรุษเสื่อมเสีย

 

  • พงศาวลีในศาลบรรพบุรุษ

——การสร้างศาลบรรพบุรุษขึ้นหนึ่งหลัง เป็นเรื่องสำคัญของทั้งตระกูลที่ต้องลงทุนลงแรงเป็นอันมาก ในอดีตจึงมีการกำหนดจำนวนศาลบรรพบุรุษซึ่งแต่ละชนชั้นในสังคมสามารถสร้างได้ตามฐานะ และกำลังศรัทธาของตน ดังที่ปรากฏข้อความตอนหนึ่งในตำราหลี่จี้ บรรพระบบศักดินา《禮記·王制》ว่า “กษัตริย์สร้างศาลบรรพบุรุษเจ็ดศาล เหล่าเจ้ารัฐสร้างห้าศาล อำมาตย์สร้างสามศาล ข้าราชการ(ทั่วไป)สร้างหนึ่งศาล สามัญชนเซ่นไหว้ในเคหสถาน[4] กล่าวคือ ในอดีตกษัตริย์บูชาบรรพบุรุษทั้งหมดเจ็ดรุ่น และแต่ละยุคอาจเรียงลำดับไม่เหมือนกัน แต่ตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมามักเป็นดังนี้ ปฐมบรรพบุรุษ (始祖) หรือทวดของเทียด (太祖) เป็นประมุข ปู่-ย่าของเทียด (烈祖) บิดามารดาของเทียด (玄祖) เรียกรวมว่า “เอ้อร์เทียว” (二祧) และเทียด (高祖) ทวด (曾祖) ปู่ย่า บิดามารดา เรียกรวมว่า “ซื่อชิน” (四親) มีการสร้างศาลเป็นที่สถิตวิญญาณรุ่นละหนึ่งหลัง หากสถานภาพลดหลั่นลงมาตามลำดับ กล่าวคือ เหล่าเจ้ารัฐจะสร้างศาลปฐมบรรพบุรุษหนึ่งศาล และศาลบรรพบุรุษในกลุ่มซื่อชินอีก 4 ศาล รวมเป็น 5 ศาล (五廟) เหล่าอำมาตย์จะสร้างศาลทวด ศาลปู่ย่า และศาลบิดามารดา รวม 3 ศาล (三廟) ข้าราชการจะสร้างศาลบิดามารดาเพียง 1 ศาล (一廟) โดยใช้ระบบเจามู่ (昭穆制度) วางตำแหน่งโดยเรียงลำดับตามอาวุโส เพื่อให้เห็นสายสัมพันธ์ของบรรพบุรุษแต่ละรุ่นอย่างชัดเจน กล่าวคือ ประมุขมีตำแหน่งอยู่ตรงกลาง นับเป็นลำดับที่ 1 ด้านซ้ายมือของประมุข (หรือด้านขวามือเมื่อเราอยู่ต่อหน้าศาล) เป็นลำดับที่ 2-4-6 เรียกว่า “เจา” (昭) มีศักดิ์รองลงมา และด้านขวามือของประมุข (หรือด้านซ้ายมือเมื่อเราอยู่ต่อหน้าศาล) เรียกว่า “มู่” (穆) เป็นลำดับที่ 3-5-7 มีศักดิ์รองลงอีก

——ต่อมา เนื่องจากปฐมบรรพบุรุษของเกือบทุกตระกูลแซ่ มีฐานันดรในระบบศักดินา หรือเคยรับราชการ  ประกอบกับมีการเผยแผ่ลัทธิขงจื่อไปยังชนชั้นรากหญ้า จึงเกิดการสร้างศาลบรรพบุรุษขึ้นในหมู่สามัญชน แบบแผนดังกล่าวก็ยังคงอยู่ และนำมาปรับใช้กับการวางตำแหน่งป้ายบรรพบุรุษแต่ละรุ่นในศาล เช่น ตำแหน่งชื่อของภรรยาหลวง-อนุภรรยาบนป้าย ในกรณีที่บรรพบุรุษมีคู่ครองหลายคน

——อนึ่ง  สำหรับทายาทที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเล เมื่อสร้างป้ายบรรพบุรุษแล้ว มักนิยมเขียนพงศาวลีโดยนับรุ่นต่อจากบรรพบุรุษในภูมิลำเนาเดิมเพื่อแสดงความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับต้นตระกูล อีกทั้งถ้านับใหม่โดยเริ่มต้นที่รุ่นของพวกเขา จะเป็นการลบหลู่บรรพบุรุษ (欺祖) ทว่าหากเป็นการโยกย้ายไปอยู่ต่างถิ่นแดนไกล แต่ยังอยู่ในแผ่นดินจีน ก็อาจจะนับรุ่นของพวกเขาเป็นต้นตระกูลได้ เรียกว่าการชูจู่ (出祖 ชุกโจ้ว การตั้งสายบรรพบุรุษขึ้นใหม่) คตินิยมเช่นนี้สะท้อนความรักซึ่งชาวจีนมีต่อมาตุภูมิอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

 

  • คตินิยมอันสืบเนื่องจากการสร้างป้ายวิญญาณ

——แต่ละกลุ่มชนต่างก็มีความเชื่อที่ผิดแผกกัน จนเกิดเป็นคตินิยมที่มีลักษณะเฉพาะของกลุ่มชนนั้น ดังเช่นในกรณีความเชื่อเรื่องการต่ออายุ ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การสร้างป้ายบรรพบุรุษไว้ล่วงหน้าเป็นวิธีการต่ออายุอย่างหนึ่งของคนจีน และจัดทำในแบบเดียวกันกับของผู้วายชนม์แล้ว แต่มีการคลุมผ้าแดงที่เขียนว่า “長生禄位” (รับวาสนา อายุวัฒนะ) เพื่อเป็นเคล็ดเสริมดวง เมื่อเจ้าของป้ายนั้นสิ้นชีวิตแล้ว ก็จะเปลื้องผ้าแดงที่คลุมป้ายออก หากเจ้าของป้ายเป็นคู่สามีภรรยา และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสิ้นชีวิตก่อน ฝ่ายที่ยังอยู่ก็ปิดกระดาษที่ชื่อแทน

——ในลัทธิเต๋าและพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแบบจีน ซึ่งผสมผสานวัฒนธรรมและคตินิยมของกลุ่มชนต่างๆ ก็ได้นำรูปแบบการทำป้ายบรรพบุรุษมาใช้ และปรับเปลี่ยนวัสดุเป็นกระดาษ สำหรับประกอบพิธีกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งแบ่งได้สองประเภท คือ 1. ป้ายที่ใช้ในพิธีอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้วายชนม์ เรียกว่า หวั่งเซิงไผ (往生牌 ป้ายสู่ภพใหม่) โดยมากนิยมสีเหลือง มักพบในพิธีจุยเจี้ยน (追薦 ตุยจิ่ง)[5] ตอนทำกงเต็ก (做功德) และพิธีอุลลัมพนมณฑล (盂蘭盆道场) หรืองานทิ้งกระจาด เมื่อเสร็จกิจแล้ว ก็เผาป้ายเหล่านี้พร้อมกระดาษเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้กระดาษที่ต้องการอุทิศ และ 2. ป้ายซึ่งสมณะหรือนักพรตเต๋าใช้เขียนชื่อคฤหัสถ์ผู้ยังมีชีวิต เรียกว่า ฉางเซิงไผ (長生牌) โดยมากนิยมสีแดง วางไว้ข้างหน้าพระประธาน มีจุดประสงค์เพื่อสวดมนต์ขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ในฐานะที่คฤหัสถ์ผู้นั้นได้บริจาคทำนุบำรุงศาสนา

 

  • บริบทในสังคมปัจจุบัน

——เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี เครื่องระลึกถึงผู้ล่วงลับเปลี่ยนเป็นภาพถ่าย แต่ความนิยมในการสร้างป้ายบรรพบุรุษยังคงไม่เสื่อมคลาย ทว่าเนื่องด้วยบริบทวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่ผันแปรไปจากเดิม จึงเกิดความนิยมในการซื้อป้ายบรรพบุรุษตามกุศลสถานต่างๆ เช่น มูลนิธิ สมาคมการกุศล โรงเจ ตลอดจนวัดพุทธ อารามเต๋า ซึ่งมีการประกอบพิธีสวดมนต์อุทิศส่วนบุญ และเซ่นไหว้รวมเป็นประจำ (คล้ายกับวัฒนธรรมไทยที่มีการซื้อช่องเก็บอัฐิข้างกำแพง หรือสร้างสถูปอัฐิในวัด) ทั้งยังสามารถขอให้กุศลสถานช่วยจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เมื่อเรามีความประสงค์จะเซ่นไหว้ในโอกาสวันรำลึกบรรพบุรุษต่างๆ ได้ด้วย นับว่าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่ออีกแบบหนึ่งซึ่งอำนวยความสะดวกสบายแก่ทายาท โดยไม่ละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมจากรากเหง้าตนเอง

——ป้ายบรรพบุรุษไม่เพียงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ยังเป็นเครื่องระลึกถึงบรรพบุรุษดุจท่านยังคงมีชีวิต ให้ทายาทได้กราบไหว้บูชา สื่อประสานสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย ทั้งยังเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเป็นเครื่องกระชับความสามัคคีในตระกูล ด้วยคติที่ว่า หากเหล่าลูกหลานแตกแยก ไม่รักใคร่กลมเกลียวกัน ย่อมถือเป็นการอกตัญญูอย่างหนึ่ง เมื่อสิ้นใจ จึงไม่กล้าสู้หน้าบรรพบุรุษในสัมปรายภพ นับว่าเป็นวัฒนธรรมจีนซึ่งอาศัยความเชื่อเป็นกุศโลบาย ให้คนรุ่นหลังรู้จักรากเหง้า มีความรักวงศาคณาญาติ อันเป็นรากฐานสำคัญของความสงบสุขในสังคม

 


[1]อักษรยุคแรกเริ่มของจีน ใช้กันในหมู่เชื้อพระวงศ์ สมัยปลายราชวงศ์ซาง (商 ประมาณ 1,600–1,046 ปีก่อนค.ศ.) ซึ่งยุคนั้นใช้กระดองสัตว์เพื่อบันทึกข้อมูล
[2] 《論語·八佾下》記載:“哀公問社於宰我。宰我對曰:‘夏后氏以松,殷人以柏,周人以栗,’曰使民戰慄。
[3] ถอดความเป็นภาษาไทย และเรียบเรียงเป็นร้อยกรองโดย พีรณัฐ จิวะรังสินี
[4]天子七廟,諸侯五廟,大夫三廟,士一廟,庶人祭於寢。
[5] พิธีอุทิศส่วนบุญให้บรรพบุรุษ หากเป็นการทำกงเต็ก ก็มีจุดประสงค์เพิ่มเติมคือ การบอกกล่าวว่าในครอบครัวมีผู้สิ้นชีวิตแล้ว โดยมากเซ่นไหว้บรรพบุรุษสามรุ่น (三代祖) นับจากบิดามารดาของผู้วายชนม์ขึ้นไป คือ เทียด ทวด และปู่ย่าของทายาทผู้วายชนม์