—–วัดเส้าหลิน (少林寺) เรียกเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า ‘เสี่ยวลิ้มยี่’ คำว่า ‘เส้าหลิน’ (少林) นี้ขนานนามตามที่ตั้งซึ่งอยู่ในป่าไผ่ (竹林) ทางใต้ของยอดเขาอู๋หรู่เฟิง (五乳峰) กลุ่มภูเขาเส้าซื่อซาน (少室山) อันอุดมสมบูรณ์ วัดเส้าหลินตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาทางตะวันตกของภูเขาซงซาน (嵩山) ห่างจากเมืองเติงเฟิง (登封) มณฑลเหอหนาน (河南) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 13 กิโลเมตร —–วัดเส้าหลินเริ่มสร้างเมื่อ ค.ศ. 495 ในรัชสมัยของจักรพรรดิเซี่ยวเหวินตี้ (孝文帝 ค.ศ. 467-499) แห่งราชวงศ์เว่ยเหนือ (北魏 ค.ศ. 386-534) เพื่อต้อนรับพระเถระจากอินเดียนามว่าป๋าถัว[1] (跋陀 ประมาณ ค.ศ. 430-ไม่แน่ชัด) พระป๋าถัวได้พำนักที่นี่และเผยแพร่ความรู้ด้านการเข้าฌาน (นั่งสมาธิ) ที่สืบทอดมาจากอินเดีย ต่อมาใน ค.ศ. 508 พระรัตนมติ[2] (勒那摩提 ไม่แน่ชัด-ประมาณ ค.ศ. 515) และพระโพธิรุจิ[3] (菩提流支 Bodhiruchi ไม่แน่ชัด-ค.ศ. 535) จาริกถึงวัดเส้าหลิน แล้วสร้างหอแปลคัมภีร์ (譯經堂) และได้ร่วมกับพระวสุพันธุ[4] (世親菩薩ค.ศ. 380-480) แปลทศภูมิกสูตร (十地經論 บรรยายหลักปฏิบัติในการบรรลุภาวะพระโพธิสัตว์ 10 ประการ) 12 เล่ม ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์และเผยแพร่ไปทั่วโลก —–ใน ค.ศ. 517 พระโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ (菩提達摩) ได้จาริกจากอินเดียข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง (長江) ไปปฏิบัติฌานในถ้ำบนภูเขาหลังวัดเส้าหลิน ท่านได้ส่งเสริมหลักคำสอนของพุทธศาสนานิกายเซน และเผยแพร่วิถีการบำเพ็ญฌาน อันเป็นการนั่งสมาธิโดยหันหน้าเข้าหากำแพง (大乘壁觀) เพื่อบำเพ็ญตบะ พุทธศาสนานิกายเซนจึงค่อยๆ แพร่หลายในประเทศจีน และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่นั้น —–ทว่าในสมัยราชวงศ์โจวเหนือ (北周 ค.ศ. 557-581) จักรพรรดิโจวอู่ตี้ (周武帝 ค.ศ. 543-578) ทรงยกเลิกการนับถือพระพุทธศาสนาและทำลายวัดเส้าหลิน แต่อีก 3 ปีต่อมาจักพรรดิโจวจิ้งตี้ (周靜帝 ค.ศ. 573-581) ทรงฟื้นฟูพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าอีกครั้ง มีการสร้างวัดเส้าหลินขึ้นใหม่พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นวัดจื้อฮู่ซื่อ (陟岵寺) —–ในสมัยราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581-619) จักรพรรดิสุยเหวินตี้ (隋文帝 ค.ศ. 541-604) ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำชื่อวัดเส้าหลินกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งพระราชทานที่ดิน 100 ไร่จีน[5] (頃) จนวัดเส้าหลินกลายเป็นอารามที่มีพื้นที่เพาะปลูกและหอหรือเรือนขนาดใหญ่มากมาย กระทั่งปลายราชวงศ์สุยเป็นช่วงที่มีสงครามเกิดขึ้น วัดเส้าหลินซึ่งมีทรัพย์สินมั่งคั่งก็ตกเป็นเป้าหมายของพวกโจรภูเขา จึงต้องตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นเพื่อปกป้องทรัพย์สินของวัด โดยเป็นรูปแบบเริ่มต้นของกองกำลังแห่งวัดเส้าหลิน —–ค.ศ. 621 ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) พระถานจง (曇宗) พร้อมกับพระภิกษุอีก 12 รูปจับกุมหวางเหรินเจ๋อ (王仁則) ซึ่งตั้งกองกำลังต่อต้านราชวงศ์ถังแล้วส่งถวายให้จักรพรรดิถังไท่จง (唐太宗 ค.ศ. 598-649) นับได้ว่าเป็นความดีความชอบของวัดเส้าหลิน พระองค์จึงพระราชทานรางวัลและแต่งตั้งให้พระถานจงเป็น ‘ขุนพลพระนักรบ’ (大將軍僧) ทั้งยังพระราชทานที่นาอีก 40 ไร่จีน เหตุการณ์นี้ทำให้กังฟูวัดเส้าหลินมีชื่อเสียงขึ้นนับแต่นั้น —–ล่วงเข้าสู่สมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) วัดเส้าหลินเริ่มเป็นอารามศักดิ์สิทธิ์สำหรับเหล่าพุทธศาสนิกชนนิกายเซนที่มาจาริกแสวงบุญ อีกทั้งยังได้สร้างวัดชูจู่อัน (初祖庵) สถานที่ซึ่งปรมาจารย์ตั๊กม้อเคยมานั่งบำเพ็ญฌาน ตั้งอยู่ด้านหลังวัดเส้าหลินและเจดีย์บำเพ็ญฌาน (面壁之塔) ขนาดใหญ่เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านด้วย —–ในสมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271-1368) ราชสำนักเห็นว่าการปฏิบัติต่อความเชื่อของราษฎรอย่างเสมอภาคจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่การปกครองบ้านเมือง กษัตริย์แห่งราชวงศ์หยวนจึงมีพระราชดำริให้ความสำคัญและความเสมอภาคแก่ทุกศาสนาในสังคม อีกทั้งยังทรงยกย่องสรรเสริญพุทธศาสนาอย่างมากในฐานะที่เป็นศาสนาซึ่งมีชาวฮั่นเลื่อมใสมากที่สุด พุทธศาสนาในยุคนี้ (รวมถึงพุทธศาสนานิกายเซน) จึงได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาให้รุ่งเรือง วัดเส้าหลินและวัดต่างๆ ในบริเวณภูเขาซงซานต่างได้รับการบูรณะขนานใหญ่ —–ในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่สถาปนาในช่วงสงครามระหว่างชาวฮั่นกับชาวมองโกลนั้น ชาวบ้านพากันฝึกปรือกังฟูอย่างแพร่หลาย นับเป็นสถานการณ์ที่เอื้อต่อการพัฒนากังฟูเส้าหลิน จนเกิดเครือข่ายของวัดและสำนักขึ้น —–ในช่วงเวลานี้พระภิกษุวัดเส้าหลินได้เข้าร่วมสงครามช่วยราชสำนัก และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนราชสำนักปูนบำเหน็จความชอบอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังซ่อมแซมวิหารและตั้งศิลาจารึกสรรเสริญคุณงามความดี และจากเหตุการณ์ที่กังฟูเส้าหลินเคยผ่านการสู้รบในสงครามจริงมาแล้วนั้น ทำให้กังฟูเส้าหลินมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับไปทั่วทุกหัวระแหง วัดเส้าหลินในปัจจุบัน —–ในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1636-1912) จำนวนพระภิกษุวัดเส้าหลินร่อยหรอเนื่องจากผลของสงคราม แต่ราชสำนักชิงยังคงให้ความสำคัญแก่วัดเส้าหลินเป็นพิเศษ เช่น ในสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正 ค.ศ. 1678-1735) ได้ดำเนินการบูรณะตำหนักพันพุทธะ 千佛殿) และในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ. 1711-1799) ก็เคยเสด็จประพาสไปที่วัดเส้าหลินด้วยพระองค์เอง โดยพำนักอยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาส —–ในช่วงเวลานี้ พระภิกษุวัดเส้าหลินมักศึกษาคัมภีร์ นั่งสมาธิในตอนกลางวัน และฝึกกังฟูที่ตำหนักพันพุทธะซึ่งอยู่หลังวัดในตอนกลางคืน ฝึกปรือจนพื้นยุบกลายเป็นหลุมและยังคงปรากฎร่องรอยมาถึงปัจจุบัน จากบันทึกทางประวัติศาสตร์และภาพตามผนังของตำหนักไป๋อีเตี้ยน (白衣殿 หรือตำหนักเจ้าแม่กวนอิม) แสดงให้เห็นว่าฝีมือกังฟูวัดเส้าหลินในสมัยราชวงศ์ชิงยังอยู่ในระดับสูง —–ในสมัยสาธารณรัฐช่วงต้น (中華民國ค.ศ. 1912-1949) วัดเส้าหลินที่เขาซงซานเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่เมื่อ ค.ศ. 1928 เนื่องจากเหล่าทหารสู้รบกันจนสร้างความเสียหายอย่างมากแก่วัด เช่น ตำหนักจัตุโลกบาล (天王殿), ตำหนักมหาวิหาร (大雄寶殿), หอคัมภีร์, หอระฆังและหอกลอง, ศิลาจารึกสมัยเว่ย เป็นต้น —–หลังจากสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ประกาศนโยบายใหม่ด้านศาสนาตามนโยบายเปิดประเทศ และการมาถึงยุคสมัยแห่งวัฒนธรรมอันหลากหลายทั่วโลก วัดเส้าหลินจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง พร้อมทั้งสืบสานและส่งเสริมประเพณีอันดีงามที่เป็นเอกลักษณ์ มีการตั้งกลุ่มพระกังฟูวัดเส้าหลินขึ้น เพื่อเปิดการแสดงต่อสาธารณชนจนได้รับคำชื่นชมและความนิยมอย่างกว้างขวาง —–โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ค.ศ. 1982 บริษัท Chung Yuen Motion Picture Company ได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘เสี้ยวลิ้มยี่’ (少林寺) นำแสดงโดยหลี่เหลียนเจี๋ย (李連杰 หรือ เจ็ท ลี) ยิ่งทำให้กังฟูเส้าหลินเป็นที่รู้จักไปทั่วทุกสารทิศ —–วัดเส้าหลินเป็นอารามทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘วัดที่ลือชื่ออันดับหนึ่งในแผ่นดิน’ (天下第一名刹) เนื่องจากพระนักรบของวัดเส้าหลินในแต่ละยุคได้คิดค้นและพัฒนากังฟูวัดเส้าหลินอย่างต่อเนื่องจนเลื่องลือไปทั่วโลก สมดังคำกล่าวที่ว่า ‘กังฟูทั่วหล้ากำเนิดจากเส้าหลิน, กังฟูเส้าหลินล้ำเลิศในแผ่นดิน’ (天下功夫出少林,少林功夫甲天下) วัดเส้าหลินจึงมีสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ 5A และในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2010 สิ่งปลูกสร้างหลักของวัดเส้าหลินที่เรียกว่า ฉางจู้ย่วน[6] (常住院), ศาลบรรพบุรุษ (初祖庵) และสุสานป่าเจดีย์ (塔林) ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม สุสานป่าเจดีย์ กังฟูวัดเส้าหลิน —–ศิลปะการต่อสู้ของจีนมีความซับซ้อนและหลากหลาย กังฟูเส้าหลินถือเป็น 1 ในสำนักศิลปะการต่อสู้ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีกระบวนท่าที่ครบเครื่องและกระบวนยุทธ์ระดับสูง จากบันทึกเพลงหมัดมวยที่สืบทอดกันมาของวัดเส้าหลินนั้น ท่ามวยจีนกังฟูเส้าหลินมีกว่า 100 ชุด และเกี่ยวกับอาวุธกว่า 10 ชนิด นอกจากนี้ยังมีสุดยอดมวยจีน 72 กระบวนท่า (七十二绝技) รวมถึงกระบวนท่าคว้าจับ (擒拿), กระบวนท่าหักกระดูก (卸骨), กระบวนท่าจี้จุด (點穴), การชกต่อย (格鬥), ชี่กง (氣功) ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้มีการแบ่งตามหมวดหมู่ และระดับความยากง่ายไม่เหมือนกัน การแสดงกังฟูวัดเส้าหลิน —–หัวใจสำคัญของกังฟูเส้าหลินคือการเคลื่อนไหวในรูปแบบการโจมตีและการป้องกัน โดยใช้ท่ามวยจีนเป็นพื้นฐาน ท่ามวยจีนนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างประสานกัน ทุกการเคลื่อนไหวและท่ามวยจีนที่คิดค้นล้วนสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์โดยอิงความรู้ทางด้านการแพทย์จีนในสมัยโบราณ นอกจากนี้กังฟูเส้าหลินยังนำแนวคิด ‘มนุษย์และธรรมชาติรวมเป็นหนึ่ง’ (天人合一) มาออกแบบการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อให้มนุษย์สามารถแสดงออกซึ่งศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เส้าหลินเหนือ – เส้าหลินใต้ —–ในสายตาชาวต่างชาติ กังฟูถือเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของประเทศจีน และเมื่อพูดถึงกังฟูก็จะนึกถึงกังฟูวัด – วัดเส้าหลินเหนือ (北少林寺) ถือเป็นอารามต้นแบบ สร้างในสมัยเว่ยเหนือก่อนวัดเส้าหลินใต้ ตั้งอยู่บริเวณภูเขาซงซาน มณฑลเหอหนาน เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก – วัดเส้าหลินใต้ (南少林寺) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหลินซาน (林山村) ห่างจากเมืองผูเถียน (莆田) มณฑลฝูเจี้ยน (福建) ประมาณ 17 กิโลเมตร ตามประวัติเล่าว่า หลังจากพระภิกษุ 13 รูปแห่งวัดเส้าหลินได้ช่วยจักรพรรดิถังไท่จงรวมประเทศแล้ว พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้เป็น ‘พระนักรบ’ (僧兵) จากนั้นได้ส่งพระเต้ากว่าง (道廣), พระเซิงหม่าน (僧满) และพระเซิงเฟิง (僧豐) ในกลุ่มพระนักรบ 13 รูป พร้อมด้วยพระนักรบอีก 500 รูปไปปราบปรามโจรสลัดตามชายฝั่งทะเลแถบเจียงหนาน [7] (江南) รวมทั้งทรงอนุญาตให้ตั้งสาขาของวัดเส้าหลินขึ้นที่นี่ โดยใช้ชื่อว่า ‘วัดเส้าหลินใต้’ วัดเส้าหลินใต้ —–ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960-1127) กังฟูวัดเส้าหลินใต้เฟื่องฟูอย่างมาก จนกลายเป็นศูนย์กลางการฝึกปรือศิลปะการต่อสู้ตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และกว้างไกลไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ —–แต่ทว่าในสมัยปลายราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิง พระภิกษุวัดเส้าหลินใต้ได้เข้าร่วมกับองค์กรต้านชิงกู้หมิง เพื่อปราบปรามชาวแมนจูอย่างถอนรากถอนโคน จึงถูกราชสำนักชิงเผาวัดจนพินาศ —–จวบจนทศวรรษ 1980 ได้มีการค้นพบแหล่งโบราณสถานวัดเส้าหลินใต้อายุกว่า 300 ปี —–ในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1992 รัฐบาลเมืองผูเถียนได้ประกาศการค้นพบแหล่งโบราณสถานวัดเส้าหลิน อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีนและเจ้าอาวาสวัดเส้าหลินว่า ที่แห่งนี้คือวัดเส้าหลินใต้ จึงนำไปสู่การบูรณะใหม่ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ปี —–หลังจาก ค.ศ. 2006 เป็นต้นมา วัดเส้าหลินใต้ได้ตั้งกลุ่มพระนักรบขึ้น เพื่อนำกังฟูที่สืบทอดมาสร้างเป็นทีมศิลปะการต่อสู้ เผยแพร่กังฟูวัดเส้าหลินใต้ให้ลือชาไปทั่วโลก [1] พระป๋าถัว หรือ ‘ภัทระ’ (Bhadra) ในภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า ผู้ทรงคุณธรรม (賢) เป็นชาวอินเดีย (ชมพูทวีป) เมื่ออายุได้ 6 ขวบท่านสูญเสียบิดา จึงอาศัยอยู่กับแม่ซึ่งยังชีพด้วยการทอผ้า จากนั้นท่านก็บวชเป็นพระ มีโอกาสจาริกไปประเทศจีน ได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิเซี่ยวเหวินตี้จึงมีโอกาสเทศนาเกี่ยวกับคัมภีร์ทศภูมิกสูตร จนจักรพรรดิเซี่ยวเหวินตี้ทรงมีศรัทธาปสาทะและปฏิสันถารเป็นคนดี ครั้นเมื่อย้ายราชธานีไปที่เมืองลั่วหยาง ก็ทรงสร้างวัดเส้าหลินขึ้นเพื่อให้พระป๋าถัวปฏิบัติธรรม พระป๋าถัวนับเป็นสมณะรูปแรกที่เข้าไปพำนักในวัดเส้าหลิน [2] พระรัตนมติ (Ratnamati) เป็นพระเถระชาวอินเดีย เป็นพหูสูตและมีความจำเป็นเลิศ เมื่อ ค.ศ. 508 ได้ไปพำนักที่วัดเส้าหลินและแปลคัมภีร์ทศภูมิกสูตร รวมทั้งคัมภีร์อื่นๆ อีกมากมาย นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีนกับอินเดีย [3] พระโพธิรุจิ (Bodhiruchi) เป็นพระชาวอินเดีย เชี่ยวชาญทั้งพระไตรปิฎกและวิชาอีกหลายสาขา เช่น ดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเทววิทยา เป็นต้น เมื่อจาริกไปประเทศจีนได้แปลหนังสือเป็นภาษาจีนมากมาย [4] พระวสุพันธุ (Vasubandhu) เป็นพระภิกษุมหายาน นิกายโยคาจาร อันเป็นนิกายที่ใช้วิธีฝึกจิตเพื่อบรรลุธรรมแห่งการรู้แจ้ง ปัจจุบันนิกายนี้ยังคงอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัดโคฟุคุจิ (興福寺) และวัดยะคุชิจิ (薬師寺) ในเมืองนาระ (奈良) เป็นศูนย์กลาง [5] อ้างอิงจากพจนานุกรมภาษาจีนยุคปัจจุบัน (現代漢語詞典) 1 ไร่จีน = 10,000 ตารางเมตร [6] ฉางจู้ย่วน คือ สิ่งปลูกสร้างหลัก 7 แห่งใจกลางวัดเส้าหลิน คือ ประตูซานเหมิน (山門ประตูหลักทางเข้า), ตำหนักเทียนหวางเตี้ยน (天王殿), ตำหนักต้าสงเป่าเตี้ยน (大雄寶殿), ศาลาธรรมเทศนา (法堂), กุฏิเจ้าอาวาส (方丈院), ศาลาลี่เสวี่ย (立雪亭) และตำหนักพันพุทธะ (千佛殿) [7] เจียงหนาน มีพื้นที่ครอบคลุมนครเซี่ยงไฮ้ (上海) ทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซู (江蘇) ทางตอนใต้ของมณฑลอันฮุย (安徽) ทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซี (江西) และตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง (浙江) เรื่องโดย เสี่ยวเฉิน
เส้าหลิน ซึ่งมี 2 แห่ง คือวัดเส้าหลินเหนือกับวัดเส้าหลินใต้ โดยถือว่าเป็นสำนักเดียวกัน และมีชื่อเสียงเคียงคู่กันมา แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันคือ นักท่องเที่ยวนิยมไปวัดเส้าหลินเหนือมากกว่าวัดเส้าหลินใต้