—–รู้หรือไม่… ตามท้องเรื่อง ‘หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า’ พระเอกนามว่าหนิวหลาง (牛郎) นั้น ไม่ได้เลี้ยงวัวเพียงอย่างเดียว และตัว ‘牛’ ที่เขาเลี้ยงไว้ตั้งแต่เด็กและกลายเป็นเพื่อนคู่ใจของเขาในภายหลังนั้น แท้จริงอาจจะเป็น ‘ควาย’!

—–โดยในตำนาน หนุ่มเลี้ยงวัวไม่มีชื่อจริงปรากฏ ผู้คนเรียกเขาตามอาชีพ คือ 牛郎 แปลว่า ‘หนุ่มเลี้ยงวัว’ หรือ ‘หนุ่มเลี้ยงควาย’ ก็ได้ เนื่องจากคำว่า 牛 niú ในภาษาจีนจัดเป็นคำนามไม่ชี้เฉพาะ ใช้เรียกชื่อโดยรวม ภาษาจีนเรียกศัพท์ประเภทนี้ว่า 统称 tǒng chēng ซึ่งหมายถึง ชื่อเรียกแบบใช้เรียกโดยรวม ตัวอย่างอีกคำได้แก่ 羊 yáng หมายถึง แพะหรือแกะ ถ้าจะหมายถึง ‘แพะ’ ต้องเติมคำขยายไว้ข้างหน้าให้เป็น 山羊 shān yáng แต่ถ้าจะหมายถึง ‘แกะ’ ก็ใช้คำว่า 绵羊 mián yáng ดังนั้น คำว่า 牛 อาจหมายถึงวัวหรือควายก็ได้ เมื่อต้องการความชัดเจนอย่างเฉพาะเจาะจง จึงจะจำกัดความให้แคบลง เช่น 黄牛 หมายถึง วัว, 水牛 หมายถึง ควาย

—–ด้วยลักษณะที่ไม่ชี้เฉพาะในด้านความหมาย และเป็นคำนามที่ใช้เรียกชื่อโดยรวมในภาษาจีน คำนามประเภทนี้จึงเปิดช่องให้นักแปลวรรณกรรมจีนเลือกแปลความหมายของคำให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมหรือความคุ้นเคยของตน เพื่อสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้อ่านมากขึ้น ดังเช่น ตำนานพื้นบ้านความรักเรื่อง ‘หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า’ (牛郎织女 niú láng zhī nǚ)

—–มีผู้เชี่ยวชาญด้านจีนวิทยาในไทยสันนิษฐานไว้ว่า คำว่า ‘牛’ ในบริบทของตำนานพื้นบ้านเรื่องนี้ น่าจะหมายถึง ‘ควาย’ เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว วัวกลัวน้ำ ควายชอบน้ำ ในเรื่องดังกล่าวมีตอนหนึ่งเล่าว่า เมื่อหนิวหลางไปพบนางฟ้าเจ็ดองค์แอบลงมาเล่นน้ำในทะเลสาบ ก็เลยไปขโมยเสื้อผ้าของนางฟ้านามว่า ‘จือหนี่ว์’ (织女 สาวทอผ้า) มาแอบซ่อนไว้ โดยที่ได้รับความช่วยเหลือจาก 牛 ทั้งกระซิบบอกวิธีและเฝ้ามองสถานการณ์ให้ โดยทั่วไปวัวจะไม่ชอบน้ำและไม่ค่อยเข้าใกล้แหล่งน้ำ สอดคล้องกับการรับรู้ของคนจีนเกี่ยวกับตำนานเรื่องนี้ คนจีนทั่วไปรับรู้ว่า 牛 ในเรื่องคือควาย ทั้งในนิทาน ภาพยนตร์ เช่น งิ้วหวงเหมย (黄梅戏 ค.ศ. 1963) ก็แสดงฉากที่ 牛 สละเขาอิทธิฤทธิ์ให้หนิวหลางเป็นพาหนะ เพื่อพาลูกสองคนเดินทางสู่สวรรค์ตามหาภรรยา เขาอิทธิฤทธิ์ในฉากนี้ก็มีลักษณะเป็นเขาควาย

—–อย่างไรก็ตาม คำว่า 牛 niú ในตำนานพื้นบ้านเรื่องนี้จะหมายถึง วัวหรือควายก็ได้ เพราะเนื้อความตามตำนานดั้งเดิมไม่ได้ระบุชัด แต่หากพิจารณาจากบริบทโดยรวมแล้ว ก็น่าจะหมายถึง ‘ควาย’ แต่ผู้แปลกับผู้อ่านชาวไทยก็คุ้นเคยกับคำว่า ‘หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า’ มากกว่า ‘หนุ่มเลี้ยงควายกับสาวทอผ้า’

 

เรื่องโดย ปรารถนา เอื้อวงศ์อารีย์