“เหนียนฮว่า” ภาพมงคลตรุษจีน

เรื่องโดย ผิงหนานอ๋อง

 

——ภาพมงคลตรุษจีน หรือ เหนียนฮว่า(年畫)เป็นภาพสิริมงคลจีนแขนงหนึ่ง มักแฝงด้วยความหมายที่เป็นมงคล รุ่งเรืองที่สุดในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ถือได้ว่าเป็นยุคทองของภาพมงคลจีน จนเกิดคำกล่าวที่ว่า “ถูปี้โหย่วอี้ อี้ปี้จี๋เสียง”(圖必有意,意必吉祥)ซึ่งหมายความว่า รูปภาพจักต้องมีความหมาย ความหมายจักต้องมงคลนั่นเอง ภาพมงคลเหล่านั้นจะแฝงด้วยความหมาย 4 ประการ คือ ร่ำรวย (富) ล้ำค่า (貴) ยืนยาว (壽) และยินดี (喜)

——หลี่กวงถิง (李光庭 ค.ศ.1906 -1950) นักวิชาการในสมัยราชวงศ์ชิงได้ใช้คำว่า “เหนียนฮว่า” ในหนังสือ “เซียงเหยียนเจี่ยอี๋”《鄉言解頤》หลังจากนั้นก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย ถือเป็นศิลปะการวาดภาพแขนงหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของชาวจีน ซึ่งมักจะวาดและติดประดับกันในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพื่อความเป็นมงคล สีที่ใช้วาดมักเป็นสีสันสดใส เนื้อหาหรือเรื่องราวในภาพก็มักจะมงคล มีนัยยะทั้งเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งเรื่องราวและบุคคล เป็นการให้ความรู้ สะท้อนวิถีชีวิต เรื่องเล่า ตำนานต่างๆ ของจีน โดยชาวจีนต่างเชื่อว่าการติดภาพมงคลนี้จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า มั่งคั่งร่ำรวย อยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย ส่วนภาพมงคลที่เป็นภาพเซียน เทพเจ้า หรือบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็จะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้อยู่อาศัย ขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านเรือนได้ ภาพเหนียนฮว่าจึงกลายเป็นสิ่งเสริมสิริมงคลในช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นสิ่งที่ชาวจีนถือเคล็ดใช้ตกแต่งบ้านเรือนต้อนรับปีใหม่ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ผู้คนจะต้องออกไปจับจ่ายหาซื้อภาพมงคลตรุษจีนมาประดับประดาไว้ตามประตู หน้าต่าง ห้องโถง ห้องนอน เตียงนอน ฝาผนัง ผนังฉากกั้น เป็นต้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคลและเสริมสร้างบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ ภาพมงคลตรุษจีนเหล่านี้ไม่เพียงแต่นำพาความสวยงามหลากสีสันมาสู่ฤดูใบไม้ผลิ ยิ่งกว่านั้นก็คือได้พาเอาความสุขสดชื่นมาสู่ผู้คน


——หากจะกล่าวถึงแหล่งผลิตภาพเหนียนฮว่าเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อลือนาม ผลงานภาพมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุด เนื้อหาของภาพมีความหลากหลายที่สุด มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอันดับหนึ่งในประเทศจีน คงต้องยกให้ผลงานจากหมู่บ้านหยังหลิ่วชิง(楊柳青)ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตามชื่อถิ่นกำเนิด ดังมีคำกล่าวว่า “ทุกบ้านรู้จักการแต่งแต้ม ทุกเรือนเก่งการลงสี”(家家會點染,戶戶善丹青)เป็นถ้อยคำที่บรรยายให้เห็นถึงบรรยากาศของการผลิตภาพวาดของหยังหลิ่วชิงได้เป็นอย่างดี หยังหลิ่วชิงตั้งอยู่ห่างไปราว 25-30 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกของมหานครเทียนจิน(天津)เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ พื้นที่ทางเหนือมีแม่น้ำต้าชิง(大清河)แม่น้ำจื่อหยา(子牙河)ทางใต้มีคลองขุดขนาดใหญ่สายปักกิ่ง-หังโจว จิงหังต้าอวิ้นเหอ(京杭大運河)ไหลผ่านที่นี่ ริมฝั่งแม่น้ำมีต้นหลิ่วเขียวชอุ่ม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมือง เพราะหยังหลิ่วชิงก็คือต้นหลิ่วเขียวขจี บนแม่น้ำเต็มไปด้วยเสากระโดงเรือบนเรือสินค้าจากหัวเมืองเหนือใต้และภาคกลางของมณฑลเหอเป่ย(河北省)มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรพื้นบ้านและขนส่งลำเลียงสินค้าระหว่างเทียนจิน-ปักกิ่ง บรรดาศิลปินและจิตรกรก็ชอบมาชุมนุมกันที่นี่ จึงเกิดกิจการเกี่ยวกับภาพฉลองตรุษจีนหยังหลิ่วชิงขึ้น ซึ่งมีที่มาตั้งแต่ราชวงศ์หมิงในสมัยจักรพรรดิฉงเจิน(崇禎帝 ค.ศ. 1611-1644) พัฒนาฝีมือรุ่งเรืองจนถึงสมัยจักรพรรดิกวงซี่ว์(光緒帝 ค.ศ. 1871 – 1908)แห่งราชวงศ์ชิง ภาพหยังหลิ่วชิงเคยถูกทำลายอย่างหนักและแทบจะสาบสูญ

——จากการศึกษาพบว่า ภาพอวยพรตรุษจีนหยังหลิ่วชิงเริ่มซบเซาลงเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เป็นช่วงที่ภาพอวยพรตรุษจีนหยังหลิ่วชิงถูกทำลายหนักที่สุด ก่อนจะกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งในทศวรรษที่ 60 ปัจจุบันนี้กลายเป็นของล้ำค่าในบรรดานักสะสม และมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ จำหน่ายไปไกลถึงกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี สวีเดน เป็นต้น ปัจจุบันรัฐบาลจีนอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน ในปี ค.ศ. 2006 ภาพหยังหลิ่วชิงจึงได้รับการส่งเสริมและกำหนดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ บรรดาจิตรกรที่วาดภาพหยังหลิ่วชิงต่างได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ศิลปะดั้งเดิมนี้จึงได้รับการสืบทอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันภาพอวยพรตรุษจีนหยังหลิ่วชิง นอกจากมีการพัฒนารูปแบบ เทคนิค เนื้อหาสาระอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังเพื่อสืบสานงานเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป และการที่ผลงานศิลปะเหล่านี้ยังคงอยู่ไม่เพียงเป็นการสร้างรายได้เท่านั้น ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ครอบครัว ถิ่นกำเนิดและประเทศชาติอีกด้วย

——เอกลักษณ์ของภาพมงคลตรุษจีนสกุลช่างหยังหลิ่วชิงอยู่ที่กรรมวิธีการผลิตแบบ “ครึ่งพิมพ์ครึ่งวาด”(半印半畫)โดยใช้แม่พิมพ์ไม้แกะสลักฝีมือประณีต ทำด้วยวิธีการพิมพ์ภาพจากแบบพิมพ์ไม้ เนื่องจากภาพพิมพ์ไม้เหล่านี้สามารถทำได้คราวละมากๆ ถือเป็นวิธีการพิมพ์ภาพแต่ดั้งเดิมของจีน ทำให้ภาพพิมพ์ลวดลายงดงามคมชัด แล้วนำมาแต่งแต้มเติมสีด้วยมืออย่างวิจิตรบรรจง ไม่เพียงเหนียนฮว่าจะน่าดึงดูดใจด้วยสีสันฉูดฉาดสะดุดตา สภาพความรื่นเริงตามวิถีพื้นบ้าน ยังมีเสน่ห์ที่สรรพสิ่งในภาพล้วนซ่อนความหมายมงคลไว้ ภาพเหนียนฮว่าที่มีชื่อเสียงที่สุดของที่นี่ชื่อว่า “เหลียนเหนียนโหย่วอี๋ว์”《蓮年有餘》จะเป็นรูปเด็กน้อยอ้วนท้วน แก้มสีชมพูระเรื่อ ร่าเริงน่ารัก มือหนึ่งถือดอกบัว มือหนึ่งอุ้มปลาคาร์ป ภาพวาดนี้มีความพิเศษตรงบนศีรษะด้านขวาจะถักเป็นผมเปียเล็กๆ ด้านซ้ายทัดดอกไม้ดอกหนึ่ง หากมองจากด้านซ้ายจะเห็นเป็นเด็กผู้หญิง หากมองจากด้านขวาก็จะเป็นเด็กชายคนหนึ่ง ภาพนี้แสดงถึงความมุ่งหวังของผู้คนที่วาดฝันไว้สวยงามอยากให้ครอบครัวของตนมีทั้งลูกสาวและลูกชาย อีกประการหนึ่งแฝงความหมายมงคลตรงตัวปลา คำว่า “อี๋ว์” (魚 ปลา) และ “อี๋ว์” (餘 ล้นเหลือ) ออกเสียงเหมือนกัน ดังนั้น ภาพนี้ก็ยังแสดงถึงความมุ่งหวังของผู้คนให้ทุกปีมีล้นเหลืออย่างต่อเนื่อง หมายถึง มีชีวิตสมบูรณ์พูนสุขทุกๆ ปี

ผู้เขียน (ขวา) สัมภาษณ์จางเค่อเฉียง (ซ้าย) เจ้าของร้านเหนียนฮว่าจาง

——ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่ตำบลหยังหลิ่วชิง(楊柳青鎮)เขตซีชิง(西青區)นครเทียนจิน ได้พบปะและสัมภาษณ์คุณจางเค่อเฉียง (張克強 ค.ศ.1956-ปัจจุบัน) ผู้สืบทอดศิลปะภาพหยังหลิ่วชิงแห่งร้านเหนียนฮว่าจาง(年畫張)ตระกูลจางเป็นตระกูลชื่อดังที่เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพหยังหลิ่วชิง คุณจางเค่อเฉียงกล่าวว่า “ตอนผมเด็กๆ ก็เห็นคุณพ่อวาด ภาพมงคลตรุษจีนโตขึ้นมาอีกหน่อยก็เห็นพี่ชายวาด แม้ว่าที่นี่มีคนวาดภาพมงคลตรุษจีนมากมายหลายคน แต่ถ้าจะถึงขั้นยกให้เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงนั้นหายากมาก หนึ่งในร้อยก็ว่าได้ ซึ่งจิตรกรผู้นั้นไม่เพียงแต่จะต้องมีพรสวรรค์ แต่หากยังต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ด้วย ซึ่งบางคนวาดมาตลอดชีวิต ยังหาภาพชิ้นเอกไม่ได้ อย่างตัวผมเอง เวลาวาดภาพอย่างหวังเจาจวิน(王昭君 ช่วงปี 54 – 19 ก่อนคริสต์ศักราช)ผมยังต้องศึกษาในเรื่องประวัติศาสตร์ว่าอยู่ในราชวงศ์ฮั่นช่วงไหน ทรงผมคนโบราณหวีไปในลักษณะใด เครื่องประดับผมเป็นอย่างไร เป็นต้น ดังนั้นการวาดภาพมงคลตรุษจีนไม่ใช่ศิลปะแบบง่ายๆ เพราะได้รวบรวมเอาศาสตร์แขนงต่างๆ เอาไว้ ซึ่งผมนับว่าคุ้มที่จะใช้ชีวิตทั้งชีวิตของผมเพื่อศึกษาและวิจัย แต่เดิมนั้นคนที่นี่มีความเชื่อเก่าๆ ว่าเคล็ดลับต่างๆ จะหวงไว้ ไม่ถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ เพราะถ้าลูกศิษย์ทำเป็นแล้วก็จะแย่งงาน แม้ตัวจะตายไปก็จะไม่สอน ทำให้ภาพบางภาพหรือเทคนิคบางประการได้หายสาบสูญไป แต่พอหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศแล้ว ก็มีนโยบายส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ทำให้ผมตระหนักถึงจุดนี้ อยากที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมของหยังหลิ่วชิงให้ขจรขจายออกไป ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมิให้สูญหาย”

——คุณจางเค่อเฉียงยังเล่าว่า ภาพมงคลตรุษจีนหยังหลิ่วชิงมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ที่แน่นอนคือยุคปลายราชวงศ์ แต่รุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ชิง แต่ก็ยังไม่ถือว่ามีความสมบูรณ์ที่สุด เนื้อหาของภาพส่วนมากก็จะเป็นเทพ เซียน ม้า เทพเตาไฟ และพวกความเชื่อแบบงมงาย จริงๆ แล้วที่ประเทศจีนประวัติภาพวาดมงคลตรุษจีนมีอายุประมาณหนึ่งพันกว่าปี ตามหลักฐานที่เก่าที่สุดจะเป็นภาพมงคลตรุษจีนของหมู่บ้านจูเซียน(誅仙鎮年畫)ส่วนของพวกเราหยังหลิ่วชิงนั้นไม่ได้มีประวัติยาวนานขนาดนั้น แต่ก็มีลักษณะที่ โดดเด่น จนมีคำสรรเสริญกล่าวกันว่า “หนานเถาเป๋ยหลิ่ว”(南桃北柳)หมายความว่าถ้าทางใต้ต้องยกย่องภาพมงคลตรุษจีนของเถาฮวาอู้ แต่ถ้าเป็นทางเหนือต้องเชิดชูภาพของหยังหลิ่วชิง*(คนไทยคุ้นเคยกับชื่อต้นหลิ่วในนามต้นหลิว) ซึ่งจริงๆ แล้วภาพมงคลตรุษจีนของหยังหลิ่วชิงกับ ที่อื่นต่างก็มีคุณค่าในทางศิลปะ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ภาพมงคลตรุษจีนของเถาฮวาอู้ก็ใช้แม่พิมพ์ไม้เหมือนกัน ซึ่งผมดูจากวิธีการทำและเนื้อหาก็มีความใกล้เคียงกัน ถ้าเป็นช่างที่ชำนาญ 1 วันจะพิมพ์ได้ถึง 300 แผ่น แต่ภาพมงคลตรุษจีนหยังหลิ่วชิงไม่เหมือนกับที่อื่น แต่เดิมในขั้นตอนการร่างแบบ แกะสลักนั้นความแตกต่างยังไม่เห็นชัดเจน แต่พอมาช่วงหลังภาพมงคลตรุษจีนหยังหลิ่วชิงเป็นภาพของคนมีวัฒนธรรม มีการศึกษา เพราะได้รับอิทธิพลจากภาพวาดประจำชาติ “กั๋วฮว่า”(國畫)อย่างลึกซึ้ง บางภาพก็ถือเป็นภาพประจำชาติได้เลย

——ปัจจุบัน ภาพหยังหลิ่วชิงตระกูลจางได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เมื่อปลายปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลได้สร้างหอนิทรรศการภาพหยังหลิ่วชิงขึ้น และนำผลงานจากร้านตนไปจัดแสดงที่นั่น ช่วงนี้ จิตรกรเก่งๆ เริ่มนิยมภาพหยังหลิ่วชิงมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ภาพหยังหลิ่วชิงได้รับการพัฒนาเท่านั้น หากยังทำให้การตลาดของภาพหยังหลิ่วชิงดีขึ้นด้วย คุณจางเค่อเฉียงยังกล่าวว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา ตำบลหยังหลิ่วชิงมี การเปิดห้องแสดงภาพหยังหลิ่วชิงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ มีจิตรกรวาดภาพหยังหลิ่วชิงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีประมาณ 2,000 คน สำนักวาดภาพกว่า 72 แห่งแล้ว แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการ เมื่อก่อนตำบลหยังหลิ่วชิงมีห้องแสดงภาพแค่หนึ่งห้องหรือสองห้อง ปัจจุบันมี 50 กว่าห้องแล้ว ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันมาประกอบอาชีพวาดภาพหยังหลิ่วชิง ในอดีตภาพหนึ่งขายได้สิบกว่าหยวน เดี๋ยวนี้ขายได้เป็นพันหยวน ราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าเลยทีเดียว ผู้เขียนยังได้สำรวจภาพมงคลตรุษจีนในพิพิธภัณฑ์ภาพมงคลตรุษจีนแบบพิมพ์แกะสลักไม้หยังหลิ่วชิง นครเทียนจิน(天津楊柳青木版年畫博物館)ซึ่งได้เก็บรวบรวมภาพวาดหยังหลิ่วชิงมากกว่า 10,000 ชิ้น ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง บล็อคพิมพ์แกะสลักไม้มากกว่า 6,400 ชิ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการภาพหยังหลิ่วชิงที่ต่างประเทศ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้จักภาพหยังหลิ่วชิงมากขึ้นอีกด้วย

——การผลิตภาพอวยพรตรุษจีนหยังหลิ่วชิงสักภาพหนึ่งนั้นต้องผ่านกรรมวิธีถึง 5 ขั้นตอน กล่าวคือเริ่มจากการวาดเค้าโครงของภาพ การแกะสลักบล็อคแม่พิมพ์ การพิมพ์ในกระดาษ การเขียนเป็นภาพสีตามเค้าโครงและการติดภาพบนแผ่นกระดาษแล้วใส่กรอบแขวน นอกจากภาพมงคลตรุษจีนหยังหลิ่วชิงแล้ว ยังมีแหล่งผลิตภาพอวยพรตรุษจีนที่มีชื่อเสียงของจีนอีก 3 แหล่งที่ได้รับการขนานนามเป็น “4 สุดยอดแหล่งภาพพิมพ์เหนียนฮว่าแดนมังกร”(中國四大年畫)ดังนี้

——1.ภาพมงคลตรุษจีนหยังเจียปู้(楊家埠年畫)เมืองเหวยฟาง (濰坊市)มณฑลซานตง(山東省)เป็นงานศิลปะภาพพิมพ์ที่ถ่ายทอดกันมามากกว่า 400 ปี ที่นี่เริ่มมีการทำภาพพิมพ์กันตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง และเป็นที่แพร่หลายและนิยมกันมากในสมัยราชวงศ์ชิง ในหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับสมญานามว่า “มีร้านขายนับร้อยกว่าร้าน ลวดลายมากนับพันแบบ และยอดผลิตนับหมื่นแผ่น”(畫店百家,畫種過千,畫版上萬)

——2.ภาพมงคลตรุษจีนเหมียนจู๋(綿竹年畫)อำเภอเหมียนจู๋ (綿竹)มณฑลเสฉวน(四川省)เป็นภาพที่ผลิตจากกระดาษไม้ไผ่ เป็นศิลปะภาพพิมพ์สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ จนได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง(乾隆帝)และจักรพรรดิเจียชิ่ง(嘉慶帝)

——3.ภาพมงคลตรุษจีนเถาฮวาอู้(桃花塢)แห่งเมืองซูโจว(蘇州市)มณฑลเจียงซู(江蘇省)เป็นศิลปะภาพพิมพ์สมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นภาพที่พัฒนามาจากรูปเหมือนคนที่ปักด้วยเส้นไหม จนถึงสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง

——ภาพมงคลตรุษจีนเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีที่อยู่เคียงคู่ประเทศจีนมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายบ่งบอกถึงชีวิตจิตใจความเป็น

——ชนชาติจีน ดุจดั่งมรดกแห่งอารยธรรมทางภูมิปัญญาที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีแห่งชนชาติ สังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน แหล่งผลิตผลงานภาพมงคลตรุษจีนต่างมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เนื้อหาของภาพมีความหลากหลาย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสาระและจินตนาการ เป็นสิริมงคลและมีรสนิยม ผสมผสานทั้งงานวาดและงานแกะสลักเข้าด้วยกัน ฝีมือแกะสลักละเอียดประณีต ภาพวาดมีชีวิตชีวา สีสันสวยสดงดงาม จนกลายเป็นภาพอวยพรปีใหม่ที่มีชื่อเสียงของจีน และเป็นตัวแทนศิลปะภาพจีน สะท้อนภูมิปัญญาและกุศโลบายของบรรพบุรุษชาวจีนที่ได้คิดขึ้นและได้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคมชาวจีนมาช้านาน ชาวจีนต่างมีความมุ่งมั่นที่จะดำรงตนเจริญรอยตามความหมายและคำอวยพรที่เป็นสิริมงคลดังที่ปรากฏในภาพ เมื่อมีแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อแต่ในสิ่งที่เป็นสิริมงคลแล้ว การค้นหาสิ่งที่ดีงามไว้เป็นมงคลแก่ตนเองนั้นจึงเป็นประโยชน์แก่การดำรงชีวิต ที่มีหลักของสัจธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ ทำให้เข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งย่อมทำให้มองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มากขึ้น เพราะความหมายของคำมงคลนั้นคือคุณค่าของการเข้าใจธรรมชาติ เพื่อให้อยู่อย่างมีความสุข และสมปรารถนาทุกประการ ปัจจุบันภาพมงคลตรุษจีนยังกลายเป็นสิ่งสะสมล้ำค่าของบรรดานักสะสม นอกจากนั้นภาพมงคลตรุษจีนยังมีฐานะสำคัญในการพัฒนาวัฒนธรรมพื้นบ้านของจีนด้วย ดังนั้น การรื้อฟื้น ส่งเสริม สืบสานและอนุรักษ์ภาพมงคลตรุษจีนจึงมีความสำคัญต่อการวิจัยวัฒนธรรมจีน ทั้งทางด้านความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนอัตลักษณ์ของประเทศจีนได้เป็นอย่างดี