—–ชื่อของเมืองลั่วหยาง (洛陽) มีที่มาจากชื่อของแม่น้ำลั่วเหอ (洛河) ที่ไหลผ่านตัวเมือง เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีทั้งในหมู่ชาวจีนและชาวต่างชาติ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของมณฑลเหอหนาน (河南省) ตอนกลางแม่น้ำฮวงโห (黃河) ทิศเหนือติดกับเมืองเจียวจั้ว (焦作) โดยมีแม่น้ำฮวงโหกั้นไว้ ทิศใต้ติดกับเมืองผิงติ่งซาน (平頂山) และเมืองหนานหยาง (南陽) ทิศตะวันออกติดกับเมืองเจิ้งโจว (鄭州) ทิศตะวันตกติดกับเมืองซานเหมินเสีย (三門峽) มีพื้นที่ทั้งหมด 15,200 ตารางกิโลเมตร ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีความหลากหลาย แวดล้อมไปด้วยภูเขาและแม่น้ำ พื้นที่ทางด้านตะวันตกสูงลาดเทมายังด้านตะวันออก พื้นที่กว่าร้อยละ 86 ของเมืองเป็นภูเขาและเนินเขา มีแม่น้ำสายหลัก 5 สายคือ แม่น้ำฮวงโห แม่น้ำลั่วเหอ แม่น้ำอีเหอ (伊河) แม่น้ำฉานเหอ (瀍河) และแม่น้ำเจี้ยนเหอ (澗河) ไหลผ่านบริเวณนี้ สภาพภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตอบอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 12.2-24.6 องศาเซลเซียส มีจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 7 ล้านคน (ข้อมูลปลาย ค.ศ. 2018) —–เมืองลั่วหยางมีดอกโบตั๋น (牡丹) เป็นดอกไม้ประจำเมืองจากการโหวตเมื่อ ค.ศ. 1982 โดยคณะกรรมาธิการสภาประชาชนเมืองลั่วหยาง มีประวัติว่าดอกไม้ชนิดนี้เริ่มปลูกตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581-619) และเฟื่องฟูมากที่สุดในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ดอกโบตั๋นที่ปลูกในเมืองลั่วหยางมีด้วยกันหลายชนิด และมีสีต่างกันมากถึง 9 สี ได้แก่ แดง ขาว ชมพู เหลือง ม่วง ฟ้า เขียว ดำและสีผสม ปัจจุบันกลายเป็นดอกไม้ทางการค้าที่มีการขยายพันธุ์ทั้งในและนอกประเทศกว่า 1,200 สายพันธุ์ —–เมืองลั่วหยางถือเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมจีน มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่ยุคหินเก่าราว 5-6 แสนปีก่อนคริสต์ศักราช ภายหลังเริ่มมีกลุ่มชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกษัตริย์ไท่คัง (太康 ไม่แน่ชัด-1959 ปีก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์เซี่ย[1]) ขึ้นครองราชย์ ได้ตั้งเมืองเจินสวิน (斟鄩 ปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนหนึ่งในเมืองลั่วหยาง) ขึ้นเป็นเมืองหลวงจวบจนราชวงศ์เซี่ยล่มสลาย —–เมื่อเข้าสู่ราชวงศ์ซาง (商 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กษัตริย์ซางทัง (商湯 1670-1587 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็ตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองซีป๋อ (西亳) ปัจจุบันคือพื้นที่ซึ่งห่างจากเมืองเหยี่ยนซือ (偃師) ในเขตเมืองลั่วหยางออกไปทางตะวันตก 20 ไมล์ —–จนกระทั่งมีการตั้งเมืองหลวงตรงบริเวณเมืองลั่วหยาง (ในปัจจุบัน) ขึ้นในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (西周 1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยเริ่มสร้างในสมัยกษัตริย์โจวอู่หวาง (周武王 ไม่แน่ชัด-1043 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) แล้วเสร็จในสมัยกษัตริย์โจวเฉิงหวาง (周成王 ไม่แน่ชัด- 1021 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยใช้ชื่อว่า เมืองเฉิงโจว (成周) —–เมื่อถึงสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก (東周 770-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กษัตริย์โจวผิงหวาง (周平王 781-719 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ลั่วอี้ (洛邑) —–ในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇帝 259-210 ปีก่อนคริสต์ศักราช) รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่ง ได้ตั้งเมืองหลวงเดิมของรัฐฉินคือ เมืองเสียนหยาง (咸陽 ปัจจุบันเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลส่านซี 陕西) ขึ้นเป็นเมืองหลวงแทนเมืองลั่วอี้ของราชวงศ์โจว —–เข้าสู่ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 8) ได้ย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองฉางอัน (長安) เนื่องจากเมืองเสียนหยางถูกทำลายจนยากจะฟื้นฟูโดยเร็ว วัดม้าขาว วัดพุทธศาสนาแห่งแรกของจีน —–ล่วงเลยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ค.ศ. 25-220) จักรพรรดิกวงอู่ตี้ (光武帝 5 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 57) ได้ตั้งเมืองหลวงขึ้นโดยใช้ชื่อว่า ‘ลั่วหยาง’ (ตัวอักษรจีนเขียนเป็นคำว่า 雒陽) แทนเมืองฉางอันที่กำลังวุ่นวายจากสงคราม —–หลังจากนั้นมาเมืองลั่วหยางก็ได้เป็นเมืองหลวงให้กับแคว้นเว่ย (魏 ค.ศ. 213-266) ในยุคสามก๊ก (三國 ค.ศ. 220-280) ในยุคนี้ได้เปลี่ยนตัวอักษรภาษาจีนจากคำว่า 雒陽 เป็น 洛陽 ดังเช่นในปัจจุบัน, ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (西晉 ค.ศ.266-316), ราชวงศ์เว่ยเหนือ (北魏 ค.ศ.386-534), ราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581-619), ราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907 รวมถึงราชวงศ์อู่โจว (武周 ค.ศ. 690-705) ของพระนางบูเช็คเทียน, จนกระทั่งถึงยุคห้าราชวงศ์ (五代 ค.ศ. 907-979) คือราชวงศ์โฮ่วเหลียง (後梁 ค.ศ. 907-923), ราชวงศ์โฮ่วถัง (後唐 ค.ศ. 923-936) และราชวงศ์โฮ่วจิ้น (後晉 ค.ศ. 936-947) —–นับตั้งแต่ยุคราชวงศ์เซี่ยจนถึงยุคห้าราชวงศ์ เรียกได้ว่าเมืองลั่วหยางแห่งนี้เป็นเมืองหลวงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด และมีราชวงศ์ปกครองถึง 13 ราชวงศ์ รวมเป็นเวลากว่า 1,650 ปี —–ทว่าเมื่อเริ่มราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271-1368) เป็นต้นมา เมืองลั่วหยางก็ไม่ได้เป็นเมืองหลวงอีกต่อไป และถูกลดระดับเป็นเมืองในการปกครองของจังหวัดเหอหนาน[2] (河南府) สืบต่อมาจนถึงราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ.1636-1912) —–เมื่อถึงยุคสาธารณรัฐช่วงต้น (中華民國 ค.ศ. 1912-1949) ค.ศ. 1923 เมืองลั่วหยางถูกจัดไปอยู่ในการปกครองของมณฑลเหอหนาน จนกระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์ 7 กรกฎาคม[3] (七七事變 เหตุการณ์สะพานมาร์โคโปโล) เมื่อ ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นเข้ายึดจีนตอนเหนือ พรรคก๊กมินตั๋งจึงคิดกลยุทธ์ขึ้น คือให้เมืองลั่วหยางเป็นปราการด่านหน้าในการป้องกันประเทศ ตั้งกองกำลังทหารจำนวนมากทั้งทหารบกและทหารอากาศเพื่อรับมือกับญี่ปุ่น ทำให้เมืองลั่วหยางต้องประสบกับการทิ้งระเบิดจากญี่ปุ่นถึง 19 ครั้ง จนทั้งเมืองตั้งแต่สถานที่ราชการ สะพาน อาคารบ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก กระทั่ง ค.ศ. 1944 เมืองลั่วหยางก็ถูกยึดโดยญี่ปุ่น จนสงครามจีนญี่ปุ่นสิ้นสุดลงเมืองลั่วหยางจึงได้รับอิสรภาพกลับมาอยู่ในความดูแลของรัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งดังเดิม เหตุการณ์ 7 กรกฎาคม —–ต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1948 (เป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามกลางเมืองจีนช่วง 3 ปีสุดท้าย หรือสงครามปลดปล่อย ค.ศ. 1947-1949 ระหว่างรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน) กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนประจำภาคตะวันออก (中國人民解放軍華東野戰軍 เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน) เข้าโจมตีเมืองลั่วหยางซึ่งอยู่ในการปกครองของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1948 โดยเมืองนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญบริเวณที่ราบภาคกลาง มีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง กำแพงเมืองสูงและหนา ง่ายต่อการป้องกันยากต่อการโจมตี ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องระดมยิงปืนใหญ่และใช้ดินระเบิดจำนวนมาก หลังจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องทำให้สามารถตีประตูทางตะวันออกได้ก่อน ตามด้วยประตูทางใต้และตะวันตก จนทหารป้องกันเมืองต้องถอยร่นเข้าไปในเมือง เกิดการสู้รบต่อเนื่องกันอย่างดุเดือด กองทัพก๊กมินตั๋งถูกสังหารจนราบคาบ หลังการสู้รบอย่างยาวนาน วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1948 ทหารพรรคคอมมิวนิสต์ก็บุกยึดเมืองลั่วหยางได้สำเร็จ ซึ่งเหตุการณ์นี้เรียกว่า ยุทธการลั่วหยาง (洛陽戰役) ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศชัยชนะ เมืองลั่วหยางก็ได้ขึ้นตรงต่อมณฑลเหอหนานจวบจนถึงปัจจุบัน —–เมืองลั่วหยางได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมระดับชาติจากสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ ค.ศ. 1982 อีกทั้งในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของอาณาจักรจีนมาเป็นระยะเวลายาวนาน บ้านเมืองจึงมีความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ ดังจะเห็นได้จากซากปรักหักพังของโบราณสถาน รวมทั้งโบราณวัตถุที่ขุดพบกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี —–แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเมืองแห่งนี้ได้แก่ ถ้ำหินหลงเหมิน (龍門石窟) 1 ใน 4 ถ้ำหินที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ วัดม้าขาว (白馬寺) วัดทางพุทธศาสนาแห่งแรกของประเทศจีน สุสานที่ภูเขาหมางซาน (邙山) ซึ่งเป็นกลุ่มสุสานโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน เป็นที่ฝังพระศพของกษัตริย์หลายพระองค์นับแต่ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก ปัจจุบันมีการขุดพบโบราณวัตถุกว่า 4 แสนชิ้น และยังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์สุสานโบราณแห่งแรกของโลกขึ้นที่นี่อีกด้วย ถ้ำหินหลงเหมิน —–ทุกวันนี้เมืองลั่วหยางถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมอันทันสมัย มีความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของจีน จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 1 (ค.ศ. 1953-1957) เน้นการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก ก่อให้เกิดระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่เรียกว่า ‘ห้าแข็งแกร่ง หกใหม่ ห้าพิเศษ’ (五強六新五特) กล่าวคือ —–– หกอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ได้แก่ การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), แหล่งพลังงานใหม่, Bio-Medicine (生物醫藥), โลจิสติกส์, ธุรกิจออนไลน์ และการเงิน —–– ห้าอุตสาหกรรมพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (大力發展文化產業), การบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การผลิตและจำหน่ายดอกโบตั๋น, การดูแลผู้สูงอายุ และการเกษตรระดับสูง ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของลั่วหยางเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก —–จนกระทั่งปัจจุบันอยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ค.ศ. 2016-2020) ซึ่งเน้นสร้างสังคมมีกินมีใช้ในระดับพื้นฐาน (小康社會) เมืองลั่วหยางก็ได้นำแนวคิดการพัฒนา 5 ประการคือ นวัตกรรม (創新), ความปรองดอง (協調), พื้นที่สีเขียว (綠色), การเปิดกว้าง (開放) และการแบ่งปัน (共享) นำมาพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อยกระดับสถานะของเขตเศรษฐกิจบริเวณที่ราบภาคกลางแห่งนี้ให้สูงยิ่งขึ้น [1] ราชวงศ์เซี่ย (夏 2070-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีน เริ่มจากกษัตริย์อวี่ (禹) ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ มีกษัตริย์ครองราชย์ทั้งหมด 17 พระองค์ [2] จังหวัดเหอหนาน (河南府) ตั้งอยู่บริเวณทางใต้แม่น้ำฮวงโหบริเวณเมืองลั่วหยางในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินตั้งแคว้นซานชวน ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นแคว้นเหอหนาน (河南郡) ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202-8 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กระทั่งถึงราชวงศ์ถังก็เปลี่ยนเป็นจังหวัดเหอหนานจนถึงปลายราชวงศ์ชิง [3] เหตุการณ์ 7 กรกฎาคม (เหตุการณ์สะพานมาร์โคโปโล) เป็นเหตุการณ์สู้รบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ในคืนวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 โดยกองทัพญี่ปุ่นมาซ้อมรบในเขตระวังภัยของฝ่ายจีนที่สะพานมาร์โคโปโลหรือสะพานหลูโกวเฉียว (盧溝橋) โดยวางแผนโจมตีตำบลหว่านผิง (宛平縣) แต่ทหารรักษาการณ์ฝ่ายจีนตั้งรับอย่างหนาแน่น ดังนั้นทางญี่ปุ่นจึงสร้างเรื่องโกหกว่ามีทหารนายหนึ่ง ‘หายตัวไป’ จึงร้องขอเข้าไปหาตัวทหารนายนั้นในตัวเมืองของตำบลหว่านผิง แต่ผู้บัญชาการกองพลสองร้อยสิบเก้านามจี๋ซิงเหวิน (吉星文 ค.ศ. 1908-1958) ปฏิเสธทันที จึงนำมาซึ่งการสู้รบกันของทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 สะพานมาร์โคโปโลก็ถูกญี่ปุ่นยึดครองในที่สุด เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของชนชาติจีน (ค.ศ. 1937-1945) เรื่องโดย เสี่ยวเฉิน
—–– ห้าอุตสาหกรรมชั้นนำขนาดใหญ่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง, วัสดุใหม่ (新材料), ปิโตรเคมีระดับสูง, ระบบสารสนเทศ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว