หลานไฉ่เหอ: ข้อถกเถียงว่าด้วยตัวตนและเพศสภาพของเซียนตะกร้าดอกไม้

เรื่องโดย พลพัธน์ ภูรีสถิตย์


หลานไฉ่เหอ” จากหนังสือ “โป๊ยเซียน” พิมพ์เมื่อค.ศ. 1931

—–หลานไฉ่เหอ (藍采和 สำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “หน่าไฉฮั้ว”) เป็นนามของเซียนตนหนึ่งในคณะแปดเซียน (八仙 ปาเซียน หรือ โป๊ยเซียน) มีภาพลักษณ์เป็นเซียนวัยหนุ่ม1 ผูกผมสองจุก สวมเสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง ในมือถือตะกร้าดอกไม้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการป้องกันและบรรเทาโรคภัย ในปัจจุบัน หลานไฉ่เหอเป็นเซียนที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการตั้งคำถามถึง ตัวตนและ เพศสภาพที่แท้จริงของเขา

  • ตัวตนที่แท้จริงของ หลานไฉ่เหอ

—–มีเรื่องราวกล่าวขานมากมายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหลานไฉ่เหอ บ้างว่าท่านมีตัวตนจริงอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618 – ค.ศ. 907) บ้างว่าเป็นกวีแห่งมณฑลเจ้อเจียงในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ. 1127 – 1279) บ้างก็ว่าเคยเป็นเซียนเท้าเปล่า (赤腳大仙) และจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ช่วงต้นราชวงศ์ถัง

—–ตำนานว่าด้วยเซียนทั้งหลายเริ่มได้รับการบันทึกมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หนานถัง (南唐 ค.ศ. 937 – 975) ในบันทึกซี่ว์เซียนจ้วน《續仙傳》ของเสิ่นเฝิน (沈汾)  ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของคนธรรมดา 36 คนที่บรรลุเซียนด้วยหลากหลายวิธี บันทึกนี้บรรยายว่า “หลานไฉ่เหอ” เป็นวณิพกในสมัยราชวงศ์ถัง ชอบเดินเท้าเปล่าข้างเดียว สวมเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง รัดเอวด้วยกิ่งไม้สีดำ ขับร้องลำนำแฝงปรัชญาชีวิตเร่ขอเงินตามถนนหนทาง พลางตีกรับไม้บอกจังหวะ ผู้คนฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ล้วนได้รับความสนุกสนาน เมื่อได้เงินพอยาไส้ท่านก็นำไปซื้อสุรามาดื่มจนเมามาย หรือไม่ก็แจกจ่ายแก่คนยากจน บางครั้งก็นำเหรียญมาร้อยเชือกเป็นพวงแล้วลากไปตามทาง ปล่อยให้เหรียญตกเรี่ยรายโดยไม่นำพา

—–หลานไฉ่เหอมักมีพฤติกรรมแปลกประหลาดผิดมนุษย์มนา เช่น สวมรองเท้าเพียงข้างเดียว สวมเสื้อผ้าหนาในหน้าร้อน ทว่ากลับไม่มีเหงื่อออก เมื่อถึงหน้าหนาวก็นอนบนกองหิมะ แต่กลับมีไอตัวหรือความร้อนที่ระเหยจากร่างกาย นอกจากนี้ ลักษณะเด่นของหลานไฉ่เหอก็คือมีใบหน้าอ่อนกว่าวัย ผู้เฒ่าแถวนั้นต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าหลานไฉ่เหอมีรูปโฉมเฉกเช่นที่เคยพบพานตอนเด็ก กล่าวกันว่า วันหนึ่งขณะที่หลานไฉ่เหอเมาหัวราน้ำในร้านเหล้า จู่ๆ เสียงดนตรีอันไพเราะก็ประโคมมาจากฟากฟ้า เมื่อผู้คนแหงนมองก็เห็นหลานไฉ่เหอทรงตัวอยู่บนก้อนเมฆ และค่อยๆ ลอยหายไป ทิ้งไว้เพียงเสื้อผ้า สายรัดเอว และกรับไม้

—–“บันทึกซี่ว์เซียนจ้วน” ถือว่าเป็นต้นแบบที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหลานไฉ่เหออย่างสมบูรณ์ ส่วนบันทึกตำนานเซียนอีกหลายฉบับในสมัยต่อมา ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960 – 1279) จนถึงราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368 – 1644) ต่างก็แต่งเติมโดยอิงเค้าโครงดั้งเดิมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของตัวละคร เรื่องราวพิสดาร รวมถึงพฤติกรรมพิลึกพิลั่นของหลานไฉ่เหอ

—–ประวัติอันคลุมเครือของหลานไฉ่เหอจากบันทึกเล่มต่างๆ ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ “การมีอยู่จริง” ของเซียนตนนี้ โดยมากนักประวัติศาสตร์และนักเทววิทยามักอนุมานเอาว่า หลานไฉ่เหอน่าจะเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในสมัยราชวงศ์ถัง ผู้รู้หลายท่านอย่าง หลงกุ่น (龍袞) ชาวราชวงศ์ซ่งผู้บันทึกเรื่องเฉินเถาสำเร็จเซียน《陳陶得仙》รวบรวมอยู่ในหนังสือเกร็ดประวัติศาสตร์เจียงหนาน《江南野史》รวมทั้งหม่าลิ่ง (馬令) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960 – 1127) และลู่โหยว
(陸游 ค.ศ. 1125 – 1210) กวีสมัยซ่งใต้ ต่างสันนิษฐานว่า ตัวตนที่แท้จริงของหลานไฉ่เหอคือ เฉินเถา (陳陶ค.ศ. 812 – 885) กวีเรืองนามแห่งนครฉางอันสมัยราชวงศ์ถัง

—–นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวกล่าวขานเกี่ยวกับการฝึกวิถีเซียนและบำเพ็ญพรตตามแนวคิดเต๋าของเฉินเถา กล่าวกันว่าเฉินเถาผิดหวังจากการสอบเข้ารับราชการครั้งแล้วครั้งเล่า จึงปลีกวิเวกเร้นกายอยู่ในหุบเขา ในบั้นปลายชีวิตท่านมักพาภรรยาและลูกชายไปเสาะหาสมุนไพร อีกทั้งกิน “ยาอายุวัฒนะ” กันเป็นประจำ

—–ตำนานเล่าว่า ในรัชศกไคเป่า (開寶) ราชวงศ์ซ่งเหนือ มีคนตัดฟืนผู้หนึ่งได้พบเฉินเถาในหุบเขาลึก และกลับมาบอกเหล่าชาวบ้านว่า เฉินเถาดูสุขสบายดี2 ต่อมาราวค.ศ. 972 มีคนเห็นชาย-หญิงชราคู่หนึ่งขายยาสมุนไพรในตลาด ครั้นได้เงินก็เอาไปซื้อสุรามาดื่ม พลางร้องเพลงเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ไม่หวั่นไหวต่อสายตาคนรอบข้าง เพลงที่สองผู้เฒ่าขับขานมีคำร้องว่า “หลานไฉ่เหอ  หลานไฉ่เหอ เรื่องวุ่นในโลกามีมากมาย มิสู้ขายยาซื้อสุราดื่ม กลับสู่ภูผาปรบมือร้องเพลง” (籃采禾,籃采禾,塵事紛紛事更多。爭如賣藥沽酒飲,歸去深崖拍手歌。) คนที่พอรู้เรื่องราวของเฉินเถามาเลาๆ  จึงคาดเดาได้ว่าพวกท่านก็คือเฉินเถากับภรรยา3 แม้ว่าเฉินเถาในขณะนั้นมีอายุประมาณ 160 ปีแล้ว แต่สภาพร่างกายยังแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งสามารถเดินทางไกลเพื่อเก็บสมุนไพรจากภูเขาแล้วนำไปขายในเมือง ถือเป็นบทพิสูจน์อันดีงามถึงความสำเร็จในการบําเพ็ญพรตของเฉินเถา

—–อย่างไรก็ตามบทละครจ๋าจี้ว์ (雜劇) เรื่องฮั่นจงหลีพาหลานไฉ่เหอบรรลุเซียน《漢鍾離度脫藍采和》สมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271 – 1368) กลับให้ข้อมูลว่า แท้ที่จริงแล้วหลานไฉ่เหอมีนามว่า สี่ว์เจียน (許堅) นามรองป๋อทง (伯通) ส่วน “หลานไฉ่เหอ” เป็นเพียงนามแฝงที่ใช้ในการแสดงเท่านั้น แต่ในบทละครยังคงกล่าวว่าหลานไฉ่เหอเป็นวณิพกที่ร้องเพลงเลี้ยงชีพไปตามท้องที่ต่างๆ กระทั่งวันหนึ่งจึงมีวาสนาได้พบกับจงหลีเฉวียน (鍾離權)4 ผู้ซึ่งคอยชี้แนะสั่งสอนจนหลานไฉ่เหอสามารถบรรลุเซียนได้ในที่สุด อนึ่งบันทึกตระกูลหลาน (藍氏族譜) บางสายในมณฑลอันฮุย ได้บันทึกไว้ว่า หลานไฉ่เหอเคยเป็นบัณฑิตที่เข้าสอบจนได้เป็นจิ้นซื่อ (進士) ในสมัยราชวงศ์ถัง รัชกาลถังเกาจง (唐高宗 ค.ศ. 628 – 683) แต่เบื่อหน่ายการแก่งแย่งชิงดีในวงราชการ จึงปลีกวิเวกไปบำเพ็ญพรตจนบรรลุธรรมในบั้นปลาย

—–ด้วยข้อมูลอันหลากหลายและขัดแย้งกัน อีกทั้งมิอาจพิสูจน์ความจริงได้โดยง่าย ประเด็นเรื่องตัวตนที่แท้จริงของหลานไฉ่เหอจึงยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดจนกระทั่งปัจจุบัน

  • เพศสภาพของ “หลานไฉ่เหอ”

—–นอกจากเรื่องตัวตนที่แท้จริงของหลานไฉ่เหอแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจ คือ “เพศสภาพ” ของเขา จะสังเกตได้ว่าในบันทึกไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าแท้ที่จริงแล้วหลานไฉ่เหอเป็นบุรุษหรือสตรี แต่เมื่อพิจารณาจากวิธีการบรรยายลักษณะเซียนตามความเชื่อลัทธิเต๋า ข้อเสนอที่ว่าหลานไฉ่เหอเป็นเพศชายดูจะสอดคล้องกับการรับรู้ของสังคมจีนสมัยโบราณมากกว่า และบันทึกซี่ว์เซียนจ้วนก็ไม่กล่าวถึงตะกร้าใส่ดอกไม้ ผลไม้ หรือยาสมุนไพรแต่อย่างใด ทว่าภาพลักษณ์ของหลานไฉ่เหอที่ปรากฏในการแสดงยุคหลังกลับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้นเรื่องเพศสภาพของเซียนตนนี้จึงเป็นประเด็นโต้แย้งในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักเทววิทยาจีนทั้งชาวจีนและชาวตะวันตก

—–การถกเถียงเรื่องเพศสภาพของหลานไฉ่เหอนั้นมีมาช้านานกว่าร้อยปี เนื่องจากลักษณะอันคลุมเครือที่ปรากฏให้เห็นของหลานไฉ่เหอ จึงเกิดการสันนิษฐานว่าหลานไฉ่เหอน่าจะเป็น “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว

หลานไฉ่เหอ ภาพจากหนังสือ Researches into Chinese Superstitions แปลจากภาษาฝรั่งเศส ฉบับพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1915

—–ในหนังสือ Myths and Legends of China ของ E.T.C.Werner ซึ่งตีพิมพ์เมื่อค.ศ. 1922 ใช้สรรพนามแทนหลานไฉ่เหอในช่วงแรกของประวัติว่า “she”  อันเป็นสรรพนามเพศหญิง แต่ในช่วงท้าย ผู้เขียนได้หยิบยกความตามตำนานที่นิยมกันทั่วไปมาแสดงว่า เหอเซียนกู (何仙姑) เป็นเซียนสตรีหนึ่งเดียวในคณะแปดเซียน และได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แม้หลานไฉ่เหอจะเป็นบุรุษ แต่เขาก็อาจไม่เข้าใจวิธีการแสดงออกซึ่งความเป็นบุรุษ และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงน่าจะต้องเป็นสตรี

—–ส่วนหลักฐานฝ่ายจีนมักระบุไปในทางเดียวกันว่าหลานไฉ่เหอมีเพศสภาพเป็นบุรุษ บทกวีสมัยราชวงศ์หยวนก็กล่าวถึงหลานไฉ่เหอว่าเป็นบุรุษ ข้อมูลนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกและจีนจำนวนหนึ่ง แต่ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616 – 1912) มีการกำหนดสถานภาพตัวละครหลานไฉ่เหอเป็นเสี่ยวต้าน (小旦)5 และให้แต่งกายอย่างตัวนางออกโรง อนึ่ง งานเขียนในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง เรื่อง ไกอวี๋ฉงเข่า《陔餘叢考》เล่ม 3 และ 4 ได้พรรณนาไว้ว่า ในคณะแปดเซียนนั้น ประกอบด้วยเซียนบุรุษ 6 ตน และ “เซียนสตรี” 2 ตน ได้แก่เหอเซียนกูและหลานไฉ่เหอ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพของหลานไฉ่เหอจากบุรุษเป็นสตรีเริ่มมีขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง นอกจากนั้น ในการแสดงอุปรากรจีนต่างๆ ตัวละครหลานไฉ่เหอยังมักปรากฏตัวด้วยเครื่องแต่งกายสตรีที่ร้องเสียงต่ำแบบบุรุษอีก ความสับสนเรื่องเพศสภาพของหลานไฉ่เหอนี้จึงแพร่ไปยังชาวตะวันตกตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวด้วย หนังสือเล่าเรื่องงานเลี้ยงฉลองท้อเซียนของพระแม่ซีหวังหมู่ 《西王母蟠桃大會》ของชาวตะวันตกที่ตีพิมพ์ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1907) ได้กล่าวถึงเพศสภาพของหลานไฉ่เหอว่า “ไม่ชัดเจน” แต่ดูเหมือนผู้เขียนจะสนับสนุนข้อมูลที่ว่าหลานไฉ่เหอเป็นสตรีมากกว่า

ประวัติเซียนหลานไฉ่เหอในหนังสือสองภาษาจีน- อังกฤษ เรื่อง Pang Tao (Flat Peaches) ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1907

—–มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเพศสภาพของหลานไฉ่เหอว่า น่าจะเกิดจากการตีความว่าหลานไฉ่เหอที่ปรากฏตัวด้วยภาพลักษณ์บุรุษวณิพกนั้นมีความซ้ำซ้อนกับภาพลักษณ์ขอทานไม้เท้าเหล็กของหลี่เถี่ยไกว่

—–เนื่องด้วยการตีความเกี่ยวกับเพศสภาพของหลานไฉ่เหอค่อนข้างหลากหลาย และยังปราศจากข้อสรุปที่ชัดเจนในปัจจุบัน ส่งผลให้การแสดงงิ้ว รวมถึงภาพยนตร์ในสมัยหลังปรากฏลักษณะของหลานไฉ่เหอในรูปของสตรีบ้าง บุรุษที่มีประพิมพ์ประพายคล้ายสตรีบ้าง หรือบุรุษที่แต่งตัวเป็นเด็กบ้าง ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้จัดการแสดงหรือนักแสดง

—–ในสังคมสมัยใหม่ซึ่งความหลากหลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แม้ประเด็นเรื่องเพศสภาพของหลานไฉ่เหอยังคงถกเถียงกันอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่หลานไฉ่เหอก็ได้รับการยอมรับในฐานะสัญลักษณ์แทน “ความหลากหลายทางเพศ” ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสากลด้วยเช่นกัน


[1] ตามคติชาวบ้านเชื่อว่า เซียนทั้งแปดตนเป็นสัญลักษณ์แทนปุถุชนบนโลก กล่าวคือ 1. 男 บุรุษ (หลี่ว์ต้งปิน 呂洞賓)  2. 女 สตรี (เหอเซียนกู 何仙姑) 3. 老 ผู้เฒ่า (จางกั่วเหล่า 張果老) 4. 幼 ผู้เยาว์ (หลานไฉ่เหอ 藍采和) 5. 富 ผู้มั่งมี (หานเซียงจื่อ 韓湘子) 6. 貴 ผู้มียศศักดิ์ (เฉากั๋วจิ้ว 曹國舅) 7. 貧 ผู้ขัดสน (จงหลีเฉวียน 鍾離權) 8. 賤 ผู้ด้อยโอกาส (หลี่เถี่ยไกว่ 李鐵拐)

[2] อ้างอิงจาก “ชีวประวัติผู้ปรีชาสามารถแห่งราชวงศ์ถัง”《唐才子傳》ม้วนที่ 8 เรียบเรียงโดย ซินเหวินฝาง (辛文房) ราชวงศ์หยวน (元)

[3]  อ้างอิงจาก  “กวีนิพนธ์ห้าราชวงศ์” 《五代詩畫》ม้วนที่ 3 ชำระและเพิ่มเติมโดยเจิ้งฟางคุน (鄭方坤) ราชวงศ์ชิง (清)

[4] บ้างก็เรียก ฮั่นจงหลี (漢鍾離)

[5] ต้าน (旦) คือตัวละครเพศหญิงในการแสดงอุปรากรจีน ส่วนเสี่ยวต้าน (小旦) คือตัวละครหญิงที่มีอายุน้อย