เคอจี่ว์:
การสอบคัดเลือกข้าราชการในจีนสมัยโบราณ
(2)

เรื่องโดย หยาดฟ้า

 

ภาพการดูผลสอบ《觀榜圖》สมัยราชวงศ์หมิง วาดโดย ฉิวอิง (仇英)

 

——ปัจจุบัน แม้ “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” จะถูกยกเลิกมากว่า 100 ปีแล้ว แต่ระบบการสอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของสังคมจีนสมัยโบราณนี้ก็ยังคงมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นกรณีศึกษาในวงวิชาการ นักวิชาการบางกลุ่มมองว่า การสอบเข้ารับราชการแบบเคอจี่ว์ เป็นต้นแบบของระบบการคัดเลือกบุคคลที่ใช้กันในปัจจุบัน เพราะแนวคิดดั้งเดิมของสังคมจีนคือรัฐต้องการบุคคลที่มีคุณภาพมาเป็นข้าราชการ อิงจากเรื่องเล่าพื้นบ้านเกี่ยวกับการสละตำแหน่งผู้นำ และมอบอำนาจให้ผู้นำคนใหม่ระหว่างพระเจ้าเหยา (堯) พระเจ้าซุ่น (舜) กับพระเจ้าอี่ว์ (禹) ระบบการถ่ายโอนอำนาจโดยผ่านการคัดเลือก (禪讓制) เช่นนี้ มุ่งจะเลือกเฟ้นบุคคลที่มีคุณธรรมและความรู้ความสามารถมาเป็นผู้นำ แม้ภายหลังจะพิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงเรื่องปรัมปราที่ต่อเติมเสริมแต่งโดยแฝงความคาดหวังของผู้เล่าไว้ แต่ความหมายระหว่างบรรทัดในเรื่องที่เล่าขานกันมาช้านานนี้ ก็สะท้อนภาพสังคมซึ่งเรียกร้องการถ่ายโอนอำนาจโดยคัดสรรคนที่มีความสามารถมาเป็นผู้นำ รวมถึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญแก่การคัดเลือกและบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการในทุกราชวงศ์

 

  • ระบบการสอบที่ค้ำจุนระบบศักดินา

——นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า ระบบนี้มีลักษณะเด่นในการผลิตบุคคลจำนวนมากเข้าสู่ระบบราชการ ผู้เข้าสอบล้วนมาจากท้องที่ต่างๆ ของจีน ซึ่งมีภาษาและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน แต่เพราะได้อ่านสี่ตำราห้าคัมภีร์[1] (四書五經) ของลัทธิหรู (儒) จึงสามารถเข้ารับราชการได้โดยผ่านการสอบในระบบเดียวกัน จนเกิดการหลอมรวมวัฒนธรรม เพื่อสร้างเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง ซึ่งมีนัยสำคัญทางการเมืองการปกครองเพราะเป็นนโยบายที่มีส่วนค้ำจุนหลักคิดในระบบศักดินา (封建社會) ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่ครอบงำสังคมจีนมาเนิ่นนาน กล่าวคือ สังคมจีนสมัยโบราณมีการปกครองในระบบศักดินา จักรพรรดิเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุด เชื่อกันว่า จักรพรรดิเป็นประมุขผู้ได้รับมอบหมายอาณัติสวรรค์ (天命) หรือเรียกอีกอย่างว่า เทวสิทธิ (君權神授) ให้มาปกครองบ้านเมืองแบบ “รวมศูนย์อำนาจ” (集權) ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน มีการกระจายอำนาจจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างคือขุนนางเพื่อให้ปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณในด้านต่างๆ เช่น กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ การทหาร ฯลฯ บรรดาขุนนางซึ่งมาจาก “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” ต่างก็มีหน้าที่ถวายงานจักรพรรดิด้วยความจงรักภักดีตามคำสอน “เจ้าวางตัวเป็นเจ้า ข้าวางตัวเป็นข้า บิดาวางตัวเป็นบิดา บุตรวางตัวเป็นบุตร ” (君君, 臣臣, 父父, 子子。) ของลัทธิหรู (ขงจื่อ)

 

  • จุดกำเนิดชนชั้นขุนนางปัญญาชน

——ใน ค.ศ. 1947 เอ็ดเวิร์ด เอ. แครกเคอร์ (E.A.Kracker) นักวิชาการชาวอเมริกันได้เก็บสถิติผู้เข้าสอบสมัย      ราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ.1127–1279) จากเอกสารบันทึกรายชื่อ《题名小录》ของรัชศกเส้าซิง (紹興) ปีที่ 18 (ค.ศ. 1148) และเอกสารบันทึกผู้สอบผ่านเคอจี่ว์《登科錄》ของรัชศกเป่าโย่ว (寶祐) ปีที่ 4 (ค.ศ. 1256) เอกสารสองฉบับนี้บ่งชี้ว่า จิ้นซื่อ[2] (進士) จำนวนกึ่งหนึ่งมาจากครอบครัวสามัญชน เขาจึงคิดว่าการสอบเคอจี่ว์เป็นบันไดให้ผู้มีความสามารถใช้ไต่เต้าขึ้นไปสู่ชนชั้นข้าราชการ และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม

——นักสังคมศาสตร์กลุ่มหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า หลังจากจีนเริ่มใช้ “ระบบการสอบแบบเคอจี่ว์” เมื่อ ค.ศ. 606  ก็ค่อยๆ ส่งผลทางสังคมให้เกิดการเลื่อนชนชั้นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (封建制度) กล่าวคือ ระบบครอบครัวตระกูลใหญ่เป็นแกนกลางในการปกครองบ้านเมือง (門閥制度) เริ่มเสื่อมคลาย กลุ่มชนชั้นนำถูกลดบทบาท เกียรติยศของวงศ์ตระกูลถูกลิดรอน การสืบหากำพืดหรือเทือกเถาเหล่ากอกลับไม่เป็นที่นิยม

——ขณะเดียวกัน การที่สังคมหันมาเชิดชูบุคคลในด้านความรู้ความสามารถและคุณธรรม ก็เปิดช่องให้กลุ่มชนชั้นอื่นสามารถเขยิบฐานะของตนเองและครอบครัว ด้วยการมุ่งมั่นเรียนหนังสือเพื่อสอบจอหงวน และเข้าสู่ระบบราชการพร้อมด้วยอุดมคติที่มุ่งจะทำประโยชน์ให้แก่ราษฎรกับชาติบ้านเมือง ตามแนวคิดพัฒนาขีดความสามารถของตนอย่างมุ่งมั่นดั่งทฤษฎีปรัชญา  “ฝึกฝนตนเอง ปกครองครอบครัว บริหารบ้านเมือง และสร้างสันติสุขทั่วแผ่นดิน” (修身、齊家、治國、平天下) ของขงจื่อ กระทั่งก่อเกิดชนชั้นนำในรูปแบบใหม่ขึ้น เรียกว่า “ขุนนางปัญญาชน”  (士大夫)

——ชนชั้นขุนนางปัญญาชนไม่เพียงมีส่วนร่วมในการถวายคำปรึกษา แต่ยังทำหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งความชอบธรรมแห่งพระราชอำนาจของจักรพรรดิด้วย ต่อมาระบบขุนนางราชการนี้มีบทบาทในการปกครองบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เศรษฐกิจ และการทหาร ทั้งยังกำกับดูแลด้านความคิดและอุดมการณ์ อันได้แก่การศึกษา ปรัชญา ศิลปวิทยาการ รวมถึงความเชื่อทางลัทธิหรือศาสนา

——นักสังคมวิทยามองว่า หลักการคัดเลือกบุคคลตามความรู้ความสามารถ (唯才是舉) โดยไม่คำนึงถึงกำพืดหรือเทือกเถาเหล่ากอ เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมพลวัตในยุคจักรวรรดิจีน แตกต่างจากสังคมสมัยก่อนหน้าที่ปฏิบัติตามเกณฑ์การแบ่งชนชั้นของสังคม และมักกำหนดสถานะทางสังคมโดยสายเลือด วงศ์ตระกูล อาชีพ ทรัพย์สิน และคู่สมรส

 

  • การสอบเคอจี่ว์ เป็นประโยชน์จริงหรือไม่?

——แม้ว่าแผ่นดินจีนสมัยโบราณเคยถูกชนต่างเผ่ารุกรานและยึดอำนาจถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271–1368) ซึ่งสถาปนาโดยชนเผ่ามองโกล (蒙古族) และครั้งที่สองในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1912) ซึ่งสถาปนาโดยชนเผ่าแมนจู (满族) รวมเป็นระยะเวลาเกือบ 400 ปี ทว่า “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” กลับได้รับการสานต่อ เพียงแต่บังคับใช้ด้วยมาตรการเลือกปฏิบัติบางอย่าง เป็นต้นว่า ชาวมองโกลหรือชาวแมนจูจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า ลูกหลานของชนชั้นปกครองสามารถเข้าสู่ระบบราชการได้โดยไม่ต้องสอบ ส่วนชาวฮั่นยังคงต้องปฏิบัติตามรูปแบบการสอบเคอจี่ว์ที่มีมาแต่เดิม

——ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง แนวคิดจากการสอบจอหงวนเพื่อได้เป็นขุนนางอันเป็นหนทางเดียวที่นำมาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง ศักดิ์ศรี รวมทั้งสถานภาพทางสังคมกลายเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เด็กจากครอบครัวสามัญชนจำนวนมากเข้าสู่ระบบราชการด้วยแรงขับเคลื่อนของแนวคิดเช่นนี้ ในขณะเดียวกัน “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” ถูกนำมาใช้อย่างครบวงจร ทั้งจำนวนครั้ง ระดับ และเนื้อหาในการสอบ แม้แต่การจำกัดจำนวนผู้เข้าสอบ (โควตา) ตามพระราชบัญญัติ ก็ได้วางกฎเกณฑ์ไว้ด้วย เพื่อเลือกเฟ้นบุคคลคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ ในสมัยนั้นยังคงใช้ “ระบบซู่จี๋ซื่อ” (庶吉士制度) กล่าวคือ มีการแต่งตั้งตำแหน่งชั่วคราวสำหรับบุคคลที่มีศักยภาพซึ่งคัดเลือกจากการสอบเคอจี่ว์ เพื่อให้พวกเขาได้ศึกษางานในราชบัณฑิตยสภาก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งและปฏิบัติราชการจริง สิ่งนี้สะท้อนภาพว่าผู้ปกครองของทุกราชวงศ์ตระหนักดีว่า “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” เป็นประโยชน์แก่สังคมศักดินาอย่างมีนัยสำคัญ

——นักวิชาการจีนที่เห็นข้อดีของระบบการสอบเคอจี่ว์ เช่น พานกวงตั้น (潘光旦 ค.ศ. 1899–1967) นักสังคมวิทยาและนักพันธุศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.เฟ่ยเสี้ยวทง  (費孝通 ค.ศ. 1910–2005) นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาชื่อดัง รวมถึงหูซื่อ (胡適 ค.ศ. 1891–1962) นักวิชาการหัวใหม่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (北京大學) แกนนำกลุ่มนวทัศน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมจีนเมื่อต้นศตวรรษที่ผ่านมา หูซื่อเห็นว่า ระบบนี้ช่วยส่งเสริมให้สังคมและวัฒนธรรมจีนโดยรวมได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว สร้างแผ่นดินจีนให้เป็นสังคมพหุลักษณ์อันประกอบด้วย ระบบตระกูลแซ่ (家族制度) ลัทธิขงจื่อ (孔子思想) แนวคิดประวัติศาสตร์ (歷史觀念) “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” รวมถึง “ภาษาจีนคลาสสิก” (文言文) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร แต่ละองค์ประกอบต่างก็เกื้อกูลกัน เอกภาพและสันติภาพจึงเกิดขึ้นได้ในแผ่นดินจีน ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม

——นักวิชาการต่างชาติได้เก็บสถิติเกี่ยวกับผู้รู้หนังสือในชนบททางตอนใต้ของจีนในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368–1644)พบว่าชาวจีนมีอัตราการรู้หนังสืออยู่ในเกณฑ์สูง แสดงว่าระบบการสอบคัดเลือกที่มีมาเนิ่นนานมีอิทธิพลต่อการศึกษาของจีนอย่างมาก ทั้งยังมีคุณูปการทางอ้อม คือ เร่งเร้าชาวจีนทั่วไปให้สนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน ดั่งถ้อยคำเตือนสติ “ไม่ขยันหาความรู้ยามเยาว์วัย เมื่อเติบใหญ่เสียใจก็ไร้ผล” (少壯不努力,老大徒傷悲) ซึ่งเป็นภาษิตชาวบ้านที่ยึดถือสืบต่อกันมาช้านาน และมีความหมายโดยตรงว่าควรส่งเสริมการเรียนรู้แต่เนิ่นๆ กระตุ้นคนจีนให้ศึกษาหาความรู้ด้วยความมุ่งมั่นมาจนทุกวันนี้

 

 

——อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ แม้ว่าการสอบเข้ารับราชการผ่านระบบเคอจี่ว์จะกลายเป็นวิถีทางเดียวในการแสวงหาความเจริญก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของคนในสังคม แต่ระบบนี้ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่ได้พัฒนาไปพร้อมกับสังคมโลก โดยเฉพาะในยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกพัฒนาและแพร่หลายมากขึ้นหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในขณะนั้น ทว่าเหล่าชายจีนซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาบ้านเมืองกลับยังคงตรากตรำเล่าเรียนกันอย่างหนักหนาสาหัส

——บัณฑิตจีนจำนวนมากขวนขวายหาความรู้เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการสอบ บางคนดูหนังสือหามรุ่งหามค่ำ ยอมอดตาหลับขับตานอน บางคนใช้เชือกมัดผมของตนเองแล้วผูกไว้กับขื่อบ้าน บางคนใช้เข็มทิ่มต้นขาเพื่อให้รู้สึกเจ็บแปลบจะได้หายง่วง (頭懸梁,錐刺骨) เมื่อวิธีแก้ง่วงตอนดูหนังสือแบบสุดโต่งเหล่านี้กลายเป็นที่ยกย่อง ปัญญาชนชาวจีนจึงมัวแต่หมกมุ่นกับการดูหนังสือจนกระทั่งขาดทักษะการใช้ชีวิต กลายเป็นกลุ่มชนผู้อ่อนแอ ดั่งสำนวนล้อเลียนว่า “(ไอ้พวก) ไร้เรี่ยวแรงแม้แต่จับไก่”  (手無縛雞之力) ทั้งยังขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมหรือไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก เพราะว่าเอาแต่ดูหนังสือของปราชญ์โบราณอย่างคร่ำเคร่ง โดยปิดหูปิดตาตนเอง (兩耳不聞窗外事,一心只讀聖賢書) และถึงแม้จะรับรู้ว่าเส้นทางนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่คิดจะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ส่งผลให้สังคมจีนตกอยู่ในสภาพล้าหลังอย่างไม่รู้ตัว

——นอกจากนี้ ปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นในระบบราชการก็คือ ขุนนางทุจริตต่อหน้าที่ในการคุมสอบ ตัวอย่างเช่น เหอเซิน (和珅 ค.ศ. 1750–1799) ขุนนางคนโปรดของจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ.1711–1799) ประพฤติมิชอบ จงใจให้ข้อสอบรั่วเพื่อรีดเอาทรัพย์จากผู้เข้าสอบ ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคม

——อนึ่ง รูปแบบการสอบประเมินความสามารถของผู้เข้าสอบแบบตายตัวอย่าง “ปากู่เหวิน(八股文 ความเรียงแปดส่วน) ซึ่งมุ่งหวังจะครอบงำความคิดคนในสังคม ก็ไม่เหมาะกับปัญญาชนผู้มีความคิดอิสระ และเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ สภาพเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและส่งผลให้ชาวจีนมีความคิดล้าสมัยและไม่กล้าคิดนอกกรอบ

 

  • จุดจบของระบบเคอจี่ว์

——ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ชาติตะวันตกได้แผ่อำนาจครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของทวีปเอเชีย พร้อมกับนำมาซึ่งความเจริญด้านวิทยาการ เทคโนโลยี เรือรบและอาวุธอันทรงอานุภาพ ความรู้แบบเดิมไม่อาจรับมือสถานการณ์เช่นนี้ได้อีกต่อไป ราชสำนักชิงจึงสนับสนุนนโยบายปฏิรูปโดยเน้นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ในค.ศ. 1905 พระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后 ค.ศ. 1835–1908) ได้ประกาศยกเลิกการสอบใน “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” ตามคำร้องขอของหยวนซื่อข่าย (袁世凱 ค.ศ. 1859–1916) แม่ทัพใหญ่แห่งราชวงศ์ชิง ถือเป็นการยุติบทบาทของ “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินพระทัยโดยมิได้วินิจฉัยให้รอบคอบ

——อย่างไรก็ตาม ข้อดีและข้อเสียของ “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” ยังคงเป็นประเด็นที่จะวิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไปได้อีกยาวนาน

 


[1] สี่ตำราห้าคัมภีร์ (四書五經) คือ คัมภีร์ประมวลแก่นความคิดสําคัญ 4 เล่ม และคัมภีร์ทั้ง 5 ของลัทธิหรู เชื่อกันว่าเรียบเรียงโดยขงจื่อและบรรดาศิษย์ สี่ตำรา (四書) ประกอบด้วย หลุนอี่ว์ 《論語》เมิ่งจื่อ《孟子》ต้าเสว์《大學》และจงยง《中庸》ส่วน ห้าคัมภีร์ (五經) ประกอบด้วย ซือจิง《詩經》ซูจิง《書經》หลี่จิง《禮經》อี้จิง《易經》และชุนชิว《春秋》

[2] จิ้นซื่อ (進士) คือ ตำแหน่งบัณฑิตผู้สอบติดขั้นสุดท้ายหรือการสอบระดับพระราชวังของระบบ “เคอจวี่”  (科舉) ของจีนสมัยโบราณ ซึ่งเป็นระบบการสอบเพื่อคัดเลือกบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถมาเข้ารับราชการ โดยไม่จำกัดชนชั้นหรือชาติตระกูล