มองจีนผ่านมุมกล้องของ จอห์น ทอมสัน
เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์
——ในอดีต ชาวตะวันตกส่วนใหญ่รู้จักคนจีนในฐานะพ่อค้าวาณิชที่เดินเรือค้าขายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ต่อมาชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าไปในประเทศจีนมักจะนำเอาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศจีน เช่น วัฒนธรรม ประเพณี และอาณาเขตอันกว้างใหญ่ ไปเผยแพร่ในโลกตะวันตกในรูปแบบหนังสือที่มีภาพวาดประกอบ ภายหลังเมื่อเทคโนโลยีการถ่ายภาพและระบบการพิมพ์พัฒนาขึ้น จึงมีการเผยแพร่หนังสือที่มีภาพประกอบซึ่งเป็นภาพถ่ายจริงๆ ชาวตะวันตกคนแรกๆ ที่เผยแพร่หนังสือซึ่งมีภาพถ่ายในประเทศจีนออกสู่สายตาชาวตะวันตกก็คือ จอห์น ทอมสัน (John Thomson ค.ศ. 1837 – 1921)
——จอห์น ทอมสัน เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1837 ที่สก๊อตแลนด์ สมัยเรียนเคยเข้าฝึกงานที่โรงงานผลิตเครื่องมือจักษุแพทย์และวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้เรียนรู้หลักการและอุปกรณ์การถ่ายภาพในยุคนั้น ซึ่งยังเป็นการเก็บรักษาภาพถ่ายด้วยฟิล์มกระจกและน้ำยา ช่างถ่ายภาพในสมัยนั้นต้องแบกอุปกรณ์การถ่ายภาพมากมาย เช่น กล้องตัวใหญ่เทอะทะ ฟิล์มกระจก น้ำยาเคมีจำนวนมาก ฯลฯ แต่กระนั้น จอห์น ทอมสัน ก็ยังดั้นด้นเดินทางไปถ่ายภาพในหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ เกาะสุมาตรา ศรีลังกา อินเดีย สยาม กัมพูชา ฮ่องกง จีน ไซปรัส ฝรั่งเศส ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอันหลากหลายให้ชาวโลกได้รับรู้
——จอห์น ทอมสัน ถือเป็นชาวตะวันตกคนแรกๆ ที่เข้าไปถ่ายภาพในประเทศจีน ในยุคที่เพิ่งมีการคิดค้นการถ่ายภาพไม่นาน ระหว่างเดินทางต้องประสบกับอุปสรรคนานัปการ ทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ประกอบกับความเชื่อของคนสมัยก่อนที่ว่ากล้องถ่ายภาพจะดูดเอาวิญญาณบางส่วนไป เพราะในสมัยนั้นเทคโนโลยีการถ่ายภาพยังไม่แพร่หลาย ผู้คนยังมีความหวาดกลัว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะขอถ่ายภาพบุคคลทั่วไปในสถานที่ต่างๆ
——ต่อไปนี้คือภาพถ่ายที่น่าสนใจและคำบรรยายภาพที่ตัดทอนมาบางส่วน
——ภาพคนยกเกี้ยว ‘ที่ฮ่องกงไม่มีรถม้า เกี้ยวจึงถือเป็นยานพาหนะหลัก คนยกเกี้ยวมีฐานะค่อนข้างยากจน จึงไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง พวกเขาจะทำความสะอาดเกี้ยวจนสะอาดสะอ้านแล้วนอนหลับรอจนกว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการ’
——ภาพนักบวช ‘นักบวชในศาลเจ้าแม่กวนอิมมีหน้าที่หาเงินทำบุญเพื่อนำมาสร้างวัด ผมให้เงินเขาไปนิดหน่อยเพราะต้องการถ่ายภาพ แต่เขากลับโมโหโกรธา บอกว่าเงินแค่นี้ไม่เพียงพอต่อความโชคร้ายที่เขาต้องพบหลังจากถูกถ่ายภาพไปแล้ว แต่ดูแล้วท่าทางของเขาก็เป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาที่จริงใจทีเดียว’
——ภาพผู้หญิงรัดเท้าเป็นรูปดอกบัว ‘ภาพนี้คือภาพผู้หญิงที่ใช้ผ้ารัดเท้า เป็นหนึ่งในภาพที่ผมสนใจมากที่สุด ก่อนหน้านี้มีคนจีนบอกว่าภาพแบบนี้ไม่ว่าจะให้เงินมากเท่าไหร่ ก็ไม่มีผู้หญิงคนไหนยอมถอดผ้าพันเท้าออกให้ถ่าย แต่สุดท้ายก็มีผู้หญิงคนหนึ่งยอมให้ถ่าย ขณะถ่ายภาพผมอยากออกจากที่แห่งนั้นให้เร็วที่สุด เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เท้ารูปดอกบัวนั้นก็ไม่มีวันงดงามเหมือนกับดอกบัวจริงๆ’
——ภาพบ้านแบบจีนที่ปักกิ่ง ‘ภาพนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นการตกแต่งบ้านเรือนแบบจีน บ้านแบบนี้ถูกออกแบบให้เหมาะกับสภาพอากาศที่ปักกิ่ง ที่นี่เมื่อถึงฤดูร้อนอากาศร้อนเหมือนประเทศในเขตร้อน ฤดูหนาวอากาศหนาวเหมือนอยู่บนเกาะน้ำแข็ง หลังคาช่วยสะท้อนความร้อน หน้าต่างที่ติดระเบียงสามารถเปิดออกได้ทั้งแถบ และสามารถปิดสนิทมิดชิด คนบนบ้านคือเพื่อนของผมและสมาชิกในครอบครัว’
——ภาพถนนหน้าประตูเฉียนเหมิน ‘ภาพนี้ถ่ายจากบนกำแพงเมืองปักกิ่ง เป็นภาพสะพานสีขาวที่ข้ามแม่น้ำรอบเมือง ถนนเส้นนี้ค่อนข้างใหญ่ ทางกลางสะพานนั้นห้ามรถวิ่ง ใช้ได้เฉพาะพระจักรพรรดิเท่านั้น แต่จุดนี้เป็นจุดที่ขอทานชอบ ชาวยุโรปจึงเรียกที่นี่ว่าสะพานขอทาน ในภาพเราจะเห็นขอทานรวมตัวกันขอเงิน บางคนก็นอนป่วยอยู่บนสะพาน แต่ละปีมีขอทานหนาวตายเป็นจำนวนมาก’ (ไกลออกไปจะเห็นหอบูชาฟ้าเทียนถาน (天壇)
——ภาพสะพานในพระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวน ‘พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง ในภาพมีสะพานที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศจีน ด้านหลังคือภูเขาว่านโซ่วซาน (萬壽山) ผมจินตนาการว่าหากดอกบัวบานเต็มสระ มีลมพัดเย็นสบาย คงจะเป็นภาพที่สวยงามทีเดียว’
——ภาพจิตรกรกำลังวาดภาพ ‘ฮ่องกงมีจิตรกรมากมาย ราคาของภาพขึ้นอยู่กับขนาด จิตรกรบางคนใช้วิธีให้ลูกศิษย์วาดช่วงตัวและแขน ส่วนตนเองวาดใบหน้า’
——ภาพนักโทษ ‘วิธีลงโทษด้วยการใส่โซ่ตรวนและแผงไม้ลักษณะนี้เป็นการลงโทษสถานเบาจากการลักเล็กขโมยน้อย โดยมีการติดชื่อนักโทษ ภูมิลำเนา ข้อหา และบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจน’
——ภาพเด็กผู้หญิงกวางเจา ‘เด็กหญิงในประเทศจีนถูกจำกัดเรื่องการศึกษา นอกจากเด็กหญิงชนชั้นสูงที่จะได้รับการศึกษาพื้นฐานให้อ่านออกเขียนได้ และได้รับการฝึกฝนเรื่องตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบดั้งเดิม’
——ภาพถนนและหอนาฬิกาที่ฮ่องกง ‘หอนาฬิกาด้านหลังเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง ผู้ชายด้านขวาของภาพเป็นตำรวจชาวอินเดีย ซึ่งเคยมีมากถึง 300 คน แต่ตอนนี้ทยอยกันกลับประเทศ ถัดมาทางซ้ายคือคนหามเกี้ยวที่กำลังรอผู้โดยสาร’
——ภาพหลังอาหารค่ำ ‘การรวมตัวเล็กๆ หลังอาหารค่ำที่ลานบริเวณประตูหลังเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว สมาชิกในบ้านจะมานั่งล้อมวงสูบยาสูบ อุปกรณ์สูบยาสูบของพวกเขาต่างกับของเราบ้าง ที่นี่ผู้หญิงก็สูบด้วย’
——ภาพรุ่ยหลิน ‘ข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลกว่างตงและกว่างซี’
——ภาพสุสานหมิงเซี่ยว (明孝陵) ‘สุสานหมิงเซี่ยวเป็นสถานที่ฝังศพของจักรพรรดิหมิงไท่จู่ ตั้งอยู่ที่เมืองนานกิง (南京)’
——ภาพคลังแสงที่หนานจิง ‘คลังแสงแห่งนี้ควบคุมดูแลโดยหลี่หงจาง เป็นคลังแสงแห่งแรกของจีน’
——ภาพร้านขายผ้านำเข้าจากต่างประเทศ ‘มีห้างร้านอีกมากมายที่ตกแต่งประณีตดึงดูดสายตายิ่งกว่าร้านนี้ พื้นในร้านปูด้วยหินแกรนิต ด้านบนก่ออิฐเรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย ห้างร้านในปักกิ่งส่วนมากแตกต่างกับร้านตอนใต้ของประเทศหรือเมืองอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากภาพนี้ ด้านหน้าของร้านใช้ฉากไม้สลักลายที่มีประตู 1 บานสามารถเปิดได้ ด้านบนแขวนป้ายผ้าที่ช่วยบังแดด มีตัวอักษรชื่อร้านที่สวยงาม ตัวอักษรสีทองขนาดใหญ่ทำให้ทราบว่าร้านนี้ขายผ้านำเข้าจากเมืองแมนเชสเตอร์ ส่วนป้ายด้านล่างบอกพวกเราว่าที่นี่ขายผ้าไหมและสิ่งทออื่นๆ ป้ายไม้หน้าร้านบอกว่าอุปกรณ์วัดที่ร้านนี้ใหญ่กว่ามาตรฐานเล็กน้อย’
——ภาพหมอพเนจร ‘หมอแบบนี้จะไม่เปิดร้านรักษาคนไข้เป็นหลักแหล่ง จะรักษาเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับมือและเท้า หมอในภาพกำลังรักษาโรคตาปลาและตัดเล็บเท้า ด้านหลังที่กำลังเกาะหน้าต่างสูบยาสูบคือคนที่รอการรักษา’
——ภาพการแสดงจากถ้ำมอง ‘การแสดงจากถ้ำมองเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้านหน้ากล่องจะมีเลนส์ เมื่อมองผ่านเลนส์เหล่านี้จะเห็นโลกที่ไม่เคยเห็น เช่น ภาพจากโลกตะวันตก ผู้แสดงจะบรรยายเรื่องราวในภาพ ขณะเดียวกันก็จะดึงเชือกเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว
——ภาพหาบเร่แผงลอย ‘ภาพในสังคมชั้นล่าง คนขายจะหาบแผงขายของไว้บนบ่า ชายคนนี้กำลังร้องตะโกนขายองุ่นอยู่ในซอยเล็กๆ’
——ภาพคนเฝ้ายามที่ปักกิ่ง ‘ภาพนี้เป็นภาพของชายชราเฝ้ายามชาวแมนจู เป็นคนเฝ้ายามหน้าโรงแรมฝรั่งเศส (法國旅館) เขาสวมชุดหนังแกะเก่าๆ มือถือเกราะไม้ เวลาอากาศหนาวเขาก็ต้องนอนตรงขั้นบันไดหินหน้าประตู’
ภาพทั้งหมดจากสถาบันเวลคัม wellcomelibrary.org