แนะนำวรรณคดีและตัวละครสตรีในจินผิงเหมย

เรื่องโดย อริสรา บัณฑิตภิรมย์


 

จินผิงเหมย (金瓶梅) หนึ่งในสี่ยอดวรรณคดีมหัศจรรย์ของจีนยุคโบราณ (中國古代四大奇書)ทุกวันนี้กำลังดึงดูดใจผู้อ่านและนักวิชาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ในแง่ที่เคยถูกมองข้ามว่าเป็นหนังสือต้องห้ามหรือนิยายประโลมโลกย์ แต่ยังรวมถึงคุณค่าของการศึกษาเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาซึ่งแฝงประเด็นต่างๆ เอาไว้ ส่งเสริมให้มนุษยชาติมุ่งหาสัจจะจากวรรณกรรม

นวนิยายเรื่องจินผิงเหมย หรืออีกชื่อที่คนไทยคุ้นเคยว่าบุปผาในกุณฑีทอง (金瓶梅) ซึ่งแปลจากฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ (ที่แปลจากภาษาเยอรมันอีกทอดหนึ่งโดย “ยาขอบ” ชื่อภาษาจีนจินผิงเหมยนั้น มีที่มาเกี่ยวโยงกับชื่อของตัวละครหลัก 3 คนในเรื่องได้แก่ พานจินเหลียน (潘金ทอง蓮) หลี่ผิงเอ๋อร์ (李瓶แจกัน兒) และผังชุนเหมย (龐春梅ดอกเหมย) ด้วยการสะท้อนมุมมอง ตลอดจนกระบวนทัศน์ของสตรีจีนในสังคมยุคโบราณ จินผิงเหมยจึงเป็นวรรณกรรมที่มีคติเตือนใจสำหรับผู้คนทุกยุคทุกสมัย

สิ่งที่ยังเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ ผู้ประพันธ์เรื่องจินผิงเหมยซึ่งมีนามปากกาว่า “หลานหลิงเซี่ยวเซี่ยวเซิง”(蘭陵笑笑生 บัณฑิตแห่งสุสานกล้วยไม้ผู้ยิ้มเยาะ)นั้นเป็นผู้ใด ชายหรือหญิง มีสถานะทางสังคมเช่นใด อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบการใช้ภาษาและรูปแบบการดำเนินเรื่อง ถือได้ว่าจินผิงเหมยเป็นนิยายขนาดยาวเรื่องแรกที่เขียนจบสมบูรณ์โดยนักเขียนเพียงคนเดียว

ผู้ประพันธ์จินผิงเหมยได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่องสุยหู่จ้วน (水滸傳ซ้องกั๋ง หรือ วีรบุรุษเขาเหลียงซาน) และได้หยิบยกตัวละครชายนามซีเหมินชิ่ง (西門慶) มาต่อเติมเสริมแต่ง ในเรื่องซ้องกั๋งนี้ซีเหมินชิ่งเป็นพ่อค้าที่ฉลาดแกมโกง เจ้าชู้ ชอบทำตัวอันธพาลจนมีอำนาจและกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในถิ่นอำเภอหยางกู่ (陽谷) มณฑลซานตง (山東) อีกทั้งยังร่วมมือกับชู้รักนามว่าพานจินเหลียน (潘金蓮) วางยาปลิดชีวิตอู่ต้าหลาง (武大郎) ซึ่งเป็นสามีของนาง แต่ในที่สุดก็ถูกอู่ซง (武松) น้องชายของอู่ต้าหลางตามฆ่าล้างแค้นให้สาสมแก่ความผิดโทษฐานสังหารพี่ชายของตน

ส่วนเรื่องจินผิงเหมย หรือบุปผาในกุณฑีทอง ผู้แต่งได้ขยายชีวประวัติของตัวละครนี้ ซึ่งดำเนินเรื่องโดยยึดตามเส้นทางชีวิตของซีเหมินชิ่ง บอกเล่าเหตุการณ์ระหว่างซีเหมินชิ่งกับผู้หญิงหลายคน ทั้งยังใส่สีตีไข่เรื่องกามารมณ์ลงในนิยายจนดูโจ่งแจ้งอย่างไม่เคยปรากฏ ซีเหมินชิ่งในเรื่องนี้สามารถบริหารเสน่ห์ทำให้ผู้หญิงต่างหลงใหลจนไม่อาจถอนตัวได้  บ้างตกเป็นเครื่องมือตอบสนองตัณหาทางเพศแบบซาดิสม์ บ้างก็ถูกหลอกใช้ให้ช่วยทำธุรกิจกระทั่งมีเงินเป็นกอบเป็นกำ ทั้งยังคดโกงทรัพย์สินผู้อื่นจนมีสมบัติมหาศาล นอกจากนี้เขายังตีสนิทกับเหล่าขุนนาง ทำให้มีเส้นสายและสามารถซื้อตำแหน่งราชการได้ กลายเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งในแวดวงราชการและแวดวงการเงิน สุดท้ายความมักมากในกามก็ส่งผลร้ายต่อตนเอง ซีเหมินชิ่งเกิดอาการหัวใจวายเสียชีวิตขณะร่วมเพศเมื่ออายุเพียง 33 ปี !

เรื่องจินผิงเหมยได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่แบบของนวนิยายประโลมโลกย์(世情小說)บอกเล่าความรู้สึกของมนุษย์ปุถุชนและสะท้อนภาพวิถีชีวิตคนทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากนวนิยายก่อนหน้านี้ที่เน้นการเล่าเรื่องตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์ ขุนนาง วีรบุรุษ หรือเทพเจ้า ปีศาจ

ถ้อยคำเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงจินผิงเหมยคือถ้อยคำของหยวนหงต้าว (袁宏道ค.ศ.1568 – 1610) บัณฑิตราชวงศ์หมิง (明朝ค.ศ.1368 – 1644) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ตั้งคำถามถึงผู้เขียนของนวนิยายเรื่องนี้ “นิยายจินผิงเหมยมีต้นตอจากที่ใด ได้อ่านครึ่งแรกแล้ว เขียนดีมาก จึงคัดลอกไว้ ไม่ทราบว่าครึ่งหลังอยู่ที่ใด? ” ข้อความนี้ปรากฏในจดหมายที่หยวนหงต้าวส่งถึงผู้อาวุโสนามว่าต่งฉีชาง (董其昌 ค.ศ.1555 – 1636) ซึ่งเป็นนักปราชญ์ประจำสำนักราชบัณฑิตของราชสำนักหมิง น่าเสียดายที่ต่งฉีชางไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวของหยวนหงต้าว ในฐานะผู้ให้หยวนหงต้าวและคนอื่นๆ ยืมหนังสือไปอ่าน ต่งฉีชางอาจไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่งเรื่อง
จินผิงเหมย หรือจงใจปกปิดไว้ เพราะไม่ต้องการแพร่งพรายภูมิหลังของผู้เขียน ชนรุ่นหลังจึงได้แต่คาดเดา ไม่อาจรู้ตัวผู้ประพันธ์งานชิ้นเอกนี้

เรื่องราวในจินผิงเหมยนั้น มีที่มาจากเนื้อความตอนหนึ่งของ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน ดังนั้น ฉากหลังของเรื่องผู้แต่งจึงสมมติว่าเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋ค.ศ.960 – 1279) แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่นิยายเรื่องนี้ปรากฏขึ้นนั้นกลับเป็นเหตุการณ์ในสมัยราชวงศ์หมิง ผู้อ่านจะได้เห็นสภาพสังคมในรัชศกว่านลี่ (萬歷ค.ศ.1573 – 1620) ปลายสมัยราชวงศ์หมิง เป็นยุคที่เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศของจีนมีความเจริญรุ่งเรือง อาชีพพ่อค้ามีสถานภาพทางสังคมที่สูงขึ้น และมีการติดสินบนขุนนางเพื่อประโยชน์ส่วนตน ตำแหน่งขุนนางท้องถิ่นบางตำแหน่งก็สามารถใช้เงินซื้อได้ การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางส่งผลให้ค่านิยมของสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไป จากการนับถือคนที่มีคุณธรรมความรู้ก็หันมายกย่องคนมีเงินแทน

 

ต้นฉบับของจินผิงเหมย

  1. ฉือฮว่าเปิ่น(詞話本)สำเร็จเป็นรูปเล่มในรัชศกว่านลี่ใกล้เคียงต้นฉบับดั้งเดิมที่สุด
  2. ฉงเจินเปิ่น(崇禎本)เป็นการนำฉบับแรกมาปรับปรุงแก้ไขในรัชศกฉงเจิน (崇禎 ค.ศ.1628 – 1644)
  3. จางจู๋พัวเปิ่น(張竹坡本)การตีพิมพ์มีคราบหมึกสีดำจากฉบับฉงเฉินจึงนำมาแก้ไขใหม่และเสริมทัศนะเชิงวิพากษ์วิจารณ์โดยจางจู๋พัว (張竹坡 ค.ศ.1670 – 1698) จึงเรียกอีกชื่อว่า จางผิงเปิ่น(張評本)แปลว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของจางจู๋พัว ครั้นถึงสมัยสาธารณรัฐได้มีการตัดช่วงที่จางจู๋พัวเขียนออก และลบฉากอันล่อแหลมของตัวละครหลักคือ ซีเหมินชิ่งในด้านบทบาทหน้าที่ และความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างซีเหมินชิงกับสตรีหลายนาง

สถานะและลักษณะเด่นของตัวละครหญิง

          สังคมชายเป็นใหญ่ในยุคโบราณ ส่งผลให้งานวรรณกรรมใช้มุมมองเพศชายเป็นหลักในการตัดสินสตรีว่าดีหรือเลว เรื่องจินผิงเหมยได้สะท้อนภาพความต่างของสตรีหลากหลายลักษณะนิสัย อาชีพ มีสตรีในเรื่องจำนวน 200 กว่าคน แต่ตัวละครสตรีที่มีบทบาทสำคัญการดำเนินเรื่องนั้น ก็คือตัวละครที่อยู่ในบ้านของ
ซีเหมินชิ่ง ได้แก่

อู๋เยว่เหนียง(吴月娘)สตรีที่นักวิชาการลงความเห็นว่าเป็นภรรยาหลวงที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม เป็นกุลสตรีในยุคนั้น มีความซื่อสัตย์ต่อสามี ทั้งในยามที่สามียังมีชีวิตหรือสิ้นชีวิตแล้วปรามซีเหมินชิ่งผู้เป็นสามีโดยใช้เหตุผลในการปราม ไม่ได้เชื่อฟังทั้งหมด อู๋เยว่เหนียงไม่ได้ยึดความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาเป็นหลัก แต่ยึดตระกูลเป็นหลักว่าควรทำเช่นไรจึงจะเป็นการดีต่อตระกูล

พานจินเหลียน(潘金蓮)สตรีชั่ว เป็นตัวละครที่มีมิติ เป็นผู้หญิงที่สวยสะดุดตา ฉลาด แต่ไร้อิสระในชีวิตตั้งแต่เก้าขวบ มีชีวิตยากจน หลังจากพ่อตายก็ถูกแม่ขายให้แก่จวนหวังเจาเซวียน พออายุสิบห้าปีก็ถูกขายต่อให้บ้านจางต้าฮู่ ต่อมาเมื่ออายุสิบแปดก็เป็นเมียลับของจางต้าฮู่ สุดท้ายถูกภรรยาหลวงของจางต้าฮู่ไล่ จางต้าฮู่จึงยกนางให้แต่งกับอู่ต้าหลาง แต่นางเกิดความไม่พอใจในตัวสามีและชีวิตคู่ เลยลักลอบได้เสียกันกับซีเหมินชิ่ง จนกระทั่งอู่ต้าหลางตายนางก็หันมาพึ่งพาซีเหมินชิ่ง มีนักวิชาการให้ความเห็นว่าเป็น “ตัวละครที่ดิ้นรนอย่างโดดเดี่ยว เพื่อมีชีวิตอยู่ท่ามกลางอุปสรรค” เป็นตัวละครที่สะท้อนถึงความพยายามเอาตัวรอด รู้ความต้องการของตน แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด จนนำไปสู่จุดจบที่เป็นโศกนาฏกรรม

หลี่ผิงเอ๋อร์(李瓶兒)สตรีชั่ว เป็นภรรยาของฮวาจื่อซวี ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมสาบานของ
ซีเหมินชิ่ง แอบมีชู้กับซีเหมินชิ่งจนเป็นเหตุให้สามีเสียชีวิต หาทางยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้มาเป็นของซีเหมินชิ่ง เมื่อสามีเสียชีวิตจึงได้แต่งเข้าบ้านซีเหมินชิ่ง หลี่ผิงเอ๋อร์เป็นตัวละครที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบุคลิกภาพอย่างชัดเจน จากสตรีที่ฉลาดหลักแหลม เจ้าเล่ห์ กล้าทำตามอำเภอใจโดยไม่ยี่หระความถูกผิด แต่เมื่อแต่งเข้าบ้านซีเหมินชิ่งก็กลายเป็นคนอ่อนแอ โดนรังแกจนตรอมใจตาย

เมิ่งอี้ว์โหลว(孟玉樓)สตรีที่กล้าหาความสุขให้ตนเอง เป็นหญิงม่ายแต่ร่ำรวย ไม่ถือว่าพรหมจรรย์เป็นสิ่งสำคัญ มีแม่สื่อแนะนำนางให้ซีเหมินชิ่ง จึงเลือกแต่งงานกับซีเหมินชิ่ง นางไม่ได้ทำตัวโดดเด่น อ่อนน้อมกับอู๋เยว่เหนียง เข้ากันได้กับพานจินเหลียนและหลี่ผิงเอ๋อร์ เป็นตัวละครที่แทบจะไม่เคยวิวาทหรือทำร้ายใครอย่างรุนแรง หลังจากซีเหมินชิ่งตายนางก็ได้วางแผนชีวิตว่า จะไม่ยอมครองความเป็นม่ายในเมื่อตัวเองยังสาว ครั้นได้เจอลูกชายขุนนางเมื่อไปไหว้หลุมศพซีเหมินชิ่งตอนเช็งเม้ง แล้วคุยกันถูกคอ ต่อมาจึงได้ร่วมหอลงโรง ทั้ง 3 ครั้งที่แต่งงานล้วนเป็นการแต่งงานที่เลือกเองและสมเกียรติ

ผังชุนเหมย (龐春梅) เป็นสาวใช้ของอู๋เยว่เหนียง แต่เมื่อแต่งพานจินเหลียนเข้ามา ก็ได้ยกผังชุนเหมยให้ไปรับใช้ ทั้งสองจึงสนิทสนมกัน พอพานจินเหลียนตายผังชุนเหมยก็เสียใจมาก และเมื่อถึงเช็งเม้งก็ไปไหว้หลุมศพเหมือนพานจินเหลียนเป็นญาติคนหนึ่ง

อิ๋งชุน (迎春) เป็นสาวใช้ของหลี่ผิงเอ๋อร์ เป็นผู้คอยดูต้นทางระหว่างที่เมื่อซีเหมินชิ่งและหลี่ผิงเอ๋อร์มีเพศสัมพันธ์กัน ก่อนหลี่ผิงเอ๋อร์จะตายได้ฝากฝังอิ๋งชุนกับอู๋เยว่เหนียง เพราะ “อิ๋งชุนเคยหลับนอนกับซีเหมินชิ่งมาก่อน แต่งออกไปไม่ได้แล้ว” จุดจบของนางคือถูกบ่าวชายที่ได้รับมอบหมายให้คุ้มกันนางขณะถูกส่งไปเป็นของบรรณาการขืนใจจนเสียชีวิต

ข้อคิดและปัญหาที่สะท้อนผ่านตัวละคร

  – สะท้อนปัญหาสังคมในเรื่องการถือเอาเห็นอำนาจและเงินตราเป็นใหญ่

– ตีแผ่สภาพครอบครัวที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคน จนไม่อาจสมานใจให้รักใคร่กลมเกลียวกันได้ การแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างภรรยา ปัญหาของภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง

อิทธิพลของจินผิงเหมยต่อวรรณกรรมในยุคหลัง

          มีเล่มต่อจากจินผิงเหมยโดยอี้ว์เจียวหลี่ (玉娇李) แต่ต้นฉบับได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือแค่เรื่องสั้นในหนังสือว่านลี่เหย่ฮั่วเปียน《萬曆野獲編》โดยเสิ่นเต๋อฝู(沈德符 ค.ศ.1578-1642)แต่งเป็นเรื่องราวการกลับชาติมาเกิดใหม่ของตัวละครในจินผิงเหมย

ในสมัยปลายราชวงศ์ชิงมีนักเขียนชื่อติงเย่าคั่ง (丁耀亢ค.ศ.1599 – 1669) ได้ประพันธ์เรื่องซี่ว์จินผิงเหมย《续金瓶梅》หยิบยกเอาเรื่องอู๋เยว่เหนียงและเซี่ยวเกอ (孝哥) มาเขียน รวมถึงการกลับชาติมาเกิด และสอดแทรกการตำหนิราชวงศ์ชิงด้วย ติงฮุยคังจึงถูกจำคุก ต่อมามีการปรับปรุงเนื้อหาในรัชสมัยคังซี (康熙ค.ศ.1662 – 1722) โดยตัดข้อความที่วิจารณ์ราชวงศ์ชิงออก เปลี่ยนชื่อตัวละคร เผยแพร่ใหม่ในชื่อ “เก๋อเหลียนฮวาอิ่ง”《隔帘花影》แต่ก็ถูกห้ามเผยแพร่เพราะมีฉากอนาจารหลายฉาก

ในยุคสาธารณรัฐได้นำซี่ว์จินผิงเหมยมาปรับปรุงโดยคงข้อความที่ตำหนิราชวงศ์ชิงไว้ นำเอาลักษณะทางวรรณศิลป์ของเก๋อเหลียนฮวาอิ่งมาใช้ และเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็นจินอูเมิ่ง《金屋夢》แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าจินผิงเหมย

ภาพที่ 1 หนังสือ

ภาพที่ 2 ซีเหมินชิ่ง ตัวละครชาย

ภาพที่ 3 ตู้หนังสือเก็บต้นฉบับ

ภาพที่ 4 ตัวละครหญิงในลักษณะต่างๆ

ภาพที่ 5 เรื่องจินผิงเหมยฉบับแปลเป็นภาษาตางประเทศ