จิงเคอ – นักฆ่าที่ประวัติศาสตร์จดจำ

เรื่องโดย หงส์ป่า


จิงเคอลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ (ภาพพิมพ์บางส่วนจากหินแกะสลักยุคราชวงศ์ฮั่น)

—–แม้ว่าแผนลอบสังหาร จิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇帝 259 – 210 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) จะคว้าน้ำเหลว แต่ชื่อของ จิงเคอ (荊軻) หรือ ฉิ้งเคอ (慶軻 ไม่ชัดเจน – 227 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หนึ่งในมือสังหารยุคจีนโบราณก็ยังคงถูกกล่าวขานในหนังสือเรียนและตำราจีนหลายเล่ม เรียกได้ว่าเป็น ‘นักฆ่าผู้โด่งดังแห่งยุค’ แม้สุดท้ายจะต้องจบชีวิตเนื่องจากปฏิบัติภารกิจไม่สำเร็จ

—–จิงเคอ เกิดที่ รัฐเว่ย (魏國) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่มณฑลเหอหนาน (河南) ณ บริเวณฝั่งแม่น้ำ
ฮวงโห (黃河) เป็นดินแดนที่มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรจำนวนมากใช้ชีวิตกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข แต่แล้วเมื่อ 242 ปีก่อนคริสต์ศักราช กองทัพของ รัฐฉิน (秦國) ได้รุกล้ำดินแดนรัฐเว่ยและยึดดินแดนทั้งหมดไว้จนรัฐเว่ยต้องกลายเป็นเขตปกครองที่อยู่ใต้อำนาจของจิ๋นซีฮ่องเต้

—–หลังจากเจ้าผู้ครองรัฐเว่ยถูกเนรเทศ ชาวรัฐเว่ยถูกกดขี่ข่มเหงราวกับสูญเสียดินแดนบ้านเกิดของตน จึงพากันรู้สึกว่ามาตุภูมิของตนถูกย่ำยี จิงเคอผู้มีบรรพบุรุษเป็นขุนนางของรัฐฉี (齊國)ก็จำต้องหลบหนีอย่างระหกระเหินไปตามรัฐต่างๆ ในขณะเดียวกัน รัฐฉินก็แผ่แสนยานุภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังส่งทหารเข้ารุกรานรัฐต่างๆ โดยรอบ เช่น รัฐจ้าว (趙國) ที่พ่ายแพ้และยอมสยบต่อกองทัพอันเกรียงไกรของรัฐฉิน ดินแดนส่วนใหญ่ของรัฐจ้าวก็โดนจิ๋นซีฮ่องเต้ยึดครองเช่นกัน


—–ด้วยเหตุรัฐเยียนมีอาณาเขตติดเชื่อมกับรัฐจ้าว สถานการณ์เช่นนี้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ จีตัน (姬丹 ไม่ชัดเจน – 226 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พระโอรสของเจ้าผู้ครองรัฐเยียน (燕國) เพราะเกรงว่า รัฐเยียนที่มีกำลังน้อยกว่ารัฐจ้าว ย่อมไม่สามารถต่อต้านรัฐฉินได้ ถ้าไม่รวบรวมไพร่พลจากรัฐน้อยใหญ่มารบกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ก็จะต้องถูกกองทัพรัฐฉินรุกรานในวันหน้าอย่างแน่นอน

—–พระโอรสจีตันเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเนื่องจากถูกส่งไปเป็น จื้อจื่อ (質子) หรือตัวประกันทางการเมืองที่รัฐฉิน เมื่อทรงคิดถึงบ้านเกิดและทูลขออนุญาตกลับรัฐเยียนด้วยความหวังว่าจิ๋นซีฮ่องเต้จะเห็นแก่ความเป็นมิตรระหว่างทั้งสองซึ่งได้ผูกพันไว้ในฐานะต่างทำหน้าที่เป็นจื้อจื่อเช่นกันตั้งแต่เยาว์วัย ทว่าจิ๋นซีฮ่องเต้กลับปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ซ้ำร้ายยังรับสั่งว่า “เว้นแต่พระอาทิตย์จะขึ้นอีกครั้งในวันเดียวกัน ฝนฟ้าจะตกเป็นธัญพืช อีกาจะเป็นสีขาว ม้าจะมีเขา เจ้าจึงกลับบ้านได้” ต่อมาพระโอรสจีตันก็หาทางหลบหนีกลับบ้านได้สำเร็จ และหลังจากทรงประเมินสถานการณ์ของบ้านเมืองขณะนั้น จึงได้คิดวางแผนลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ ทรงมั่นใจว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งจิ๋นซีฮ่องเต้ไม่ให้รุกล้ำดินแดนของรัฐต่างๆ โดยพลการอีก

—–อยู่มาวันหนึ่ง พระราชครูคนสนิทได้แนะนำจิงเคอให้รู้จักพระโอรสจีตัน ความเคียดแค้นอันคุกกรุ่นอยู่ในใจที่มีต่อจิ๋นซีฮ่องเต้ ทำให้ทั้งคู่สนทนากันถูกคอและคบคิดกันวางแผนลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ในระยะประชิด

—–เป็นที่ทราบกันว่า ในยามปกตินั้น มีการวางกำลังทหารคุ้มกันจิ๋นซีฮ่องเต้อย่างแน่นหนา คนนอกย่อมไม่อาจกล้ำกรายได้ จิงเคอจึงออกอุบายให้นำสิ่งของไปถวาย แสร้งทำเป็นว่าว่าตนสวามิภักดิ์เพื่อหาโอกาสเข้าถึงตัวจิ๋นซีฮ่องเต้ ทั้ง2คนยังสืบความลับจนรู้ว่า สองสิ่งที่จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงปรารถนาในขณะนั้นก็คือ แผนที่เมืองสำคัญของรัฐเยียน และศีรษะของฝานอูชี (樊於期ไม่ชัดเจน – 227 ปีก่อนคริสต์ศักราช) อดีตแม่ทัพผู้องอาจของรัฐฉินที่มีคุณูปการมากมาย แต่เขาก็เลือกสนับสนุนฝ่ายพระอนุชาของจิ๋นซีฮ่องเต้ เพราะเชื่อว่าจิ๋นซีนั้นไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของ พระเจ้าฉินจวงเซียงอ๋อง (秦莊襄王 281 – 247 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กษัตริย์องค์ก่อน แต่เป็นบุตรของ หลี่ว์ปู้เหวย (呂不韋ไม่ชัดเจน – 235 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งติดในครรภ์ของ พระนางจ้าวจี (趙姬ประมาณ 280 – 228 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก่อนที่จะถวายให้แด่พระเจ้าฉินจวงเซียงอ๋อง

พระเจ้าฉินจวงเซียงอ๋อง

—–ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ซึ่งเปิดโปงแผนการลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้นั้น ได้บรรยายถึงขั้นตอนและวิธีการปลงพระชนม์อย่างละเอียด เมื่อผู้ช่วยของจิงเคอชื่อ ฉินอู่หยาง (秦舞陽239 – 227 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เห็นกองเกียรติยศอันน่าเกรงขามในราชสำนักของราชวงศ์ฉินและสิ่งก่อสร้างอันตั้งตระหง่านอยู่ภายในพระราชวัง เขารู้สึกอกสั่นขวัญหายจนไม่อาจยกเท้าก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับจิงเคอได้ ดังนั้นจึงมีเพียงจิงเคอคนเดียวที่บังอาจก่อการครั้งนี้

หลี่ว์ปู้เหวย

—–จิงเคอถูกนำตัวเข้าเฝ้าเพื่อถวายแผนที่แด่จิ๋นซีฮ่องเต้จนได้ ในขณะที่จิ๋นซีกำลังเพ่งพินิจเปิดแผนที่อยู่นั้น จิงเคอก็จู่โจมเข้าจับตัวจิ๋นซีฮ่องเต้ไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งถือกริชพิษเตรียมจะจ้วงแทง พอเซี่ยอู๋จู (夏無且) แพทย์หลวงของจิ๋นซีฮ่องเต้เห็นเข้า ก็ยกกล่องยาที่ทำด้วยไม้ขึ้นมาขว้างใส่จิงเคอทันที จิงเคอชะงักไปชั่วครู่ ทันใดนั้นเหล่าขุนนางที่อยู่ในท้องพระโรงเมื่อเห็นจิ๋นซีฮ่องเต้ไม่สามารถชักดาบที่คาดอยู่บั้นเอวได้เพราะดาบยาวเกินไป ก็พากันส่งเสียงว่า “ท่านอ๋อง เอาดาบไว้ข้างหลัง” จิ๋นซีฮ่องเต้จึงรีบไพล่ดาบไปด้านหลัง แล้วชักดาบออกจากฝักฟันร่างของจิงเคอ

พระนางจ้าวจี

—–จิ๋นซีฮ่องเต้มีพลังวิทยายุทธที่แข็งแกร่ง เนื่องจากฝึกปรือศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก จิงเคอจึงพลาดโอกาสอันล้ำค่าไปและไม่อาจเข้าใกล้จิ๋นซีฮ่องเต้ได้อีก สุดท้ายต้องล้มพับกับพื้นด้วยอาการบาดเจ็บสาหัส

—–เมื่อแผนการลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ผิดพลาด จีตันได้ขอประทานอภัยโทษจากพระบิดาผู้ครองรัฐเยียนก่อนปลิดชีพตนเอง รัฐเยียนได้นำศีรษะของพระโอรสจีตันมอบถวายจิ๋นซีฮ่องเต้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐเยียนกับรัฐฉินเอาไว้

—–รัฐเยียนยังคงมองหาช่องทางที่จะผนึกกำลังกับรัฐน้อยใหญ่อื่นๆ เพื่อต่อสู้กับรัฐฉิน แต่ก็ดำรงอยู่สืบมาได้อีกเพียง 5ปี เพราะรัฐฉินเร่งก่อสงครามรวมแผ่นดินและผนวกรัฐทั้งใหญ่และเล็กได้สำเร็จเมื่อ 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช


—–แม้จิงเคอจะเป็นนักฆ่าที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขากลับกลายเป็นนักฆ่าผู้โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เรื่องราวของเขาได้รับการกล่าวขวัญมาเนิ่นนานหลายพันปี อาทิ เนื้อเพลงที่ว่า “สายลมรวดร้าว สายน้ำหนาวสั่น ผู้กล้าจากไกล จากไปนิรันดร์” (風蕭蕭兮,易水寒,壯士一去兮,不復還。) ขับร้องโดยพระโอรสจีตันแห่งรัฐเยียนตอนอำลาจิงเคอ ก่อนส่งเขาเดินทางไปสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ ณ ทะเลสาบอี้สุ่ย (易水) เมื่อ 227 ปีก่อนคริสต์ศักราช จิงเคอผู้ซึ่งรู้แก่ใจว่าไปทำการครั้งนี้คงไม่รอดชีวิตกลับมา แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปตายเอาดาบหน้า เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้แก่มาตุภูมิและเพื่อตอบแทนบุญคุณของพระโอรสจีตันซึ่งถือเป็นสหายผู้รู้ใจ สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณของวีรบุรุษที่แท้จริง