จี้กง : เทพเจ้าหลุดโลก
เรื่องโดย โต้วเหมี่ยว
—–หากเอ่ยถึง ‘จี้กง’ หลายคนจะนึกถึงภาพพระภิกษุครองจีวรแบบมหายานขาดปุปะ สวมรองเท้าสานเก่าๆ หมวกผ้าขาดๆ ถือพัดที่สานจากไม้ไผ่ ปรากฏตัวในละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสนุกสนานแต่แฝงด้วยคติธรรมสอนใจ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานยกย่องให้จี้กงเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านเป็นพระอรหันต์ที่แปลกประหลาดเสียจนผู้คนงุนงงและให้ฉายานามแก่ท่านว่า ‘พระบ้า’ ‘พระเพี้ยน’ หรือ ‘พระสติเฟื่อง’ เพราะท่านเป็นพระภิกษุที่รับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มสุราอยู่เป็นนิจ ทั้งยังไม่สำรวมในกายวาจา การครองตนในเพศบรรพชิตจึงผิดแผกจากพระภิกษุทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ทว่า ‘เปลือกนอก’ กับ ‘เนื้อใน’ ‘สิ่งที่เห็น’ กับ ‘สิ่งที่เป็น’ ใช่ว่าจะเป็นสิ่งเดียวกันเสมอไป
—–การที่ผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานมีความเชื่อความศรัทธาว่า พระจี้กงเป็นนิรมาณกายของพระอรหันต์ หรือพระอรหันต์กลับชาติมาเกิดเพื่ออบรมสอนสั่งมนุษย์โลก ก็เพราะท่านได้บรรลุธรรมโดยถึงแก่ความจริงที่ว่า ‘สรรพสิ่งเกิดจากจิต’ ‘รักษาศีลทางจิต ไม่ถือศีลทางปาก’ และ ‘ปฏิบัติตนตามสบาย’ สาเหตุที่ท่านเห็นว่า สรรพสิ่งล้วนเกิดแต่จิต จิตที่ตั้งมั่นในศีลประเสริฐสุดกว่าการถือศีลเพียงลมปาก ท่านจึงไม่สนใจในภาพลักษณ์ภายนอก แต่ให้ความสำคัญกับจิตที่เป็นกุศล ดำรงอยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์ เนื่องจากในขณะนั้นพระภิกษุจีนแม้จะฉันเจ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ถือศีลอย่างเคร่งครัด ก็เป็นเพียงถือศีลทางปาก แต่ไม่ได้รักษาศีลทางใจ ท่านจึงปฏิบัติตนในทางตรงกันข้าม เพื่อเป็นการสอนธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลายและเตือนสติไม่ให้ติดอยู่กับพิธีปฏิบัติเพียงอย่างเดียว
บุคคลจริงในประวัติศาสตร์
—–พระจี้กงหรือพระจี้เตียน (济公禅师/济颠禅师) เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีตัวตนอยู่จริง เอกสารเชิงประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่ได้บันทึกเรื่องราวของพระจี้กงไว้และยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือ ‘บันทึกพระจี้เตียน – แห่งลำน้ำเฉียนถัง’ 《钱塘湖隐济颠禅师语录》 โดยตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1569 ในปลายราชวงศ์หมิง ซึ่งตรงกับปีที่ 3 แห่งรัชสมัยหลงชิ่ง (隆庆) บันทึกเล่มนี้ได้เท้าความถึงบรรพชนของพระจี้กงและบอกเล่าเรื่องราวของพระจี้กงตั้งแต่ยังไม่ออกบวช เมื่อออกบวชแล้ว กระทั่งถึงแก่มรณภาพ ไว้อย่างน่าสนใจชวนให้อ่านติดตาม
—–ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดได้ว่า ผู้เขียนบันทึกเล่มนี้คือใคร แต่ผู้เชี่ยวชาญประวัติวรรณคดีจีนได้ให้ความเห็นว่า ผู้เขียนบันทึกเล่มนี้น่าจะเป็นบัณฑิตร่วมสมัยที่เกิดหลังพระจี้กงไม่นานนัก โดยได้นำเรื่องราวของพระจี้กงตามที่ชาวบ้านเล่าขานกันในขณะนั้นมาร้อยเรียงในรูปแบบนวนิยายให้น่าสนใจด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย บันทึกเล่มนี้จึงเป็นนวนิยายเล่มแรกที่บอกเล่าเรื่องราวของพระจี้กงและเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระจี้กงในยุคสมัยต่อมา
—–พระจี้กง มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1148 – 1209 สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) เดิมชื่อว่า หลี่ซิวหยวน (李修缘 บางตำราว่า 李修元) หรือ หลี่ซินหย่วน (李心远) มีสมญานามว่า หูอิ่น (湖隐) มีนามเชิงยกย่องว่า ฟังหยวนโส่ว (方圆叟) เป็นชาวเมืองไถโจว (台州) [ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเทียนไถ (天台县) มณฑลเจ้อเจียง (浙江省)] บรรพชนของท่านเป็นขุนนางผู้ร่วมบุกเบิกแผ่นดินราชวงศ์ซ่ง มีตำแหน่งยศศักดิ์และหน้าที่สำคัญในราชสำนักสืบต่อกันมาหลายชั่วคน เช่น ปู่ทวด มีนามว่า หลี่จุนซวี่ (李遵勖) แต่งงานกับองค์หญิงว่านโซ่ว (万寿 – พระขนิษฐาในกษัตริย์ซ่งเจินจง) ตลอดชีวิตการรับราชการเป็นแม่ทัพได้ปกครองดูแลท้องที่หลายแห่ง ส่วนบิดามีชื่อว่า หลี่เม่าชุน (李茂春) เดิมเป็นขุนนางที่ปรึกษาในตำหนักองค์รัชทายาท แต่ด้วยอุปนิสัยที่เรียบง่าย ไม่ฝักใฝ่ในลาภยศบรรดาศักดิ์ จึงไปรับราชการตำแหน่งเล็กๆ ในท้องที่เทียนไถ การเป็นขุนนางที่ชื่อสัตย์ ใจบุญสุนทาน ไม่เห็นแก่อำนาจเงินทอง และมีศรีภรรยาที่จิตใจประเสริฐงดงาม ทำให้ทั้งสองเป็นที่เคารพรักของชาวบ้าน ภายหลังหลี่เม่าชุนได้ลาออกจากราชการใช้ชีวิตอย่างสันโดษกับภรรยาที่หมู่บ้านหย่งหนิง (永宁村) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ณ เชิงเขาเทียนไถ (天台山 – ทางภาคตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน)
—–กล่าวได้ว่า พระจี้กงมีชาติตระกูลที่ดีแต่กำเนิด บรรพชนของท่านรับราชการมาหลายชั่วคนนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งราชวงศ์ซ่ง ซึ่งมีทั้งที่เป็นขุนนางฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของสกุลหลี่ คือ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา โดยเฉพาะปู่ทวดของท่าน หลี่จุนซวี่เป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนานิกายเซน คนในสกุลหลี่หลายรุ่นจึงศรัทธาในพุทธศาสนาสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นของหลี่เม่าชุน
—–หลี่เม่าชุนกับภรรยาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและยึดมั่นในบาปบุญคุณโทษ เล่ากันว่า ถึงแม้สองสามีภรรยาจะมีจิตใจงดงาม ช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยากมาตลอด แต่หลี่เม่าชุนในวัย 40 ก็ยังไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล ทั้งสองจึงไปไหว้พระขอพรที่วัดกั๋วชิง (国清寺) ซึ่งอยู่ละแวกใกล้เคียงและได้บำเพ็ญกุศลด้วยการถือศีลกินเจ ไม่นานนักผู้เป็นภรรยาก็ให้กำเนิดบุตรชายสมดั่งใจหวัง เจ้าอาวาสวัดกั๋วชิงได้ตั้งชื่อให้ว่า ซิวหยวน (修缘/修元) เด็กน้อยซิวหยวนมีรูปลักษณ์หน้าตาที่หมดจด น่ารักน่าเอ็นดู ทั้งยังเฉลียวฉลาด ได้ศึกษาเล่าเรียนตำราและคำสอนของขงจื๊อตามแบบแผนการศึกษาร่ำเรียนในสมัยนั้น มีความรอบรู้ในบทกวีกาพย์กลอนสามารถแต่งทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองตั้งแต่ยังเยาว์
—–เมื่ออายุได้ 18 ปี บิดามารดาก็มาจากไป หนุ่มน้อยซิวหยวนจึงหันหน้าเข้าหาพระธรรม ละทางโลก สละเพศฆราวาส โดยออกบวชครั้งแรกที่วัดกั๋วชิง จากนั้นก็ได้ไปอยู่ที่วัดอีกหลายแห่ง กระทั่งเดินทางมาถึงวัดหลิงอิ่น (灵隐寺) เมืองหังโจว (杭州) ก็มาเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ฮุ่ยหย่วน (慧远) และมีสมญาทางธรรมว่า เต้าจี้ (道济) จากการชี้แนะของพระอาจารย์ฮุ่ยหย่วน พระภิกษุเต้าจี้รู้แจ้งในพุทธธรรมอย่างรวดเร็ว แต่ท่านกลับผิดแปลกไปจากพระภิกษุทั่วไป ไม่เพียงไม่เคร่งครัดในการถือศีลและปฏิบัติธรรมเช่นภิกษุรูปอื่น มิหนำซ้ำยังฉันเนื้อสัตว์ ดื่มสุรา เที่ยวเตร่ตามที่ต่างๆ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ชอบหกคะเมนตีลังกาและหยอกล้อเล่นหัวกับเด็ก กอปรกับรูปลักษณ์ภายนอกที่ครองจีวรสกปรก สวมหมวกกับรองเท้าขาดๆ ไม่สำรวมกายวาจาให้สมกับที่ครองเพศบรรพชิต ผู้คนจึงมองว่า ท่านเป็นพระภิกษุที่ไม่มีความรู้และไม่ได้เข้าใจในหลักธรรมของพุทธศาสนา บางคนถึงกับเรียกท่านว่า ‘จี้กงพระบ้า’ หรือ ‘จี้กงพระเพี้ยน’
—–การที่พระจี้กงปฏิบัติตนไม่สมควรแก่การเป็นพระภิกษุ ทำให้ภิกษุหลายรูปที่อยู่ร่วมวัดเดียวกันเกิดความอับอายจึงพากันไปฟ้องพระอาจารย์ฮุ่ยหย่วนผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ว่า พระจี้กงครองตนไม่เหมาะกับการเป็นบรรพชิต แต่พระอาจารย์ฮุ่ยหย่วนก็แก้ต่างให้ว่า “พุทธธรรมอันยิ่งใหญ่ ไฉนจะอภัยแก่ภิกษุบ้าสักรูปมิได้เล่า” แท้จริงแล้วพระจี้กงเข้าใจในพระธรรมคำสอนอย่างถ่องแท้ แต่เพราะท่านโปรดสัตว์โลกด้วยวิธีพิสดาร ชาวบ้านจึงได้เรียกท่านว่า ‘พระสติเฟื่อง’ การกระทำหลายอย่างของท่าน แม้จะดูเหมือนผิดศีลธรรม ผิดธรรมเนียมประเพณี แต่หากพิจารณาจากเนื้อแท้ วัตถุประสงค์และผลลัพธ์แล้ว นับว่าถูกต้องสมควรและเป็นคุณประโยชน์ ในศาสนาพุทธนิกายมหายานจึงนับถือท่านเป็นอรหันต์กลับชาติมาเกิดอีกครั้ง เพื่อโปรดมนุษย์โลก
—–หลังจากที่พระอาจารย์ฮุ่ยหย่วนมรณภาพ พระจี้กงก็ถูกบรรดาพระภิกษุในวัดบีบให้ต้องไปพำนักที่วัดจิ้งฉือ (净慈寺) รับหน้าที่เป็นพระเลขา มีหน้าที่เขียนประกาศฎีกาบอกบุญ และรับผิดชอบดูแลงานด้านอาลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่เคารพรักและประทับใจในตัวท่าน เพราะท่านไม่เพียงมีความรู้เรื่องยาสมุนไพรและช่วยรักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ท่านยังมีใจเมตตาและเข้าใจในความทุกข์ยากของชาวบ้าน ราษฎรที่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจจึงมักมาขอความช่วยเหลือ ที่สำคัญท่านเป็นพระภิกษุที่คอยอบรมสอนสั่งผู้คนทั่วไปโดยไม่ยึดติดในเพศบรรพชิต ไม่ถือสาหรือใส่ใจต่อสายตาของผู้อื่น แม้แต่กับพระภิกษุผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบการปฏิบัติตัวของท่าน จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะขนานนามท่านว่า ‘จี้กง พระพุทธที่มีชีวิต’(济公活佛)
—–พระจี้กงนั่งสมาธิจนเข้าฌานปลงสังขารในปี ค.ศ. 1209 รวมอายุได้ 60 ปี อัฐิของท่านบรรจุไว้ ณ เจดีย์หูเผ่า (虎跑塔) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลสาบซีหู (西湖) อันเลื่องชื่อแห่งเมืองหังโจว ก่อนที่ท่านจะปลงสังขาร ท่านได้แต่งโศลกธรรม ซึ่งแฝงด้วยปริศนาธรรมไว้ว่า…
六十年来狼籍,东壁打到西壁。
如今收拾归来,依旧水连天碧。
(หกสิบปีมุ่งศึกษาแสวงธรรม พ้นบ่วงกรรมถึงแก่นพุทธจิต
กลับสู่โลกสามัญของชีวิต เห็นสายน้ำยังแนบชิดติดฟ้าคราม)
—–โศลกธรรมที่ท่านเขียนไว้นั้นมีมากมาย แต่ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและจดจำได้อย่างดีคือคำสอนของท่าน ดังข้างล่างนี้
一生都是修来的――求什么 (ชีวิตเป็นไปตามบุญกรรมที่สร้างไว้ ―― วอนขอไปทำไม)
今日不知明日事――愁什么 (วันนี้ไม่อาจล่วงรู้เรื่องราวของพรุ่งนี้ ―― กลัดกลุ้มไปทำไม)
不礼爹娘礼世尊――敬什么 (เคารพพระพุทธ ไม่เคารพบิดามารดา ―― เคารพไปทำไม)
兄弟姐妹皆同气――争什么 (พี่น้องร่วมอุทรรักใคร่ปรองดอง ―― ทะเลาะแก่งแย่งไปทำไม)
儿孙自有儿孙福――忧什么 (บุตรหลานมีบุญกรรมของตนเอง ―― ห่วงใยไปทำไม)
岂可人无得运时――急什么 (คนเราย่อมมีโอกาสวาสนา ―― ร้อนใจไปทำไม)
人世难逢开口笑――苦什么 (ชีวิตคนเรายากจะมีรอยยิ้ม ―― ทุกข์ใจไปทำไม)
补破遮寒暖即休――摆什么 (อาภรณ์เก่าขาด ปะซ่อมก็กันหนาวได้ ―― โอ้อวดไปทำไม)
食过三寸成何物――馋什么 (อาหารผ่านลิ้นแล้วสิ้นซาก ―― ตะกละไปทำไม)
死后一文带不去――悭什么 (เมื่อสิ้นลมหายใจ สักแดงก็เอาไปไม่ได้ ―― ตระหนี่ไปทำไม)
前人田地后人收――占什么 (คนรุ่นก่อนหว่านเมล็ด ชนรุ่นหลังเก็บเกี่ยวผล ―― ครอบครองไปทำไม)
得便宜处失便宜――贪什么 (เมื่อได้เปรียบก็เสียเปรียบได้ ―― ละโมบไปทำไม)
举头三尺有神明――欺什么 (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องทุกผู้นาม ―― ข่มเหงกันไปทำไม)
荣华富贵眼前花――傲什么 (ลาภยศเงินทองเสมือนบุปผางาม เบ่งบานได้ไม่นาน ―― หยิ่งผยองไปทำไม)
他家富贵前生定――妒什么 (คนเรามีบุญวาสนาตามชะตาลิขิต ―― อิจฉาไปทำไม)
前世不修今受苦――怨什么 (ชีวิตลำเค็ญ เพราะชาติก่อนไม่ประกอบกุศลกิจ ―― โกรธแค้นไปทำไม)
赌博之人无下梢――耍什么 (ผีพนันย่อมไม่มีจุดจบที่ดีงาม ―― สนุกไปทำไม)
治家勤俭胜求人――奢什么 (รู้จักมัธยัสถ์ ขยันขันแข็ง ดีกว่าหวังพึ่งพิงผู้อื่น ―― สุรุ่ยสุร่ายไปทำไม)
冤冤相报几时休――结什么 (จองเวรจองกรรมไม่จบสิ้น ―― ผูกอาฆาตไปทำไม)
世事如同棋一局――算什么 (ชีวิตเหมือนหมากเกมหนึ่ง ―― คิดมากไปทำไม)
聪明反被聪明误――巧什么 (คนฉลาดเสียท่า เพราะความฉลาดของตน ―― หลักแหลมไปทำไม)
虚言折尽平生福――谎什么 (คำเท็จบั่นทอนบุญวาสนา ―― โกหกไปทำไม)
是非到底见分明――辩什么 (ดีชั่วถูกผิด ปรากฎชัดแจ้งในที่สุด ―― โต้เถียงไปทำไม)
谁能保得常无事――诮什么 (ใครจะแคล้วคลาดปลอดภัยได้ตลอด ―― เยาะเย้ยไปทำไม)
穴在人心不在山――谋什么 (ฮวงซุ้ยดีอยู่ที่ใจ หาใช่ตามขุนเขาลำเนาไพร ―― เสาะแสวงไปทำไม)
欺人是祸饶人福――卜什么 (ข่มเหงผู้อื่นมีแต่โทษ รู้ให้อภัยได้ผลบุญ ―― เสี่ยงทายถามไปทำไม)
寿自护生爱物增――杀什么 (ชีวิตยืนยาว เพราะมีเมตตาจิต ―― ฆ่าฟันไปทำไม)
一旦无常万事休――忙什么 (ยามชีพม้วยมรณา ทุกสิ่งสรรพก็สิ้นสูญ ―― วุ่นวายไปทำไม)
—–สำหรับภาพลักษณ์ของพระจี้กงที่เป็นพระภิกษุผู้มีอิทธิฤทธิ์ ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เพื่อให้พ้นจากเภทภัย ขณะเดียวกันก็มักสอนสั่งพวกผู้ลากมากดี มีอันจะกิน แต่ใจบาปให้รู้สำนึกปรับปรุงตัวนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่เสริมแต่งขึ้นภายหลังและนิยมเล่ากันในรูปแบบมุขปาฐะ โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ดังเช่น ตามตำนานมีความตอนหนึ่งว่า ขณะที่พระอรหันต์จี้กงพำนัก ณ วัดจิ้งฉือ วันหนึ่งได้เกิดไฟไหม้ขึ้น อารามหลวงถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ทำให้ต้องบูรณะปฏิสังขรณ์วัดจิ้งฉือเป็นการใหญ่ การก่อสร้างอารามหลวงหลังใหม่นี้ต้องใช้ไม้จากเขาเยี่ยนหลง (颜龙山) พระอรหันต์จี้กงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยการกางจีวรออก ทันใดนั้นจีวรของท่านก็ปกคลุมเขาเยี่ยนหลงและถอนเอาต้นไม้ขึ้นมามากมาย จากนั้นต้นไม้แต่ละต้นก็ลอยไปตามแม่น้ำไปจนถึงเมืองหังโจว ท่านได้บอกกับชาวบ้านว่า ท่อนไม้ที่ใช้ก่อสร้างอารามหลวง บัดนี้อยู่ในบ่อขี้ธูปแล้ว (บ่อสำหรับเทขี้ธูปและเศษก้านธูป) ทุกคนพากันไปดูที่บ่อขี้ธูปก็พบว่า เป็นจริงอย่างที่ท่านพูด
—–ปัจจุบัน เรื่องราวของพระจี้กงไม่เพียงปรากฎในรูปแบบตำนาน นิทานและนิยาย ยังนิยมจัดทำเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่ให้ความสนุกสนานบันเทิงใจ แต่แฝงไว้ด้วยคติธรรมสอนใจ ทำให้ชนรุ่นหลังได้รู้ถึงชีวประวัติและคำสอนของท่านอย่างมีสีสันมากขึ้น