อุทยานตระกูลอู่: ความรุ่งเรืองที่เลือนหาย

เรื่องโดย พลพัธน์ ภูรีสถิตย์


 

——ในเมืองกว่างโจว (廣州市) มณฑลกวางตุ้ง (廣東省)  มีย่านชุมชนแห่งหนึ่งชื่อว่า ว่านซงหยวน (萬松園) อันหมายถึง “อุทยานหมื่นสน” ที่มาของชื่อนี้มาจากการที่ครั้งหนึ่ง บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์และอุทยานส่วนตัวอันหรูหราของคหบดีตระกูลอู่ ตระกูลพ่อค้าที่ยิ่งใหญ่และร่ำรวยที่สุดในกว่างโจวในช่วงก่อนสงครามฝิ่น นามว่า “ว่านซงหยวน” ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้พบเห็นแล้ว

——อุทยานว่านซงหยวนเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานตระกูลอู่ (伍家花園) ที่สร้างขึ้นประมาณปีคริสต์ศักราช 1803 โดยอู่ปิ่งเจี้ยน (伍秉鑒 ค.ศ. 1769 – 1843) เจ้าของห้างอี๋เหอ (怡和行) หรือเฮ่ากวน (浩官) หนึ่งในผู้ผูกขาดการส่งออกสินค้ารายใหญ่ของกว่างโจวที่มีฐานะเป็นผู้นำของกงหัง (公行) อันเป็นสมาคมของพ่อค้าในกว่างโจวที่ได้รับสิทธิ์ทำการค้าและเก็บภาษีกับชาวต่างประเทศ และเป็นคู่ค้าคนสำคัญของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (East India Trading Company) ด้วยฐานะของอู่ปิ่งเจี้ยนในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจัดว่าร่ำรวยที่สุดในกว่างโจว และข้อมูลบางกระแสก็กล่าวว่าเขาเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกเวลานั้นด้วย การค้ากับชาวตะวันตกทำให้อู่ปิ่งเจี้ยนมีธุระที่จะต้องพบปะกับแขกชาวตะวันตกอยู่เสมอ อุทยานว่านซงหยวนจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รับรองอาคันตุกะต่างชาติและขุนนางระดับสูง รวมไปถึงพวกพ่อค้าและคหบดีในกว่างโจว นอกจากนี้ ยังเป็นที่พักอาศัยของตระกูลอู่ในตัวด้วย การสร้างอุทยานแห่งนี้สมบูรณ์ในคริสต์ศักราช 1835 หลังจากการสร้างศาลบรรพชนของตระกูลอู่เสร็จสิ้นลง

ภาพวาดอู่ปิ่งเจี้ยน เจ้าของห้างอี๋เหอ

——ในเชิงภูมิทัศน์นั้น ทางเข้าด้านหน้าของอุทยานตระกูลอู่ติดกับแม่น้ำหลงซี (龍溪) ภายในมีทางน้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำด้านนอก มีการทำสะพานเชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ของอุทยาน บรรยากาศของอุทยานตระกูลอู่เรียกได้ว่าร่มรื่น เนื่องจากมีการปลูกพฤกษานานาพรรณประดับตกแต่งโดยรอบบริเวณอย่างลงตัว และมีการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งเรือนสำหรับรับรองแขก เรือนสำหรับอยู่อาศัย ศาลากลางน้ำและอื่นๆ อย่างงดงาม

——ในระยะเวลาแห่งความรุ่งเรืองของตระกูลอู่ในกว่างโจวนั้น ที่นี่คืออุทยานที่โดดเด่นด้วยสีเขียวขจีของต้นสนอายุมากจำนวนหลายต้น รอบบริเวณเต็มไปด้วยพืชพรรณและหมู่มวลบุปผางดงามหายาก หินทะเลสาบและหินประดับรูปทรงแปลกตา สถาปัตยกรรมที่ปลูกสร้างอย่างวิจิตร ยังเป็นสถานที่เลี้ยงสารพัดสัตว์หายาก ทั้งสุนัขพันธุ์ดี ม้าพันธุ์เลิศและสารพัดนกหายาก นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะทั้งภาพวาด ภาพอักษรวิจิตร และของเก่าต่างๆ ที่เจ้าของอุทยานเสาะแสวงมาสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตน จึงไม่น่าแปลกใจที่ศิลปินชาวกวางตุ้งที่ผลิตงานศิลปะแบบตะวันตกรุ่นแรกๆอย่างกวนเฉียวชาง (關喬昌 LamQua ค.ศ. 1801 – 1860) จะเลือกอุทยานตระกูลอู่เป็นฉากในภาพวาดของตน

                 

——แสงสว่างแห่งความรุ่งโรจน์ของอุทยานตระกูลอู่ถึงคราวอัสดงเมื่อสงครามฝิ่นระเบิดขึ้น การค้าผูกขาดที่ขึ้นอยู่กับสมาคมกงหังก็สิ้นสุดลงจากสนธิสัญญานานกิง พร้อมกับการถึงแก่กรรมของอู่ปิ่งเจี้ยนในปีคริสต์ศักราช 1843 หลังจากนั้น กิจการของตระกูลอู่ก็ค่อยๆ ถดถอยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ถึงแก่กาลอวสาน เมื่อตระกูลอู่ต้องสูญเสียโกดังและสำนักงานห้างไปจากเพลิงไหม้ในย่านสิบสามห้างของกว่างโจวในระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 คริสต์ศักราช 1856 ซึ่งความตกต่ำของตระกูลอู่มีผลต่อชะตากรรมของอุทยานตระกูลอู่ด้วยเช่นกัน

——อัลเบิร์ต สมิธ (Albert Smith) บันทึกไว้เมื่อคริสต์ศักราช 1859 ว่าอุทยานใหญ่ของตระกูลอู่เสียหายมากจากการปล้นสะดมของกองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส สมบัติและของตกแต่งจำนวนมากถูกขโมยไป ต่อมา ตระกูลอู่ได้ขายที่ดินอุทยานให้พวกคณะงิ้วกวางตุ้งใช้เป็นที่พักอาศัยและเป็นสถานที่ฝึกซ้อมการแสดงในปีคริสต์ศักราช 1869 การเข้ามาของคณะงิ้วทำให้สิ่งปลูกสร้างทรุดโทรมลง และบางส่วนถูกรื้อถอนเพื่อทำอาคารที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิงจนถึงต้นสาธารณรัฐจีน ทำให้ขนาดของอุทยานตระกูลอู่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และภายหลังเมื่อเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 สิ่งปลูกสร้างเดิมในอุทยานตระกูลอู่ก็ถูกทำลายลงจนหมดสิ้นเนื่องจากการสู้รบระหว่างฝ่ายจีนกับฝ่ายญี่ปุ่น จึงไม่หลงเหลือร่องรอยใดๆ ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

                    

——เรื่องราวของอุทยานตระกูลอู่และตระกูลผู้เป็นเจ้าของนั้น เป็นภาพสะท้อนความไม่จีรังของสรรพสิ่งในโลก จากความรุ่งเรืองก็มีอันพลิกผันไปสู่ตกต่ำ และที่สุดก็ล่มสลายไปในฝุ่นคลุ้งของกาลเวลา คงเหลือเพียงบันทึก ภาพถ่ายและภาพวาดบางส่วน ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการมีอยู่ของอุทยานอันหรูหราแห่งนี้เท่านั้น

 


อ้างอิง

  • Albert Smith . HOWQUA ‘ S GARDEN Near Canton , The Illustrated London News ( March 26th 1859 ) https://www.sohu.com/a/275220136_526351
  • JOSEPHA RICHARD.  UNCOVERING THE GARDEN OF THE RICHEST MAN ON EARTH IN NINETEENTH-CENTURY CANTON: HOWQUA’S GARDEN IN HONAM, CHINA.  Garden History, Vol. 43, No. 2 (WINTER 2015), pp. 168-181 (14 pages) http://ycp.ycwb.com/ycpFront/content/news_reading/2017041709570045809.html