—–ปกติเราเขียนและอ่านหนังสือจากทางซ้ายไปทางขวา แต่คนจีนในสมัยโบราณจะเขียนและอ่านหนังสือจากขวาไปซ้าย มีเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ 1. ลักษณะหนังสือของยุคโบราณ 2. วิธีการเขียนและอ่านหนังสือของคนยุคโบราณ  3. อักษรจีนในยุคแรกเริ่มมีลักษณะเป็นอักษรภาพ ซึ่งไม่ใช่การสะกดคำ

—–ในยุคก่อนที่จะมีการคิดค้นกระดาษขึ้นมา คนจีนมักจะบันทึกสัญลักษณ์ หรือลายลักษณ์อักษรต่างๆ ลงบนกระดูกสัตว์ กระดองเต่า โลหะ ก้อนหิน ฯลฯ และที่พบเห็นอย่างแพร่หลายก็คือแผ่นไม้ไผ่ เพราะจัดหาและแปรรูปได้ง่าย แผ่นไม้ไผ่จึงเป็นวัสดุสำคัญในการบันทึกอักษรของคนจีนในยุคโบราณ

—–หนังสือแบบเก่าแก่ที่สุดของจีน เรียกว่า เจี่ยนตู๋ (简牍) หรือ จู๋เจี่ยน (竹简) แปลว่าหนังสือแผ่นไม้ไผ่ หรือตำราม้วนไม้ไผ่ ดัดแปลงไม้ไผ่ให้เป็นแผ่นยาวและแคบในลักษณะเท่าๆ กัน นำมาบันทึกอักษรทีละแผ่นๆ เสร็จแล้วร้อยเชือกเรียงต่อๆ กัน ให้ออกมาเป็นหนังสือเป็นม้วนไม้ไผ่ มีต้นกำเนิดในราชวงศ์โจวตะวันตก (1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในช่วงสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก (770-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และค่อยๆ หายไปในยุคศตวรรษที่ 4

—–ถึงแม้ว่ามีการใช้กระดาษทดแทนแผ่นไม้ไผ่ แต่วิธีการเขียนอักษรและความเคยชินการอ่านหนังสือของคนจีนยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ชาวจีนไต้หวันยังคงนิยมเขียนอักษรเป็นแนวตั้งและเริ่มจากทางขวาไปทางซ้าย ส่วนคนจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปรับใช้วิธีการเขียนอักษรและการอ่านหนังสือจากทางซ้ายไปทางขวาตามแบบตะวันตก

 

เรื่องโดย ปรารถนา เอื้อวงศ์อารีย์