‘ฮก ลก ซิ่ว’ ตำนานสามเทพเจ้าจากดวงดาวบนฟ้า

เรื่องโดย หงส์ป่าและนกเขา


——ฮก ลก ซิ่ว’ (福祿壽) เป็นเทพเจ้าสามองค์ตามความเชื่อพื้นบ้านของชาวจีน แม้ว่าเทพทั้งสามไม่ได้มีศาลไว้สถิตโดยเฉพาะ แต่เราก็พบเห็นรูปปั้นฮกลกซิ่วได้ตามบ้านเรือนหรือร้านค้าในชุมชนชาวจีน (ไชน่าทาวน์) เกือบทุกแห่งทั่วโลก ถือว่าเป็นสัญลักษณ์มงคลที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตแบบจีน เชื่อกันว่าเทพทั้งสามสามารถบันดาลความสุข ความโชคดี ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ความมีอายุยืน และสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงให้แก่มนุษย์

——คำว่า ‘ฮก ลก ซิ่ว’ ออกเสียงตามชาวจีนแต้จิ๋วในสังคมไทย ภาษาจีนกลางอ่านว่า ‘ฝู ลู่ โซ่ว’ (福祿壽) ชาวจีนนิยมเรียกกันว่าฝูเสิน (福神 เทพเจ้าฝู) ลู่เสิน (祿神 เทพเจ้าลู่) โซ่วเสิน (壽神 เทพเจ้าโซ่ว) หรือ ‘ฝูซิง’ (福星 ดาวฝู) ลู่ซิง (祿星 ดาวลู่) โซ่วซิง (壽星 ดาวโซ่ว) สังเกตได้จากคำประกอบของชื่อเรียกเทพเจ้าฮกลกซิ่ว คนจีนใช้คำว่า ‘เสิน’ (神) แทนคำว่า ‘ซิง’ (星) เพื่อสื่อความหมายว่า ‘เทวดา’ หรือ ‘เทพเจ้า’ สะท้อนความเชื่อแบบลัทธิเต๋าของจีนสมัยโบราณที่มีการเคารพบูชาดวงดาวเป็นเทพเจ้า โดยเชื่อว่าดาวทุกดวงบนท้องฟ้าล้วนมีเทพเจ้าครองอยู่ เรียกว่าชิงจวิน (星君) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากตามความเชื่อพื้นบ้านของชาวจีน หลังสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) เทพเจ้าฮก เทพเจ้าลก และเทพเจ้าซิ่วมักได้รับการกล่าวขวัญร่วมกัน จึงเป็น ‘ฮก ลก ซิ่ว’ อย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้

——ชาวจีนสมัยโบราณเชื่อเรื่องการบูชาดวงดาว มีที่มาจากการสังเกตและอธิบายธรรมชาติในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้สรรพสิ่งบนโลกนี้ตามกลไกของธรรมชาติ ทำให้ชาวจีนได้บ่มเพาะความคิดอันเป็นรากฐานทางปรัชญาของตนมาช้านาน โดยมีลักษณะสำคัญอยู่ประการหนึ่ง ได้แก่ การประสานสอดคล้องระหว่างฟ้ากับมนุษย์ (天人感應) หรือฟ้าคนรวมเป็นหนึ่งเดียว (天人合一) ‘ฟ้า’ ในที่นี้รวมไปถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว และสรรพสิ่งตามธรรมชาติ

——กล่าวได้ว่าลัทธิเต๋าสะท้อนความคิดพื้นบ้านของชาวจีนสมัยโบราณอย่างถ่องแท้ สมัยนั้นการศึกษาวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับธรรมชาติยังล้าหลัง เมื่อพบเห็นดวงดาวบนท้องฟ้า ผู้คนมักมองด้วยความเกรงขาม และเกิดจินตนาการเกี่ยวกับพลังเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งวิเศษเหนือมนุษย์ จึงพากันกราบไหว้บูชาด้วยความกลัวและคาดหวังว่าจะได้รับการคุ้มครอง แต่เนื่องจากดวงดาวอยู่ไกลโพ้นและมีความลึกลับ ผู้คนจึงอุปโลกน์ให้เทพแห่งดวงดาวมีรูปลักษณ์และสีสันวรรณะเฉพาะตัวคล้ายกับมนุษย์ และกำหนดคุณสมบัติเอาตามความปรารถนา ให้สอดคล้องกับความเชื่อของแต่ละกลุ่มชนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างลัทธิเต๋า เทพสูงสุดตามความเชื่อในลัทธิเต๋า ได้แก่ ‘เทพเทียนกวน’ หรือ ‘เทพแห่งฟ้า’ (天官) ประทานความสุข, ‘เทพตี้กวน’ หรือ ‘เทพแห่งดิน’ (地官) ให้อภัยต่อบาป และ ‘เทพสุ่ยกวน’ หรือ ‘เทพแห่งน้ำ’ (水官) ช่วยให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ เทพเทียนกวนถือว่าครองใจผู้คนยิ่งกว่าเทพองค์ใด ถึงกับมีการกล่าวว่าแม้แต่พระจักรพรรดิก็เชื่อว่าเทพเทียนกวนประทานความสุข รับสั่งให้จัดพิธีบวงสรวงทุกปี ลัทธิเต๋าจึงส่งผลกระทบให้ภาพลักษณ์ของเทพแห่งดวงดาวเข้าไปอยู่ในชีวิตและจิตใจของผู้คน


เทพเจ้าฮก

——ในสมัยก่อนราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 8) มีศาลบูชาดวงดาวมากมายตั้งอยู่ที่รัฐยงโจว (雍州) หนึ่งในเก้ารัฐสำคัญของจีนสมัยโบราณ ในหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ ‘สื่อจี้ หมวดการบวงสรวง’《史記·封禪書》กล่าวว่า ‘ที่ยงโจว มีศาลบูชาดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ กลุ่มดาวนักษัตร 28 กลุ่ม… มีศาลกว่า 100 แห่ง’ ลัทธิเต๋าอ้างว่า ดวงดาวคือแก่นแท้ของสรรพสิ่ง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งปวง ล้วนมีเทพเจ้าประจำดวงดาว ต่างมีสถานะสูงส่ง ไม่ก้าวก่ายล่วงล้ำซึ่งกันและกัน ‘ฝูซิง’ (福星) หรือ ‘ฮก’ นั้นเกี่ยวโยงกับ ‘ดาวพฤหัสบดี’ (木星) ดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และมีชื่อเรียกกันหลากหลายตามความเชื่อ เช่น ‘ดาวซุ่ยซิง’ (歲星 ดาวอายุ) หรือ ‘ดาวฝูซิง’ (福星 ดาวความสุข) เชื่อกันว่า ผู้ซึ่งดาวพฤหัสบดีได้ตำแหน่งดีในดวงชะตากำเนิดคือผู้มีวาสนาและมีความสุข คนโบราณได้พิสูจน์และพบว่าการที่ดาวพฤหัสบดีใช้เวลาเดินรอบดวงอาทิตย์ถึง 12 ปี ส่งผลให้ภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญแก่การเกษตร ด้วยเหตุนี้บันทึกประวัติศาสตร์ทั้ง ‘สื่อจี้’ 《史記》 และ ‘ฮั่นซู’ 《漢書》จึงกล่าวว่าดาวซุ่ยซิงเป็นดาวแห่งเกษตรกรรม และยกให้อยู่ในตำแหน่งสูงส่ง

——คัมภีร์เสี่ยงทายห้าดวงดาว《五星占》เมื่อกว่าสองพันปีก่อนที่ค้นพบในสุสานหม่าหวังตุยสมัยฮั่น (馬王堆漢墓) ได้บันทึกถึงดาวพฤหัสบดีเอาไว้ และตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ผู้คนพากันเชื่อว่าดาวพฤหัสบดีเป็นดาวแห่งความสุข จึงกราบไหว้บูชาดาวพฤหัสบดี

——บันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้กล่าวถึงยุคฉินฮั่นเมื่อกว่าสองพันปีก่อน มีการสร้างศาลบูชาดาวซุ่ยซิง การบูชาดาวซุ่ยซิงได้ถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงปลายยุคชิง พระราชวังต้องห้ามเองก็มีตำหนักบูชาดาวซุ่ยซิงเช่นกัน เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง จักรพรรดิมีพระบัญชาให้จัดพิธีเซ่นไหว้ขอให้ดาวซุ่ยซิงประทานความสุขแก่ประชาราษฎร์ และความอุดมสมบูรณ์แก่พืชผลการเกษตร ด้วยเหตุนี้ในภายหลังจึงนิยมเรียกดาวซุ่ยซิงว่าดาวฝูซิงซึ่งหมายถึงดาวแห่งความสุข

——ในรัชสมัยจักรพรรดิถังเต๋อจง (唐德宗 ค.ศ. 742-805) ขุนนางหนุ่มผู้หนึ่งนามว่าหยางเฉิง (陽城) ขี่ม้าไปรับตำแหน่งผู้ตรวจการที่เต้าโจว (道州) บันทึก ‘ซินถังซู’ 《新唐書》 ระบุว่า เขาสอบได้บัณฑิตในสมัยนั้น ภารกิจแรกที่ทำคือยกเลิกประเพณีการส่งคนแคระเป็นบรรณาการให้วังหลวง ในสังคมระบบศักดินา ทุกปีเมื่อมีขุนนางเข้ารับตำแหน่งจะต้องถวายเครื่องบรรณาการของท้องถิ่นแด่พระจักรพรรดิ เรียกว่า เริ่นถู่ก้ง (任土貢) แต่ที่เต้าโจวไม่เหมือนที่อื่น นิยมถวายคนแคระแด่พระจักรพรรดิเพื่อให้ไปเป็นขันทีในวังหลวง

——หยางเฉิงที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ปลุกความหวังชาวบ้านทั่วไป เขาเสนอให้ยกเลิกธรรมเนียมการถวายคนแคระเป็นบรรณาการ ถึงกับเสี่ยงชีวิตเขียนจดหมายกราบทูลเบื้องบนเพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าว โดยระบุว่า ราชวงศ์ต่างๆ ในอดีตไม่มีข้อกำหนดให้ผู้น้อยส่งบรรณาการเป็นคนแคระมาก่อน ถึงแม้ที่เต้าโจวจะมีประชาชนที่เป็นคนแคระ แต่พวกเขาก็เป็นเพียงประชาชนที่ตัวเตี้ย ไม่ใช่ทาสที่ตัวเตี้ย และเต้าโจวก็มิได้มีคนแคระมากมายขนาดนั้น ผู้ตรวจการแต่ละรุ่นต้องไปบีบบังคับโสเภณีหรือเด็กที่มีร่างกายปกติแล้วขังไว้ในไห โผล่ออกมาแค่ศีรษะเพื่อกินข้าวกินน้ำ ใช้วิธีต่ำทรามเช่นนี้เพื่อให้ได้คนตัวเตี้ยไปถวายเป็นบรรณาการ

——ชาวบ้านพากันซาบซึ้งในตัวขุนนางผู้ช่วยขจัดความทุกข์ยากให้ จึงสร้างศาลไว้เพื่อสักการะบูชา ประกอบกับการที่แม่ลูกไม่ต้องพลัดพรากจากกัน ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หยางเฉิงจึงได้รับการยกย่องเป็นเทพแห่งความสุข (福神) และศาลหยางเฉิง (陽城廟) ก็มีสมญาว่า ศาลเทพแห่งความสุข (福神廟) หลังจากนั้น 500 ปีในสมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1206-1368) ภาพวาดหยางเฉิงเทพแห่งความสุข มีภาพลักษณ์อ่อนโยนใกล้เคียงกับที่ทุกคนเห็นในปัจจุบัน


เทพเจ้าลก

——ลู่ซิง’ (祿星) หรือ ‘ลก’ เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและความมั่งคั่ง มีที่มาจากเทพดวงดาวที่ชาวจีนนับถือเช่นเดียวกับเทพฮก ตำนานของเทพลกมีหลายเรื่อง บ้างว่ามาจากดาวเหวินชาง (文昌星) ช่วยส่งเสริมเรื่องการสอบ บ้างว่าเป็นนักพรตเต๋าผู้เก่งกาจในด้านการยิงธนู บ้างว่ามาจากเมิ่งฉ่าง (孟昶ค.ศ. 919-965) กษัตริย์ของอาณาจักรโฮ่วสู่ (後蜀 สู่ยุคหลัง) ในยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (五代十國) เพราะเป็นผู้องอาจกล้าหาญ เป็นที่ชื่นชมนับถือ นอกจากนี้ยังมีตำนานที่เกี่ยวโยงกับจางเซียน (張仙) ซึ่งผู้คนกราบไหว้ขอบุตรด้วย

——จางเซียนมีที่มาจากจางย่าจื่อ (張亞子) ผู้ได้รับการยกย่องเป็นเทพเมืองจื่อถง (梓潼神) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) และได้รับการขนานนามว่า ‘เหวินชางตี้จวิน’ (文昌帝君) หรือเทพบุ่นเซียงนั่นเอง

——จางย่าจื่อเดิมทีเป็นเทพในท้องถิ่น อันมีที่มามาจากบุคคลในประวัติศาสตร์ จางย่าจื่อเป็นชื่อรวมของคน 2 คน ได้แก่ จางอวี้ (張育) และย่าจื่อ (亞子) จางอวี้เป็นชาวแคว้นสู่ (蜀) ค.ศ. 374 ต่อสู้ในสงครามจนตัวตาย ชาวสู่จึงสร้างศาลจางอวี้ไว้ที่ภูเขาชีชวี (七曲山) เพื่อกราบไหว้บูชา แต่บริเวณภูเขาชีชวีได้มีศาลย่าจื่อซึ่งเป็นเทพท้องถิ่นอยู่แล้ว คนรุ่นหลังจึงเรียกชื่อศาลทั้งสองรวมกันเป็นจางย่าจื่อ คำว่าจางย่าจื่อจึงกลายเป็นเทพแห่งจื่อถงนับแต่นั้น

——ในช่วงที่เกิดกบฏอันชื่อ (安史之亂) สมัยราชวงศ์ถัง ชื่อเสียงของเทพจางย่าจื่อเป็นที่เลื่องลือขึ้นมาก เมื่อจักรพรรดิถังเสวียนจง (唐玄宗ค.ศ. 685-762) เสด็จหนีไปยังดินแดนสู่ได้ผ่านภูเขาชีชวี จึงจัดพิธีบูชาอย่างยิ่งใหญ่ กล่าวกันว่าขณะจักรพรรดิถังเสวียนจงประทับแรมที่ภูเขาชีชวี ทรงพระสุบินถึงเทพจางย่าจื่อ และตรัสว่าอีกไม่นานพระองค์จะเป็นไท่ซ่างหวง (太上皇 คำยกย่องพระบิดาของพระจักรพรรดิ) ภายหลังยังมีจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังอีกหลายพระองค์มาสักการะบูชาเทพจางย่าจื่อ ด้วยเหตุนี้จางย่าจื่อจึงมีชื่อเสียงระบือไปไกลทั่วแผ่นดินจีน จากเทพท้องถิ่นกลายเป็นเทพระดับชาติ


เทพจางเซียนธนูยิงขึ้นฟ้า

——ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ปัญญาชนนิยมกราบไหว้ดาวเหวินชางเพราะเชื่อว่าเป็นดาวแห่งความโชคดี ครั้งหนึ่ง ซูตงโพ (蘇東坡 ค.ศ. 1037-1101) และซูเจ๋อ (蘇轍 ค.ศ. 1039-1112) สองพี่น้องยอดกวีในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือเคยเดินทางไปสอบเข้ารับราชการ ก่อนที่สองพี่น้องจะเกิดนั้น ซูสวิน (蘇洵 ค.ศ. 1009-1066) ผู้เป็นบิดาเคยฝันเห็นเทพจางเซียน (張仙) ง้างคันธนูแล้วยิงขึ้นไปบนฟ้า 2 ดอก ซูสวินเข้าไปสอบถามด้วยความสงสัย แต่จางเซียนไม่ได้ตอบอะไรกลับหายตัวไปทันที เมื่อถึงวันที่ลูกชายทั้งสองไปสอบ เขาก็นึกขึ้นได้และเข้าใจความหมายโดยพลันว่าจางเซียนประทานบุตรชายทั้งสองให้ ซูสวินแต่งบทกวีที่โด่งดังอย่าง ‘บทสดุดีจางเซียน’ 《張仙贊》 เพื่อแสดงความสำนึกรู้คุณต่อจางเซียน


เทพเจ้าซิ่ว

——ดาวโซ่วซิง’ (壽星) หรือ ‘ดาวผู้สูงอายุ’ (老人星)[1] หรือ ‘ซิ่ว’ คือเทพเจ้าแห่งความมีอายุยืนตามความเชื่อของชาวจีน และเป็นหนึ่งในเทพของลัทธิเต๋า เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้สร้างศาลโซ่วซิงที่อำเภอตู้เซี่ยน (杜縣) ต่อมาโซ่วซิงกลายเป็นชื่อของเซียน มีภาพลักษณ์เป็นชายชราไว้เคราสีขาว ถือไม้เท้า หน้าผากโหนกนูน เทพโซ่วซิงสวมชุดธรรมดา ท่าทางใจดีมีเมตตา น่านับถือ แต่ในสมัยโบราณเทพโซ่วซิงถือว่าทรงเกียรติคุณสูงส่ง น่าเกรงขาม

——หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ ‘สื่อจี้ หมวดตำหนักสวรรค์’《史記·天官書》ระบุว่า จิ๋นซีฮ่องเต้มีรับสั่งให้สร้างศาลบูชาดาวโซ่วซิงที่เมืองเสียนหยาง (咸陽) เพื่อประดิษฐานดาวอายุยืน เป็นที่รู้กันว่า พระองค์ทรงปรารถนาชีวิตอันเป็นอมตะ และหมกมุ่นถึงกับออกราชโองการให้ตามหายาอายุวัฒนะ เพื่อที่จะครองอำนาจนิรันดร์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

——ความปรารถนาของคนทั่วไปที่ขอให้ตนมีอายุยืนนั้น ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองในสังคมศักดินายุคเก่า และนำมาประยุกต์ใช้เป็นกุศโลบายทางการเมืองเพื่อปกครองแผ่นดิน สังเกตได้จากไม้เท้าที่อยู่ในมือของเทพเจ้าโซ่ว ‘หนังสือฮั่นซู หมวดพิธีกรรม’ 《漢書·禮儀志》บันทึกว่า ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ (漢明帝 ค.ศ. 28-75) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ค.ศ. 25-220) ทรงเป็นประธานในพิธีบูชาเทพเจ้าโซ่วซิง จัดงานเลี้ยงยิ่งใหญ่อลังการเพื่อเชื้อเชิญผู้สูงอายุทั่วแผ่นดินจีนมาร่วมงาน ราษฎรคนใดอายุครบเจ็ดสิบก็มีสิทธิ์ร่วมงานและได้รับไม้เท้าที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตจากจักรพรรดิ ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรเกิดความจงรักภักดี

——หลังสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้น ภาพลักษณ์ไม้เท้าของโซ่วซิงได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นกุศโลบายในการปกครองบ้านเมืองคือแกะสลักอย่างประณีตตามแบบที่จักรพรรดิกำหนด ก็ถูกแทนที่ด้วยไม้เท้าที่ทำจากต้นท้อซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลด้านสุขภาพ ว่ากันว่าไม้จากต้นท้อสามารถป้องกันและรักษาโรค เสริมสร้างสุขภาพร่างกายทำให้อายุยืน โซ่วซิงจึงกลายเป็นเทพเจ้าธรรมดาที่ผู้คนเคารพนับถือโดยปราศจากนัยทางการเมืองนับแต่นั้นมา

——นอกจากนี้ยังมีเทพอายุยืนนามว่า เทพเผิ่งจู่ (彭祖) เป็นเทวดาในลัทธิเต๋า เป็นหนึ่งในกษัตริย์ตามตำนานปรัมปราจีนยุคแรกเริ่ม เทพเผิ่งจู่เลื่องชื่อในเรื่องความมีอายุยืน บ้างว่ามีอายุยั่งยืนถึง 880 ปี บ้างก็ว่าตัวจริงมีอายุ 120 ปี เล่ากันว่าตอนท่านรับตำแหน่งขุนนางแห่งยุคยิน (殷 ราว 1300-1046 ก่อนคริสต์ศักราช) นั้นมีอายุกว่า 700 ปีแล้ว แต่ดลับไม่แสดงอาการชราภาพเลย ตลอดชีวิตของท่านมีภรรยา 49 คน และบุตร 54 คน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรจีน การปรุงยาบำรุง การฝึกฝนพลังปราณ และ ‘กามศิลป์ในห้องหอ‘ (房中術) หลังจากถ่ายทอดวิชาให้แก่กษัตริย์และลูกศิษย์แล้ว ลือกันว่าท่านได้กลายเป็นเซียนและบรรลุความเป็นอมตะ

——ภาพลักษณ์ของเทพเจ้าฮกลกซิ่วที่ปรากฏในงานประติมากรรมและภาพวาดมงคลฉลองตรุษจีนแบบดั้งเดิมนั้นมีความภูมิฐาน สอดคล้องกับแบบแผนความเชื่อของชาวจีน ถือเป็นสัญลักษณ์แทนความสุข ความมั่งคั่ง และความเป็นมงคล พร้อมที่จะประทานสิ่งดีๆ ตามที่มนุษย์ปรารถนาในชีวิต เช่น เทพเจ้าซิ่วมือหนึ่งถือไม้เท้าและมืออีกข้างหนึ่งถือลูกท้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน เทพเจ้าฮกแต่งกายและสวมหมวกแบบขุนนางข้าราชการจีนโบราณ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง เทพเจ้าลกมักอุ้มเด็กไว้ในมือ อำนวยพรเรื่องบุตรและช่วยให้การงานก้าวหน้ารุ่งเรือง จึงเป็นที่นิยมเคารพบูชาของชาวจีนเรื่อยมาตลอดเวลาหลายพันปี


[1] ในทางดาราศาสตร์คือ ดาวคาโนปัส (Canopus) เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลก 312.73 ปีแสง