——การมัดเท้า (缠足) เป็นประเพณีแปลกประหลาดที่ปรากฏในสังคมจีนครั้งอดีต เป็นการใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมพันเท้าผู้หญิง มัดให้แน่นไว้เป็นเวลานานจนเท้าค่อยๆ บิดงอได้รูปทรงตามที่ต้องการ และเล็กลงเป็นรูปสามเหลี่ยม คนส่วนใหญ่เลือกมัดเท้าตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของเท้า โดยทั่วไปเริ่มผูกรัดเท้าเด็กผู้หญิงตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ กระทั่งโตขึ้นจนกระดูกคงตัวจึงปลดผ้าออก แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ใช้ผ้ามัดเท้าไว้ตลอดชีวิต

ภาพเอ๊กซเรย์กระดูกเท้าผิดรูป

 

ที่มาของการมัดเท้า

——มีการสืบค้นและกล่าวถึงต้นกำเนิดของการมัดเท้าแตกต่างกัน บ้างก็อ้างอิงตำนานพื้นบ้านและย้อนเวลาไปหลายพันปี เช่น สมัยราชวงศ์เซี่ย (夏 2070-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และราชวงศ์ซาง (商 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งห่างจากปัจจุบันราวสี่พันปี เล่ากันว่า ‘อวี่’ (禹) ผู้สถาปนาราชวงค์เซี่ยได้แต่งตั้งนางถูซาน (塗山氏) เป็นฮองเฮา นางผู้นี้เดิมทีคือสุนัขจิ้งจอกที่แปลงตัวเป็นมนุษย์ จึงมีเท้าขนาดเล็กมาก ตำนานพื้นบ้านอีกเรื่องเล่าว่า ‘ต๋าจี่’ (妲己) พระสนมคนโปรดของโจ้วหวัง (紂王) ที่แท้คือปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง สามารถจำแลงเป็นมนุษย์ได้ แต่นางละทิ้งการบำเพ็ญตบะกลางคันจนไม่อาจเปลี่ยนเท้าของตัวเองให้กลับคืนเป็นเฉกเช่นมนุษย์ได้ จึงจำต้องใช้ผ้าห่อหุ้มปกปิดเท้า

 

บุคคลมีชื่อเสียงที่มัดเท้า

——บ้างก็สืบค้นจากภาพวาดโบราณหรือประติมากรรมเพื่อพิสูจน์ว่าในสมัยชุนชิวจ้านกั๋ว (春秋战国 770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีผู้หญิงมัดเท้าที่โด่งดังอยู่หลายคน เช่น มารดาของ ‘เหล่าไหลจื่อ’ (老萊子 ราว 599-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา ภรรยาของเจิงเซิน (曾參 505-435 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักปรัชญายอดกตัญญูในสำนักขงจื่อ รวมทั้งไซซี (西施) สาวแคว้นเย่ว์ผู้เลอโฉม ที่มาของสำนวน ‘งามจนมัจฉาจมวารี’ (沉魚之美) เป็นการเปรียบเทียบว่าพอปลาได้ยลโฉมถึงกับจมน้ำ (มองตะลึงลานจนลืมว่ายน้ำ) นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึงจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇帝 260–210 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้สถาปนาราชวงศ์ฉินอันเป็นราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีน กล่าวกันว่าพระองค์โปรดปรานผู้หญิงเท้าเล็ก ถึงกับรับสั่งให้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติตามมาตรฐานของการคัดเลือกนางในเข้าวัง

ภาพวาดไซซี

 

ขุดค้นประวัติศาสตร์

——เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าการมัดเท้าไม่ใช่ประเพณีนิยมดั้งเดิมของสังคมจีน จากการขุดค้นพบศพหญิงสาวสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 25) ที่สุสานหม่าหวางตุย (馬王堆) และศพไม่เน่าเปื่อยของหญิงสาวที่ซินเจียง (新疆) ล้วนเป็นศพที่มีเท้าใหญ่ และไม่ได้มีร่องรอยของการมัดเท้า ถ้าเช่นนั้น ประเพณีการมัดเท้าที่แท้จริงเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใด?

——แม้ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในเรื่องนี้ แต่นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ธรรมเนียมการมัดเท้าในสังคมจีนมีมากว่าหนึ่งพันปี เริ่มแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) ต่อเนื่องจนถึงปลายสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1912)

 

การมัดเท้าของหญิงสามัญ

——หากไม่นับบุคคลในตํานานหรือเรื่องปรัมปราซึ่งพิสูจน์ตัวตนได้ยาก ผู้หญิงทั่วไปที่มัดเท้าเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960-1127) ตามที่เซ่าป๋อเวิน (邵伯溫 ค.ศ. 1057-1134) บัณฑิตในยุคนั้นบันทึกไว้ในหนังสือ ‘เหวินเจี้ยนลู่’ (聞見錄) ได้กล่าวถึงเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งว่า วันหนึ่ง บรรณารักษ์หลวงหันเหวย (韓維 ค.ศ. 1017-1098) ขุนนางคนสนิทของจักรพรรดิซ่งเสินจง (宋神宗 ค.ศ. 1048-1085) กำลังเข้าเฝ้า ระหว่างนั้นพบเห็นนางกำนัลนำรองเท้าจิ๋วมาถวาย จึงติงว่า ‘ไฉนพระองค์ต้องทรงใช้รองเท้าเต้นรำด้วยเล่า’ (王安用舞靴?) จักรพรรดิซ่งเสินจงจึงรับสั่งให้นำไปทำลายทิ้งเสีย ‘舞靴’ ในที่นี้ก็คือ ‘รองเท้าสำหรับการเต้นรำ

รองเท้าจิ๋ว

——สมัยราชวงศ์ชิงมีบัณฑิตนามหยวนเหมย (袁枚 ค.ศ. 1716-1797) วิเคราะห์เรื่องการมัดเท้าและอ้างอิงถึงยุคจักรพรรดิซ่งเสินจงว่า “สมัยนั้นผู้หญิงยังไม่ได้สวมรองเท้าเล็กในชีวิตประจำวัน นอกจากเวลาเต้นรำ” จึงมีผู้สันนิษฐานว่า การมัดเท้าในเบื้องต้นเกิดขึ้นจากความประสงค์ของเหล่านางรำในราชสำนัก เพื่อช่วยเสริมท่ารำให้ดูอ่อนช้อย ภายหลังเริ่มนิยมกันในหมู่ผู้หญิงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งปรารถนาจะเยื้องกรายอย่างแช่มช้า แลดูมีเสน่ห์น่าเอ็นดู อาทิ นางสนมในพระราชวัง นางบำเรอภายในบ้านของเหล่าขุนนาง คณิกาหรือหญิงงามเมืองตามสถานค้าประเวณี ฯลฯ

 

กรอบความคิดแห่งพันธนาการ

——หลักความประพฤติซึ่งคนกลุ่มหนึ่งกำหนดขึ้นได้แผ่อิทธิพลต่อสังคม เป้าหมายกลุ่มแรกคือผู้หญิงที่เกิดในครอบครัวฐานะดี ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานใดๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงกลุ่มนี้อาจมีโอกาสเล่าเรียนหนังสือ แต่ไม่อาจแสดงบทบาทใดๆ ทางสังคม ด้วยเหตุที่สมัยโบราณผู้ชายมีสิทธิและศักดิ์ศรีเหนือกว่าผู้หญิง คนส่วนใหญ่ซึมซับคติธรรม ‘สามคล้อยตามสี่จรรยา’ (三從四德) อันเป็นหนึ่งในหลักมาตรฐานทางจริยธรรมของชาวจีนในยุคศักดินา ซึ่งยังผลให้จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงเป็นอย่างมาก

สาระสำคัญของคติธรรม ‘สามคล้อยตาม’ (三从) ประกอบด้วย

  1. 未嫁从父 แปลว่า ก่อนออกเรือนให้คล้อยตามบิดา หมายถึง ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานให้เชื่อฟังและพึ่งพาอาศัยบิดาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
  2. 既嫁从夫 แปลว่า หลังออกเรือนให้คล้อยตามสามี หมายถึง ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วให้เชื่อฟังและพึ่งพาอาศัยสามีเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
  3. 夫死从子 แปลว่า สามีเสียชีวิตให้คล้อยตามบุตรชาย หมายถึง หลังจากสามีเสียชีวิตแล้วให้ผู้หญิงเชื่อฟังและพึ่งพาอาศัยบุตรชายเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

ส่วน ‘สี่จรรยา’ (四德) ประกอบด้วยคุณสมบัติซึ่งผู้หญิงพึงมี 4 ประการ ได้แก่

  1. 妇德 แปลว่า คุณธรรมของสตรี เน้นที่ประพฤติดี รู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตัว ปฏิบัติตนตามประเพณีอันดีงาม
  2. 妇言 แปลว่า วาจาของสตรี เน้นที่ปิยวาจา พูดจาสุภาพไพเราะและรู้จักกาลเทศะ รวมถึงไม่พูดคำเท็จ คำนินทา คำด่าทอ คำเพ้อเจ้อ คำยุแยง ฯลฯ
  3. 妇容 แปลว่า รูปโฉมของสตรี เน้นที่เนื้อตัวผมเผ้าสะอาดสะอ้าน สวมเสื้อผ้าสุภาพเรียบร้อย ไม่มอมแมม หรือส่งกลิ่นเหม็น
  4. 妇功 แปลว่า การบ้านการเรือนของสตรี เน้นที่ความชํานาญเรื่องงานบ้าน งานครัว งานเย็บปักถักร้อย และการปรนนิบัติ รู้จักเอาใจใส่ดูแลคอยรับใช้สมาชิกในครอบครัวสามี รวมทั้งเพื่อนฝูงของสามี

ภาพวาดสตรีจีนโบราณคอยปรนนิบัติสามี

——ความคิดและการกระทำเหล่านี้เมื่อส่งผลต่อสังคมระดับรากหญ้าก็ถูกนำไปตีความแบบเหมารวมว่า ผู้หญิงประพฤติดี พูดจาดี แต่งตัวดีหรือทำตนเป็นแม่ศรีเรือนก็เพื่อเอาใจผู้ชาย ดั่งสำนวนชาวบ้านที่เล่ากันว่า ผู้หญิงแต่งตัวงามก็เพื่อชายที่ตนรัก (女為悅己者容) หรือผู้หญิงไร้ความสามารถถือว่ามีคุณธรรม (女子無才便是德) ในเมื่อผู้ชายชื่นชอบสิ่งใด ผู้หญิงก็ยินดีที่จะคล้อยตามหรือปฏิบัติรับใช้ จะด้วยเหตุผลเพื่ออยู่รอด เอาใจ หรือเพื่อเอาชนะก็ตาม ซ้ำร้ายกลุ่มกวีหรือเหล่าบัณฑิต ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชายยังช่วงสร้างค่านิยมที่ผิดเพี้ยนด้วย เมื่อผู้หญิงถูกชักจูงให้คิดและเชื่อตามกระแสสังคมอย่างนั้น จิตสำนึกการแสวงหาตัวตนและเรียกร้องสถานภาพทางสังคมก็ถูกบั่นทอน เป็นการเปิดช่องโหว่ ทำให้การมัดเท้าค่อยๆ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายโดยทั่วไป จนกลายเป็นขนบประเพณีหรือแบบแผนที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋ค.ศ.1127-ค.ศ.1279) โดยมีหลักฐานยืนยันหลายอย่างทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ บทกลอน และภาพวาดยุคซ่ง เป็นต้น

——ในหนังสือบันทึกเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่อง ‘หนันชุนชั่วเกิงลู่’ (南村輟耕錄) ซึ่งรวบรวมโดยเถาจงอี๋ (陶宗儀) มีข้อความอ้างถึงการมัดเท้าของผู้หญิงว่า “ก่อนรัชศกหยวนเฟิง (元豐 ค.ศ. 1078-1085) แห่งราชวงศ์ซ่ง ความนิยมมัดเท้ายังมีไม่มาก พอถึงปลายราชวงศ์ซ่งจึงเกิดสำนึกละอายใจต่อเท้าใหญ่ (元豐以前猶少裹足,宋末遂以大足為恥。)” ขณะเดียวกัน นักโบราณคดีก็ได้ค้นพบรองเท้าผู้หญิงขนาดเล็กจากสุสานยุคซ่งเพิ่มขึ้น เช่น รองเท้าผู้หญิงขนาดเล็กหกคู่ จากหลุมฝังศพของหวงเซิง (黄升) ในเมืองฝูโจว (福州) คู่หนึ่งสวมบนเท้าของผู้ตาย อีกห้าคู่ถูกฝังร่วมกัน ความยาวเฉลี่ย 13.3-14 ซม. และความกว้าง 4.4-5 ซม. ที่เท้าของผู้ตายมีผ้ายาว 210 ซม. พันอยู่ นี่คือการมัดเท้าแบบค่อนข้างมาตรฐาน ซึ่งคล้ายกับการมัดเท้าของราชวงศ์หมิงและชิงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันยังค้นพบหลักฐานการมัดเท้าของผู้หญิงจากสุสานตระกูลโจวยุคราชวงศ์ซ่งใต้ในพื้นที่เต๋ออาน มณฑลเจียงซี (江西德安南宋周氏墓) และหลุมฝังศพของบุคคลนิรนามในพื้นที่เกาฉุน มณฑลเจียงซู (江蘇高淳無名氏墓) ด้วย

รองเท้าที่ขุดค้นพบในมณฑลเจียงซี

 

——ความนิยมด้านการมัดเท้าที่เกิดขึ้นในระยะเวลากว่าสามร้อยปีแห่งยุคซ่งนี้ ถือเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าประเพณีการมัดเท้าได้ก่อตัวขึ้นในยุคนี้ แต่ถ้าวิเคราะห์จากมุมมองของรสนิยมด้านความสวยงามก็จะเห็นว่าผู้ชายมีบทบาทนิยามความงามของผู้หญิงตามแบบสังคมชายเป็นใหญ่มานานนับพันปี โดยกำหนดมายาคติความงามที่มีลักษณะตีกรอบ ด้วยวิธีการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์สรรเสริญความงามของหญิงสาวเท้าเล็กให้พร้อมด้วยความเย้ายวนชวนลุ่มหลงปรารถนา หรือแต่งเสริมตัวละครผู้หญิงในนิทานเรื่องเล่าให้มีสีสันและสอดคล้องกับแบบอย่างตามค่านิยมที่สังคมยกย่อง เช่น มารดาของเหล่าไหลจื่อ หรือ ภรรยาของเจิงเซิน ซึ่งเป็นบุคคลตัวอย่างเรื่องความกตัญญู จนทำให้ผู้หญิงต้องอยู่ในจารีตประเพณีอันเปรียบดั่งถูกรัดด้วยเงื่อนพันธนาการโดยไม่รู้ตัว

——หลังจากสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) แผ่นดินจีนเกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ ในบันทึกประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า ‘ห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร’ (五代十國) ในช่วงนั้นราชวงศ์ถังใต้มีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า หลี่โฮ่วจู่ (李後主 ค.ศ. 937-978) พระองค์โปรดการทรงพระอักษรและการอ่านหนังสือ มีพระปรีชาด้านอักษรศาสตร์และจิตรกรรม แต่กลับขาดความสามารถด้านการบริหารปกครอง พระองค์ทรงมีพระสนมนางหนึ่งชื่อเหย่าเหนียง (窅娘) ซึ่งเต้นรําอ่อนช้อยงดงาม นางใช้ผ้าพันเท้าไว้ เท้าของนางเล็กและโค้งดั่งพระจันทร์เสี้ยว เยื้องกรายดุจเทพธิดา กษัตริย์โฮ่วจู่โปรดปรานนางเป็นอันมาก คนในสมัยต่อมาจึงใช้คําว่า ‘บัวทองสามนิ้ว’ (三寸金蓮) เพื่อบรรยายเท้าเล็กๆ ของหญิงสาว ครั้นถึงยุคซ่ง เหล่าขุนนางของราชสำนักซ่งเสินจงและซ่งเจ๋อจง (宋哲宗 ค.ศ.1077-1100) ถึงกับยกย่องสรรเสริญความงามของเท้าเล็ก โดยเปรียบ ‘จินเหลียน’ กับดอกโบตั๋นของเมืองลั่วหยางที่ดูสมบูรณ์สง่างาม (อ่านต่อตอนที่ 2)

เท้ารูปดอกบัวของสตรีสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อเทียบกับเท้าของคนปกติ

 

เรื่องโดย หงส์ป่า