ภาษาถิ่นจีนที่เข้าใจยาก

เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์


 

——จีนเป็นประเทศซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรราว 1.4 พันล้านคน ส่งผลให้แต่ละภูมิภาคมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมทั้งประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ความแตกต่างของแต่ละภูมิภาคยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษาเล่าเรียน และภาษาถิ่น

——ปัจจุบันภาษากลางที่ใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วประเทศจีนคือภาษาจีนกลาง (Mandarin Chinese) ถือเป็น 1 ใน 6 ภาษาราชการของสหประชาชาติ มีผู้ใช้ราว 1 พันล้านคนทั่วโลก นอกจากภาษาจีนกลางแล้วยังมีภาษาถิ่นจีนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และในอีกหลายประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ ภาษาถิ่นจีนบางภาษามีส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่บางภาษาก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

——อาศรมสยาม-จีนวิทยา ขอนำเสนอภาษาถิ่นจีนซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไปว่ายากต่อการศึกษา การออกเสียง และการจับใจความ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ใช้เป็นภาษาแม่มาตั้งแต่กำเนิด เหตุใดภาษาเหล่านี้จึงมีความยุ่งยากเหนือภาษาอื่น บางภาษาแม้แต่คนท้องถิ่นเองก็ยังสื่อสารไม่ค่อยเข้าใจนัก

 

ภาษาเวินโจว (溫州話)

——ภาษาเวินโจวเป็นภาษาที่นิยมใช้ในหมู่ชาวฮั่นในเมืองเวินโจว (溫州市) และเมืองเลียบทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณ 5 ล้านคน ภาษาเวินโจวเป็นภาษาย่อยของกลุ่มภาษาอู๋ มีความแตกต่างกับภาษาจีนกลางอย่างมาก ทั้งด้านการออกเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์ นอกจากนี้ยังมีวรรณยุกต์ถึง 8 เสียง ภาษาเวินโจวขึ้นชื่อเรื่องความยากและซับซ้อน ถึงกับมีคำกล่าวว่า ‘ไม่กลัวฟ้า ไม่กลัวดิน กลัวแค่คนเวินโจวพูดภาษาบ้าๆ’ (天不怕地不怕,就怕溫州人說鬼話)

——คำศัพท์ของภาษาเวินโจวค่อนข้างโบราณ เมื่อสืบค้นลงไปในรายละเอียด จะพบว่าส่วนใหญ่มีที่มาจากภาษาถิ่นแถบเจียงตง (江東方言) ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตะวันออกของแม่น้ำฉางเจียง (長江) เนื่องจากมีการอพยพหลายครั้ง โดยเฉพาะภายหลังราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ. 1127-1279) ย้ายเมืองหลวงมาที่หลินอันฝู่ (臨安府 บริเวณหางโจวในปัจจุบัน) ชาวฮั่นในเมืองเวินโจวจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวฮั่นนำเอาวัฒนธรรมฮั่นแบบดั้งเดิมจากแถบจงหยวน (中原) มาผสมผสานกับภาษาถิ่นพื้นที่โอวเยว่ (甌越) ภาษาถิ่นจงหยวนจึงยังเหลือร่องรอยอยู่ในภาษาเวินโจว ส่งผลให้ภาษาเวินโจวปัจจุบันบางคำอ่านออกเสียงได้หลายเสียง ภาษาเวินโจวในสมัยราชวงศ์ซ่งคล้ายคลึงกับปัจจุบันอย่างมาก ในขณะที่ภาษาจีนทางเหนือเกิดการเปลี่ยนแปลงไปหลายต่อหลายครั้ง แต่ภาษาเวินโจวยังคงรักษารูปแบบภาษาโบราณเอาไว้ ปัจจุบันหากใช้ภาษาเวินโจวอ่านบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) จะฟังดูสัมผัสคล้องจองและไพเราะกว่าใช้ภาษาจีนกลาง

——ด้วยภูมิประเทศที่ผิดแผกกัน ภาษาเวินโจวจึงมีลักษณะแตกต่างกันตามท้องที่ การผสมผสานกับภาษาเยว่โบราณ (古越語) ภาษาฮั่นโบราณ (古漢語) และภาษาฮกเกี้ยน (福建話) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาษาเวินโจวยากแก่การเข้าใจ นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่าเพราะการคมนาคมของเมืองเวินโจวสมัยโบราณถูกปิดกั้น จึงรักษาภาษาโบราณได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ปัจจุบันภาษาเวินโจวค่อยๆ ถูกภาษาจีนกลางกลืน เช่นคำสรรพนาม ในอดีตภาษาเวินโจวแยกคำเรียกย่าและยายต่างหาก แต่ในปัจจุบันใช้คำว่า ‘奶奶’ เรียกทั้งย่าและยาย และออกเสียงเช่นเดียวกับภาษาจีนกลางด้วย

——ในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (中國抗日戰爭 ค.ศ. 1931-1937) ทหารกองพลที่แปด (八路軍) ต้องรักษาความลับสุดยอดเมื่อจะติดต่อสื่อสารกัน จึงใช้วิธีให้ชาวเวินโจว 2 คน ทำหน้าที่ติดต่อกันทางโทรศัพท์หรือวิทยุสื่อสาร ซึ่งหน่วยสืบราชการลับของญี่ปุ่นแปลภาษาเวินโจวไม่ออก ด้วยเหตุนี้ชาวเวินโจวในสมัยนั้นจึงมีคุณูปการอย่างยิ่งในด้านการทหารและความมั่นคง

ทหารกองพลที่แปด

——ค.ศ. 1979 ภาษาเวินโจวสร้างผลงานอีกครั้งในสงครามจีน-เวียดนาม ช่วงเวลานั้นกองทัพเวียดนามมีทหารสายลับจำนวนมาก กองทัพจีนที่ใช้ภาษาจีนกลางและภาษากวางตุ้งสื่อสารกันจึงถูกสอดแนมล้วงข้อมูลและแปลความหมายได้อย่างง่ายดาย ต่อมาเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเผชิญหน้ากัน กองทัพจีนวางแผนให้ใช้ภาษาเวินโจวสื่อสาร มีการเปลี่ยนผู้สื่อสารของกองทัพเป็นชาวเวินโจว จนสุดท้ายจีนมีชัยชนะในสงครามครั้งนี้ เมื่อสงครามยุติ กองทัพป่าวประกาศยกย่องภาษาเวินโจวที่ช่วยรักษาความลับได้อย่างดีเยี่ยม

——แม้แต่ในต่างประเทศก็มีการพูดถึงความยากของภาษาเวินโจว ซีรี่ส์อเมริกาเรื่อง ‘สาวรอยสัก กับดักมรณะ’ (Blindspot) เคยกล่าวถึงความยากของภาษาเวินโจวโดยเรียกว่าเป็น ‘ภาษาปีศาจ’ อันที่จริงภาษาเวินโจวแพร่หลายพร้อมกับชาวเวินโจวที่อพยพไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีถนนสายหนึ่งชื่อ ‘ถนนเวินโจว’ มีความยาวถึง 3 กิโลเมตร นอกจากนี้เรายังได้ยินภาษาเวินโจวอีกในไชน่าทาวน์ นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา, จัตุรัสโรมัน ประเทศอิตาลี หรือท่าเรืออัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ไชน่าทาวน์ นิวยอร์ค

——หากชาวจีนได้ยินภาษาเวินโจวในต่างประเทศ ก็อุ่นใจได้ว่าพวกเขาจะหาที่พักและอาหารได้อย่างแน่นอน เนื่องจากชาวเวินโจวมีนิสัยตรงไปตรงมาและเป็นมิตรต่อผู้มาเยือน นักเขียนชาวจีนชื่อดังอย่างเย่หย่งเลี่ย (葉永烈) เคยบรรยายประสบการณ์ของตนเองในต่างประเทศไว้มากมาย เช่นเรื่องที่เขากับภรรยาไปที่ไชน่าทาวน์นิวยอร์คในเช้าวันคริสต์มาส เขาได้ยินเถ้าแก่เนี้ยร้านชำพูดภาษาเวินโจวกับวัยรุ่นคนหนึ่ง เย่หย่งเลี่ยจึงทักทายเป็นภาษาเวินโจวกับเถ้าแก่เนี้ย เธอยิ้มอย่างเบิกบานทันทีพลางพูดว่า “โอ้ คุณก็เป็นคนเวินโจวเหรอ มาๆๆ เข้ามานั่งก่อน” หลังจากนั้นเธอก็แนะนำเพื่อนบ้านหลังติดกัน เพื่อนบ้านหลังถัดไป และเพื่อนบ้านหลังถัดไปอีกสองหลัง ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวเวินโจว คืนนั้นเย่หย่งเลี่ยกับภรรยาไปบ้านญาติเพื่อฉลองวันคริสต์มาส มีคนเวินโจวนับสิบคนมาร่วมฉลองด้วย พวกเขาไม่พูดภาษาอังกฤษ ไม่พูดภาษาจีนกลาง พูดแต่ภาษาเวินโจวกัน

 

ภาษาแต้จิ๋ว (潮州話)

——ผู้ใช้ภาษาแต้จิ๋วกระจายกันอยู่ทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง (廣東省) บริเวณเมืองที่ติดทะเลจีนใต้ ทั้งเมืองแต้จิ๋ว (潮州市) เมืองเจียหยาง (揭陽市) เมืองซัวเถา (汕頭市) และอำเภอเฟิงซุ่น (豐順縣) นอกจากนี้ชาวแต้จิ๋วยังกระจายกันอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษาแต้จิ๋วทั่วโลกมากกว่า 12 ล้านคน

พจนานุกรมแต้จิ๋ว

——ภาษาแต้จิ๋วมีไวยากรณ์และการออกเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งมีคำศัพท์จำนวนมาก กล่าวกันว่าในอดีตภาษาแต้จิ๋วมีเสียงวรรณยุกต์ 16 เสียง ปัจจุบันคงใช้เพียง 8 เสียง จึงถือว่ามีการออกเสียงที่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับภาษาจีนกลาง ภาษาแต้จิ๋วยังมีสำเนียงแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ เช่น เจียหยาง (揭阳 เก๊กเอี๊ย) เฉาอัน (潮安 เตี่ยอัง) เฉิงไห่ (澄海 เถ่งไฮ่) ซัวบ้วย (汕尾 ซ่านเหว่ย) ฯลฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชาวต่างชาติจะเรียนภาษาแต้จิ๋ว ภาษาแต้จิ๋วยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ตัวอักษร 1 ตัวแปลได้หลากหลายนัย เช่น คำว่า ‘食’ มีความหมายมากมายทั้ง ดื่ม (喝) กิน (吃) ดูด,สูบ (吮) สูบ (吸) แทะ (啃) รวมทั้งมีการผันเสียงที่ยุ่งยาก เช่น เจี๊ยะ/เจียะ, เจ๊ก/เจ็ก ฯลฯ

——ภาษาแต้จิ๋วถือเป็นภาษาที่วิจิตรพิสดาร ดึงดูดความสนใจของนักภาษาศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศจีนมาตั้งแต่อดีต มีผู้วิจัยภาษาแต้จิ๋วจำนวนมาก เกิดเป็นงานวิจัย งานประพันธ์ พจนานุกรม ฯลฯ จำนวนมหาศาล

——ในอดีตจังหวัดแต้จิ๋วมีทั้งหมด 9 อำเภอ มีคำกล่าวว่า ‘แต้จิ๋ว 9 อำเภอ แต่ละอำเภอมีสำเนียง (ของตัวเอง)’ (潮州九縣,縣縣有語) ซึ่งหมายถึงภาษาแต้จิ๋วในแต่ละอำเภอล้วนแตกต่างกัน ด้วยความยากและซับซ้อนจึงมีการใช้ภาษาแต้จิ๋วในสงครามเช่นเดียวกับภาษาเวินโจว เมื่อคราวสงครามเวียดนาม (越南戰爭 ค.ศ. 1955-1975) ขณะนั้นจีนสนับสนุนเวียดนามเหนือ และให้ทหารจีนใช้ภาษาแต้จิ๋วสื่อสาร จนทหารสหรัฐฯ ไม่อาจล่วงรู้ความลับได้

 

ภาษากวางตุ้ง (粵語)

——ผู้ใช้ภาษากวางตุ้งกระจายกันอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง (廣東) มณฑลกวางสี (廣西) เกาะฮ่องกง (香港) มาเก๊า (澳門) และไหหลำ (海南) รวมถึงชาวจีนในต่างประเทศ ทั้งอเมริกา แคนาดา มาเลเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย ฯลฯ ปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษากวางตุ้งทั่วโลกมากกว่า 120 ล้านคน

——ภาษากวางตุ้งสืบทอดลักษณะเฉพาะของภาษาจีนโบราณมาค่อนข้างสมบูรณ์ ในแวดวงวิชาการนอกจากภาษาจีนกลางแล้ว นักวิชาการในมหาวิทยาลัยทั่วโลกนิยมศึกษาและวิจัยภาษากวางตุ้ง การออกเสียงภาษากวางตุ้งเป็นจังหวะจะโคน มีเสียงสูงต่ำ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังร้องเพลง แต่หากไม่ใช่คนท้องถิ่น ก็ฟังเข้าใจได้ยาก คำศัพท์ภาษากวางตุ้งหลายคำต่างจากภาษาจีนกลางอย่างมาก แต่บางคำก็คล้ายคลึงกับภาษาแต้จิ๋ว

 

ภาษาแคะ (客家話)

——ภาษาแคะเริ่มก่อรูปขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋ค.ศ. 960-1127) และได้ชื่อว่า ‘เค่อเจียฮว่า’ เมื่อ ค.ศ. 1930 ภาษาแคะมาตรฐานอิงจากภาษาแคะเขตเมืองเหมยโจว (梅州市) ภาษาแคะมีสำเนียงที่แตกต่างกันตามพื้นที่เช่นเดียวกับภาษาถิ่นอื่นๆ เช่น กลุ่มฮากกา (รู้จักกัน ทั่วไปว่าแคะลึก) และกลุ่มปั้นซันขัก (รู้จักกันทั่วไปว่าแคะตื้น) เป็นต้น

——ผู้ใช้ภาษาแคะกระจายกันอยู่ในพื้นที่เยว่ตง (粵東 ทิศตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง) หมิ่นซี (閩西 ทิศตะวันตกของมณฑลฮกเกี้ยน) และกั้นหนาน (贛南 ทิศใต้ของมณฑลเจียงซี) รวมทั้งทางตอนใต้ของจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และชาวจีนแคะในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษาแคะมากกว่า 40 ล้านคน

 

ภาษาเหลยโจว (雷州話)

——ผู้ใช้ภาษาเหลยโจวกระจายกันอยู่ในบริเวณคาบสมุทรเหลยโจวและเมืองโดยรอบ ชาวเหลยโจวเรียกภาษาเหลยโจวในท้องที่ของตัวเองว่า ‘หลีฮว่า’ (黎話) และยึดการออกเสียงภาษาเหลยโจวมาตรฐานที่เมืองเหลยโจว ปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษาเหลยโจวทั่วโลกมากกว่า 9 ล้านคน

——ภาษาเหลยโจวในแต่ละท้องที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน มีสำเนียงหลักๆ ตามพื้นที่ ได้แก่ สำเนียงเหลยเฉิง (雷城音) สำเนียงสวีเหวิน (徐聞音) สำเนียงซุ่ยซี (遂溪音) สำเนียงเหลียนเจียง (廉江音) และสำเนียงเจียวชวี (郊區音) แต่สำเนียงที่แตกต่างกันมากที่สุดคือสำเนียงสวีเหวินและสำเนียงเหลียนเจียง

——ภาษาเหลยโจวมีส่วนที่คล้ายคลึงกับภาษาแต้จิ๋ว เนื่องจากเป็นภาษาตระกูลหมิ่นหนาน (閩南語系) เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ภาษาเหลยโจวจึงถือว่ายากสำหรับคนท้องถิ่นอื่น

——ความยากและซับซ้อนของภาษาทั้งในด้านการออกเสียง คำศัพท์ หรือไวยากรณ์ อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชน ภูมิประเทศ วัฒนธรรม หรือการผสมผสานของนานาภาษา ภาษาถิ่นจีนดังกล่าวจึงยากที่คนต่างถิ่นจะเรียนรู้ แต่ปัจจุบันภาษาถิ่นจีนเหล่านี้ยังมีผู้ใช้จำนวนมหาศาลสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งอยู่รวมกันในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลโดยต่างก็คิดว่าตนเองคือลูกหลานมังกรเช่นเดียวกัน