—–ชาวจีนมีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับอุทกภัยมาช้านาน มีตำนานเล่าถึงเรื่องการขจัดปัญหาอุทกภัยของบรรพชนไว้ว่า เมื่อครั้งที่ผู้ปกครองของชาวประชาต้องคัดเลือกมาจากคนดีมีความสามารถ ครานั้นพระเจ้าเหยา (尭) เป็นผู้นำชนเผ่า เนื่องด้วยบริเวณที่ราบภาคกลางมักเกิดอุทกภัยจากแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำฮวงโห (黃河) มวลน้ำมหาศาลไหลท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ทำให้ผู้คนแถบนั้นเดือดร้อนกันไปทั่ว จำต้องอพยพไปอยู่ถิ่นอื่น พระเจ้าเหยาจึงหารือกับเหล่าขุนนางเพื่อสรรหาผู้มีความสามารถมาช่วยขจัดปัญหาอุทกภัย ทุกคนต่างเสนอให้กุ่น (鯀) ทายาทของพระเจ้าหวง (黃) เป็นผู้รับหน้าที่นี้ พระเจ้าเหยาจึงมอบหมายให้กุ่นรับหน้าที่ขจัดปัญหาอุทกภัย

—–ทว่าเมื่อเวลาล่วงเลยไป 9 ปี กุ่นก็ยังไม่อาจคลี่คลายปัญหาอุทกภัยได้ ซ้ำร้ายวิธีการสร้างทำนบดินเพื่อกั้นลำน้ำของกุ่นกลับส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีทางระบายออก ในที่สุดทำนบดินที่สร้างไว้ก็พังทลายลงเพราะรับน้ำหนักมวลน้ำมหาศาลไม่ไหว น้ำจึงเอ่อไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านหนักกว่าเดิม

—–ต่อมาเมื่อพระเจ้าเหยาเสด็จสวรรคต พระเจ้าซุ่น (舜) ผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำชนเผ่า จึงสั่งปลดกุ่นและลงโทษด้วยการประหารชีวิตที่ภูเขาอวี่ซัน (羽山) จากนั้นก็มอบหมายหน้าที่ขจัดปัญหาอุทกภัยให้แก่อวี่ (禹) บุตรชายของกุ่น เพราะเล็งเห็นถึงคุณสมบัติหลายประการของอวี่ ได้แก่ ความขยันขันแข็ง ความเอาจริงเอาจัง ความประหยัดมัธยัสถ์ และสิ่งสำคัญคืออวี่เป็นคนมีคุณธรรม ไม่เย่อหยิ่งและดื้อรั้นเหมือนบิดา

—–อวี่รับหน้าที่ด้วยจิตใจอันประเสริฐ ปราศจากความเคียดแค้นชิงชังต่อพระเจ้าซุ่นผู้สั่งประหารบิดาของตน เขาตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจขจัดปัญหาอุทกภัย เพราะเกี่ยวข้องกับทุกข์สุขของราษฎร อวี่จึงเต็มใจน้อมรับบัญชาทำหน้าที่แทนบิดาพร้อมตั้งปณิธานว่าต้องทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงให้จงได้ เพื่อผู้คนทั้งหลายจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์อันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัย ทั้งที่ในขณะนั้นเขาเพิ่งแต่งงานกับภรรยาเพียงสี่วัน ก็จำต้องลาจากสตรีอันเป็นที่รัก เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ อวี่เดินทางสำรวจพื้นที่พร้อมกับป๋ออี้ (伯益) และโฮ่วจี้ (后稷) ขุนนางตงฉินของพระเจ้าซุ่น ระหว่างเดินทางมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งอาสาติดตามพวกเขาไปด้วย ในขณะนั้นที่ราบภาคกลางเต็มไปด้วยภูเขาและแม่น้ำ ทุกหนทุกแห่งมีแต่ความทุรกันดาร อวี่นำทุกคนบุกป่าฝ่าดง นอนกลางดินกินกลางทราย บ่อยครั้งที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศอันเลวร้ายอย่างพายุฝนฟ้าคะนอง น้ำป่าไหลหลาก ทั้งนี้ก็เพื่อสำรวจลักษณะพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์มูลเหตุของการเกิดน้ำท่วมอย่างถี่ถ้วน

—–ในที่สุดอวี่ก็ค้นพบว่าวิธีขจัดปัญหาอุทกภัยของบิดานั้นผิดพลาด อวี่จึงเปลี่ยนวิธีเสียใหม่  ด้วยความเข้าใจว่า ธรรมชาติของน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำก่อนจะไหลออกสู่ทะเล จึงสั่งเกณฑ์ผู้คนมาช่วยกันขุดลอกทางน้ำให้ลึกขึ้นและขุดเจาะช่องเขาให้กว้างขึ้น เพื่อให้มวลน้ำไหลระบายลงสู่ทะเลได้สะดวก พวกเขาทุกคนต้องทำงานอย่างหนักหามรุ่งหามค่ำ กินอยู่อย่างเรียบง่าย เพื่อย่นระยะเวลาการขจัดปัญหาอุทกภัยให้สั้นที่สุด

—–ขณะที่กำลังขุดลอกทางน้ำและขุดเจาะช่องเขาอยู่นั้น แรงงานจำนวนมากต้องจบชีวิตลง บ้างก็ถูกหินภูเขาทับตาย บ้างก็ตกเขาตาย บ้างก็ถูกน้ำซัดจมหายไป แม้จะต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลา แต่อวี่ยังคงทำงานหนักทุกวันจนผิวหน้าไหม้เกรียม รูปร่างผอมโซ และด้วยความที่เขาต้องยืนทำงานในน้ำเป็นเวลานาน ขนขาและเล็บเท้าจึงเปื่อยจนหลุดหมด แม้แต่อุปกรณ์ที่ทำด้วยหิน ไม้ หรือกระดูกสัตว์ต่างๆ ก็ชำรุดเสียหาย เขาต้องตรากตรำทำงานหนักเช่นนี้เป็นเวลายาวนานถึง 13 ปี เล่ากันว่า ภายในระยะเวลาดังกล่าว อวี่มีโอกาสผ่านหน้าบ้านของตนเองถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่เคยก้าวเข้าบ้านไปเยี่ยมภรรยาเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยครั้งแรก ภรรยาเขาคลอดบุตรชาย ใครๆ ต่างบอกให้เขากลับเข้าบ้านดูหน้าบุตรชายสักหน่อย แต่เขาคิดว่างานแก้ไขปัญหาอุทกภัยเป็นภาระอันเร่งด่วน สำคัญกว่าเรื่องครอบครัวของตนเองนัก จึงตัดใจขี่ม้าหันหลังกลับไปยังที่พักโดยเร็ว ส่วน 2 ครั้งหลังเป็นช่วงที่บุตรชายโตขึ้นเป็นเด็กน้อยน่ารัก แต่เขาก็ยังไม่ยอมกลับเข้าบ้านไปเยี่ยมบุตรชายและภรรยาอยู่ดี

ต้าอวี่ผ่านหน้าบ้านแต่ไม่ยอมเข้าบ้าน

—–13 ปีผ่านไป การขุดลอกทางน้ำและการขุดเจาะช่องเขาสำเร็จเสร็จสิ้น แม่น้ำสาขาต่างๆ ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างสะดวก จึงไม่เกิดอุทกภัยอันเลวร้ายขึ้นอีก ชาวประชาต่างตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและทำการเกษตรกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยความอุตสาหะวิริยะ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ และการเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของอวี่ นอกจากนี้ อวี่ยังสอนวิธีการเลี้ยงปศุสัตว์รวมทั้งแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ให้แก่ชาวบ้าน ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้มากมาย ประชาชนกินอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข ชาวประชาต่างซาบซึ้งในความดีของอวี่ จึงยกย่องเขาเป็น ต้าอวี่ (大禹) หรือ อวี่ผู้ยิ่งใหญ่

—–17 ปีต่อมาเมื่อพระเจ้าซุ่นเสด็จสวรรคต ต้าอวี่ขึ้นรับตำแหน่งเป็นผู้นำชนเผ่า อันเนื่องมาจากความดีและความสามารถของเขา ผ่านไปไม่นานเขาก็ได้สถาปนาราชวงศ์เซี่ย (夏 2070-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีนขึ้น อวี่จึงนับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซี่ย นามว่า พระเจ้าเซี่ยอวี่ (夏禹) เมื่อพระเจ้าเซี่ยอวี่เสด็จสวรรคต โอรสของเขานามว่า ฉี่ (啟) จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การสืบราชสมบัติเปลี่ยนจากการเลือกคนดีมีความสามารถในชนเผ่ามาเป็นการสืบทอดทางสายโลหิตแทน และยังเป็นต้นแบบในการสืบราชสมบัติของกษัตริย์จีนในยุคต่อๆ มาอีกด้วย

—–แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 4,000 ปี แต่ชาวจีนทุกยุคทุกสมัยยังคงระลึกถึงคุณงามความดีของต้าอวี่อยู่เสมอ ไม่เพียงยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษผู้ขจัดปัญหาอุทกภัยเท่านั้น หากแต่ยังให้ความเคารพสักการะเสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่ง จึงมีสุสาน  ศาลเจ้า หรืออารามที่เป็นสถานที่บูชาอวี่หลายแห่งกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น เมืองเซ่าซิง (紹興) ในมณฑลเจ้อเจียง (浙江) เมืองไคเฟิง (開封) ในมณฑลเหอหนัน (河南) เมืองอู่ฮั่น (武漢) ในมณฑลหูเป่ย (湖北) เป็นต้น

—–สถานที่สักการะเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดว่า เกียรติประวัติและคุณูปการที่มีต่อประเทศชาติและชาวประชาของต้าอวี่ ยังคงได้รับการแซ่ซ้องจากรุ่นสู่รุ่นและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปตราบนานเท่านาน

 

เรื่องโดย พงศ์ศิษฏ์ อุดหนุนสมบัติ