กรณีสวรรคตพระนางซูอันไทเฮา:

เงื่อนงำในคดีข้ามศตวรรษ

เรื่องโดย เดชาวัต เนตยกุล


 

(สมเด็จพระพันปีหลวงฉืออัน หรือพระนางซูอันไทเฮา)

——หากกล่าวถึงการว่าราชการหลังม่านในช่วงปลายราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616 – 1912) ผู้อ่านทั่วไปมักนึกถึงพระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后 ค.ศ. 1835 – 1908) ทว่ายังมีขัตติยนารีอีกหนึ่งพระองค์ที่ว่าราชการเคียงบ่าเคียงไหล่พระนางซูสีไทเฮาเป็นระยะเวลาสองทศวรรษ[1] นั่นคือสมเด็จพระพันปีหลวงฉืออัน หรือพระนางซูอันไทเฮา (慈安太后 ค.ศ. 1837 – 1881) ฮองเฮาในจักรพรรดิเสียนเฟิง (咸豐帝 ค.ศ. 1831 – 1861) แม้เรื่องราวชีวิตของพระนางจะมิได้เป็นที่กล่าวขานของชนรุ่นหลังเฉกเช่นพระนางซูสีก็ตาม

——พระนางซูอันไทเฮา เป็นชาวแมนจูตระกูลหนิ่วฮู่ลู่ (鈕祜祿) ได้รับคัดเลือกและแต่งตั้งเป็นพระสนมเจินผิน (貞嬪) ในจักรพรรดิเสียนเฟิงเมื่อ ค.ศ. 1852 ด้วยพระจริยวัตรอันงดงามจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นมเหสีเจินกุ้ยเฟย (貞貴妃) และไม่นานก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นฮองเฮา (皇后) ผู้ทรงอำนาจสูงสุดแห่งฝ่ายในขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 16 พรรษา ทั้งนี้นับแต่พระนางเข้าวังถวายตัวจนได้เป็นฮองเฮาใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ถือเป็นการเลื่อนฐานันดรที่เร็วที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง ทว่า 9 ปีให้หลัง อิสริยยศของพระนางก็ได้รับการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง

——รัชศกเสียนเฟิงปีที่ 11 (ค.ศ. 1861) จักรพรรดิเสียนเฟิงเสด็จสวรรคต ณ พระราชนิเวศน์เฉิงเต๋อ (承德避暑山莊) อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ไจ่ฉุน (愛新覺羅·載淳 ค.ศ. 1856 – 1875) พระโอรสองค์ใหญ่ของอี้กุ้ยเฟย (懿貴妃) ขึ้นสืบสันตติวงศ์ ใช้ชื่อรัชศกว่าถงจื้อ (同治) ฮองเฮาผู้ไม่มีทายาท ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นหมู่โฮ่วหวงไท่โฮ่ว[2] (母后皇太后) พระราชทินนามคือฉืออัน (慈安 ซูอัน) ส่วนอี้กุ้ยเฟยเลื่อนอิสริยยศเป็นเซิ่งหมู่หวงไท่โฮ่ว (聖母皇太后) พระราชทินนามคือฉือสี่ (慈禧 ซูสี) ทั้งสองร่วมกันว่าราชการหลังม่านถึง 2 ระยะ จนกระทั่งรัชศกกวงซี่ว์ปีที่ 7 พระนางซูอันไทเฮาเสด็จสวรรคตกะทันหัน ณ พระตำหนักจงชุ่ย (钟粹宮) สิริพระชนมพรรษา 45 พรรษา พระนางซูสีไทเฮาจึงว่าราชการหลังม่านเพียงผู้เดียวในภายหลัง

——กรณีสวรรคตของพระนางซูอันไทเฮาถือเป็นหนึ่งในคดีที่มีเงื่อนงำแห่งราชวงศ์ชิง เพราะพระนางเพิ่งย่างเข้าวัยกลางคน พระพลานามัยยังดูสมบูรณ์ และพระอาการประชวรก็มิได้ปรากฏชัดเจน ดังนั้นจึงเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างต่างๆ นานาเกี่ยวกับสาเหตุการสวรรคตของพระนาง แต่ในบทความนี้จะหยิบยกแค่ 3 ข้อสันนิษฐานหลักขึ้นมาพิจารณา

 

ข้อสันนิษฐานที่ 1: ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม

——ข้อสันนิษฐานนี้มีต้นตอมาจากบันทึกชิงไป้เล่ยเชา《清稗類鈔》อันเป็นเอกสารซึ่งบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ชิงที่เขียนขึ้นในยุคสาธารณรัฐ บันทึกนี้ได้เท้าความถึงเหตุการณ์หนึ่ง ในรัชศกกวงซี่ว์ปีที่ 7 พระนางซูสีไทเฮาประชวรหนักจนมิอาจทรงงาน พระนางซูอันไทเฮาจึงต้องว่าราชกิจเพียงผู้เดียว พระนางซูสีไม่พอพระทัยที่โดนข้ามหัว เลยหาเรื่องตำหนิพระนางซูอันว่า “รับสินบน แทรกแซงราชกิจ” (賄賣囑託,干預朝政) พระนางซูอันแม้จะคับแค้นใจ ทว่าด้วยอุปนิสัยที่ไม่ชอบต่อปากต่อคำ จึงได้แต่กล้ำกลืนความขมขื่นไว้ ไม่โปรดทะเลาะเบาะแว้งกับผู้ใด สุดท้ายทรงอดรนทนไม่ไหว จึงเสวย “ขวดยานัตถุ์” จนสวรรคต

——อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานนี้น่าจะเป็นไปได้ยาก อีกทั้งอ้างอิงจากหลักฐานทุติยภูมิที่บันทึกโดยคนรุ่นหลัง จึงขาดน้ำหนักอันควรแก่การเชื่อถือ

 

ข้อสันนิษฐานที่ 2: ถูกพระนางซูสีไทเฮาวางยาพิษจนสวรรคต

(สมเด็จพระพันปีหลวงฉือสี่ หรือ พระนางซูสีไทเฮา)

——สื่อบันเทิงทั้งนิยาย ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์มักนำข้อสันนิษฐานนี้ไปผูกเรื่องเป็นเค้าเงื่อนการสวรรคตของพระนางซูอันไทเฮา จึงเป็นเหตุให้มีผู้คล้อยตามกันมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์แวดล้อมแล้ว ผู้ที่ได้ผลประโยชน์เต็มกอบเต็มกำจากกรณีสวรรคต ก็คือพระนางซูสีไทเฮานั่นเอง

——สีว์ก่วงหยวน (徐廣源 ค.ศ. 1946 – ปัจจุบัน) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุสานราชวงศ์ชิงได้ระบุไว้ในงานเขียนของตนว่า มีการกล่าวถึงเรื่องวางยาพิษครั้งแรกในบันทึกฉงหลิงฉวนซิ่นลู่《崇陵傳信錄》(บันทึกจดหมายสุสานฉงหลิง) ของอวิ้นอี้ว์ติ่ง (惲毓鼎  ค.ศ. 1862 – 1917) จิ้นซื่อ[3]ปลายราชวงศ์ชิง ทว่าแม้จะเป็นบันทึกร่วมสมัย แต่ก็มีเนื้อหาโจมตีการใช้อำนาจของพระนางซูสีไทเฮาเป็นส่วนใหญ่ เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนมีอคติต่อพระนางซูสีไทเฮาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ ทั้งนี้ยังมีบันทึกอีกหลายฉบับที่กล่าวถึงเหตุการณ์พระนางซูอันไทเฮาถูกวางยาพิษซึ่งแตกต่างกันตรงรายละเอียด แต่ที่อื้อฉาวอย่างยิ่งเห็นจะเป็นกรณีการวางยาพิษในขนม

——หากจะปรักปรำว่าพระนางซูสีเป็นผู้วางยาพิษพระนางซูอันก็ต้องดูที่แรงจูงใจด้วย เพราะระหว่างพระนางซูสีกับพระนางซูอันอาจมีปมขัดแย้งบางอย่างที่ทำให้เกิดการขุ่นข้องหมองใจกันอยู่

——ประการแรกคือเรื่อง “พระโอรส” พระนางซูสีไทเฮามักเข้มงวดกับพระโอรสไจ่ฉุน แต่พระนางซูอันกลับมีความอ่อนโยน และเอาอกเอาใจพระโอรสองค์นี้ ดังนั้นพระโอรสไจ่ฉุนจึงรักพระนางซูอันมากกว่ามารดาผู้ให้กำเนิด ครั้นองค์ชายไจ่ฉุนขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ถงจื้อและต้องคัดเลือกฮองเฮา พระองค์ก็ทรงสถาปนาสตรีจากสกุลอาหลู่เท่อ (阿魯特氏) ขึ้นเป็นฮองเฮา ซึ่งพระนางซูอันไทเฮาก็ถูกพระทัยสตรีนางนี้เช่นกัน ผิดกับพระนางซูสีไทเฮาที่ทรงหมายตาสตรีจากสกุลฟู่ฉา (富察氏) เห็นได้ชัดว่าความเห็นของมารดากับลูกชายไม่ตรงกัน ดังนั้นการที่ไทเฮาทั้งสองตำหนักบาดหมางกันด้วยเรื่องพระโอรสจึงมิใช่เรื่องแปลก แต่หากจะต้องลอบสังหารกันด้วยเรื่องนี้ ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

——ประการที่สองคือเรื่องการประหารชีวิตมหาขันทีอันเต๋อไห่ (安德海 ค.ศ. 1837 – 1869) ขันทีคนโปรดข้างพระวรกายพระนางซูสีไทเฮาที่กระทำความผิดอุกฉกรรจ์จนต้องโทษมหันต์ และพระนางซูอันไทเฮาก็ทรงอยู่เบื้องหลังการประหารชีวิตครั้งนี้ด้วย แม้ว่าเรื่องนี้จะทำให้พระนางซูสีไทเฮากริ้ว แต่ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุในการวางอุบายกำจัดอีกฝ่ายได้ เพราะแม้แต่ขุนนางผู้ฟ้องร้องอันเต๋อไห่นามว่า ติงเป่าเจิน (丁寶楨 ค.ศ. 1821 – 1886) นอกจากไม่โดนลงโทษแล้ว ยังได้เลื่อนตำแหน่งจนเป็นถึงข้าหลวงใหญ่มณฑลเสฉวนด้วย นับประสาอะไรกับซูอันไทเฮาที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขดั่งพี่น้องมาเกือบยี่สิบปี เรื่องนี้สะท้อนภาพพระนางซูสีไทเฮาได้ชัดเจนว่ารู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม

——ประการที่สามคือเรื่องราชโองการลับของจักรพรรดิเสียนเฟิง ก่อนจักรพรรดิเสียนเฟิงจะเสด็จสวรรคต ได้มอบราชโองการลับแก่พระนางซูอัน ซึ่งมีใจความสำคัญว่า หากพระนางซูสีประพฤติตามจารีตประเพณี ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หากพระนางซูสีประพฤตินอกรีตนอกรอยจนยากแก่การควบคุม ก็ให้ใช้ราชโองการนี้กำจัดนางเสีย มีอยู่วันหนึ่ง พระนางซูอันได้นำราชโองการนี้ออกมาให้พระนางซูสีดู และเผาทำลายต่อหน้า ซูสีไทเฮาจึงแสร้งทำเป็นสำนึกในพระกรุณา แต่ในพระทัยกลับคิดว่า เมื่อปราศจากราชโองการฉบับนี้ก็ไม่มีสิ่งใดที่ควบคุมนางได้แล้ว จึงส่งขนมอาบยาพิษให้พระนางซูอันเสวย จนพระนางซูอันสวรรคต

——จินเหลียง (金梁 ค.ศ. 1878 – 1962) นักวิชาการชาวแมนจูเคยให้ความเห็นแย้งต่อข้อสันนิษฐานนี้ว่า “ในเมื่อราชโองการลับของจักรพรรดิเสียนเฟิงถูกเผาทำลายไป แล้วรู้เนื้อความมาจากที่ใด กล่องอาหารมาจากนอกพระราชวัง แล้วผู้ใดสามารถยืนยันได้” ความเห็นแย้งของจินเหลียงนับว่าสมเหตุสมผล เพราะในเมื่อเป็นราชโองการลับที่รู้กันแค่จักรพรรดิเสียนเฟิง พระนางซูอันไทเฮา และพระนางซูสีไทเฮา อีกทั้งถูกทำลายไปแล้ว ผู้อื่นย่อมมิอาจล่วงรู้ความลับดังกล่าว

——นอกจากนี้ บันทึกประจำวันของเวิงถงเหอ《翁同龢日記》ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิ เพราะจดข้อความไว้ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับเหตุการณ์จริงโดยเวิงถงเหอ (翁同龢 ค.ศ. 1830 – 1904) พระอาจารย์ของฮ่องเต้กวงซี่ว์ ยังได้บอกเล่าเหตุการณ์หลังจากพระนางซูอันไทเฮาสวรรคตด้วย กล่าวคือพระนางซูสีไทเฮาโปรดเกล้าฯ ให้เหล่าเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง รวมถึงขุนนางคนสำคัญ เคารพพระบรมศพโดยเปิดพระพักตร์ให้เห็นกันถ้วนหน้า ปรากฏว่าพระบรมศพไม่มีร่องรอยของการถูกวางยาพิษแต่อย่างใด พระราชพิธีพระบรมศพ และการอัญเชิญพระบรมศพเข้าพระโกศก็ถูกต้องตามขนบประเพณี มิได้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนเลย อย่างไรก็ตาม แม้ข้อสันนิษฐานนี้ค่อนข้างขาดความน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามไปเสียทีเดียว

 

ข้อสันนิษฐานที่ 3: สวรรคตจากอาการประชวร

——ข้อสันนิษฐานนี้ ดูจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าข้อสันนิษฐานอื่นๆ สวีเช่อ (徐徹 ค.ศ. 1939 – ปัจจุบัน) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงได้วิจัยและใช้ “บันทึกประจำวันของเวิงถงเหอ” เป็นเอกสารสำคัญในการวิเคราะห์กรณีสวรรคตของพระนางซูอันไทเฮา

——บันทึกดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระนางซูอันในวันที่ 8 เดือน 4 ค.ศ. 1881 ตรงกับรัชศก
กวงซี่ว์ปีที่ 7 ไว้ว่า “ไทเฮาตำหนักบูรพารู้สึกหนาวสะท้านและเบื่อพระกระยาหาร พระวรกายเจ็บไข้บางเวลา จึงมิได้เรียกพบสภากลาโหม” (東太后感寒停飲,偶爾違和,未見軍機) จากนั้นในต้นยามจื่อ (子初) หรือราว 23 นาฬิกา จึงทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระนางซูอัน

——หลังจากพระนางซูอันเสด็จสวรรคต ในวันต่อมา เวิงถงเหอได้บันทึกการรักษาพระอาการประชวรของพระนางซูอันเอาไว้ตามลำดับเวลา ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

ช่วงเวลา พระอาการ
ช่วงเช้า มีพระอาการหนักคล้ายลมชัก (類風癇甚重)
ช่วงเที่ยง (午刻ราว 11-13 น.) มีพระอาการหมดสติ (神識不清) กัดพระทนต์ (牙緊)
ช่วงบ่าย (未刻 ราว 13-15 น.) ถวายพระโอสถแล้วทว่าพระอาการไม่ดีขึ้น ทั้งยังกลั้นพระบังคนเบาไม่ได้ (遺尿) หมดสติดังเดิม
ช่วงเย็น (酉刻ราว 17-19 น.) พระชีพจรเต้นอ่อนลง (六脈將脫) เสวยพระโอสถไม่ได้แล้ว (藥不能下)
ช่วงหัวค่ำ (戌刻ราว 19-21 น.) เสด็จสวรรคต (仙逝)

—–

——พระอาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นอย่างกะทันหันภายในวันเดียวจนทำให้สวรรคต ก็คงเป็นเรื่องที่น่าแปลกไม่ใช่น้อย แต่เมื่อย้อนดูบันทึกประจำวันของเวิงถงเหอก็จะพบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีพระอาการประชวรเช่นนี้

——รัชศกถงจื้อปีที่ 2 ขณะนั้นพระนางซูอันไทเฮามีพระชนมพรรษา 28 พรรษา บันทึกประจำวันของเวิงถงเหอได้จดไว้ว่า “ตั้งแต่วันที่ 15 เดือน 1 ซูอันฮองไทเฮาทรงพระประชวร คล้ายวูบ มิอาจตรัสพระวาจา ลงท้ายทรงปลอดภัยดี” (慈安皇太后自正月十五日起聖躬違豫,有類肝厥,不能言語,至是始大安)  ซึ่งครั้งนี้ประชวรนานถึง 28 วัน

——ต่อมาในรัชศกถงจื้อปีที่ 8 พระอาการเดิมกลับกำเริบอีก บันทึกจดว่า “เมื่อวานซูอันไทเฮาพระโรคเก่ากำเริบ หมดสติไปครึ่งชั่วยาม เรียกแพทย์หลวงถวายพระโอสถจื่อสือและไหลฝูจื่อ” (昨日慈安太后舊疾作,厥逆半時許。傳醫進枳實、萊服子)

——ตามพระอาการที่ปรากฏ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมักหมดสติ ส่วนโอสถที่ใช้อย่างจื่อสือและฝูไหลจื่อ ก็มีสรรพคุณในการช่วยปรับลมในตับ ระงับความฟุ้งซ่าน จึงมีผู้สันนิษฐานว่าพระนางซูอันอาจทรงพระประชวรด้วยโรควูบ (厥症) อยู่ก่อนแล้ว ทว่าพระอาการครั้งล่าสุดหนักหนาและกะทันหันกว่าครั้งที่ผ่านมา หากพิจารณาพระอาการทั้งสามครั้งตามการแพทย์แผนปัจจุบันจะพบว่าคล้ายกับอาการของ “โรคหลอดเลือดสมอง” ดังนั้นจึงมีผู้สันนิษฐานว่า พระนางซูอันไทเฮาอาจสวรรคตด้วยอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากทรงเหนื่อยล้าจนเกินไป ประกอบกับในช่วงเวลานั้น พระนางซูสีไทเฮาทรงพระประชวร มิอาจดูแลเรื่องราชกิจได้ เป็นเหตุให้พระนางซูอันต้องว่าราชการเพียงผู้เดียว ด้วยความที่ไม่สันทัดเรื่องการบ้านการเมืองจึงต้องรับศึกหนัก ส่งผลให้เกิดความเครียด และพระวรกายอิดโรย โรคเก่าเลยกำเริบอย่างกะทันหันจนสวรรคตในที่สุด สุยลี่เจวียน (隋麗娟 ค.ศ. 1964 – ปัจจุบัน) ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ไห่หนาน (海南師範大學) ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศจีน ก็เห็นพ้องด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้

——นอกจากอาการทางสมองแล้ว ถานเจี้ยนเชียว (譚健鍬) ศัลยแพทย์หัวใจโรงพยาบาลจิ้งหู (鏡湖醫院) ได้เสนอความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือภาวะวูบหมดสติที่มีสาเหตุเกิดจากหัวใจ (心源性暈厥) ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแล้วสูบฉีดได้ไม่เต็มที่จนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอและหมดสติ สมองเลยขาดออกซิเจนและทำให้เสียชีวิตในที่สุด การหมดสติของพระนางซูอันไทเฮาในครั้งก่อนหน้าก็อาจเป็นด้วยสาเหตุนี้ ทว่าเกิดในระยะเวลาอันสั้น จึงสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ครั้งสุดท้ายพระอาการกลับรุนแรงกว่าเดิม จนเสด็จสวรรคต

——อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถยืนยันสาเหตุการสวรรคตของพระนางซูอันไทเฮาได้อย่างแน่ชัด แม้ข้อสันนิษฐานว่าการสวรรคตด้วยพระอาการประชวรจะมีหลักฐานร่วมสมัยสนับสนุน แต่ก็ยังคงมีผู้ที่เชื่อว่าหลักฐานเหล่านี้เป็นเพียงการ “จัดฉาก” ของพระนางซูสีไทเฮาเท่านั้น สุดท้ายแล้วผู้ที่รู้ความจริงอย่างถ่องแท้ อาจมีแต่คนใกล้ชิดพระนางซูอันไทเฮาหรือพระนางซูสีไทเฮา หรืออาจเป็นไปได้ว่า ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงเนื่องด้วยการแพทย์สมัยนั้นยังล้าหลัง ฉะนั้นกรณีสวรรคตของพระนางซูอันไทเฮาจึงยังคงเป็นปมปริศนาในหน้าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงจนตราบเท่าทุกวันนี้


[1] พระนางซูอันไทเฮา ว่าราชการคู่พระนางซูสีไทเฮาอยู่ 2 ระยะ ครั้งแรกระหว่างปลายรัชศกเสียนเฟิงปีที่ 11 ถึงรัชศกถงจื้อปีที่ 12  และครั้งที่สองระหว่างรัชศกกวงซี่ว์ปีที่ 1 ถึงปีที่ 7 รวมเวลาเกือบ 20 ปี

[2] ในสมัยราชวงศ์ชิง โดยปกติแล้ว หากจักรพรรดิพระองค์ใหม่มิใช่พระโอรสแท้ๆ ของฮองเฮา จะมีการสถาปนาไทเฮาสองพระองค์ ฮองเฮาจะได้เลื่อนยศเป็น หมู่โฮ่วหวงไท่โฮ่ว  (母后皇太后) ขณะที่มารดาผู้ให้กำเนิดฮ่องเต้จะได้เลื่อนยศเป็น เซิ่งหมู่หวงไท่โฮ่ว (聖母皇太后)

[3] จิ้นซื่อ (進士) คือ ตำแหน่งบัณฑิตผู้สอบติดขั้นสุดท้ายหรือการสอบระดับพระราชวังของระบบเคอจวี่ (科舉) ของจีนสมัยโบราณ ซึ่งเป็นระบบการสอบเพื่อคัดเลือกบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถมาเข้ารับราชการ โดยไม่จำกัดชนชั้นหรือชาติตระกูล