ศิลปะกระดาษตัด:
วิจิตรศิลป์ที่ดำรงอยู่คู่สังคมจีน

เรื่องโดย: เธียรชมภู แสนสุด


ผลงานกระดาษตัดโดย อภิวัฒน์ อรุณ

——เมื่อเอ่ยถึง ศิลปะการตัดกระดาษ (剪紙藝術) ภาพที่ผู้คนมักนึกถึงคือลายฉลุบนกระดาษสีแดงอันประณีต บรรจง และคงเอกลักษณ์แบบตะวันออก เป็นศิลปะพื้นบ้านซึ่งผ่านการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และยังเป็นดั่งกระจกที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของประชาชนจีนในแต่ละยุคสมัย ศิลปะการตัดกระดาษได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อ ค.ศ. 2009

 

⦿ ต้นแบบของศิลปะกระดาษตัด

——โดยทั่วไปเชื่อกันว่าศิลปะการตัดกระดาษเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 202 ปีก่อนค.ศ.–ค.ศ. 220) หลังจากมีการประดิษฐ์กระดาษและนำกระดาษมาใช้อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม เทคนิคการตัด แกะ สลัก ปรุ หรือฉลุให้เป็นลายได้ถูกนำมาใช้กับวัสดุต่างๆ เช่น แผ่นเงิน เครื่องหนัง หยก โลหะ และผ้าไหม อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

——หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบในประเทศจีนยังสะท้อนสุนทรียภาพของมนุษย์ในยุคหินใหม่ เช่น ลายขดบนภาชนะดินเผาซึ่งเป็นร่องรอยของวัฒนธรรมต้าเวิ่นโข่ว (大汶口文化) ที่ขุดพบแถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (黄河) รวมถึงเครื่องประดับเป็นสายทำด้วยทองสำริดในสมัยราชวงศ์โจว (周 1,046–256 ปีก่อนค.ศ.) และเครื่องประดับทรงโค้งที่แกะสลักบนแผ่นเงินในยุครณรัฐ (戰國 475–221 ปีก่อนค.ศ.) และหยกฉลุแกะลาย สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าผู้คนในสมัยนั้นนิยมใช้วัสดุแผ่นบางมาฉลุลายด้วย

——ใน ค.ศ. 1966 มีการขุดพบเครื่องหนังเนื้อบางสมัยรณรัฐ ซึ่งสลักด้วยลวดลายอันประณีต ได้แก่ ลายทรงกลม ลายสี่เหลี่ยม และลายสามเหลี่ยมเชื่อมต่อกัน ณ สุสานหลุมที่ 1 เขาวั่งซานเฉียว (望山橋) เมืองเจียงหลิง (江陵) แม่น้ำหูเป่ย (湖北) นั่นแสดงว่า ถึงแม้ในสมัยนั้นจะยังไม่มีกระดาษ แต่การประดิดประดอยดังกล่าวก็ได้ปูพื้นกรรมวิธีให้แก่ศิลปะการตัดกระดาษในภายหลัง

 

⦿ จากกระดาษธรรมดาสู่ศิลปะตรึงตรา

——หลังจากไช่หลุน[1] (蔡倫 ค.ศ. 63–121) ค้นพบวิธีผลิตกระดาษในค.ศ. 105 กระดาษก็ได้กลายเป็นวัสดุบางเบา ราคาถูก และง่ายแก่การตัดหรือแกะสลักลวดลาย ศิลปะการตัดกระดาษจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

——ปัจจุบันค้นพบว่าผลงานกระดาษตัดที่เก่าแก่ที่สุดคือผลงานสมัยราชวงศ์เหนือ (北朝 ค.ศ.386–581) ซึ่งอยู่ในสุสานเก่าเขตอาซือถ่าน่า (阿斯塔那) เมืองถูหลู่ฟาน (吐魯番) มณฑลซินเจียง (新疆) ประกอบด้วยกระดาษตัดจำนวน 5 ชุด ได้แก่ ลายดอกไม้แปดเหลี่ยม (八角形團花) ลายพุ่มดอกสายน้ำผึ้ง (忍冬紋團花) และลายพุ่มดอกเบญจมาศ (菊花) 3 ลายสลับชั้นกัน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ชุดที่เป็นลายขดแบบต่างๆ ดูซับซ้อน ทั้งยังนำเอาภาพม้าคู่และลิงคู่มารวมไว้ในลายอย่างแนบเนียน ลายจึงดูแปลกใหม่และมีชีวิตชีวา

กระดาษตัดรูปม้าคู่

กระดาษตัดรูปลิงคู่

——ตามบันทึกเรื่องราวแดนจิงฉู่ 《荊楚歲時記》ของจงหลิ่น (宗懍 ราวค.ศ. 502–565) ได้บอกเล่าประเพณีและเทศกาลในท้องที่จิงฉู่ (荆楚)[2] ว่าเมื่อถึง “วันกำเนิดมนุษย์” (人日)[3] ชาวบ้านใช้กระดาษสีตัดเป็นรูปคนเพื่อนำไปติดบนฉากพับ ส่วนผู้หญิงจะนำกระดาษที่ตัดเป็นรูปนกนางแอ่นมาประดับที่ศีรษะ

  • สมัยราชวงศ์ถัง

——บทกวี เผิงหยาสิง《彭衙行》ของตู้ฝู่ (杜甫 ค.ศ. 712–770) สมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618–907) รำพึงรำพันว่า “น้ำอุ่นชะล้างบาทาข้า กระดาษตัดเรียกหาวิญญาณฉัน” (暖湯濯我足,剪紙招我魂) ในสมัยนั้นกระดาษกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและประเพณีพื้นบ้าน ชาวบ้านนำกระดาษตัดมาประกอบพิธีเรียกวิญญาณเพื่อช่วยนำทางดวงวิญญาณกลับบ้านและไปสู่สุคติ นอกจากนี้ ณ ถ้ำม่อเกาคู (莫高窟) เมืองตุนหวง (敦煌) ยังพบผลงานตัดกระดาษจากสมัยราชวงศ์ถังและยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (五代十國 ราวค.ศ. 907–979) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระสถูปและกวางที่ร่างไว้ก่อนตัด ใช้สำหรับบูชาพระพุทธรูปและตกแต่งวัดวาอาราม

——ในสมัยราชวงศ์ถังประชาชนยังใช้ศิลปะการตัดกระดาษประกอบการทำเครื่องใช้หรือเครื่องแต่งกาย เช่น นำกระดาษหนามาแกะสลักเป็นแม่แบบลายฉลุ จากนั้นพิมพ์สีย้อมลงบนผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงาม

  • สมัยราชวงศ์ซ่ง

——ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960–1279) ผู้คนไม่เพียงใช้ศิลปะการตัดกระดาษเพื่อตกแต่งของขวัญและหน้าต่างเท่านั้น แต่ยังนำลายเสือและลายมังกรมาประดับธงเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลด้วย นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้ศิลปะดังกล่าวกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผาจี๋โจว (吉州窑) ซึ่งใช้ลายกระดาษตัดแปะลงบนเครื่องเคลือบดินเผาก่อนเผา จนเกิดลักษณะเฉพาะอันงามจับตา

——ยิ่งกว่านั้น ผู้คนยังใช้กระดาษตัดเพื่อตกแต่งโคมไฟ เพิ่มความอลังการให้แก่เทศกาลและงานประเพณีต่างๆ เช่น โคมม้าวิ่ง (走馬燈) ซึ่งเป็นมรดกจากภูมิปัญญาจีนโบราณ โดยการทำให้เงาในโคมไฟเคลื่อนไหวได้ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณูปการในการเผยแพร่ผลงานกระดาษตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “เทศกาลหยวนเซียว” (元宵節)[4] ซึ่งจัดอย่างครึกครื้นทุกวันที่ 15 เดือนแรกของทุกปีตามปฏิทินจีน

——บันทึกเรื่องเก่าในบู๊ลิ้ม《武林舊事》ของโจวมี่ (周密 ค.ศ. 1232–1298 หรือ 1308) นักเขียนปลายสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้บอกเล่าความรุ่งเรืองของศิลปะการตัดกระดาษในยุคนั้นว่า มีความก้าวหน้าเป็นอันมากจนเกิดช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดกระดาษโดยเฉพาะ พวกเขาสามารถตัดกระดาษได้หลากหลายแบบ ทั้งแบบตัวอักษรจีน แบบลวดลาย หรือแบบภาพ ทักษะดังกล่าวช่วยให้ผู้คนสามารถรังสรรค์ผลงานแปลกตา ทั้งยังหาเลี้ยงชีพจากงานเหล่านี้ได้ด้วย

 

⦿ สู่ยุครุ่งเรือง

——ในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368–1644) และชิง (清 ค.ศ. 1616–1911)  มีบันทึกเกี่ยวกับช่างฝีมือด้านการตัดกระดาษอยู่มาก ส่วนนักเขียนลายสือศิลป์และจิตรกรจีนผู้หลงใหลในศิลปะประเภทนี้ก็ได้ร่วมกันใช้ความรู้และทักษะของตนในการสร้างสรรค์กระดาษตัดรูปแบบใหม่ๆ จนเกิดเป็นงานศิลปะที่ตรึงตาตรึงใจยิ่งขึ้น ส่งผลให้ศิลปะการตัดกระดาษของจีนก้าวสู่ยุครุ่งเรือง

  • สมัยราชวงศ์หมิง

——ในสมัยราชวงศ์หมิง มีบันทึกว่ากระดาษตัดของฝอซาน (佛山) มีชื่อเสียงขจรขจายจนถึงขั้นส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  นอกจากนี้ ใน ค.ศ. 1965 ที่เมืองเจียงอิน (江陰) มณฑลเจียงซู (江蘇) ยังขุดพบพัดพับ 1 เล่ม ซึ่งหน้าพัดใช้กระดาษสีขาวสองชั้นผนึกภาพกระดาษตัดรูปดอกเหมยและนกสาลิกาไว้ดูวิจิตรพิศวง ถือกันว่าในยุคสมัยนี้ การตัดกระดาษได้เลื่อนสถานะสู่ศิลปะชั้นสูงแล้ว

  • สมัยราชวงศ์ชิง

——ในสมัยราชวงศ์ชิง ศิลปะการตัดกระดาษเป็นตัวอักษรจีนได้รับความนิยมแพร่หลาย ประกอบกับความหมายอันลึกซึ้งของอักษรจีน จึงกลายเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่า ยิ่งไปกว่านั้น ศิลปะการตัดกระดาษยังได้แพร่ไปยังราชสำนัก ดังที่ปรากฏในพระตำหนักคุนหนิง (坤寧宮) ณ พระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง อันเป็นเรือนหอซึ่งฮ่องเต้ทรงใช้ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส ภายในยังคงอนุรักษ์ศิลปะแบบแมนจูไว้ กำแพงถูกปิดทับด้วยกระดาษ สี่มุมห้องมีกระดาษตัดลายอักษร “喜” ซึ่งแปลว่า “สิริมงคล” ประดับ กลางเพดานมีกระดาษตัดลายมังกรกับหงส์สีดำติดอยู่ ตรงผนังระเบียงทางเดินสองฟากของตำหนักก็มีลายดอกไม้ประดับอยู่ด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ศิลปะการตัดกระดาษได้ยกระดับจากศิลปะพื้นบ้านเป็นศิลปะในราชสำนัก

 

⦿ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมกระดาษตัด…จากอดีตกาลสู่ปัจจุบัน

——เหยียนอัน (延安) ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเหลือง อันเป็นบ่อเกิดอารยธรรมจีนที่รุ่งเรืองมาเนิ่นนาน เมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปะพื้นบ้านอันงดงาม รวมทั้งศิลปะการตัดกระดาษ ซึ่งตกทอดมาแต่โบราณและเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน โดยมีช่างฝีมือมากมายที่สืบสานและปรับปรุงศิลปะแขนงนี้ให้คงอยู่และเฟื่องฟูมาจนถึงปัจจุบัน

——ค.ศ. 1942 เหล่าศิลปินแห่งสถาบันศิลปะหลู่ซวิ่น (魯迅藝術文學院) ในเหยียนอัน นำโดย ลี่ฉวิน (力群) เฉินซูเลี่ยง (陳叔亮) จางติง (張仃) กู่หยวน (古元) เซี่ยเฟิง (夏風) ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลการตัดกระดาษและรวบรวมผลงานสร้างสรรค์ของชาวบ้าน เช่น รูปมงคล รูปสัตว์เลี้ยงต่างๆ และรูปตัวอักษร กิจกรรมนี้ได้จุดประกายความคิดและการประดิษฐ์กระดาษตัดในหมู่ชาวบ้านอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของศิลปะการตัดกระดาษพื้นบ้านแบบดั้งเดิม จนเกิดการตัดกระดาษรูปแบบใหม่ในเหยียนอัน

——ในเวลาต่อมา หนังสือชวงฮวา《窗花》หรือ “กระดาษตัดประดับหน้าต่าง” ของเฉินซูเลี่ยง ได้รับการตีพิมพ์ ขณะเดียวกัน ศิลปินเจียงเฟิง (江豐) กับกวีชื่อดัง “อ้ายชิง” (艾青) ก็ร่วมกันพิมพ์หนังสือภาพการตัดกระดาษพื้นบ้าน《民間剪紙》ของท้องที่มณฑลส่านซีตอนเหนือ (陝北) ณ เมืองจางเจียโข่ว (張家口) ทั้งสองเล่มถือเป็นหนังสือรวบรวมภาพการตัดกระดาษพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าแก่ศิลปะกระดาษตัดของจีน

——ต่อมาใน ค.ศ. 1949 เจียงเฟิงและอ้ายชิงได้เพิ่มเติมผลงานกระดาษตัดอันหลากหลายลงในหนังสือการตัดกระดาษพื้นบ้านและเปลี่ยนชื่อเป็น “รวมผลงานกระดาษตัดในท้องที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ” 《西北剪紙集》หนังสือเหล่านี้ไม่เพียงให้ข้อมูลอันมีค่าแก่การศึกษาพัฒนาการของศิลปะการตัดกระดาษเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้แวดวงศิลปะจีนหันมาให้ความสำคัญแก่การสะสมและศึกษาผลงานกระดาษตัดอย่างจริงจัง

 

⦿ จิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์

——หลังการสถาปนาประเทศจีนใหม่ (หลังค.ศ. 1949) ศิลปะการตัดกระดาษได้รับการเชิดชูและตระหนักในคุณค่าอย่างลึกซึ้ง นอกจากช่างศิลป์แขนงนี้จะเป็นที่นับถืออย่างสูงแล้ว ศิลปะการตัดกระดาษยังเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก

——แม้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่คุณค่าของศิลปะการตัดกระดาษยังคงจำหลักหนักแน่นเสมอมา ความงามประณีตซึ่งแฝงอยู่ในลวดลายอันวิจิตรบรรจง สะท้อนจิตวิญญาณของศิลปินให้ปรากฏบนกระดาษสีแดง ศิลปะการตัดกระดาษมิได้เป็นเพียงมรดกอันล้ำค่าของวัฒนธรรมจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินและนักออกแบบทั่วโลกด้วย เป็นเครื่องพิสูจน์ว่างานศิลปะที่มีรากฐานมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี สามารถคงอยู่คู่ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เสื่อมคลาย


[1] ขันทีผู้ค้นพบวิธีผลิตกระดาษ โดยนำเปลือกไม้ เศษผ้า ปอ และตาข่ายดักปลาที่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบ บดรวมกันจนป่น จากนั้นจึงนำมาตากแห้งจนกลายเป็นแผ่น  กระดาษชนิดนี้เลยเรียกกันว่า “กระดาษไช่หลุน”

[2] ปัจจุบันคือมณฑลหูเป่ย (湖北) และหูหนาน (湖南)

[3] “วันกำเนิดมนุษย์” (人日) ตรงกับวันที่ 7  เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ เชื่อกันว่าเป็น “วันเกิดของมนุษย์ ตามตำนานเล่าว่าเทพธิดาหนี่ว์วา (女娲) ได้สร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระหว่าง 7 วันแรกของโลก แต่ในวันที่ 7 นั้น เทพธิดาหนี่ว์วาได้สร้างมนุษย์ด้วย จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันฉลองสำหรับมวลมนุษย์

[4] เทศกาศหยวนเซียว หรือเทศกาลโคมไฟ เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของจีน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 ตามปฏิทินจีน มีประเพณีนิยม เช่น ชมโคมไฟ (赏花灯) รับประทานขนมทังหยวน (吃湯圓) ทายปริศนาโคมไฟ (猜燈謎) ตลอดจนเชิดมังกร-สิงโต (舞龍舞獅) เพื่อความเป็นสิริมงคล