บนเส้นทางการศึกษา… นำพาให้ก้าวสู่เส้นทางการเมือง

—–เจียงไคเช็ค (จีนกลางออกเสียงว่า ‘เจี่ยงเจี้ยสือ’ 蒋介石 – Jiǎng Jièshí) เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.1887 ช่วงปลายราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์แมนจู) ในครอบครัวพ่อค้าเกลือฐานะดีที่เมืองหนิงปอ (宁波) มณฑลเจ้อเจียง (浙江)  ในวัยเด็กศึกษาตำราจีนโบราณตามบ้าน ครั้นอายุได้ 15 ปีก็แต่งงานกับหญิงสาวหมู่บ้านเดียวกันตามที่ผู้ใหญ่จัดหาให้ โดยที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่าถึง 5 ปี  ชีวิตในวัยเยาว์ของเขาจึงเป็นเฉกเช่นเด็กทั่วไปในครอบครัวมีอันจะกิน นั่นคือได้รับการศึกษาตามแบบฉบับของจีนสมัยก่อน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นพ่อแม่จะจัดหาหญิงสาวที่โตกว่ามาเป็นภรรยา เพื่อช่วยดูแลความเป็นอยู่และจัดแจงงานบ้าน

—–หลังจากแต่งงานได้เพียงไม่กี่เดือน เขาก็ศึกษาต่อในโรงเรียนที่เปิดสอนวิทยาการตะวันตก จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยกฎหมายและการปกครองเมืองหนิงปอ (宁波法政学堂) วิทยาลัยเตรียมทหารมณฑลเจ้อเจียง (浙江武备学堂) ตามลำดับ

—–ปี ค.ศ. 1906  เจียงไคเช็คในวัย 19 ปี  เดินทางไปศึกษาด้านการทหารที่ประเทศญี่ปุ่น  แต่เนื่องจากไม่ได้ไปในฐานะนักศึกษาตามโครงการความร่วมมือระหว่างจีน (ราชสำนักชิง) กับญี่ปุ่น เขาจึงไม่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนการทหารของญี่ปุ่น แต่ไปเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีโตเกียว (东京职工学校) แทน ปีถัดมาก็เดินทางกลับจีน และเข้าศึกษาที่โรงเรียนทหารบกหลักสูตรเร่งรัดเมืองเป่าติ้ง (保定陆军速成学堂) มณฑลเหอเป่ย (河北) อยู่หน่วยทหารปืนใหญ่

—–ปี ค.ศ.1908 เขาเดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหารซินบุโตเกียว (东京振武军校) ประเทศญี่ปุ่นตามที่วาดหวังไว้ ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหารที่ทางการญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับนักศึกษาจีนโดยเฉพาะ ภายใต้การดูแลของกรมเสนาธิการทหารบกญี่ปุ่น ในช่วงนี้เองที่เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของถงเหมิงฮุ่ย (同盟会) สมาพันธ์เพื่อการปฏิวัติการปกครองของจีนสู่ระบอบประชาธิปไตย ก่อตั้งโดย ดร.ซุนยัตเซ็น มีสำนักงานอยู่ที่กรุงโตเกียว นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่เส้นทางการเมือง

—–เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารฯ ในปี ค.ศ.1910  เขาได้เป็นทหารกองหนุนประจำหน่วย 19 กองพลที่ 13 ของกองทัพบกญี่ปุ่น หลังจากนั้นเพียงครึ่งปีเศษก็เดินทางกลับจีนและเข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในสังกัดกองกำลังมณฑลเจ้อเจียง สถานการณ์ทางการเมืองของจีนในขณะนั้น กระแสการปฏิวัติกำลังร้อนแรง ราชวงศ์ชิงต้องเผชิญหน้ากับแรงบีบคั้นอย่างหนักจากฝ่ายที่ต้องการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เจียงไคเช็คขณะศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น

—–ปี ค.ศ. 1911 อำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิงที่ยาวนานมาเกือบสามศตวรรษก็ถึงกาลอวสาน จีนเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐจีน (中华民国) ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1912 (ขณะนั้น 17 มณฑลทางภาคใต้ของจีนได้ร่วมก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐจีน ส่วนมณฑลทางภาคเหนืออยู่ในการปกครองของหยวนซื่อข่าย (袁世凯) อดีตแม่ทัพใหญ่แห่งราชวงศ์ชิง) ในที่ประชุมผู้แทนมณฑลภาคใต้มีมติเห็นชอบให้ ดร.ซุนยัตเซ็น รับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวของรัฐบาลเฉพาะกาล เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ดร.ซุนยัตเซ็นและสมาชิกของถงเหมิงฮุ่ยได้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง (民國党) ขึ้น การเลือกตั้งผู้แทนสภาแห่งชาติจีน (中华民国国会) ครั้งที่ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1913  พรรคก๊กมินตั๋งได้จำนวนที่นั่งในสภาฯ มากเป็นอันดับหนึ่งรับหน้าที่เข้าบริหารรัฐบาลเฉพาะกาล ช่วงเวลานี้เจียงไคเช็คเป็นหัวหน้ากองกำลังหน่วย 5 ในกองพลที่ 12 ของกองทัพปฏิวัติเซี่ยงไฮ้

—–13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1913  ดร.ซุนยัตเซ็นลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว เพื่อให้สภาแห่งชาติเลือกประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการ หยวนซื่อข่ายขุนพลใหญ่ผู้กุมอำนาจการทหารในมณฑลทางภาคเหนือได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน (ตามข้อตกลงที่ว่า หากเขาสามารถเจราจากับราชสำนักชิงให้จักรพรรดิปูยียอมสละราชบัลลังก์ และมณฑลทางภาคเหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน เขาจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี) แต่ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงต้องการรวบอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ หยวนซื่อข่ายพยายามหาเสียงสนับสนุนให้เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้ออำนวยให้ตนมีอำนาจเด็ดขาด

—–ดร.ซุนยัตเซ็นและสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งต่างต่อต้านแนวความคิดนี้ ขณะที่มณฑลทางภาคใต้ก็ประกาศไม่ขอขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง  หยวนซื่อข่ายจึงสั่งยุบพรรคก๊กมินตั๋งและยกเลิกสภาแห่งชาติจีนในเวลาต่อมา การรวบอำนาจของหยวนซื่อข่าย ทำให้ฝ่ายดร.ซุนยัตเซ็นและบรรดาแม่ทัพมณฑลภาคใต้แสดงการต่อต้านด้วยการปฏิวัติ เจียงไคเช็คเป็นหนึ่งในแม่ทัพชั้นผู้น้อยของกองทัพปฏิวัติครั้งนี้ด้วย ผลการเปิดฉากสงครามระหว่างกัน กองทัพมณฑลภาคเหนือในการควบคุมของหยวนซื่อข่ายเป็นฝ่ายได้เปรียบ ดร.ซุนยัตเซ็นและแม่ทัพนายกองจำนวนไม่น้อยต้องลี้ภัยไปยังประเทศญี่ปุ่น เจียงไคเช็คก็ลี้ภัยตามไปด้วยในภายหลัง

—–ที่ประเทศญี่ปุ่น ดร.ซุนยัตเซ็นได้จัดตั้งพรรคปฏิวัติแห่งชาติจีน (中华革命党) ขึ้นต่อต้านรัฐบาลของหยวนซื่อข่าย สมาชิกส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งมาก่อน เจียงไคเช็คก็เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคปฏิวัติแห่งชาติจีนด้วย อีกทั้งได้รับมอบหมายให้รวบรวมกำลังพลในจีนจัดตั้งเป็นกองทัพปฏิวัติแถบมณฑลเจียงซู พร้อมกับรับตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังดังกล่าว ด้วยภาระหน้าที่ได้นำพาให้เจียงไคเช็คพบกับ ดร.ซุนยัตเช็นเป็นครั้งแรก ต่อมาในการสู้รบระหว่างกองทัพปฏิวัติกับกองทัพของหยวนซื่อข่าย เจียงไคเช็คมีบทบาทสำคัญไม่น้อย ทั้งสองจึงสนิทมักคุ้นกันมากขึ้น

—–1 มกราคม ค.ศ.1916 หยวนซื่อข่ายสถาปนาจักรวรรดิจีน (中华帝国) และตั้งตนเป็นจักรพรรดิรื้อฟื้นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังไม่ถึงสามเดือนเต็มเขาก็ต้องยกเลิกระบอบกษัตริย์และกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นเดิม เพราะประสบกับแรงต่อต้านจากหลายฝ่าย รวมทั้งแม่ทัพหลายคนในฝ่ายของตน เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน เขาป่วยหนักและเสียชีวิตด้วยวัย 57 ปี  เมื่อสิ้นอำนาจของหยวนซื่อข่าย บรรดาแม่ทัพที่เคยอยู่ในบังคับบัญชาแตกออกเป็นหลายฝ่าย ซึ่งสั่นคลอนเอกภาพของกองทัพรัฐบาล ถึงกระนั้นกองทัพปฏิวัติฝ่าย ดร.ซุนยัดเช็น ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้

—–ปี ค.ศ.1919 ดร.ซุนยัตเซ็นสั่งยุบพรรคปฏิวัติแห่งชาติจีนและจัดตั้งพรรคก๊กมินตั๋งขึ้นใหม่ เจียงไคเช็คเป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของพรรค และเป็นนายทหารคนสำคัญในกองทัพปฏิวัติ ช่วงที่ ดร.ซุนยัตเซ็น ขอความสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ได้มอบหมายให้เจียงไคเช็คเป็นตัวแทนนำคณะนายทหารไปศึกษางานด้านการทหารที่กรุงมอสโคว์ สหภาพโซเวียต

ดร. ซุนยัตเซ็นเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนเตรียมทหารหวงผู่

—–ปี ค.ศ. 1924 พรรคก๊กมินตั๋งเปิดประชุมสภาผู้แทนแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร พร้อมทั้งจัดตั้งกองทัพแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง โรงเรียนเตรียมทหารหวงผู่ (黄埔军校) จึงก่อตั้งขึ้นในเขตหวงผู่ นครกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง โดยมีเจียงไคเช็คเป็นประธานคณะกรรมการการก่อตั้ง พิธีเปิดโรงเรียนทหารบกแห่งแรกของจีนนี้มีขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1924 เจียงไคเช็คได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการ พร้อมกับควบตำแหน่งเสนาธิการศูนย์บัญชาการกองทัพกวางตุ้ง

เจียงไคเช็คกับดร. ซุนยัตเซ็น หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดโรงเรียนเตรียมทหารหวงผู่

—–นับจากนั้นมา เจียงไคเช็คก็เริ่มไต่เต้าสู่ตำแหน่งระดับสูงในกองทัพแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง อาทิ ผู้บัญชาการกองทัพ กรรมาธิการการทหาร ประธานกรรมาธิการการทหาร ตามลำดับ ด้านการบริหารพรรคดำรงตำแหน่งกรรมการกลางพิเศษ ประธานกรรมการกลาง  ฃและประธานกรรมการถาวร (ตำแหน่งสูงสุดในพรรค)

—–ปลายปี ค.ศ. 1928 กองทัพแห่งพรรคก๊กมินตั๋งประสบความสำเร็จในการยึดครองพื้นที่ตอนเหนือของจีน การได้รับชัยชนะครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสหภาพโซเวียต เจียงไคเช็คในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งและควบตำแหน่งประธานกรรมาธิการการทหาร

—–ในช่วง 10 ปีแรกที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งปกครองจีน รัฐบาลมีเสถียรภาพพอสมควร แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งภายใน ขณะที่เศรษฐกิจก็เติบโตขึ้นมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังได้ดินแดนที่เป็นเขตเช่าต่างชาติกลับคืนมาหลายแห่งด้วยวิธีการทางการทูต อย่างไรก็ตาม จีนมีแผ่นดินอันกว้างใหญ่และมีจำนวนประชากรมากถึง 500 กว่าล้านคน (ในขณะนั้น)  เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีได้  กอปรกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและอุดมการที่แตกต่างกันระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชนจำนวนมากจึงหันไปสนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตง สงครามช่วงชิงอำนาจการปกครองประเทศจึงเกิดขึ้นและดำเนินไปนานนับสิบปี (ค.ศ.1927-1937)

—–ปี ค.ศ.1937-1945 ช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานจีน พรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้พักรบชั่วคราว เพื่อรวมกันขับไล่ศัตรูที่คุกคามประเทศชาติ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เจียงไคเช็คกับเหมาเจ๋อตงได้เจรจาร่วมกัน เพื่อหาแนวทางหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามภายในระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งลงนามในสัญญาสงบศึก ต่อมาเพราะความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ อำนาจทางการทหาร และการจัดตั้งรัฐบาลร่วม ทั้งสองฝ่ายจึงขัดแย้งและเปิดฉากสงครามขึ้นอีกครั้ง ผลของสงครามกลางเมือง กองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายชนะ

—–1 ตุลาคม ค.ศ.1949  เหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ( 中华人民共和国, The People’s  Republic of China ) ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ฝ่ายเจียงไคเช็คซึ่งมีฐานที่มั่นในมณฑลเสฉวนได้ลี้ภัยไปเกาะไต้หวันในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยมีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทยอยอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปปักหลักที่ไต้หวันไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน นับเป็นการปิดฉากอำนาจทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ของพรรคก๊กมินตั๋งที่ยาวนานมาสองทศวรรษ (ค.ศ.1928-1949)

เจียงไคเช็คกับเหมาเจ๋อตง เจรจาร่วมกันที่เมืองฉงชิ่ง มณฑเสฉวน ในปี ค.ศ. 1945

 

ตั้งหลักปักฐานที่ไต้หวัน… สานต่อระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ 

—–ช่วงที่เจียงไคเช็คและสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งโยกย้ายไปอยู่ไต้หวัน ดินแดนไต้หวันเพิ่งจะหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น (ระหว่างปี ค.ศ.1895-1945) มาได้ไม่นาน นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การวางรากฐานระบบการปกครองเสียใหม่

—–พรรคก๊กมินตั๋งได้จัดตั้งรัฐบาลปกครองดินแดนไต้หวัน โดยมีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐจีน (中华民国, Republic of China ) สานต่อหลักไตรราษฎร์ (三民主义) ของ ดร.ซุนยัตเซ็น ซึ่งมีสาระหลักในการบริหารบ้านเมือง คือ ยึดหลักประชาธิปไตย ดำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและการดำรงชีวิต ดังนั้น รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การกุมบังเหียนของเจียงไคเช็คจึงดำเนินภาระกิจเริ่มแรกด้วยการ…

  1. วางรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนมีส่วนร่วม
  2. ปฏิรูปภาษีที่ดิน สิทธิการครอบครองที่ดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินของหลวงเพื่อส่งเสริมภาคการเกษตร พร้อมทั้งพัฒนาภาคอุตสาหกรรม
  3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สวัสดิการสังคม และส่งเสริมการค้าการลงทุน
  4. ปฏิรูประบบการศึกษาภาคบังคับซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมกับพัฒนาการศึกษาสายอาชีพหรือเฉพาะทาง และการศึกษาระดับอุดมศึกษา
  5. อนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจีน

—–ในการพัฒนาดินแดนไต้หวัน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ทั้งสองยังได้ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างไต้หวัน-อเมริกา (中美共同防御条约) อันเป็นการช่วยเหลือด้านการทหาร ทำให้รัฐบาลของเจียงไคเช็คมั่นใจในความปลอดภัยและความมั่นคงทางทหารของดินแดนไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิคมากขึ้น กล่าวได้ว่า สหรัฐอเมริกาคือพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน

 

เจียงไคเช็คในวัยชรากับตำแหน่งสูงสุดบนเส้นทางการเมือง

—–เจียงไคเช็คดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนต่อเนื่องกันถึง 4 สมัย รวมเวลา 25 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1975 ด้วยวัย 88 ปี แม้ว่าช่วงที่เขากุมอำนาจการบริหาร ภาพลักษณ์ของไต้หวันจะโน้มเอียงไปทางเผด็จการ แต่ถือได้ว่าการเมืองมีเสถียรภาพและมั่นคง รัฐบาลได้วางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาในเวลาต่อมา ชาวไต้หวันจึงยกย่องเขาเป็นรัฐบุรุษผู้เป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

 

เรื่องโดย หยดน้ำ