—–ภายหลังจากที่พรรคบัวขาวถูกราชสำนักชิงกวาดล้างครั้งใหญ่ในต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง สมาชิกพรรคบัวขาวที่ยังหลงเหลืออยู่ได้หนีกระจัดกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ บ้างปลีกตัวหลบซ่อนใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านทั่วไป บ้างเข้าร่วมกับพลพรรคกลุ่มอื่นๆ แนวความคิดของลัทธิบัวขาวจึงยังคงหยั่งรากอยู่ในสังคมชนชั้นล่างของจีน

—–กล่าวกันว่า ‘ขบวนการนักมวย’ (义和团) องค์กรชนชั้นล่างในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก่อเกิดขึ้นในปลายราชวงศ์ชิง มีความเชื่อมโยงกับพรรคบัวขาว ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรและขบวนการนักมวยมีบทบาทอย่างไรบนหน้าประวัติศาสตร์จีน หาคำตอบได้จากบทความฉบับนี้       

 

ความเกี่ยวโยงระหว่างขบวนการนักมวยกับพรรคบัวขาว

—–เกี่ยวกับความเป็นมาของ ‘ขบวนการนักมวย’ หรือที่เรียกกันว่า ‘กบฏนักมวย’ มีความเห็นไปในสองแนวทางคือ มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าขบวนการนักมวยเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพรรคบัวขาว และฝ่ายที่เห็นว่าขบวนการนักมวยไม่เกี่ยวข้องกับพรรคบัวขาวแต่อย่างใด ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ใช้อ้างอิงดังนี้

  1. เหลาไหน่เซวียน (劳乃宣 ค.ศ. 1843-1921) บัณฑิตผู้ลือนามสมัยปลายราชวงศ์ชิงได้กล่าวไว้ในหนังสือ ‘การสืบค้นความเป็นมาของขบวนการนักมวย’《义和团教门源流考》ของเขาว่า …ขบวนการนักมวยเป็นรูปแบบองค์กรลับอย่างหนึ่งของกลุ่มกบฏชาวนาในสังคมจีนยุคอดีต กลุ่มคนเหล่านี้สืบสายจากหลากหลายสำนักของพรรคบัวขาว…
  2. จางหยู่เหมย (张汝梅 ค.ศ. 1846-1912) ผู้ว่าการมณฑลซานตงระหว่างปี ค.ศ. 1897-1899 ได้รายงานไว้ในฎีกาฉบับหนึ่งที่เขายื่นต่อราชสำนักชิงว่า …ขบวนการนักมวยมาจากผู้คนที่ฝึกมวยดอกเหมย (梅花拳) มวยดอกเหมยมีที่มาจากมวยอี้เหอ (义和拳 มวยคุณธรรมสามัคคี) ขบวนการนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ซึ่งมีมาแต่รัชสมัยจักรพรรดิเซียนเฟิง (咸丰 ค.ศ. 1851–1861) และรัชสมัยจักรพรรดิถงจื้อ (同治 ค.ศ. 1862-1874) จึงไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิบัวขาว…

—–จากการศึกษาของนักวิชาการจีนในปัจจุบันต่างเห็นพ้องต้องกันว่า แท้จริงแล้วขบวนการนักมวยเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ฝึกฝนหมัดมวยด้วยกันและมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสำนักบัวขาวบางสำนัก ตามคำอธิบายโดยสังเขปดังนี้

—–ขบวนการนักมวยมีลักษณะเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ฝึกมวยอี้เหอ (义和拳 — ผู้เขียนขอแปลตามตัวอักษรจีนว่า ‘มวยคุณธรรมสามัคคี’) ในระยะแรกคำว่า ‘อี้เหอฉวน’ (义和拳) ซึ่งเป็นชื่อเรียกมวยชนิดหนึ่งนี้ เป็นชื่อเรียกองค์กรของกลุ่มคนที่ฝึกมวยดังกล่าวด้วย ภารกิจเริ่มแรกขององค์กรหรือสำนักมวยนี้คือการสอนหมัดมวยแก่ชาวบ้านทั่วไป เพื่อฝึกฝนร่างกาย ป้องกันตัว และรักษาศิลปะการต่อสู้ของจีนไว้ ขณะเดียวกันก็ประกอบกิจกรรมทางศาสนาด้วย เนื่องจากสมาชิกส่วนหนึ่งสืบสายจากสำนักบัวขาว ขบวนการนักมวยจึงได้รับอิทธิพลด้านแนวความคิดจากสำนักบัวขาวอยู่ไม่น้อย ซึ่งบางสำนักก็มีแนวความคิดนอกรีตหรือผิดเพี้ยนจากหลักคำสอนเดิมของลัทธิบัวขาว

—–แนวความคิดที่ขบวนการนักมวยได้รับอิทธิพลมาจากสำนักบัวขาวบางสำนัก คือ การศรัทธาในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระแม่ผู้ให้กำเนิดและโปรดสรรพชีวิต (无生老母) เทพสูงสุดที่สำนักบัวขาวบางแห่งเคารพบูชา รวมทั้งพิธีกรรมอีกหลายอย่าง เช่น การอัญเชิญเทพเทวามาปกปักคุ้มครอง การล้างอาถรรพ์เสนียดจัญไร การสวดมนต์ลงยันต์ ฯลฯ ต่อมาการฝึกมวยกับพิธีกรรมนอกรีตได้ผสานรวมเข้าด้วยกัน ดังเช่นระหว่างที่ฝึกมวยมีการสวดมนต์ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เพื่อให้ผู้ฝึกมวยประเภทนี้มีความเชื่อว่า พวกตนได้ฝึกวิชาหมัดมวยสุดวิเศษพิสดารที่อยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า

—–ด้านโครงสร้างภายในของขบวนการนักมวยแบ่งเป็น 8 เครือข่ายใหญ่ ได้แก่ เครือข่ายเวหาส (乾门) เครือข่ายวายุ (巽门) เครือข่ายวารี (坎门) เครือข่ายคีรี (艮门) เครือข่ายปฐพี (坤门) เครือข่ายอัสนี (震门) เครือข่ายอัคคี (离门) และเครือข่ายธารา (兑门) [ตั้งชื่อตามคัมภีร์อี้จิงที่จำแนกธรรมชาติออกเป็นแปดลักษณะ] เครือข่ายเหล่านี้กระจายตามท้องที่ต่างๆ โดยที่เครือข่ายเวหาสและเครือข่ายวารีเป็นที่รู้จักกันมาก มีจำนวนสมาชิกมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และแตกแขนงออกเป็นสาขามากมาย

—–แต่ละเครือข่ายยังแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ (团) แต่ละกลุ่มใหญ่แบ่งเป็นกลุ่มย่อย (坛) ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด สมาชิกของขบวนการนักมวยต้องสังกัดกลุ่มย่อย บ้างก็หนึ่งหมู่บ้านรวมเป็นหนึ่งกลุ่มย่อยหรือหลายหมู่บ้านรวมเป็นหนึ่งกลุ่มย่อย บ้างก็หมู่บ้านหนึ่งอาจแบ่งเป็นหลายกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มย่อยจึงมีจำนวนสมาชิกมากน้อยต่างกัน มีตั้งแต่หลักสิบคนจนถึงหลักร้อยหลักพันคน ในช่วงแรกเริ่มผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของขบวนการนักมวยต้องผ่านพิธีกรรมทางศาสนาและมีอาจารย์ถ่ายทอดหมัดมวยให้ ภายหลังกฎเกณฑ์เหล่านี้หละหลวมมากขึ้น ผู้คนรวมตัวกันเองเป็นกลุ่มทำพิธีอย่างง่ายๆ ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการนักมวยได้แล้ว สมาชิกมีทั้งชาวนา กรรมกร พ่อค้า ทหารอาสา คนเร่ร่อน และเจ้าพนักงานหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งที่เป็นชาวจีนฮั่น ชาวมองโกล ชาวแมนจู และชนเผ่าอื่นๆ โดยส่วนหนึ่งสืบสายมาจากสมาชิกสำนักต่างๆ ของลัทธิบัวขาวในสมัยราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง บางกลุ่มก็สืบสายมาจากผู้ฝึกหัดหมัดมวยสมัยต้นราชวงศ์ชิง ในภาพรวมสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตน จำต้องเลี้ยงปากท้องด้วยการขายแรงงานเป็นชาวนารับจ้าง ถูกกดขี่ขูดรีดจากบรรดาเจ้าของที่นาและเจ้าพนักงานท้องที่ ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกขบวนการนักมวยยากลำบากมาก ดังคำกล่าวที่ว่า ‘หนึ่งวันสามมื้อ ข้าวหยาบคลุกผักดอง ตกค่ำนอนตามพื้น’

—–ศูนย์รวมหรือที่ทำการของแต่ละกลุ่มมักอยู่ตามวัดวาอาราม โดยแต่ละกลุ่มจะตั้งป้ายชื่อเทพเทวาหรือบุคคลที่พลพรรคของตนนับถือศรัทธาไว้เพื่อสักการะบูชา เช่น มหาเทพเง็กเซียน พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) เทพเจ้าสามตา เทพเจ้ากวนอู และเทพเจ้าจี้กง ฯลฯ บางกลุ่มก็บูชาฟ้าดิน บุรพกษัตริย์ บรรพชน และครูบาอาจารย์ กลุ่มที่สังกัดเครือข่ายเดียวกันส่วนใหญ่มีความเชื่อความศรัทธาไปในทางเดียวกัน แต่หากต่างเครือข่ายกันจะเคารพบูชาเทพต่างองค์ การดำเนินงานของแต่ละเครือข่ายก็อิสระจากกันไม่มีสายสัมพันธ์ที่ผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น ขบวนการนักมวยจึงเป็นองค์กรที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ไม่ได้มีเอกภาพที่เหนียวแน่น บางครั้งยังขัดแย้งกันเองเพราะมีจุดยืนหรือหลักการที่ต่างกัน

—–แม้ว่าขบวนการนักมวยจะเป็นองค์กรที่ไม่มีกฎข้อบังคับที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม แต่สมาชิกก็มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน นั่นคือ ‘ไม่ละโมบ  ไม่หลงกามคุณ  กตัญญูต่อบุพการี  นอบน้อมถ่อมตน ตั้งมั่นแน่วแน่ ต่อต้านชาติตะวันตก กำจัดขุนนางโฉด และคบมิตรร่วมอุดมการณ์’  นอกจากนี้ยังห้ามเสพฝิ่น โดยมีบทสวดสำหรับเลิกสิ่งเสพติดว่า ‘อัญเชิญองค์ยูไล โปรดเมตตาขจัดพิษสิ่งเสพติด อมิตาภพุทธ อมิตาภพุทธ…’  หลักปฏิบัติเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากสำนักของพรรคบัวขาว นับว่าเป็นการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามหายานในลัทธิบัวขาวมาเป็นกรอบยึดเหนี่ยวให้แก่สมาชิก

—–จากข้อมูลข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า ขบวนการนักมวยมีลักษณะที่เด่นชัด 3 ประการ คือ

  1. เป็นองค์กรที่นำอุดมการณ์ทางการเมือง ลัทธิคำสอน (รวมทั้งความเชื่อความศรัทธาและพิธีกรรมต่างๆ) และการรวมสมาชิกในรูปแบบกำลังพลมาผนวกเข้าด้วยกัน หัวหน้าเครือข่ายหรือหัวหน้ากลุ่มมีหน้าที่วางกลยุทธ์การทำศึก นำกองกำลังออกรบ เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมและเป็นตัวแทนของกลุ่ม
  2. ไม่มีผู้นำสูงสุด แต่ละเครือข่ายอิสระต่อกัน แม้แต่กลุ่มที่สังกัดเครือข่ายเดียวกันก็ดำเนินงานค่อนข้างอิสระจากกัน กอปรกับมีสมาชิกกระจายตามหมู่บ้านและชุมชน รูปแบบและขอบข่ายการปฏิบัติการจึงเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเฉพาะท้องที่ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินงานระดับภาพรวม ส่วนใหญ่รวมตัวกันราว 3-4 เดือน ยกเว้นที่มณฑลซานตงอันเป็นฐานที่มั่นของขบวนการนักมวย การเคลื่อนไหวได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  3. มีความเชื่อความศรัทธาในทางไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยมากได้รับอิทธิพลจากสำนักบัวขาวบางสำนักที่มีหลักปฏิบัติผิดแผกไปจากหลักคำสอนเดิมของลัทธิบัวขาว

—–ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ขบวนการนักมวยมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น คือ แต่ละกลุ่มย่อยซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของขบวนการนักมวย ส่วนมากมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพรรคบัวขาวหลากหลายสำนัก ซึ่งก็รวมกันเป็นองค์กรใหญ่ในนามของพรรคบัวขาวแต่เพียงผิวเผิน การรวมกลุ่มเป็นองค์กรในลักษณะนี้ได้ส่งถ่ายมายังขบวนการนักมวยด้วย

 

ขบวนการนักมวย – องค์กรชนชั้นล่างที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม

—–หนังสือหรือตำราไทยที่เกี่ยวกับสังคมและประวัติศาสตร์ของจีน เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนปลายราชวงศ์ชิง มักเรียกเหตุการณ์จลาจลที่เกิดจากชาวจีนชนชั้นล่างกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันต่อต้านชาติตะวันตกและจักรวรรดินิยมในระหว่างปี ค.ศ. 1899-1901 ว่า ‘เหตุการณ์กบฏนักมวย’  (义和团运动)

—–การใช้คำว่า ‘กบฏนักมวย’ แทนที่จะเป็น ‘ขบวนการนักมวย’ ซึ่งมีความหมายที่เป็นกลางมากกว่า คงไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากคำว่า ‘กบฏ’ ใช้กับกลุ่มบุคคลหรือการกระทำที่มุ่งประทุษร้ายต่อความมั่นคงของรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือยึดอำนาจ แต่ชาวจีนกลุ่มนี้มีเจตนารมณ์และเป้าหมายในการต่อต้านชาติตะวันตกที่กดขี่ข่มเหงจีนมานานโดยมีราชสำนักชิงให้การสนุบสนุนอยู่เบื้องหลัง

—–ส่วนสาเหตุที่ตำราไทยบางเล่มใช้คำว่า ‘กบฏ’ กับกลุ่มคนเหล่านี้ อาจเป็นเพราะการเคลื่อนไหวและการกระทำของพวกเขามีภาพลักษณ์ที่ก่อความวุ่นวาย สร้างความโกลาหล ทำลายทรัพย์สมบัติของบ้านเมืองและเข่นฆ่าผู้คนจนนำไปสู่เหตุการณ์จลาจลในสังคมจีน ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Boxer Rebellion’ (การจลาจลของกลุ่มนักมวย) อันเป็นความหมายในเชิงลบ ภาษาไทยจึงเลือกใช้คำว่า ‘กบฏ’ ซึ่งมีความหมายในแง่ลบเช่นกัน สำหรับบทความฉบับนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า ‘ขบวนการนักมวย’ ในความหมายของ ‘อี้เหอถวน’ (义和团) โดยจะไม่ใช้คำว่า ‘กบฏนักมวย’  ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการตีกรอบทัศนคติในเชิงลบให้แก่ผู้อ่าน

 

ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ เมื่อบ้านเมืองคับขัน   

—–จากความเกี่ยวโยงของขบวนการนักมวยกับพรรคบัวขาว จะเห็นได้ว่าขบวนการนักมวยเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบางสำนักของพรรคบัวขาวและสมาชิกบางกลุ่มก็สืบสายมาจากสำนักต่างๆ ของพรรคบัวขาว ขบวนการนักมวยจึงมีแนวทางทางการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคบัวขาว นั่นคือการยึดแนวทางต่อต้านอำนาจการปกครองของชนต่างเผ่าที่ไม่ใช่ชาวจีนฮั่นโดยมีเป้าหมายกอบกู้แผ่นดินคืนแก่ชาวจีน ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนไหวในระยะแรกของขบวนการนักมวยจึงชูธง ‘ต่อต้านแมนจู ฟื้นฟูราชวงศ์หมิง’ (反清复明)

—–ต่อมา ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 ปลายยุคสมัยที่พระนางซูสีไทเฮากุมอำนาจ ชาติตะวันตกที่ได้รับเอกสิทธิ์บนแผ่นดินจีนตามสนธิสัญญาที่มีต่อกัน กดขี่เอาเปรียบชาวจีนมากขึ้นและมีอภิสิทธิ์เหนือคนจีนผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน บ้างได้ยึดที่นาของชาวบ้านมาสร้างโบสถ์ ตัดถนนหนทาง สร้างทางรถไฟ ฯลฯ ครั้นเมื่อชาวจีนถูกกดขี่ข่มเหงจากชาวต่างชาติและถูกยัดเยียดคำสอนของศาสนาคริสต์ กอปรกับบ้านเมืองอ่อนแอจำต้องลงนามในสนธิสัญญาที่จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบฉบับแล้วฉบับเล่า นับตั้งแต่หลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 หรือปี ค.ศ. 1839 เป็นต้นมา ทำให้สมาชิกของขบวนการนักมวยได้รวมกลุ่มต่อต้านชาติตะวันตกที่รุกรานจีน

—–การเคลื่อนไหวของขบวนการนักมวยได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักชิง เนื่องจากพระนางซูสีไทเฮาเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นเสมือนหมากตัวหนึ่งที่พระนางจะใช้ต่อกรกับชาวตะวันตกได้ภายใต้สถานการณ์ที่ไร้ทางเลือกในขณะนั้น หรืออย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ช่วยระบายความคับแค้นใจของชาวจีนที่ต้องทนต่อการถูกกดขี่มานานได้บ้าง วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1900 พระนางจึงประกาศสงครามกับสิบเอ็ดชาติที่คอยรุกรานจีนในขณะนั้น (ประกอบด้วย  อังกฤษ  อเมริกา  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  อิตาลี  สเปน  เบลเยี่ยม  เนเธอร์แลนด์  ออสเตรีย-ฮังการี  รัสเซีย และญี่ปุ่น)

ทหารนานาชาติที่เข้าร่วมปราบกบฏนักมวย

—–เมื่อมีราชสำนักให้การสนับสนุน อุดมการณ์และเป้าหมายของขบวนการนักมวยจึงพุ่งไปที่การขับไล่ชาติตะวันตก ดังคำขวัญที่ได้ปรับเปลี่ยนเป็น ‘ค้ำจุนราชวงศ์ชิง  ขับไล่ชาติตะวันตก’ (扶清灭洋)  ‘ผดุงธรรมแทนสวรรค์’ (替天行道) หรือ ‘กองทัพสวรรค์ ปกป้องราชวงศ์ชิง  ขับไล่ชาติตะวันตก’ (天兵天将,保清灭洋) การต่อต้านและขับไล่ชาวตะวันตกออกจากแผ่นดินจีนได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจากจุดเริ่มที่มณฑลซานตงสู่มณฑลอื่นๆ

 

จุดเริ่มและจุดจบของเหตุการณ์จลาจลโดยขบวนการนักมวย 

—–การที่ชาวจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวต่อต้านชาวตะวันตกในนามของขบวนการนักมวย นับเป็นการแสดงออกซึ่งความคับแค้นใจที่ถูกชาวต่างชาติข่มเหงมานาน  เหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นในปลายปี ค.ศ. 1898 ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในมณฑลซานตง (山东) ชนวนของเหตุการณ์มาจากการสร้างโบสถ์โรมันคาทอลิกบนที่ดินของหมู่บ้าน ซึ่งฝ่ายมิชชันนารีอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกตน โดยได้ครอบครองที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ.1662-1722) เป็นเหตุให้ชาวบ้านในท้องที่ไม่พอใจและเข้าทำลายโบสถ์ ความขัดแย้งระหว่างชาวจีนกับชาวตะวันตกนี้ได้ขยายผลไปยังมณฑลอื่นๆ และทวีความรุนแรงมากขึ้น กระทั่งก่อเกิดเป็นวิกฤตการณ์ครั้งรุนแรงในปี ค.ศ. 1900 เมื่อชาวตะวันตกและมิชชันนารีกลุ่มหนึ่งถูกสมาชิกของขบวนการนักมวยเข่นฆ่า  ขณะที่โบสถ์ ที่ทำการ ห้างร้าน และสถานที่พำนักของชาวตะวันตกก็ถูกเผาทำลาย สถานการณ์เช่นนี้สร้างความหวาดกลัวแก่ชาวตะวันตกและหมอสอนศาสนาเป็นอย่างมาก ทำให้พันธมิตรแปดชาติที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในจีน ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี่ รัสเซีย และญี่ปุ่น ต้องร่วมมือกันปราบปรามขบวนการนักมวย จนนำไปสู่การสังหารหมู่ชาวจีนที่เป็นสมาชิกของขบวนการนักมวยอย่างโหดร้ายทารุณ

ขบวนการนักมวยที่เทียนสิน

—–การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่างกองกำลังของขบวนการนักมวยกับกองทัพพันธมิตรแปดชาติเกิดขึ้นที่เมืองเทียนสินและนครปักกิ่ง แม้ว่าขบวนการนักมวยจะมีกำลังพลหลายแสนนายและได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากราชสำนักอย่างลับๆ ขณะที่กองทัพพันธมิตรฯ มีไพร่พลไม่ถึงแสนนาย แต่ในที่สุดขบวนการนักมวยก็ต้องปราชัยให้แก่กองทัพพันธมิตรฯ ที่มีอาวุธครบครันและทันสมัยกว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้กองกำลังของขบวนการนักมวยต้องประสบกับความพ่ายแพ้ก็คือ กองกำลังบางกลุ่มได้เผาทำลายบ้านเรือนและเข่นฆ่าคริสตศาสนิกชนที่เป็นชาวจีนด้วยกัน อีกทั้งรุกล้ำพระราชวังมุ่งจะสังหารจักรพรรดิกวงซวี่ (光绪) โดยหวังที่จะปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจตามการยุยงของราชนิกูลอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ราชสำนักต้องส่งทหารเข้ายับยั้ง กองกำลังของขบวนการนักมวยจึงเผชิญหน้ากับศึกสองด้านทั้งจากกองทัพชาติตะวันตกและกองทัพของทางการ กล่าวได้ว่าการขาดเอกภาพในเป้าหมายและเอกภาพการปกครองภายในกองทัพ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขบวนการนักมวยต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบ

—–เมื่อกองทัพพันธมิตรฯ เป็นฝ่ายชนะก็มุ่งหน้าสู่พระราชวังต้องห้าม วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1900 พระนางซูสีไทเฮาในวัย 65 พรรษา เสด็จออกจากพระราชวังอย่างเร่งด่วนพร้อมด้วยจักรพรรดิกวงซวี่ เพื่อลี้ภัยไปยังเมืองซีอานก่อนที่ทหารพันธมิตรฯ จะบุกประชิดพระราชวัง

—–วันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901  หลี่หงจาง (李鸿章 ผู้ว่าการมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง) ในฐานะผู้แทนราชสำนักชิงจำต้องลงนามในพิธีสารบ๊อกเซอร์ (The Boxer Protocol หรือ Peace Agreement between the Great Powers and China – 辛丑条约) เพื่อขอสงบศึกกับแปดชาติพันธมิตร โดยมีสาระสำคัญดังนี้

– จีนต้องส่งผู้แทนขอโทษต่อชาติพันธมิตรฯ และยอมจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 450 ล้านตำลึง (ประมาณ 300 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น)

– กำหนดอาณาเขตของสถานทูตและเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูต

– รื้อถอนป้อมปราการตั้งแต่เมืองเทียนสินถึงนครปักกิ่ง และยอมให้ต่างชาตินำทหารเข้าประจำการที่เมืองเทียนสิน นครปักกิ่ง และพื้นที่รอบนอก

– แก้ไขข้อตกลงทางการค้าและการเดินเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาติตะวันตก

 

เห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการนักมวยที่มีส่วนนำพาให้ราชสำนักชิงประกาศสงครามกับสิบเอ็ดชาติตะวันตก ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของขบวนการนักมวยและของจีนโดยภาพรวม ทำให้จีนต้องลงนามในสนธิสัญญาที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบอีกครั้ง ถือเป็นการบั่นทอนอำนาจและความมั่นคงของราชวงศ์ชิงที่ปกครองจีนในขณะนั้นซ้ำอีกระลอก เพียงสิบปีต่อมาการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่อยู่คู่แผ่นดินจีนมาหลายพันปีก็ถึงกาลอวสานในยุคราชวงศ์ชิง จีนได้ก้าวสู่การปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐในปี ค.ศ. 1911 จากการปฏิวัติของ ดร. ซุนยัดเซ็น

 

เรื่องโดย เสี่ยวหลงเปา