—–พิพิธภัณฑสถานสุสานทหารดินเผาแห่งจักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇兵馬俑博物館) ถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่มีการค้นพบสุสานทหารดินเผาและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1979  ลักษณะสุสานเป็นต้นแบบของสุสานจักรพรรดิในสมัยโบราณที่ใช้การสร้างหุ่นดินเผาแทนการฝังคนทั้งเป็นเพื่อไปเป็นข้ารับใช้จักรพรรดิในภพหน้า เช่น ทหารม้า ทหารราบ พลธนู รถศึก ม้าศึก เป็นต้น และถูกฝังอยู่ในท้องที่หมู่บ้านซีหยางชุน (西楊村) อำเภอหลินถง (臨潼) เมืองซีอาน (西安) มณฑลส่านซี (陕西) ห่างจากสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇帝陵墓) ไปทางตะวันออกประมาณ 1.5 กิโลเมตร
—–ตามบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้ (史記) จักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇 259-210 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีพระบรมราชโองการให้อัครเสนาบดีหลี่ซือ (李斯 284-208 ปีก่อนคริสต์ศักราช) อำนวยการออกแบบและก่อสร้าง ให้นายพลจางหาน (章邯 ไม่แน่ชัด-205 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ควบคุมการก่อสร้างซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 39 ปีจึงแล้วเสร็จ ต่อมาช่วงปลายราชวงศ์ฉินเกิดสงครามระหว่างเซี่ยงอวี่ (項羽 หรือฌ้อปาอ๋อง 232-202 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กับหลิวปัง (劉邦 เล่าปัง 256/247–195 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น) ตัวสุสานและทหารดินเผาประสบความเสียหายอย่างรุนแรง และถูกทิ้งขว้างไว้ให้จมดินอยู่เนิ่นนานนับพันปี
—–จนกระทั่งเดือนมีนาคม ค.ศ. 1974 จึงเกิดการค้นพบโดยบังเอิญ ตอนนั้นผู้ใหญ่บ้านหยางเผยเยี่ยน (楊培彥) ได้นำทีมชาวบ้านไปช่วยกันขุดบ่อเพื่อทำการเกษตรบนที่ดินที่ไม่ไกลจากป่าซื่อหลิน (柿林) เมื่อขุดลึกประมาณ
4-5 เมตร พบก้อนอิฐบนพื้น หัวลูกศรทองแดง ธนู และทหารดินเผาในสภาพไม่สมบูรณ์จำนวนหนึ่ง จึงหยุดกลางคันแล้วแจ้งทางรัฐบาลให้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีเข้ามาตรวจสอบ นายจ้าวคังหมิน (趙康民 ค.ศ. 1936-2018) เป็นนักโบราณคดีคนแรกที่เข้ามาสำรวจแล้วเก็บรวบรวมและบันทึกโบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบ ขณะเดียวกัน นายลิ่นอันเหวิ่น (藺安穩) นักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ซินหัว (新華日報) ที่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดพอดี ได้นำเสนอข่าวการค้นพบหุ่นดินเผาอย่างครึกโครม จนนายหลี่เซียนเนี่ยน (李先念 ค.ศ. 1909-1992) รองนายกรัฐมนตรีต้องออกมาตรการเพื่อปกปักรักษาทหารดินเผาที่สำคัญเหล่านี้ จากนั้นในวันที่ 15  กรกฎาคม ค.ศ. 1974 นักโบราณคดีได้เริ่มขุดค้นสุสานทหารดินเผาทางทิศตะวันออกของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีไกลออกไป 1.5 กิโลเมตร เป็นหลุมหมายเลข 1 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด และวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1976 ได้ขุดพบหลุมหมายเลข 2 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหลุมหมายเลข 1 ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม ในปีเดียวกันได้ขุดพบหลุมหมายเลข 3 อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหลุมหมายเลข 1

หุ่นทหารดินเผาและม้าดิน

—–ปัจจุบันมีการขุดค้นสุสานแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 3 หลุม กินเนื้อที่ 20,000 กว่าตารางกิโลเมตร อยู่ลึกจากพื้นดินกว่า 5 เมตร พื้นปูด้วยอิฐสีดำ โครงสร้างทำด้วยไม้และดิน มีกำแพงสูงราว 3 เมตรแบ่งเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนจัดวางเป็นกองทัพ หลุมทั้ง 3 ต่างมีทางเข้าออกโดยเฉพาะ ภายในมีหุ่นทหารดินเผาและม้าดินเผาเกือบ 8,000 ชิ้น หลุมทั้ง 3 มีลักษณะดังต่อไปนี้

—–หลุมหมายเลข 1 เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ กว้าง 62 เมตร ยาว 230 เมตร ลึก 4.6-6.5 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 14,260 ตารางเมตร บรรจุหุ่นดินเผาทหารราบและรถศึกกว่า 6,000 ตัว ภายในหลุมกั้นด้วยกำแพงดิน แบ่งเป็นช่องๆ ได้ 11 ช่อง แต่ละช่องมีหุ่นทหารดินเผายืนเรียงรายตามแบบกระบวนทัพ ประกอบด้วยทัพหน้า ปีกซ้าย ปีกขวา และทัพหลัง หุ่นทหารดินเผาล้วนมีอาวุธประจำทุกตัว เช่น ดาบ เกาทัณฑ์ และหอก จัดวางตามตำแหน่งเช่นเดียวกับกองทัพจริง

หลุมหมายเลข 1

—–หลุมหมายเลข 2 คือหลุมที่ถูกขุดพบจากการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีทางธรณีวิทยา มีลักษณะเป็นรูปตัว L ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหลุมหมายเลข 1 ห่างออกไป 20 เมตร กว้าง 98 เมตร ยาว 124 เมตร ลึก 5 เมตร  มีพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร บรรจุหุ่นทหารดินเผาและม้าดินเผากว่า 1,300 ตัว  รถศึกทำด้วยไม้ราว 80 คัน และอาวุธทำด้วยโลหะ นอกจากนี้ยังมีรถดินเผา ม้าดินเผา หุ่นพลธนูในท่าคุกเข่ายิง ภายในหลุมมีการจัดกระบวนทัพซับซ้อนและยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาหลุมที่ขุดพบ

—–หลุมหมายเลข 3  คือหลุมที่ถูกขุดพบจากการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีทางธรณีวิทยาเช่นเดียวกับหลุมหมายเลข 2 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหลุมหมายเลข 1 ห่างออกไป 25 เมตร มีลักษณะพิเศษคือ ออกแบบเป็นรูปตัว U กว้าง 17.6 เมตร ยาว 21.4 เมตร ลึก 4.8 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 520 ตารางเมตร บรรจุหุ่นทหารดินเผา รถศึก ม้าดินเผา และอาวุธต่างๆ เช่น หอกปลายแหลม (銅殳) หัวลูกศรทองแดง (銅簇)  ฝักดาบ (銅劍鞘頭) ราว 68 ชิ้น หลุมแห่งนี้เป็นเพียงหลุมเดียวที่ไม่ได้ถูกไฟไหม้ ดังนั้นตอนที่ขุดพบจึงยังมีสีสันติดอยู่บนตัวหุ่นทหารดินเผา อีกทั้งเป็นหลุมที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพ

—–ทั้ง 3 หลุมมีการจัดเรียงตามรูปตัวอักษรจีน คำว่า ผิ่น (品) สื่อถึงกระบวนทัพที่แข็งแกร่งเกรียงไกรในการเฝ้าพิทักษ์สุสานของจักรพรรดิจิ๋นซี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหลุมที่ไม่ได้ดำเนินการขุดค้น รวมทั้งตัวสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซีอันเป็นองค์ประกอบหลัก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีสูงพอที่จะรักษาสภาพสีสันบนตัวหุ่นทหารดินเผาให้คงทนถาวรได้

—–ในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2011 มีการเปิดหลุม K0006 และ K9901 ให้เข้าชมเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ หลุมทั้ง 2 มีรายละเอียดดังนี้

—–หลุม K0006 เป็นการขุดพบหลุมหุ่นดินเผาข้าราชการพลเรือน (文官俑坑) ครั้งแรก นับตั้งแต่การขุดพบหุ่นทหารทั้งหมด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี  มีพื้นที่ 410 ตารางเมตร ภายในอุโมงค์ใต้ดิน เป็นโครงสร้างไม้ มีรูปทรงเป็นตัวอักษรคำว่า จง (中) แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ทางเข้าเป็นเนินลาดเอียง ห้องด้านหน้ามีความกว้าง 4.05 เมตร ยาว 10.6 เมตร ตรงกำแพงทิศใต้ยังมีห้องด้านข้าง 1 ห้อง มีความกว้าง 2.9 เมตร ยาว 3.8 เมตร ขุดพบหุ่นดินเผา 12 ตัว ห้องด้านหลังมีความกว้าง 3.9 เมตร ยาว 20.2 เมตร ขุดพบโครงกระดูกม้าประมาณ 20 ตัว
หลุม K9901 ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงเมืองด้านนอกกับด้านในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี  มีพื้นที่ราว 700 ตารางเมตร ลักษณะคล้ายตัวอักษรจีนคำว่า ทู (凸) มีทางเข้าด้านตะวันตกและตะวันออก ภายในอุโมงค์ใต้ดินเป็นโครงสร้างไม้แต่ถูกเผาจนพังทลายลงมา มีการขุดพบกระถางสำริด 1 ชิ้น หุ่นดินเผา 11 ตัว ลำตัวท่อนบนเปลือย ท่อนล่างสวมกางเกงขาสั้น ส่วนสูงเท่าคนจริงและมีลักษณะท่าทางแตกต่างกัน

—–หุ่นดินเผาที่ถูกขุดพบสามารถจัดระดับชั้นได้จากเสื้อผ้าอาภรณ์ และรูปทรงของหมวกเป็นหลัก
—–หากแบ่งตามรูปทรงหมวก แบ่งได้คร่าวๆ คือ หุ่นนายทหารระดับสูง ระดับกลาง และระดับต่ำจะสวมหมวก แต่หุ่นทหารทั่วไปจะมีผ้าโพกศีรษะ ส่วนหุ่นทหารม้าจะสวมหมวกทรงกลมคล้ายบาตร (鉢)

เครื่องแต่งกายของหุ่นทหารม้า

—–หากแบ่งตามเสื้อผ้า แบ่งได้คร่าวๆ คือ หุ่นนายทหารระดับสูงจะสวมชุดคลุมยาว 2 ชั้น หุ่นนายทหารระดับกลางและระดับล่างจะสวมชุดคลุมยาว 1 ชั้น กางเกงจะมี 2 แบบ คือ หุ่นนายทหารระดับสูงและระดับกลาง รวมถึงหุ่นทหารม้าจะสวมกางเกงขายาว (長褲) หุ่นทหารราบและหุ่นสารถีบังคับรถศึกจะสวมกางเกงขาสั้น (短褲)

—–หุ่นดินเผาที่ขุดพบส่วนใหญ่จะสวมรองเท้าที่มีลักษณะเหมือนกัน คือพื้นบาง ด้านข้างรองเท้าตื้น ด้านหลังสูง ด้านหน้าต่ำ รูปทรงคล้ายเรือ หุ่นนายทหารชั้นสูงจะมีหัวรองเท้าแหลมสูง นอกนั้นจะมีหัวรองเท้าแหลมแต่ไม่สูงมาก หัวรองเท้ากลม (圓頭履) หรือหัวรองเท้าเรียบเสมอกัน (齊頭履) ส่วนหุ่นทหารราบจะสวมรองเท้าบู๊ท (靴)
—–หุ่นทหารดินเผาถูกสร้างโดยช่างฝีมือที่เป็นกลุ่มชนชั้นล่างในสังคมสมัยราชวงศ์ฉิน พวกเขาใช้วิธีการปั้นขึ้นรูปและการเผา ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคร่าวๆ คือ

—–ขั้นตอนที่ 1 หล่อดินเหนียวขึ้นรูปเป็นหุ่นทหารดินเผาขนาดใหญ่
—–ขั้นตอนที่ 2 เติมดินเหนียวเข้าไปอีก และแกะสลักรายละเอียดพร้อมตกแต่งเพิ่มเติม
—–ขั้นตอนที่ 3 ประกอบศีรษะ มือ ลำตัวเข้าด้วยกันจนกลายเป็นหุ่นทหารดินเผา

—–เมื่อมีการศึกษาจากหุ่นทหารดินเผาที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้ทราบว่า การสร้างหุ่นทหารดินเผาเหล่านี้เกิดจากการประกอบกันขึ้นด้วยชิ้นส่วนหลักได้แก่ศีรษะกับลำตัว

—–ส่วนศีรษะ จะใช้วิธีหล่อต้นแบบขึ้นมาโดยแบ่งครึ่งส่วนหน้าและส่วนหลังเท่าๆ กันก่อน แล้วค่อยนำมาประกอบกัน ส่วนศีรษะหลังจากประกอบแล้วรอยต่อจะอยู่บริเวณหลังหู รอยต่อนี้ต้องเสมอกันและไม่มีส่วนนูนออกมาให้เห็น ศีรษะกลวงเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับต้นคอได้ จากนั้นประกอบหู มวยผม ผมเปีย หมวก แล้วแกะสลักอวัยวะบนใบหน้า หนวดเครา และเส้นผมอย่างละเอียดซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด นอกจากนี้การแสดงออกทางสีหน้าของทหารดินเผาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “1,000 หุ่น 1,000 หน้า” (千人千面)

—–ส่วนลำตัวจะใช้วิธีการปั้นด้วยมือ โดยปั้นขึ้นเป็นรูปทรงคร่าวๆ ก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียดเช่น ลวดลายของเสื้อผ้าอาภรณ์ เสื้อเกราะ เข็มขัด หัวเข็มขัด ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้
—–ขั้นตอนที่ 1 สร้างแผ่นเหยียบเท้าสำหรับทหารยืนก่อน
—–ขั้นตอนที่ 2 ปั้นเท้าทั้ง 2 ข้าง
—–ขั้นตอนที่ 3 ปั้นขาทั้ง 2 ข้างและกางเกงขาสั้น
—–ขั้นตอนที่ 4 ปั้นลำตัว
—–ขั้นตอนที่ 5 นำลำตัวไปตากลมให้แห้งแล้วติดแขนทั้ง 2 ข้าง
—–ขั้นตอนที่ 6 ติดมือทั้ง 2 ข้าง

 

—–ในส่วนรายละเอียดถ้าเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์จะต้องนำดินเหนียวมาเติมอีก 1 ชั้นแล้วค่อยแกะสลัก แต่ถ้าเป็นเสื้อเกราะ เข็มขัดและหัวเข็มขัดสามารถแกะสลักได้เลย และนำลำตัวที่แกะสลักเรียบร้อยมาติดมือเท้าทั้ง 4 แล้วจึงติดส่วนศีรษะเป็นลำดับสุดท้าย จากนั้นนำไปเผาที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส เผาเสร็จก็นำไปตากลมให้เย็นลงแล้วค่อยแต่งแต้มสีสันเป็นอันเสร็จสมบูรณ์

—–พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศจีน และได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1987 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลกยุคโบราณ มีผู้เข้าชมราว 70 ล้านคนตั้งแต่เปิดให้เข้าชม และผู้นำกว่า 200 ประเทศเคยมาเยือน

 

เรื่องโดย เสี่ยวเฉิน