—–ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1405 กองเรือของเจิ้งเหอ (郑和) ออกเดินทางเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรอบมหาสมุทรอินเดีย ครั้งนั้นกองเรือใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา เปิดโอกาสให้ชาวจีนได้ติดต่อค้าขายกับผู้คนในแถบนี้มากขึ้น นำมาสู่การตั้งรกรากในแถบคาบสมุทรมลายูเรื่อยไปจนถึงเกาะชวา ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียในปัจจุบัน ชาวจีนอพยพเหล่านี้บางส่วนก็เป็นลูกเรือที่เดินทางมากับกองเรือหลวง ส่วนใหญ่เป็นชายโสดที่เดินทางมาขายแรงงานในเหมืองแร่หรือบุกเบิกที่ดินรกร้าง เมื่อตั้งรกรากอยู่ในต่างแดนได้สักระยะ จึงมักแต่งงานกับหญิงพื้นเมือง และให้กำเนิดลูกหลานเลือดผสมเชื้อสายจีน-มลายูที่เรียกว่า ชาวเปอรานากัน หรือ บาบ๋า-ย่าหยา นั่นเอง —–คำว่า ‘เปอรานากัน’ (Peranakan) เป็นคำมลายู แปลว่า ‘ถือกำเนิดที่นี่’ ใช้เรียกสายเลือดลูกผสมที่ถือกำเนิดในดินแดนแถบแหลมมลายู แท้จริงแล้วคำว่า ‘เปอรานากัน’ มีความหมายรวมถึง คนที่มีเชื้อสายลูกผสมระหว่างชาวต่างชาติและชาวพื้นเมืองมลายู เช่น ชาวอาหรับเปอรานากัน ชาวดัตช์เปอรานากัน และชาวอินเดียเปอรานากัน เป็นต้น แต่เนื่องจากกลุ่มชาวจีนในมลายูมีจำนวนมาก และมีบทบาทที่โดดเด่นในสังคม โดยทั่วไปคำว่า ‘เปอรานากัน’ จึงถูกใช้อ้างถึงชาวจีนเปอรานากันเท่านั้น —–ลูกหลานชาวมลายูเชื้อสายจีนนี้ ผู้ชายจะเรียกว่า ‘บาบ๋า’ (峇峇) ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า ‘ย่าหยา’ (娘惹) คำว่า บาบ๋า (Baba) เป็นภาษามลายูที่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย ใช้เป็นคำเรียกเชิงยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ชาย ส่วน ย่าหยา หรือ โญนญา (Nyonya) เป็นคำชวา แปลว่า หญิงต่างชาติที่แต่งงานแล้ว สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากคำว่า dona ในภาษาโปรตุเกส ซึ่งแปลว่า คุณผู้หญิง แต่ก็มีบางทฤษฎีที่กล่าวว่าคำนี้อาจมาจากคำว่า nonna ซึ่งแปลว่า คุณย่าหรือคุณยายในภาษาอิตาลี —–การแต่งงานระหว่างชาวจีนกับชาวมลายูพื้นถิ่นก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม จนหล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์แบบฉบับของชาวเปอรานากันในที่สุด มีความโดดเด่นในหลายๆ ด้าน เช่น ภาษา เครื่องแต่งกาย อาหาร และสถาปัตยกรรม เป็นต้น ภาษาบาบ๋ามาเลย์ —–ภาษาบาบ๋ามาเลย์เป็นภาษาถิ่นที่เกิดจากการผสมผสานภาษาหมิ่นหนัน (闽南) ซึ่งเป็นภาษาถิ่นในแถบมณฑลฮกเกี้ยนและภาษามาเลย์เข้าด้วยกัน โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือเป็นภาษาถิ่นมาเลเซียที่ใช้คำยืมจากภาษาจีนฮกเกี้ยนเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น คำว่า loteng ซึ่งหมายถึง ชั้นบน มาจากคำว่า เหล่าเต๊ง (楼顶) ในภาษาฮกเกี้ยน และคำว่า tia ซึ่งหมายถึง ห้องโถง มาจากคำว่า เทีย (厅) เป็นต้น เดิมทีภาษาบาบ๋ามาเลย์ใช้ในภาษาพูดเท่านั้น และเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญของพ่อค้าชาวจีนเปอรานากันในการติดต่อค้าขายกับชาวมาเลย์พื้นเมืองโดยเฉพาะในมะละกาและสิงคโปร์ (ส่วนในปีนังนั้น ภาษาที่ชาวเปอรานากันใช้จะแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยจะพูดภาษาที่คล้ายคลึงกับภาษาจีนฮกเกี้ยนมากกว่า และมีคำยืมที่ได้รับอิทธิพลจากภาษามาเลย์) ภายหลังจึงเริ่มมีนักวิชาการพยายามจัดรูปแบบการบันทึกภาษาบาบ๋ามาเลย์ขึ้นโดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นสัญลักษณ์แทน นอกจากนี้ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิอังกฤษเริ่มขยายอิทธิพลเข้าสู่ดินแดนมลายู ทำให้ภาษาอังกฤษมีบทบาทต่อภาษาบาบ๋ามาเลย์ด้วยเช่นกัน —–อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เนื่องด้วยรัฐบาลมาเลเซียกำหนดให้ภาษามาเลย์เป็นภาษากลางในการเรียนการสอน ประกอบกับความนิยมเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลางมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ภาษาถิ่นบาบ๋ามาเลย์ถูกลดทอนความสำคัญลงไปกระทั่งกลายเป็นภาษาที่ใกล้จะสาบสูญในเวลาอีกไม่นาน การแต่งกาย —–ชาวเปอรานากันมีวัฒนธรรมการแต่งกายที่ผสมผสานเอกลักษณ์แบบจีนและมาเลเซียเข้าด้วยกัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้ชายมักจะแต่งกายคล้ายแบบจีนดั้งเดิม สวมเสื้อคลุมและกางเกงหลวมที่ทำจากผ้าไหม ส่วนผู้หญิงจะสวมชุดแบบชุดเกบาย่าของมาเลเซีย และนุ่งโสร่งลายดอกไม้ที่ทำจากผ้าบาติก ตัวเสื้อมักใช้เนื้อผ้าบางเบา เหมาะสำหรับสวมใส่ในแถบอากาศร้อนแบบมลายู ชายเสื้อสตรีมักประดับด้วยลายปักรูปดอกไม้หรือฉลุลายลูกไม้ แต่เอกลักษณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ชุดของชาวเปอรานากันจะเพิ่มลวดลายแบบจีนเข้าไป เช่น ลายนกหงส์ (คล้ายนกฟินิกซ์) และลายดอกโบตั๋น เป็นต้น ชุดของสตรีชาวเปอรานากันมักมีสีสันสดใส โทนสีที่นิยมได้แก่ สีแดง สีม่วง และสีเขียว —–นอกจากนี้ ในวาระโอกาสสำคัญ ผู้หญิงยังนิยมแต่งกายด้วยเครื่องประดับ โดยเฉพาะในพิธีแต่งงาน เจ้าสาวย่าหยาจะตกแต่งศีรษะด้วยเครื่องเงินชุบทองที่ประดับด้วยเพชร พลอยสี และไข่มุก สวมสร้อยคอทองคำแกะสลักลวดลายวิจิตร และติดเข็มกลัดทองประดับเพชร เครื่องประดับเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วอาจมีน้ำหนักถึง 5-6 กิโลกรัมทีเดียว ส่วนรองเท้านั้นหญิงชาวเปอรานากันจะสวมรองเท้าที่ปักเป็นลวดลายสวยงามด้วยลูกปัดหลากสี อาหาร —–เสน่ห์ปลายจวักนับเป็นคุณสมบัติสำคัญของสาวย่าหยา หญิงชาวเปอรานากันมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ดังนั้นกิจวัตรประจำวันของพวกเธอจึงหนีไม่พ้นการเย็บปักถักร้อยและการทำอาหาร อาหารของชาวเปอรานากันจะผสมผสานพื้นฐานวิธีการทำอาหารแบบจีนกับเครื่องปรุงและวัตถุดิบท้องถิ่นของมลายู เครื่องปรุงหลักของอาหารเปอรานากัน ได้แก่ กะปิ กะทิ และเครื่องเทศต่างๆ เช่น พริกแดง ตะไคร้ ใบสะระแหน่ เป็นต้น ทำให้อาหารเปอรานากันโดดเด่นด้วยรสชาติที่ค่อนข้างจัดจ้าน เผ็ด และมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศชัดเจน —–อาหารของชาวเปอรานากันในแต่ละท้องที่จะมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น อาหารในปีนังได้รับอิทธิพลจากอาหารไทย จึงมักใช้เครื่องปรุงที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะขาม ในขณะที่อาหารเปอรานากันในสิงคโปร์และมะละกามักใช้กะทิเป็นส่วนประกอบหลัก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากอาหารอินโดนีเซีย สำหรับอาหารขึ้นชื่อของชาวเปอรานากันนั้น ได้แก่ ลักซา[1] แกงหัวปลา และแกงไก่กะปิตัน[2] เป็นต้น ลักซา เครื่องเรือนและสถาปัตยกรรม —–เนื่องจากถิ่นที่อยู่ของชาวเปอรานากันส่วนใหญ่เป็นเมืองท่าสำคัญ เช่น สิงคโปร์ มะละกา ปีนัง และเซมารัง[3] หลายคนจึงนิยมประกอบอาชีพค้าขาย มีฐานะร่ำรวย และมีความเป็นอยู่ที่ดี สถานะทางสังคมและค่านิยมที่หรูหรานี้สะท้อนให้เห็นได้จากที่อยู่อาศัยและข้าวของเครื่องใช้ที่บรรดาเศรษฐีชาวเปอรานากันนิยมซื้อหามาครอบครอง —–บ้านเรือนของชาวเปอรานากันมีลักษณะเด่นที่สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese) โดยได้รับอิทธิพลจากชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาค้าขายในเมืองท่ามะละกา และยึดเมืองมะละกาเป็นอาณานิคมในปี ค.ศ. 1511 จึงทำให้สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกหลั่งไหล พิพิธภัณฑ์บ้านบาบ๋า-ย่าหยา เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย —–เข้ามา บ้านเรือนของชาวเปอรานากันส่วนใหญ่จึงยึดถือรูปแบบโครงสร้างอาคารอย่างตะวันตก แต่สอดแทรกการตกแต่งและเครื่องเรือนแบบจีน ตัวอาคารมักเป็นอาคารห้องแถว 2-3 ชั้น ด้านหน้ามีทางเดินที่เชื่อมต่อแต่ละคูหาด้วยซุ้มโค้ง หน้าต่างตกแต่งด้วยบานเกล็ด หัวเสาใช้ลวดลายแบบศิลปะตะวันตก ด้านในอาคารปูพื้นด้วยกระเบื้องหรือหินอ่อน ประตูและฉากกั้นห้องมีช่องระบายลมที่ฉลุเป็นลวดลายแบบจีน ภายในพิพิธภัณฑ์บ้านบาบ๋า-ย่าหยา —–ในบ้านของคหบดีชาวเปอรานากันส่วนใหญ่มักมีห้องหับที่สำคัญ เช่น โถงรับแขก ห้องนอน และห้องครัว เป็นต้น โถงรับแขกเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในห้องนี้ ห้องโถงนี้มักวางเครื่องเรือนและชุดเก้าอี้ไม้ฝังมุกสำหรับให้ผู้ชายพักผ่อนและพูดคุยกันเรื่องธุรกิจ ห้องนอนมักจะอยู่ชั้นบนของบ้าน และมีบทบาทสำคัญมากในพิธีแต่งงานของชาวเปอรานากันในฐานะห้องหอ โดยก่อนที่พิธีจะเริ่ม ห้องนอนจะต้องได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามจากญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงในครอบครัวเสียก่อน ส่วนห้องครัวมักจะอยู่ด้านหลังของบ้าน และนับเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นที่สำหรับผู้หญิงในครอบครัวจะรวมตัวกันประกอบอาหาร ภายใต้การกำกับดูแลจากนายหญิงของบ้าน การทำอาหารนับเป็นความสามารถพื้นฐานที่หญิงชาวเปอรานากันทุกคนควรจะมี นอกจากนี้ ในบ้านของชาวเปอรานากันมักจะจัดพื้นที่สำหรับวางแท่นบูชาบรรพบุรุษ ตามคติการนับถือบรรพบุรุษแบบจีนอีกด้วย —–สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งในบ้านของชาวเปอรานากันคือ เครื่องถ้วย ชาวเปอรานากันนิยมใช้เครื่องกระเบื้อง ทั้งที่เป็นอุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น จาน ชาม ถ้วย โถ ปิ่นโต ไปจนถึงชุดน้ำชา รวมทั้งเครื่องเรือนสำหรับตกแต่งบ้าน เช่น แจกัน กระถางต้นไม้ และกระถางธูป เป็นต้น เครื่องถ้วยของชาวเปอรานากันได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องเคลือบของจีน นิยมลวดลายที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล เช่น ลายนกและดอกไม้นานาชนิด รวมถึงลายที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น ธรรมจักร ฉัตร และดอกบัว เป็นต้น เครื่องถ้วยเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงฐานะของชาวเปอรานากัน เครื่องถ้วยที่ทำขึ้นอย่างประณีต มีลวดลายวิจิตรงดงามมักมีราคาแพง และเป็นที่นิยมสะสมของเศรษฐีผู้มั่งคั่งเพื่อบ่งบอกความมีหน้ามีตาทางสังคม —–ปัจจุบันสถาปัตยกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวเปอรานากันในสมัยก่อนยังคงพอมีให้เห็น เช่น ในมะละกา ปีนัง สิงคโปร์ เมืองเมดันของอินโดนีเซีย และจังหวัดภูเก็ตของไทย นอกจากนี้ ลูกหลานชาวเปอรานากันหลายกลุ่มยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงมีการจัดตั้งสมาคมชาวเปอรานากันในประเทศต่างๆ อีกทั้งอาคารทำการและบ้านบางหลังของคหบดีเก่าชาวเปอรานากันก็เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้อีกด้วย เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านบาบ๋า-ย่าหยา ในเมืองมะละกา ซึ่งเคยเป็นบ้านของเจิงชิงซิ่ว (曾清秀) คหบดีเจ้าของสวนยางในศตวรรษที่ 19 และพิพิธภัณฑ์เปอรานากันในสิงคโปร์ที่เดิมเป็นอาคารของโรงเรียนจีนเต้าหนัน (道南学校) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1912 เป็นต้น [1] ลักซา เป็นอาหารรสเผ็ดคล้ายข้าวซอยของประเทศไทย ทำจากเส้นบะหมี่ และเพิ่มรสชาติด้วยอาหารทะเลหรือเนื้อไก่ น้ำซุปถ้าเป็นแบบมะละกาและสิงคโปร์ จะเป็นแกงกะทิ แต่หากเป็นแบบปีนัง น้ำซุปจะใสและมีรสเปรี้ยวเพิ่มเข้าไป [2] แกงไก่กะปิตัน คือแกงไก่ต้มกะทิรสเผ็ด [3] เซมารังเป็นเมืองท่าสำคัญบนเกาะชวาในยุคอาณานิคมของชาวดัตช์ เรื่องโดย แพนด้า