—–ในสมัยโบราณ กษัตริย์ของแต่ละรัฐ แต่ละราชวงศ์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งสาร เพราะอำนาจปกครองนั้นต้องแย่งชิงมาด้วยการทำสงคราม นอกจากรัฐจะต้องการกองทัพที่เก่งกาจแล้ว ฝ่ายใดสื่อสารได้รวดเร็วกว่าและมีพันธมิตรมากกว่าคือฝ่ายที่ได้เปรียบในสนามรบ เมื่อรบชนะและรวมกันเป็นปึกแผ่นแล้ว การติดต่อสื่อสารทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐ การส่งเครื่องบรรณาการ การประกาศพระราชโองการ ล้วนต้องพึ่งพาระบบการส่งสารที่มีคุณภาพทั้งสิ้น ดังนั้น การส่งสารในยุคโบราณจึงมีเพื่อประโยชน์ทางการทหารและการปกครองเป็นหลัก ทั้งนี้จะสร้างระบบการส่งสารที่รวดเร็วและมีคุณภาพบนแผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บรรพบุรุษชาวจีนก็มีระบบส่งสารอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นหัวใจหลักของการสื่อสารในยุคโบราณ ซึ่งได้แก่การส่งสารด้วยม้านั่นเอง

—–การส่งสารด้วยม้าในภาษาจีนปัจจุบันเรียกว่า โหยวอี้ (邮驿) เริ่มต้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (西周 1046-711 ปีก่อนคริสตกาล) ในยุคโบราณนั้นความหมายของโหยว (邮) และอี้ (驿) แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ โหยวหมายถึงตัวระบบการเดินทางเพื่อส่งสาร และอี้หมายถึงระบบที่ช่วยสนับสนุนการส่งสารนั้น อันได้แก่ ศาลาพักม้าและพาหนะส่งสาร เป็นต้น สองระบบนี้ทำงานร่วมกัน ก่อร่างเป็นเครือข่ายไปรษณีย์ในยุคโบราณที่เชื่อมต่อระยะทางหลายหมื่นลี้เข้าด้วยกันมาตลอดระยะเวลากว่า 3,000 ปี

—–ราชสำนักโจวริเริ่มการส่งสารด้วยม้าและสร้างศาลาพักม้าไว้ตามรายทางให้เจ้าหน้าที่และม้าส่งสารได้หยุดพักแรม จนสมัยชุนชิวจั้นกั๋ว (春秋战国 770-221 ปีก่อนคริสตกาล) จึงพัฒนาเป็นระบบการส่งสารต่อๆกัน คือเมื่อเจ้าหน้าที่ส่งสารควบม้าถึงศาลาพักม้าที่แรก ก็ส่งสารให้ศาลาพักม้านั้น จากนั้นเจ้าหน้าที่รายใหม่จะควบม้าตัวใหม่ส่งสารต่อสู่ศาลาถัดไป วิธีนี้ทำให้ส่งสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถึงขนาดขงจื่อ ปรัชญาเมธีเคยหยิบยกมาเปรียบเทียบไว้ว่า “คุณธรรมเผยแพร่ได้เร็วยิ่งกว่าพระราชโองการ”[1] แม้จะกล่าวว่าคุณธรรมเผยแพร่ได้เร็วกว่า แต่ขงจื่อเลือกใช้ความเร็วของการส่งพระราชโองการเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ แสดงว่าความเร็วของการส่งสารในสมัยนั้นเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

เจ้าหน้าที่ส่งสาร

—–ครั้นจิ๋นซีฮ่องเต้รวบรวมจีนเป็นปึกแผ่นและสถาปนาราชวงศ์ฉิน (秦 221-206 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงยึดหลักการปกครองแบบนิตินิยมตามปรัชญาสำนักฝ่าเจีย (法家) จึงทรงบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นเอกภาพ ทั้งตัวอักษร สกุลเงิน มาตราชั่งตวงวัด ล้วนมีข้อกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนและต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน รวมทั้งทรงบุกเบิกถนนทั่วแผ่นดินจีนและสร้างศูนย์กลางเครือข่ายการส่งสาร ณ เมืองเสียนหยาง (咸阳 เมืองหลวงในขณะนั้น) ที่สำคัญคือ ทรงตราพระราชกฤษฎีกาการส่งสาร《行书律》ขึ้นเป็นกฎหมายการส่งสารฉบับแรกของจีน กำหนดไว้ว่าพระราชโองการเป็นสารด่วน ต้องส่งทันที ห้ามเหลือไว้แม้สักฉบับ ส่วนสารอื่นก็จะต้องส่งให้หมดภายในหนึ่งวัน หากล่าช้าจะลงโทษตามกฎหมาย ทำให้ราชสำนักฉินได้รับจดหมายรายงานสถานการณ์ท้องถิ่นจากทั่วประเทศอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ

—–ราชวงศ์ฮั่น (汉 206 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 220) พัฒนาระบบการส่งสารให้มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้สารที่ส่งด้วยม้าเดินทางได้ถึง 300-400 ลี้ต่อวัน เจ้าหน้าที่ส่งสารต้องสวมเครื่องแบบเป็นผ้าคลุมศีรษะสีแดง แขนเสื้อสีแดง และแบกถุงหนังลายแดงสลับขาว มีขุนนางชั้นสูงหลายตำแหน่งในราชสำนักที่ดูแลระบบการส่งสาร กระจายอำนาจในส่วนภูมิภาคเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมณฑล จังหวัด และอำเภอ โดยมอบหมายให้ศาลาพักม้าเป็นศูนย์ควบคุมดูแลและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ส่งสาร สารทุกฉบับที่เข้าออกศาลาพักม้าต้องผ่านการลงทะเบียนทุกครั้ง ตามรายทางจะมีศาลาระยะใกล้อยู่ทุก 10 ลี้ เรียกว่า โหยวถิง (邮亭) และมีศาลาพักม้าระยะไกลอยู่ทุก 30 ลี้ เรียกว่า อี้จั้น (驿站) หลังจากสมัยราชวงศ์ฮั่นไปแล้ว ศาลาพักม้าตามรายทางเหล่านี้ยังเป็นทั้งที่พัก ที่สังสันทน์ และที่ร่ำลาของบรรดาขุนนางที่ต้องโยกย้ายไปประจำการยังต่างถิ่นด้วย ศาลาพักม้าจึงกลายเป็นสถานที่คึกคัก เต็มไปด้วยผู้คนและฝูงม้า อีกทั้งยังปรากฏในบทกวีหลายยุคสมัย

—–ถึงคราราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ปกครองประเทศ เศรษฐกิจรุ่งเรืองมาก ระบบการส่งสารจึงเจริญตามไปด้วย ราชสำนักถังขยายเส้นทางส่งสารทั้งทางบก ทางน้ำ และทางบกควบทางน้ำ มีเจ้าหน้าที่ส่งสารราว 17,000 นาย มีศาลาพักม้าทั้งทางบกและทางน้ำอยู่ทั่วประเทศราว 1,600 แห่ง ศาลาพักม้าในเมืองใหญ่แต่ละแห่งมีม้าอยู่ 75 ตัว ส่วนศาลาพักม้าตามรายทางมีม้าประจำอยู่ต่ำสุด 8 ตัว สูงสุด 60 ตัว นอกจากนี้ยังมีลา อูฐ และเรือเตรียมไว้ให้อีกด้วย

—–ความใหญ่โตโอ่อ่าและงดงามคือลักษณะอันโดดเด่นของศาลาพักม้าสมัยราชวงศ์ถัง ทว่าเมื่อถึงยุคปลายของราชวงศ์ถัง ราชสำนักเกิดความวุ่นวาย ระบบการส่งสารที่เคยรุ่งเรืองก็ตกต่ำ ศาลาพักม้าจึงทรุดโทรมไปด้วย

—–ราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) ระบบการส่งสารได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ราชสำนักซ่งมีมาตรการให้ฝ่ายกลาโหมเข้าควบคุมระบบส่งสารและตั้งทหารเป็นเจ้าหน้าที่ส่งสารแทนพลเรือน มีระบบส่งสารด่วนพิเศษที่ใช้เฉพาะในกองทัพเท่านั้น โดยแบ่งความเร็วเป็น 3 ระดับ คือ ป้ายทองสำหรับจดหมายด่วนที่สุด เดินทาง 500 ลี้ต่อวัน ด่วนรองลงมาคือป้ายเงิน เดินทาง 400 ลี้ต่อวัน และป้ายทองแดง เดินทาง 300 ลี้ต่อวัน ทหารส่งสารต้องควบม้าตลอดทั้งวันทั้งคืนไม่ว่าฝนตกหรือแดดออก กลางวันต้องสั่นระฆังและกลางคืนต้องถือคบไฟเพื่อส่งสัญญาณให้คนหลีกทาง แม้ชนคนตายระหว่างหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ทุกระยะ 10 ลี้ จะมีศาลาพักม้าสำหรับการส่งสารด่วนพิเศษ เมื่อควบถึงศาลาพักม้าแห่งหนึ่งทหารส่งสารต้องเปลี่ยนม้า ควบผ่านไปหลายแห่งจึงเปลี่ยนคน นอกจากนี้ราชสำนักซ่งยังออกกฎหมายควบคุมการส่งสารอย่างเคร่งครัด ห้ามฝ่าฝืน

—–ราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1206-1368) ขยายขอบเขตการส่งสารไปทางทิศตะวันตกจนกระทั่งถึงชายแดนยุโรป สมัยนี้ปกครองโดยชาวมองโกล จึงเรียกศาลาพักม้าตามภาษามองโกลว่า จั้นชื่อ (站赤) ราชวงศ์หยวนสืบทอดระบบส่งสารด่วนพิเศษของราชวงศ์ซ่ง สร้างศาลาพักม้าสำหรับส่งสารด่วนไว้ทั่วประเทศกว่า 20,000 แห่ง ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ที่การขนส่งทางน้ำเจริญรุ่งเรืองก็มีท่าเรือส่งสารกว่า 420 แห่ง และมีเรือสำหรับขนส่งถึง 5,920 ลำ

—–นอกจากนี้ศาลาพักม้าสมัยราชวงศ์หยวนยังใหญ่โตหรูหราจนได้รับการบันทึกไว้ในบันทึกเดินทางของมาร์โคโปโล นักเดินทางชาวอิตาลีอีกด้วย

—–ทว่าภายใต้ภาพความสะดวกสบายที่บรรดาผู้ใช้บริการได้รับ แท้จริงแล้วเบื้องหลังคือความทุกข์ยากของชาวบ้านผู้แร้นแค้น เพราะราชสำนักหยวนปล่อยให้ประชาชนดูแลศาลาพักม้ากันเอง ชาวบ้านเหล่านี้เดิมเป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา แต่ต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่สูงท่วมหัวของศาลาพักม้า ซ้ำยังต้องลงแรงเป็นพนักงานบริการ ขับเกวียน ถ่อเรือ แบกของด้วยตนเอง ภาระนี้หนักเกินกว่าหลายคนจะรับไหว ศาลาพักม้าหลายแห่งจึงต้องปิดตัวลง

—–ศาลาพักม้าสมัยนั้นสะท้อนระบบชนชั้นของสังคมศักดินาได้อย่างชัดเจน ทั้งเสบียง พาหนะ ที่พักอาศัย ล้วนแล้วแต่มีไว้เพื่อชนชั้นขุนนาง แต่เมื่อจูหยวนจาง (朱元璋 ครองราชย์ ค.ศ. 1368-1398) ฮ่องเต้พระองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ทรงมีพระราชโองการห้ามใช้ศาลาพักม้าเพื่อกิจอื่นที่ไม่ใช่ราชการหรือกิจทางทหาร หากฝ่าฝืนต้องรับโทษรุนแรง ขุนนางก็ไม่อาจใช้บริการศาลาพักม้าได้ตามอำเภอใจ ต่อมา จางจวีเจิ้ง (张居正 ค.ศ. 1525-1582) มหาเสนาบดีและนักปฏิรูปสมัยปลายราชวงศ์หมิง ออกกฎให้แบ่งระดับการจัดเตรียมอาหารและที่พักในศาลาพักม้าตามตำแหน่งของขุนนาง และไม่อนุญาตให้เรียกร้องเพิ่มเติม แม้ว่าการปฏิรูปศาลาพักม้าในยุคนี้ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก แต่ขุนนางที่ฉ้อโกงก็ยังไม่หมดสิ้น ดังนั้น หลังราชวงศ์หมิงเสื่อมอำนาจและจางจวีเจิ้งเสียชีวิตไม่นาน เหล่าขุนนางก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม กฎเหล่านี้จึงถูกยกเลิกไปในที่สุด

—–สมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) จากเดิมที่ศาลาพักม้าเป็นเพียงตัวกลางการส่งจดหมายและพัสดุ ก็กลายมาเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านขนส่งโดยตรง เกิดระบบไปรษณีย์ท้องถิ่นที่ดูแลการขนส่งภายในเขตอำเภอ นอกจากนี้รัฐบาลราชวงศ์ชิงยังขยายเส้นทางไปรษณีย์ไปยังเขตชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือและทางตะวันตก

—–ค.ศ. 1878 รัฐบาลราชวงศ์ชิงตั้งเทียนจิน (天津) เป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล นอกจากนี้ไปรษณีย์เทียนจินยังจัดทำแสตมป์ชุดแรกในประวัติศาสตร์จีนในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน โดยตั้งชื่อว่า แสตมป์มหามังกร (大龙邮票)

แสตมป์มหามังกร

—–กระทั่งตอนปลายราชวงศ์ชิง ระบบไปรษณีย์สมัยใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ศาลาพักม้าหมดความสำคัญลง ในที่สุดรัฐบาลเป่ยหยาง[2] ก็ประกาศยกเลิกระบบศาลาพักม้าไปในเดือนมกราคม ค.ศ. 1913

 

ไปรษณีย์โบราณในระบบเอกชน

—–แม้ว่าประเทศจีนมีระบบส่งสารที่เพียบพร้อมด้วยกฎหมายข้อบังคับ บุคลากร พาหนะ และศาลาพักม้าใช้กันมาช้านาน แต่เป็นเพียงระบบภายในราชการและการทหารเท่านั้น ก่อนถึงสมัยปลายราชวงศ์หมิง ระบบการส่งจดหมายในหมู่ประชาชนทั่วไปแทบไม่ปรากฏ ซ้ำการแอบอาศัยระบบราชการส่งจดหมายส่วนตัวยังผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงในบางยุคสมัยด้วย ดังนั้นจดหมายระหว่างคนในครอบครัวหรือคนสนิทต้องส่งด้วยการฝากไปกับคนที่จะเดินทางไปยังปลายทางแห่งเดียวกัน หากชนชั้นสูงบางตระกูลร่ำรวยและมีบริวารมาก ก็อาจว่าจ้างคนส่งจดหมาย หรือสร้างเครือข่ายการส่งสารของตนเองขึ้น ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

—–นักวิชาการจีนเห็นพ้องว่าไปรษณีย์เอกชน (民信局) เริ่มเป็นระบบขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐 ครองราชย์ ค.ศ. 1403-1424) แห่งราชวงศ์หมิง เป็นธุรกิจส่วนบุคคลที่ให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ และโอนเงิน ดำเนินการโดยประชาชนและให้บริการแก่ประชาชนโดยเฉพาะ เริ่มต้นกิจการในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเล เดินทางสะดวก เหมาะแก่การทำมาค้าขาย แล้วจึงค่อยๆ แพร่หลายเข้าไปในทุกมณฑล

—–ในแต่ละวันไปรษณีย์เอกชนต้องส่งจดหมายจำนวนมาก และใช้เพียงคนเดินสารเป็นผู้ส่งจดหมาย จึงให้คนที่มีพละกำลังมากและวิ่งเร็วใช้คานหาบแบกจดหมายขึ้นบ่า เดินทางไปส่งจดหมายตามที่อยู่บนหน้าซอง สองปลายของไม้คานถูกออกแบบให้ชี้ขึ้นฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้ตะกร้าหาบร่วงหล่นจนเกิดความเสียหายระหว่างเดินทาง

—–ร้านไปรษณีย์เอกชนกำหนดลักษณะจดหมายตามคุณสมบัติพิเศษไว้หลายประเภท เช่น จดหมายลนไฟ ใช้ไฟลนที่มุมซองเป็นสัญลักษณ์ว่าด่วนที่สุด จดหมายขนไก่ ใช้ขนไก่เสียบในซองหรือมุมซอง เป็นสัญลักษณ์ว่าให้ส่งแบบด่วนธรรมดา และจดหมายที่เขียนด้วยกระดาษไขแล้วใช้แผ่นไม้ผูกทับอีกรอบเพื่อป้องกันไม่ให้เปียกฝนหรือตกน้ำ ต้องส่งโดยคนเดินสารมืออาชีพเท่านั้น

—–ค่าบริการของไปรษณีย์เอกชนแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือค่าส่ง มีทั้งเรียกเก็บจากต้นทางหรือปลายทางฝ่ายใดฝ่ายเดียว หรือแบ่งจ่ายฝ่ายละครึ่ง โดยคิดราคาเหมาจ่าย มีให้เลือกทั้งแบบรายปี รายฤดูกาล และรายเดือน ส่วนที่สองคือเงินประกัน ซึ่งโดยมากจะให้ปลายทางเป็นผู้จ่าย หรือหากสิ่งของได้รับความเสียหายระหว่างทาง ร้านไปรษณีย์ก็จะชดเชยให้

—–ไปรษณีย์เอกชนเฟื่องฟูขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะหลังสงครามฝิ่น ค.ศ. 1840 จีนเปิดเขตการค้าเสรีใน 5 เมืองท่า อันได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เซียะเหมิน ฝูโจว และหนิงโป ร้านไปรษณีย์เอกชนที่ค่อนข้างใหญ่บางแห่งจึงขยายเครือข่าย โดยตั้งสำนักงานกลางที่เซี่ยงไฮ้ และตั้งสาขาในทุกเมืองท่า กระทั่งปรากฏร้านไปรษณีย์เอกชนหลายพันแห่งทั่วแผ่นดินจีนในระหว่างปี ค.ศ. 1851-1908  อันเป็นต้นแบบของเครือข่ายไปรษณีย์สมัยใหม่

—–นอกจากนี้ ในมณฑลฮกเกี้ยนและมณฑลกวางตุ้งยังมีหน่วยงานเอกชนที่เรียกว่าไปรษณีย์โพ้นทะเล (侨批局) หรือในเมืองไทยรู้จักในชื่อ ‘โพยก๊วนทำหน้าที่ส่งจดหมาย พัสดุ และโอนเงินระหว่างประเทศโดยเฉพาะ พัฒนามาจากไปรษณีย์เอกชนที่ขยายสาขาไปยังต่างประเทศ เนื่องจากมณฑลฮกเกี้ยนและมณฑลกวางตุ้งมีอาณาเขตติดทะเล ประชาชนบางส่วนจึงอพยพไปหาลู่ทางทำมาหากินในต่างประเทศ กลายมาเป็นชาวจีนโพ้นทะเลในทุกวันนี้ เดิมชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้มักฝากจดหมายหรือเงินกลับมากับคนที่เดินทางกลับบ้าน ต่อมาจึงใช้บริการไปรษณีย์โพ้นทะเลทำให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น กระทั่งไปรษณีย์โพ้นทะเลมีสาขาทั้งในและนอกประเทศจีนมากถึง 1,000 สาขา นับเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลและญาติพี่น้องที่บ้านเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

—–เมื่อลัทธิอาณานิคมจากตะวันตกบุกรุกแผ่นดินจีน แม้ไปรษณีย์เอกชนและไปรษณีย์โพ้นทะเลจะได้รับผลกระทบจากสงคราม แต่ก็ยืนหยัดมาได้ด้วยความเชื่อมั่นจากประชาชนอยู่พักใหญ่ กระทั่งหยุดกิจการไปโดยสิ้นเชิงเมื่อปี ค.ศ. 1935

 

ตำนานในแสตมป์จีน

—–ชาวจีนมีตำนานเกี่ยวกับสัตว์ที่เป็นตัวกลางการส่งสารในยุคโบราณอยู่หลายชนิด ตำนานเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมจีนนับพันปีและได้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนการติดต่อสื่อสารในปัจจุบัน อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของชาวจีนดังที่ปรากฏในงานศิลปะหลายยุคสมัยทั้งในบทกวี ภาพเขียน หรือแม้แต่ตราไปรณียากรสมัยใหม่ อาทิ

ห่านหงเยี่ยน (鸿雁)

—–ตำนานเล่าว่าชนกลุ่มน้อยเผ่าซงหนูกักตัวทูตชาวฮั่นนามว่าซูอู่ไว้ เมื่อราชสำนักฮั่นขอให้ปล่อยตัวซูอู่ เผ่าซงหนูก็โกหกว่าซูอู่เสียชีวิตแล้ว ทูตที่ไปรับตัวซูอู่จึงออกอุบายว่าฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ทรงล่าห่านหงเยี่ยนได้ตัวหนึ่ง มีจดหมายผ้าไหมผูกติดกับข้อเท้า เขียนไว้ว่าซูอู่ยังมีชีวิตอยู่ เผ่าซงหนูจึงต้องยอมปล่อยตัวท่านทูต จากนั้นมาห่านหงเยี่ยนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทนการส่งจดหมาย

ตราไปรษณียากรของประเทศจีน (บน) จัดพิมพ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 และของไต้หวัน (ล่าง)

จัดพิมพ์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีด้วยตำนานจากรากฐานวัฒนธรรมเดียวกัน

 

ปลาหลีฮื้อ หรือ ปลาคาร์พ (鲤鱼)

—–บทกวีสมัยราชวงศ์ฉินกล่าวถึงจดหมายที่เขียนบนผ้าไหมดิบแล้วสอดไว้ในแผ่นไม้สลักรูปปลาหลีฮื้อประกบกัน ต่อมาชาวจีนสมัยราชวงศ์ถังนิยมผูกจดหมายผ้าไหมเป็นรูปปลาหลีฮื้อคู่ให้สวยงามก่อนส่ง ดังนั้นในบทกวีโบราณ ‘ปลา’ หรือ ‘ปลาคู่’ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนจดหมายได้อีกด้วย

ตราไปรษณียากรรูปศาลาพักม้าแห่งหนึ่ง รอบข้างเป็นอักษรโบราณของคำว่าปลา จัดพิมพ์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990

นกมรกต (青鸟)

——คัมภีร์ซานไห่จิง 《山海经》 กล่าวถึงนกมรกตในตำนานที่เป็นนกส่งสารของเจ้าแม่แห่งสรวงสวรรค์ คอยส่งข่าวระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ ซึ่งตำนานในยุคหลังเล่าว่านกมรกตดังกล่าวคือหงส์ นอกจากนี้ นกมรกตยังปรากฏในบทกวีหลายยุคสมัย หมายถึงนกที่ส่งจดหมายระหว่างคนที่ต้องห่างไกลกัน

 

ไปรษณียบัตรพร้อมตราไปรษณียากรรูปหงส์หลากสี จัดพิมพ์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1998

 

[1] อ้างถึงในคัมภีร์เมิ่งจื่อ《孟子•公孙丑上》:“孔子曰:‘德之流行,速于置邮而传命。’”

[2] 北洋政府 รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศจีนโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่าง ค.ศ. 1912-1928 มาจากชื่อกองทัพเป่ยหยางภายใต้อำนาจของประธานาธิบดีหยวนซื่อข่าย

 

เรื่องโดย จันทร์กระจ่างฟ้า