—–ชาวจีนมักดีอกดีใจเป็นพิเศษในช่วงวันส่งท้ายปีเก่า (คืนก่อนตรุษจีน) บนบานประตูของแต่ละบ้านจะมีตัวอักษร ‘福’ (ความสุข) ติดอยู่ ความเป็นมาของประเพณีนิยมเหล่านี้มีที่มาอย่างไร?

จูหยวนจาง

—–เล่ากันว่าครั้งหนึ่งจูหยวนจาง (朱元璋 ค.ศ. 1328-1398) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ทรงแต่งกายชุดธรรมดาออกตรวจราชการนอกวัง เมื่อวันที่ 15 เดือนอ้าย พระองค์เสด็จถึงอําเภอแห่งหนึ่ง ทรงทอดพระเนตรเห็นประชาชนจํานวนมากกําลังมุงดูภาพวาดภาพหนึ่งอยู่ ในภาพเป็นหญิงสาวเปลือยเท้าอุ้มแตงโมลูกโต ซึ่งมีความหมายเป็นการเยาะเย้ยสาวๆ แห่งหวยซี (淮西) ที่มีเท้าโต (สมัยนั้นมีค่านิยมว่าสาวจีนต้องมัดเท้าให้เล็กจึงจะสวยงามบ่งบอกถึงความเป็นกุลสตรี) ฮ่องเต้จูหยวนจางทอดพระเนตรภาพแล้ว ทรงเข้าพระทัยผิดว่าคนในอําเภอนี้หัวเราะเยาะเหยียดหยามมเหสีหม่าฮองเฮา (马皇后 ค.ศ. 1332-1382) ของพระองค์ เนื่องจากหม่าฮองเฮาเดิมเป็นสาวหวยซีและไม่ได้มัดเท้าตั้งแต่ตอนเด็ก

—–ฮ่องเต้จูหยวนจางทรงพิโรธมาก หลังจากเสด็จกลับวังแล้ว จึงมีรับสั่งให้ทหารไปสํารวจในอําเภอนี้ว่าผู้ใดบ้างที่เคยไปยืนมุงดู และภาพนั้นเป็นฝีมือของใคร ให้บันทึกมาทั้งหมด รวมทั้งให้ติดตัวอักษร ‘福’ ไว้บนประตูบ้านของครอบครัวที่ไม่มีส่วนร่วมในการมุงดูภาพวาด อันแฝงไปด้วยเจตนาแห่งการเย้ยหยันครั้งนั้นให้ครบถ้วนทุกหลัง เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการก็ให้เหล่าทหารยึดเอาอักษร ‘福’ เป็นสัญลักษณ์ บ้านไหนไม่มีอักษร ‘福’ ก็ให้เข้าไปจับกุมผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านนั้นมาลงโทษจนหมดสิ้น เมื่อหม่าฮองเฮาผู้มีจิตเมตตาทราบเรื่องก็ทรงไม่เห็นด้วยเนื่องจากต้องคร่าชีวิตมากมายเพราะเรื่องเล็กน้อยแต่ไม่มีอำนาจพอที่จะทัดทานพระกระแสรับสั่งได้ ดังนั้นพระองค์จึงสั่งให้คนใกล้ชิดเดินทางไปที่อำเภอนี้ ประกาศว่าให้ทุกบ้านติดอักษร ‘福’ ไว้หน้าบ้านเพื่อเป็นการสรรเสริญขอพรแด่องค์ฮ่องเต้ ทำให้ทหารที่นำกำลังเข้าจับกุมสับสนเนื่องจากมีอักษร ‘福’ ติดอยู่ทุกบ้าน ในวันนั้นจึงไม่มีใครต้องเสียชีวิต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกๆ วันสิ้นปีตามปฏิทินจันทรคติทุกบ้านจะติดตัวอักษร ‘福’ นี้ไว้ที่ประตูบ้านเพื่อแสดงว่า “ประพฤติตัวถูกต้องตามทํานองคลองธรรม” ความปรารถนาที่จะหลบเลี่ยงจากเภทภัย จึงกลายเป็นการอวยพรหรือสิริมงคลไปในที่สุด และได้รับการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน