จูหยวนจาง จากยาจกสู่จักรพรรดิ
เรื่องโดย ผกากรอง

จักรพรรดิหมิงไท่จู่ จูหยวนจาง
—–จักรพรรดิหมิงไท่จู่(明太祖)ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง(明朝)ถือเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ต่อจากกษัตริย์ฮั่นเกาจู่(汉高祖)แห่งราชวงศ์ฮั่น(汉朝)ที่ไต่เต้าจากการเป็นสามัญชนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดของจีน การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชั้นล่างที่มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลต่อมุมมองในการบริหารบ้านเมืองของพระองค์กล่าวคือ ด้านหนึ่งทรงรู้ซึ้งถึงความทุกข์ของเหล่าราษฎรเป็นอย่างดี จึงดำเนินนโยบายผ่อนปรนนานัปการให้แก่คนกลุ่มนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทรงโกรธแค้นบรรดาขุนนางคอรัปชั่นที่จ้องขูดรีดประชาชนที่ไร้ทางสู้ จึงใช้มาตรการปราบปรามการทุจริตอย่างรุนแรง
—–พระองค์มีแซ่เดิมว่า “จู”(朱)ชื่อว่า “ฉงปา”(重八)จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็นจงซิง(宗兴)หลังจากเข้าร่วมขบวนการกบฏชาวนาช่วงปลายยุคราชวงศ์หยวน ก็เปลี่ยนชื่อเป็นเต๋ออวี้(德裕)และหยวนจาง(元璋)ตามลำดับ พระองค์ทรงถือกำเนิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจนในอำเภอเฟิ่งหยาง(凤阳县)มณฑลอานฮุย(安徽省)นอกจากจะใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างอดมื้อกินมื้อแล้ว ยังต้องก้มหน้ารับชะตากรรมจากภัยแล้งที่เกิดติดต่อกันยาวนานหลายปี ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บิดา มารดาและพี่ชายคนโตต้องมาเสียชีวิตจากโรคระบาด ทำให้เขากลายเป็นเด็กกำพร้าและไร้ที่พึ่งพิง ไม่มีแม้แต่เงินทำศพ เพื่อนบ้านสกุลหลิว(刘)เห็นแล้วเกิดความสงสารจึงแบ่งที่ดินให้ใช้ฝังศพ อย่างไรก็ดี เขาและพี่น้องที่เหลือจำต้องแยกย้ายกันไปรับจ้างหาเลี้ยงชีพเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด ความขมขื่นในวัยเด็กเป็นบาดแผลลึกที่ฝังอยู่ในใจของพระองค์และทรงเสียพระทัยทุกครั้งที่หวนคิดถึงชีวิตในช่วงเวลานั้น
—–จูหยวนจางเริ่มชีวิตเร่ร่อนด้วยการไปบวชเณรที่วัดหวงเจวี๋ยซื่อ(皇觉寺)แต่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นติดต่อกันยาวนาน ทำให้วัดประสบปัญหาไม่น้อย เป็นเหตุให้พระและเณรในวัดต้องออกธุดงค์ไปตามถิ่นต่างๆ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ระหกระเหินไปตามเมืองต่างๆ เช่น หลูโจว(泸州)กวงโจว(光州)หนี่ว์โจว(女州)อิ่งโจว(颖州)ฯลฯ ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ให้แก่ตนเองและสามารถสั่งสมประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย ที่สำคัญเขาพบว่าสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรเลวร้ายลงทุกวัน บ้านเมืองกำลังก้าวสู่ความเสื่อมถอย จนรู้สึกได้ว่าหายนะกำลังจะมาเยือน ดังนั้น หลังจากที่กลับไปยังวัดหวงเจวี๋ยซื่อแล้ว ก็พยายามคบค้าสมาคมกับเพื่อนจำนวนมาก เพื่อเตรียมก่อการครั้งใหญ่ แน่นอนว่าการอยู่อย่างไร้หลักแหล่งเป็นเวลานานย่อมหล่อหลอมให้เขากลายเป็นผู้ที่มีนิสัยกล้าแกร่งและเด็ดเดี่ยว ขณะเดียวกัน ความเป็นผู้มีจิตใจเหี้ยมโหดและริษยาก็เป็นข้อเสียที่ติดตัวเขามาเช่นกัน ประสบการณ์ชีวิตในช่วงนี้ถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อตัวตนที่แท้จริงของเขาภายหลังขึ้นครองราชย์
—–ปี ค.ศ. 1349 เขาได้บวชเป็นพระ แต่อยู่ในสมณเพศได้เพียง 4 ปีก็สึกออกมา เนื่องจากเกิดการเคลื่อนไหวขับไล่ชนชั้นปกครองที่เป็นพวกมองโกลออกจากแผ่นดิน หลังจากที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มกบฏชาวนา ก็สาบานตนว่า “หากวันใดได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุด ภารกิจแรกที่จะดำเนินการคือปราบปรามเหล่าขุนนางคอรัปชั่น”
—–จูหยวนจางเลือกเข้าร่วมกลุ่มกบฏชาวนาที่มีกัวจื่อซิง(郭子兴)เป็นผู้นำโดยใช้เมืองหาวโจว(濠州)เป็นที่มั่น เนื่องจากความกล้าหาญชาญชัยและความเก่งกาจด้านการศึกของเขาโดดเด่นกว่าผู้อื่น จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งภายในเวลาอันรวดเร็ว ผลงานด้านการรบของเขาเป็นที่น่าพอใจจนกัวจื่อซิงถึงกับยกหม่าซิ่วเซียง(马秀乡)ธิดาบุญธรรมให้เป็นภรรยา แต่แล้ว กัวจื่อซิงและบุตรชายก็เกิดความระแวงในตัวจูหยวนจาง เขาจึงตัดสินใจพาภรรยากลับไปอยู่ที่บ้านเกิด และชักชวนพรรคพวกจัดตั้งเป็นกองกำลังที่เพิ่มจำนวนคนจากเจ็ดร้อยมาเป็นสองหมื่นคนภายในเวลา 2 ปี และค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเรือนแสนในเวลาต่อมา
—–กลุ่มกบฏชาวนาที่มีเขาเป็นผู้นำสามารถพิชิตดินแดนน้อยใหญ่แถบเจียงหนาน (江南 ตอนใต้ของจีน) จากนั้น ก็กรีธาทัพบุกขึ้นไปยังดินแดนทางตอนเหนือ ในที่สุดได้ยกทัพไปถึงนครต้าตู(大都)เมืองหลวงของราชวงศ์หยวน (ปัจจุบันคือเมืองปักกิ่ง) ในเวลานั้น ราชสำนักหยวนกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ ขุนนางเอาแต่ตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัว ประกอบกับจักรพรรดิซุ่นตี้(顺帝)ทรงหูเบาเชื่อคำแนะนำของลามะชั้นผู้ใหญ่ ไม่สนใจราชกิจ กองทัพก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ เมื่อต้องรับศึกกับกองทัพที่เกรียงไกรซึ่งนำโดยขุนศึกเจนสนามรบอย่างจูหยวนจาง ก็ต้องพบกับความปราชัย จักรพรรดิซุ่นตี้ทรงพาพระญาติและชาวมองโกลจำนวนหนึ่งหนีออกนอกด่านไปอยู่ที่เมืองซ่างตู(上都)
—–เดือน 8 ปี ค.ศ. 1367 กลุ่มกบฏโพกผ้าแดง(红巾军)ภายใต้การนำของจูหยวนจาง สามารถเข้ายึดครองเมืองต้าตูเป็นผลสำเร็จ ปิดฉากการปกครองประเทศโดยชนเผ่ามองโกลที่กินระยะเวลายาวนานถึง 91 ปี
—–หลังจากโค่นล้มราชวงศ์หยวนเป็นผลสำเร็จ จูหยวนจางก็สถาปนาราชวงศ์หมิง และตั้งตนเป็นฮ่องเต้ที่เมืองอิ้งเทียน(应天 นานกิงในปัจจุบัน) ประกาศใช้ศักราชหงอู่(洪武)อย่างเป็นทางการในเดือนอ้าย ปี ค.ศ. 1368 พระองค์รู้ว่าการปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพของราชสำนัก ย่อมส่งผลต่อทุกข์สุขของราษฎร ดังนั้น หลังจากขึ้นครองราชย์ จึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ บ้านเมืองจีนภายใต้การปกครองของจักรพรรดิผู้นี้กลับสู่ภาวะปกติสุขอีกครั้ง ทั้งนี้ ทรงตระหนักถึงเหตุแห่งความล่มสลายของราชวงศ์หยวน(元朝)ว่า นอกจากจะเกิดจากการคอรัปชั่นของขุนนางในราชสำนักแล้ว การแทรกแซงทางการเมืองของเหล่าขันทีในแผ่นดินจีนก็นำภัยอันใหญ่หลวงมาสู่ราชสำนักเช่นกัน จึงมีพระราชโองการให้จารึกแผ่นเหล็กประกาศห้ามขันทียุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการ ผู้ฝ่าฝืนกำหนดโทษประหารสถานเดียว พร้อมกันนี้ยังลดบทบาทของอัครเสนาบดีโดยรวบอำนาจการปกครองไว้ที่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้ฎีกาและข้อราชการต่างๆ ที่หลั่งไหลมาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งตรงมาถึงพระองค์โดยตรง การบริหารบ้านเมืองจึงเป็นไปอย่างราบรื่น

จักรพรรดิหมิงไท่จู่ จูหยวนจาง
—–ในส่วนของขุนนางที่รับใช้อยู่ในราชสำนักหยวน พระองค์ก็ทรงมีนโยบายในการดูแลจัดการที่ส่งผลดีต่อราชสำนักหมิง กล่าวคือ ทรงมองว่า แม้ขุนนางชาวมองโกลจะไม่ได้เป็นชาวฮั่น แต่หากมีความประสงค์จะรับใช้ในราชสำนักหมิง ก็เปิดโอกาสให้บริหารบ้านเมือง และได้รับการดูแลจากราชสำนักหมิงเท่าเทียมกับขุนนางชาวฮั่น นโยบายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมีใจเปิดกว้างของพระองค์ในเรื่องชนเผ่าที่มักเป็นที่มาของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม
—–พระองค์ทรงรวบอำนาจทางการทหารไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ กล่าวคือ อำนาจในการเลื่อน ลด ปลด ย้ายแม่ทัพนายกองล้วนต้องผ่านความเห็นชอบจากพระองค์ทั้งสิ้น และยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยกระจายอำนาจออกเป็นกองกำลังฝ่ายกลาง ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายหน้าและฝ่ายหลังแทน กองกำลังเหล่านี้มีสิทธิ์ในการออกคำสั่งทางการทหาร แต่ไม่มีสิทธิ์ในการจัดทัพ ผู้บัญชาการกองทัพทั้ง 5 เหล่านี้มีหน้าที่ในการดูแลและฝึกฝนทหาร แต่ไม่มีสิทธิ์ในการโยกย้ายทหารไปประจำตามกรมกองต่างๆ ทั้งนี้ ยังมีการจัดตั้งกองกำลังทหารเกราะทองให้เป็นกองกำลังพิเศษ มีหน้าที่คอยถวายอารักขาและสอดแนมความเคลื่อนไหวของขุนนางและราษฎร เมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจทางการทหารจึงอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว
—–ตลอดระยะเวลา 31 ปีที่ปกครองประเทศ พระองค์ทรงพยายามลดความขัดแย้งในหมู่ชนต่างเผ่า ดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมือง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการผลิต ขณะเดียวกัน ก็เรียนรู้ข้อดีข้อด้อยของระบบกฎหมายที่ใช้ในยุคราชวงศ์หยวน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพบ้านเมืองในยุคราชวงศ์หมิง ทรงเล็งเห็นถึงเหตุแห่งการล่มสลายของราชวงศ์หยวนที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้น หลังจากขึ้นครองราชย์ จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษาเพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรอย่างทั่วถึงโดยจัดตั้งโรงเรียนตามหมู่บ้านต่างๆ
—–พระจริยวัตรที่น่ายกย่องมีด้วยกันหลายประการ เช่น การตั้งอยู่บนความมัธยัสถ์ ดังเห็นได้จากพระราชวังที่ควรได้รับการบูรณะอย่างวิจิตรตระการตาหลังการสถาปนาราชวงศ์ แต่กลับมีรับสั่งให้ก่อสร้างอย่างเรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก และยังมีรับสั่งให้จิตรกรวาดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายเรื่อง ไว้เตือนพระสติไม่ให้บริหารบ้านเมืองผิดพลาดตามที่เคยปรากฏให้เห็นในอดีต ว่ากันตามราชประเพณีแล้ว ยานพาหนะและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ส่วนพระองค์ล้วนทำด้วยทองคำ ทว่า ทรงมีรับสั่งให้ใช้ทองแดงที่มีราคาถูกกว่าแทน แม้จะมีการทัดทานจากฝ่ายดูแลของหลวง แต่ทรงยืนกรานและชี้แจ้งว่า ไม่ได้ทรงเสียดายกับทองคำเพียงเล็กน้อย พระประสงค์หลักอยู่ที่การส่งเสริมให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกในเรื่องความมัธยัสถ์ โดยมีพระองค์ในฐานะผู้นำสูงสุดทรงเป็นแบบอย่างให้แก่อาณาประชาราษฎร์
—–แต่ถึงกระนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์ก็คือ ทรงประหารขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนที่สงสัยว่าเป็นปรปักษ์ต่อพระองค์มากถึงห้าหมื่นคน โดยเฉพาะช่วงปลายรัชกาลหลังจากที่สถาปนาองค์ชายจูอวิ่นเหวิน(朱允炆)พระราชนัดดาขึ้นเป็นรัชทายาทแทนองค์ชายจูเปียว(朱标)พระบิดาที่สิ้นพระชนม์ไปก่อน แม่ทัพหลายคนต้องถูกประหารเนื่องจากเกรงจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ไม่เว้นแม้แต่แม่ทัพผู้เคยออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระองค์
—–กษัตริย์หมิงไท่จู่จูหยวนจางเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1398 พระชนมายุ 71 พรรษา มีการอัญเชิญพระศพไปบรรจุไว้ที่สุสานเซี่ยวหลิง (孝陵墓)บนเชิงเขาจื่อจินซาน(紫金山)ชานนครนานกิง(南京) รวมระยะเวลาครองราชย์ทั้งสิ้น 31 ปี (ค.ศ.1368-1398) ในภายหลัง มีการสร้างสุสานฝังพระศพกษัตริย์ราชวงศ์หมิง 13 พระองค์ไว้ด้วยกัน จึงเป็นที่มาของแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีนนาม “สุสาน 13 กษัตริย์”(十三陵)ในกรุงปักกิ่งนั่นเอง