—–ผู้ชื่นชอบหนังจีนกำลังภายในหรือนวนิยายจีนกำลังภายในคงจะเคยผ่านหูผ่านตาคำว่า ‘ลัทธิบัวขาว(白莲宗) และ ‘พรรคบัวขาว(白莲教) มาบ้าง แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่รู้ความเป็นมาหรือเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับลัทธินี้ อีกทั้งยังเกิดคำถามว่า “ลัทธิบัวขาวและพรรคบัวขาวมีจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ หรือเป็นเพียงเรื่องราวที่นักเขียนนวนิยายแนวยุทธจักรตั้งใจรจนาขึ้น เพื่อเสริมเติมสีสันให้แก่งานประพันธ์”

—–คำตอบคือ… ลัทธิบัวขาวและพรรคบัวขาวมีจริงในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีบทบาทต่อสังคมและการเมืองในบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์จีนด้วย       

 

  1. ความเป็นมาของลัทธิบัวขาวและพรรคบัวขาว

—–ลัทธิบัวขาวมีต้นกำเนิดมาจากพุทธศาสนามหายานนิกายสุขาวดี (净土宗)[1] และดำรงอยู่กับสังคมจีนมาอย่างยาวนานนับพันปี ‘บันทึกเขาหลูซาน’《庐山记》เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับแรกที่มีการกล่าวถึงเรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงถึงลัทธิบัวขาว นั่นคือการบอกเล่าความเป็นมาของสมาคมบัวขาว (白莲社) โดยมีสาระสังเขปดังนี้

—–…ภิกษุฮุ่ยหย่วน (慧远 ค.ศ. 334-416) พระผู้มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (东晋) มีความศรัทธาในนิกายสุขาวดี มักสวดมนต์เจริญจิตภาวนาพร้อมกับเหล่าภิกษุ สานุศิษย์ และฆราวาส  ณ วัดตงหลิน (东林寺) บนเขาหลูซาน (庐山 ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซี) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแถบภาคใต้ของจีนในขณะนั้น 

ภิกษุฮุ่ยหย่วน

—–ณ สถานที่บำเพ็ญพุทธกิจนี้มีสระบัวขนาดใหญ่ ภิกษุฮุ่ยหย่วน เหล่าสานุศิษย์ และฆราวาสจะนั่งฌานสมาธิที่บริเวณสระบัว มุ่งเพ่งจิตให้เห็นสระบัวเป็นสระทิพย์แห่งแดนสุขาวดี ต่อมาเมื่อผู้คนมาร่วมบำเพ็ญจิตภาวนามากขึ้น ภิกษุฮุ่ยหยวนจึงได้ตั้งสมาคมบัวขาว…

—–ปีที่ภิกษุฮุ่ยหยวนตั้งสมาคมบัวขาวตรงกับปี ค.ศ. 402 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมของหมู่ภิกษุและพุทธศาสนิกชนที่มีความเชื่อความศรัทธาต่อการบำเพ็ญพุทธจิตให้เข้าถึงแดนสุขาวดี ดังนั้นในระยะแรกสมาคมบัวขาวจึงยังไม่เป็นลัทธิทางศาสนาอย่างเต็มรูปแบบ แต่เป็นเพียงการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของผู้มีความเชื่อความศรัทธาที่เหมือนกัน

—–แผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 371-420) จนถึงการสิ้นสุดยุคราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝 ค.ศ. 420-589) ตลอดสองศตวรรษนี้เป็นช่วงศึกสงครามแย่งชิงอำนาจและดินแดน ราษฎรต้องประสบกับความทุกข์ยากท่ามกลางภัยสงคราม ผู้คนที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานจึงมีความเชื่อว่าโลกกำลังอยู่ในวาระสุดท้าย เมื่อพ้นจากยุคมืดก็จะเข้าสู่ยุคสว่างที่เรียกว่า ‘ยุคพระศรีอาริย์’ โดยมีพระศรีอริยเมตไตรยมาโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์เข็ญ แนวความคิดนี้เป็นความหวังและสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชนในยุคสมัยนั้น ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อความศรัทธาของสมาคมบัวขาวที่ว่า …การนับถือพระอมิตาภะพุทธเจ้า เอ่ยนามของพระองค์ (‘อมิตาพุทธ’–阿弥陀佛) และเจริญจิตภาวนาถึงพระองค์ เป็นการบำเพ็ญตนเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตด้วยการไปสู่แดนสุขาวดี (ดินแดนแห่งความสุขสงบ สันติ ปราศจากความทุกข์ทั้งมวล) เมื่อได้อำลาจากโลกนี้แล้ว… ด้วยภูมิหลังทางสังคมและความเชื่อของผู้คนในสมัยนั้น แนวความคิดของสมาคมบัวขาวจึงเป็นที่ยอมรับของราษฎรชนชั้นล่าง ควบคู่กับความศรัทธาที่พวกเขามีต่อองค์พระศรีอริยเมตไตรย ความเชื่อดังกล่าวนี้ได้สืบต่อกันมาอีกสามร้อยกว่าปีในสมัยราชวงศ์สุย (隋) และราชวงศ์ถัง (唐)            

—–ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960-1127) พุทธศาสนิกชนจีนที่นับถือนิกายสุขาวดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสมาคมบัวขาวด้วยนั้นได้รวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น ต่อมาต้นสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ.1127-1279) ในรัชสมัยกษัตริย์ซ่งเกาจง (宋高宗 ค.ศ. 1127-1162) ภิกษุเหมาจื่อหยวน (茅子元 นามทางธรรมว่า ‘慈照’) แห่งนิกายสัทธรรมปุณฑรีกสูตร[2] (天台宗) มีความศรัทธาและนับถือภิกษุฮุ่ยหย่วนเป็นปฐมาจารย์ของสมาคมบัวขาว และเชื่อว่าตนคือผู้สืบสานแนวความคิดแห่งสมาคมบัวขาว จึงได้ก่อตั้งลัทธิบัวขาว (白莲宗) ขึ้น 

—–ลักษณะที่เด่นชัดของลัทธิบัวขาว  คือ

– มีความเชื่อว่า โลกนี้ดำรงอยู่ด้วยพลังแห่งความสว่างกับพลังแห่งความมืด พลังแห่งความสว่างเป็นสัญลักษณ์ของความดีและสัจธรรม พลังแห่งความมืดเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและขัดต่อสัจธรรม โดยพลังทั้งสองนี้จะดำรงสภาวะที่ขัดแย้งกันชั่วนิจนิรันดร์ แต่ครั้นเมื่อองค์พระศรีอริยเมตไตรยมาโปรดสรรพชีวิตในโลก พลังแห่งความสว่างจะมีชัยเหนือพลังแห่งความมืด    

– มีแนวการปฏิบัติตนที่เรียบง่ายกล่าวคือ นับถือพระอมิตาภะพุทธเจ้า สวดมนต์เจริญจิตภาวนา ปฏิบัติศีลและกุศลกรรมบถ อันเป็นการฝึกฝนกาย วาจา ใจ เพื่อดำรงตนอยู่ในคลองธรรม  ดังเช่น กตัญญูรู้คุณ เมตตาอาทร เป็นกัลยาณมิตร และละเว้นอกุศลกรรมทั้งปวง (ละเว้นการฆ่าการเบียดเบียนบุคคลและสรรพชีวิตทั้งมวล / ละเว้นการลักขโมย หรือหยิบฉวยทรัพย์สินของผู้อื่น / ละเว้นการประพฤติผิดในกาม / ละเว้นการพูดคำเท็จ คำส่อเสียด คำหยาบ คำเพ้อเจ้อไร้สาระ / ละเว้นของมึนเมา สิ่งเสพติด) จะเห็นได้ว่า แนวการปฏิบัติของลัทธิบัวขาวสอดคล้องกับหลักเบญจศีลเบญธรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท  ซึ่งเป็นหลักธรรมพื้นฐานของการดำเนินชีวิตนั่นเอง 

– สานุศิษย์หรือสาวกของลัทธิบัวขาวมีทั้งที่ครองเพศบรรพชิตและเป็นฆราวาส ทุกคนมีสายสัมพันธ์ดุจพี่น้อง เผยแผ่คำสอนร่วมกัน รับประทานอาหารเจ (รวมทั้งงดเว้นผลิตภัณฑ์ประเภทนม และพืชผักกลิ่นฉุนจำพวกหอม ขิง กระเทียม) สักการะองค์พระศรีอริยเมตไตรยและพระอมิตาภะพุทธเจ้า มีความเชื่อในเรื่องยุคพระศรีอาริย์และดินแดนสุขาวดี  ดังนั้นพระธรรมคัมภีร์ที่ยึดถือจึงได้แก่ พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์อุบัติการสูตร《弥勒下生经》และอมิตาภะพุทธสูตร《明王出世经》

—–ด้วยแนวความเชื่อและหลักปฏิบัติที่เข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากไม่ใช่หลักธรรมคำสอนเชิงนามธรรมที่ลุ่มลึก อีกทั้งการเข้าเป็นสมาชิกหรือสาวกของลัทธิบัวขาวก็ไม่มีกฏข้อบังคับใดๆ ไม่จำกัดชายหญิง ไม่จำกัดอายุ และไม่จำกัดฐานะ จึงมีชาวบ้านศรัทธาในลัทธิบัวขาวมากขึ้นเรื่อยๆ จนเติบโตเป็นองค์กรที่มีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินจีน ช่วงกลางและปลายสมัยราชวงศ์หยวน (ราชวงศ์มองโกล) ผู้ที่นับถือลัทธิบัวขาวได้ร่วมต่อต้านราชวงศ์หยวน เนื่องจากไม่ต้องการให้แผ่นดินจีนปกครองโดยชนเผ่าอื่นที่ไม่ใช่ชาวจีนฮั่น จึงได้ก่อเกิดเป็นองค์กรทางการเมืองขึ้นในชื่อว่า  ‘พรรคบัวขาว’ (白莲教) 

 

  1. พรรคบัวขาว : การถูกตีตราเป็นฝ่ายอธรรม

—–ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันมักมองว่า พรรคบัวขาวมีภาพลักษณ์ค่อนข้างลึกลับและโน้มเอียงไปทางฝ่ายอธรรม ที่เป็นเช่นนี้คงมาจากสาเหตุสำคัญดังต่อไปนี้  

– ด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สมาชิกพรรคบัวขาวเคยเป็นปรปักษ์และต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลางหลายต่อหลายครั้งโดยเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏชาวนา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กบฏชาวนาในสมัยราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน หรือราชวงศ์ชิง ในสายตาของทางการจึงเป็นองค์กรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติบ้านเมือง

– การเป็นสานุศิษย์หรือสาวกพรรคบัวขาวสามารถครองตนเป็นฆราวาสได้ตามปกติ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่จึงไม่ได้เคร่งครัดในคำสอนและหลักปฏิบัติมากนัก ขณะเดียวกันก็ยากที่จะควบคุมและลงโทษสมาชิกที่ปฏิบัติตนออกนอกทางธรรมได้ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น พรรคบัวขาวจึงถูกมองว่าเป็นลัทธินอกรีต นอกจากนี้ พรรคบัวขาวยังแตกแขนงเป็นสำนักมากมายถึงร้อยกว่าสำนักในภายหลัง บางสำนักมีแนวความเชื่อและแนวปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากเดิม กระทั่งออกนอกกรอบพุทธศาสนา เช่น มีความเชื่อและหลงมัวเมาทางไสยศาสตร์ พรรคบัวขาวจึงถูกจัดเป็นพวกมารศาสนาไปโดยปริยาย   

– สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคบัวขาวเป็นราษฎรชนชั้นล่าง ต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพยามกลางวัน การรวมกลุ่มของสมาชิกเพื่อประกอบกิจทางธรรมจึงต้องมีขึ้นในยามค่ำคืน ซึ่งอาจจะถูกมองว่าผิดวิสัยของการรวมกลุ่มประกอบศาสนกิจอย่างปกติ    

 

บทบาททางการเมือง  

—–การที่พรรคบัวขาวมีสมาชิกอยู่ทั่วแผ่นดินและส่วนใหญ่เป็นชนชั้นรากหญ้า จึงมักจะเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ ดังเช่นในสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง สมาชิกพรรคบัวขาวได้เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏชาวนาหลายครั้ง   

 

* โค่นล้มราชวงศ์หยวน  ร่วมตั้งราชวงศ์หมิง * 

—–การที่ชาวมองโกลซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของจีนได้ครอบครองดินแดนของชาวจีนฮั่นและสถาปนาราชวงศ์หยวน (元朝 ค.ศ.1206-1368) ขึ้นปกครองแผ่นดินจีนนานนับศตวรรษ นับเป็นยุคสมัยที่ชาวจีนฮั่นผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินต้องทนถูกกดขี่ โดยหวังว่าจะล้มล้างการปกครองของชนกลุ่มน้อยนี้และฟื้นฟูราชวงศ์ของชาวจีนขึ้นมาใหม่ในไม่ช้า ช่วงปลายราชวงศ์หยวนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองชาวมองโกลกับราษฎรชาวจีนฮั่นเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นเกิดศึกสงคราม ตามเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้         

—–ในสมัยคูลุกข่าน (曲律可汗 ค.ศ. 1308-1311) พระองค์มีรับสั่งกวาดล้างพรรคบัวขาว เพราะเห็นว่าเป็นลัทธินอกรีต อีกทั้งยังเติบโตขึ้นจนอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง ต่อมาอายูบาร์ดาข่าน (普颜笃汗 ค.ศ. 1312-1320) ได้ยกเลิกการปราบปรามพรรคบัวขาว เพื่อผ่อนคลายความขัดแย้งระหว่างราชสำนักหยวนกับชาวจีนฮั่น แต่เมื่อมีกลุ่มคนที่ต้องการล้มล้างราชสำนักอยู่ในพรรคบัวขาวเพิ่มมากขึ้น ราชสำนักหยวนหลังสมัยจีจีนข่าน (格坚汗 ค.ศ. 1321-1323) จึงดำเนินการกวาดล้างพรรคบัวขาวอีกครั้ง  

—–ปี ค.ศ.1325 และ ค.ศ.1338 พรรคบัวขาวก่อการกบฏต่อต้านราชสำนักหยวนกันขนานใหญ่ถึงสองครั้งสองครา ณ ดินแดนแถบตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง (พื้นที่มณฑลเหอหนาน-河南 และมณฑลเจียงซี-江西 ในปัจจุบัน) แต่ถูกทางการปราบปราม ครั้นเมื่อชาวจีนต้องทนถูกชาวมองโกลกดขี่ขูดรีดและมีชีวิตที่ยากแค้นแสนเข็ญมานานหลายสิบปี กอปรกับในปี ค.ศ.1351 เกิดอุทกภัยหลายครั้งในแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห หนึ่งในสาเหตุคือแนวกั้นน้ำขาดการบูรณะซ่อมแซมมานาน ทางการจึงต้องเร่งเกณฑ์ชาวบ้านนับแสนคนไปป้องกันน้ำหลากจากลำน้ำฮวงโห การเร่งซ่อมแซมแนวกั้นน้ำท่ามกลางสภาพดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศที่ยากลำบาก เป็นเหตุให้ราษฎรเสียชีวิตเพราะจมน้ำ อดอยากหิวโหย และโรคภัยไขเจ็บนับไม่ถ้วน ประชาชนจำนวนมากรวมทั้งชาวบ้านที่เป็นสมาชิกพรรคบัวขาวจึงได้เข้าร่วมกับกองทัพโพกผ้าแดง (紅巾軍 กองกำลังชาวบ้านจากหลายกลุ่มหลายพวก) ลุกฮือขึ้นต่อต้านราชสำนักหยวนครั้งใหญ่   

กองทัพโพกผ้าแดง

—–ขบวนการต่อต้านอำนาจส่วนกลางครั้งสำคัญโดยชนชั้นล่างนี้ เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1351 ตรงกับสมัยของอูคานตูข่าน (乌哈噶图汗 ค.ศ. 1333-1368) ข่านองค์สุดท้ายของราชวงศ์มองโกล ขณะนั้นผู้นำกองทัพโพกผ้าแดงคนสำคัญ คือ หานซานถง (韩山童) กับหลิวฝูทง (刘福通) ทั้งสองศรัทธาในลัทธิบัวขาวและเป็นสมาชิกพรรคบัวขาว กองทัพโพกผ้าแดงภายใต้การนำของทั้งสองเคลื่อนไหวอยู่แถบตอนเหนือของจีนโดยยึดครองพื้นที่ได้หลายส่วน ทว่าสุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพของทางการ หานซานถงถูกจับกุมและประหารชีวิต ส่วนหลิวฝูทงหนีรอดไปได้

—–ต่อมาหลิวฝูทงได้รวบรวมกองกำลังขึ้นมาอีกครั้ง ยึดครองพื้นที่ใดได้ก็จะนำเสบียงในคลังหลวงออกแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน ในเวลาเพียงไม่กี่ปีกองกำลังของเขาจึงเติบโตจนมีไพร่พลนับแสน ค.ศ.1355 กองทัพของเขายึดเมืองป๋อโจว (亳州 ปัจจุบันเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลอานฮุย-安徽省) และสถาปนาหานหลินเอ๋อ (韩林儿) บุตรชายของหานซานถงขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า ‘เสี่ยวหมิงหวัง’ (小明王) พร้อมกับรื้อฟื้นราชวงศ์ซ่ง (宋) กลับมาอีกครั้ง และจัดตั้งอำนาจการปกครองของกลุ่มชาวนาขึ้น

—–ปี ค.ศ.1357 หลิวฝูทงแบ่งกองกำลังออกเป็น 3 สาย ได้แก่ สายตะวันออก (บุกซานตง 山东 / เหอเป่ย 河北 เพื่อเข้ายึด ‘ต้าตู’ (大都) ราชธานีของราชวงศ์หยวน) สายเหนือ (บุกซานซี 山西 ยึด ‘ซ่างตู’ (上都) ราชธานีสำรอง) และสายตะวันตก (บุกส่านซี 陕西 / หนิงเซี่ย宁夏 / กานซู่甘肃 / เสฉวน 四川) การเปิดศึกครั้งนี้กองทัพของเขายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนกลางของจีนไว้ได้ นับเป็นช่วงเวลาที่กองทัพโพกผ้าแดงแข็งแกร่งที่สุด แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในและอาณาจักรใหม่ยังไม่มั่นคงพอ จึงต้องสูญเสียดินแดนที่ยึดครองได้ให้แก่ราชสำนักหยวนในภายหลัง ทั้งยังถูกล้อมโจมตีจนในที่สุดอาณาจักรซ่งก็ล่มสลาย หลิวฝูทงเสียชีวิตในสนามรบเมื่อปี ค.ศ. 1362 

—–แม้ว่ากองทัพโพกผ้าแดงฝ่ายเหนือจะปราชัย แต่กองทัพโพกผ้าแดงฝ่ายใต้ยังมีกำลังที่แข็งแกร่ง จูหยวนจาง (朱元璋) ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิงในเวลาต่อมา เป็นหนึ่งในแม่ทัพที่กุมกองทัพโพกผ้าแดงฝ่ายใต้ ได้นำทัพเข้าช่วยหานหลินเอ๋อไว้ ในช่วงแรกจูหยวนจางชูกษัตริย์ผู้ลี้ภัยให้เป็นศูนย์รวมของกองทัพโพกผ้าแดง  แต่เมื่อเขาสามารถผนวกกองกำลังของกองทัพโพกผ้าแดงฝ่ายใต้ไว้เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังยึดครองดินแดนแถบตอนใต้ของจีนได้แล้ว กษัตริย์ไร้แผ่นดินผู้นี้ก็จบชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำในปี ค.ศ. 1366 สองปีต่อมาจูหยวนจางเข้ายึดดินแดนทางตอนเหนือและราชธานีของราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ สถาปนาราชวงศ์หมิง (明) ขึ้นปกครองแผ่นดินจีน (ค.ศ.1368-1644) นับเป็นการสิ้นสุดการปกครองโดยราชวงศ์ของชนเผ่ามองโกลนับแต่บัดนั้น 

—–ถึงแม้สมาชิกพรรคบัวขาวจะเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่ร่วมก่อตั้งราชวงศ์หมิง แต่จูหยวนจางซึ่งต่อมามีพระนามว่า กษัตริย์หมิงไท่จู่ (明太祖) ก็ตระหนักดีว่า ยามใดที่องค์กรนี้แข็งแกร่งย่อมเป็นภัยต่อความมั่นคงของบ้านเมืองจึงได้สั่งกวาดล้างหลายครั้ง ผู้คนที่ศรัทธาในลัทธิบัวขาวรวมทั้งสมาชิกพรรคบัวขาวต้องหลบหนีการปราบปรามของทางการ โดยแยกเป็นหลายกลุ่มหลายสายกระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน สถานการณ์บีบบังคับให้พวกเขาต้องเป็นปรปักษ์กับอำนาจส่วนกลางอีกครั้งและผันตัวเป็นกลุ่มใต้ดินเพราะภาวะจำยอม 

—–ในช่วงกลางและปลายราชวงศ์หมิง พรรคบัวขาวเติบโตอย่างมากโดยแตกแขนงออกเป็นหลายสิบสำนัก ซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น สำนักนิพพาน (涅槃教) สำนักวิสุทธิสุญญตา (净空教) สำนักนโม (南无教) สำนักเมตไตรย์ (弥勒教) สำนักตะวันแดง (红阳教) ฯลฯ เมื่อราชสำนักหมิงมองว่าองค์กรเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงและสั่งปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ภาพลักษณ์ของพรรคบัวขาวที่เป็นองค์กรลับหรือองค์กรใต้ดินก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้อยู่คู่พรรคบัวขาวสืบมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง

 

* ขับไล่แมนจู กู้ชาติชาวฮั่น *     

—–เมื่อชนเผ่าแมนจูก่อตั้งราชวงศ์ชิง (清) และปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หมิง ชาวจีนฮั่นก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของชนต่างเผ่าอีกครั้ง ในช่วงต้นราชวงศ์ชิงสำนักของพรรคบัวขาวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อนับรวมสำนักที่มีอยู่ก่อนแล้วก็มากถึงร้อยกว่าสำนัก ส่วนใหญ่กระจายอยู่แถบตอนกลางและตอนใต้ของจีน โดยแต่ละสำนักมีความเชื่อความศรัทธาและแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันไป หลายสำนักร่วมเป็นพันธมิตรต่อต้านแมนจู  เป้าหมายคือขับไล่แมนจูออกจากแผ่นดินจีน ฟื้นฟูการปกครองของราชวงศ์ที่มาจากชาวจีนฮั่น จึงเป็นสาเหตุที่ทางราชสำนักชิงต้องปราบปรามพรรคบัวขาวอย่างต่อเนื่อง   

—–ตั้งแต่ปลายรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงเป็นต้นมา ราชวงศ์ชิงเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย ขณะที่สำนักต่างๆ ของพรรคบัวขาวได้เติบโตขึ้นเป็นองค์กรลับต่อต้านราชสำนักชิง  ปี ค.ศ. 1796 ในรัชสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉庆) ได้เกิดกบฏพรรคบัวขาวครั้งใหญ่ในพื้นที่ตอนกลางของจีน ผู้เข้าร่วมหลายแสนคนเริ่มก่อกบฏที่มณฑลเสฉวน มณฑลหูเป่ย และมณฑลส่านซี  จากนั้นได้ขยายไปยังมณฑลหูหนาน มณฑลเหอหนาน และมณฑลกานซู่  ราชสำนักชิงต้องระดมกำลังพลที่ประจำการอยู่ตามมณฑลต่างๆ ถึง 16 มณฑลเข้าปราบปรามกบฎพรรคบัวขาวเป็นเวลานานถึง 9 ปีเศษ  แม้ว่าการปราบกบฏครั้งนี้ทางการได้กวาดล้างพรรคบัวขาวจนเกือบหมดสิ้น  แต่ราชสำนักชิงก็สูญเสียไพร่พลไปมหาศาล  แม่ทัพใหญ่ฝีมือดีพลีชีพถึง 20 กว่านาย และสูญเสียงบประมาณแผ่นดินมากถึง 200 กว่าล้านตำลึง (คิดเป็นรายได้แผ่นดินรวม 5 ปีที่ราชสำนักชิงจัดเก็บได้) ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลง  ปีค.ศ.1813 เกิดกบฏพรรคบัวขาวขึ้นอีกครั้งโดยการนำของสำนักยันต์แปดทิศ (八卦教)  การต่อต้านทางการในนามของพรรคบัวขาวครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์จีน นับจากนั้นมาพรรคบัวขาวก็มีบทบาทลดลงและค่อยๆ เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์จีนตามกาลเวลา

 

[1] นิกายสุขาวดีแตกแขนงมาจากพุทธศาสนามหายาน ผู้นับถือนิกายสุขาวดีจะมุ่งมั่นเจริญพุทธจิตระลึกถึงพระอมิตาภะพุทธะ พระพุทธเจ้าแห่งแสงสว่างอเนกอนันต์ ผู้ประทับ ณ ทิศตะวันตกของพุทธมณฑลซึ่งเป็นดินแดนสุขาวดี (ดินแดนแห่งสันติสุขและความบริสุทธิ์)

[2] ‘นิกายสัทธรรมปุณฑรีกสูตร’ เป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนามหายานของจีน  นิกายนี้นับถือสัทธรรมปุณฑรีกสูตร (พระสูตรสัจธรรมดวกบัว – 妙法莲华经) ซึ่งเป็นพระสูตรที่จารึกคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในช่วงปลายพระชนม์ชีพ  สาระสำคัญในพระสูตรนี้คือ พุทธภาวะมิได้อยู่ภายนอกร่างกาย แต่เป็นสภาวะสูงสุดที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เมื่อมนุษย์กำจัดอวิชชาจนสิ้นแล้ว  พุทธภาวะก็จะแสดงออกมา 

 

เรื่องโดย เสี่ยวหลงเปา