จิ๋นซีฮ่องเต้และบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง

เรื่องโดย องค์หญิงหลันเหลียน


—–ฉินสื่อหวง  (秦始皇 259-210 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม ‘จิ๋นซีอ๋อง’ หรือ ‘จิ๋นซีฮ่องเต้’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉิน (秦 221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีพระนามเดิมว่า อิ๋งเจิ้ง (嬴政) ทรงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ครองรัฐฉิน โดยสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดาด้วยวัยเพียง 13 ชันษา และมีพระนามว่า ฉินหวางเจิ้ง (秦王政) ด้วยเหตุที่ฉินหวางเจิ้งยังทรงพระเยาว์ ทำให้หลี่ว์ปู้เหวย (吕不韋) ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนในฐานะที่เป็นจ้งฟู่ (仲父) หรือพระบิดาบุญธรรม

—–ฉินหวางเจิ้งเริ่มบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองเมื่อพระชนมพรรษา 22 พรรษา โดยมีราชเลขาธิการนามว่าหลี่ซือ (李斯 284-208 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้ถวายคำแนะนำ พระองค์ทรงปกครองรัฐฉินอย่างเข้มแข็งและขณะเดียวกันก็ปฏิบัติต่อรัฐอื่นอย่างแข็งกร้าวด้วยการสลาย 6 รัฐพันธมิตร แล้วรวบรวมจนเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐฉิน จากนั้นทรงสถาปนาจักรวรรดิฉินขึ้น โดยเป็นรัฐที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างเบ็ดเสร็จ และทรงปกครองจักรวรรดิในฐานะ ‘ฮ่องเต้พระองค์แรกของจีน’ นั่นเอง

—–ฉินหวางเจิ้งทรงครองราชย์ยาวนาน 37 ปี โดยเป็นเจ้าผู้ครองรัฐฉิน 25 ปี และเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฉิน 12 ปี ด้วยแนวทางการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระองค์คือผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นเอกภาพ

—–ทว่า ก่อนจะมาเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้ผู้เกรียงไกรที่ใครๆ ต่างยอมสยบนั้น ยังมีบุคคลสำคัญที่น่าสนใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้

 

  อันกั๋วจวิน-พระอัยกาของจิ๋นซี กษัตริย์ผู้ด้อยวาสนาแห่งรัฐฉิน

—–อันกั๋วจวิน (安國君 302-250 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หรือพระนามเดิมคือ องค์ชายอิ๋งจู้  (赢柱) เป็นพระโอรสของกษัตริย์เจาเซียงหวาง[1] (昭襄王) และยังรั้งตำแหน่งองค์รัชทายาทแห่งรัฐฉิน
—–อันกั๋วจวินดำรงตำแหน่งองค์รัชทายาทเป็นเวลาเกือบ 15 ปี จนกระทั่งในช่วง 251 ปีก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์เจาเซียงหวาง (孝文王) เสด็จสวรรคต อันกั๋วจวินซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 53 พรรษาจึงได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อ ทรงพระนามว่า เซี่ยวเหวินหวาง ทว่าหลังจากนั้นเพียงไม่นาน พระองค์ก็เสด็จสวรรคต เป็นเหตุให้องค์ชายอี้เหยิน (異人) ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทอันดับหนึ่งได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อไป

 

  หัวหยางฟูเหยิน-พระอัยยิกาบุญธรรมของจิ๋นซี ผู้ผลักดันให้องค์ชายอี้เหยินสืบราชบัลลังก์แห่งรัฐฉิน

—–หัวหยางฟูเหยิน (華陽夫人 ไม่ระบุแน่ชัด-230 ปีก่อนคริสต์ศักราช) สตรีสูงศักดิ์แห่งรัฐฉู่ (楚) ได้สมรสกับอันกั๋วจวิน องค์รัชทายาทแห่งรัฐฉิน แม้จะเป็นสนมเอกที่ทรงโปรดปรานที่สุด ทว่าไม่สามารถมีทายาทกับอันกั๋วจวินได้ด้วยเหตุเรื่องสุขภาพ หลังจากอันกั๋วจวินสืบราชบัลลังก์ หัวหยางฟูเหยินจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นราชินีแห่งรัฐฉิน

—–หัวหยางฟูเหยินมีบทบาทอย่างมากต่อการสืบราชบัลลังก์ขององค์ชายอี้เหยิน พระบิดาของจิ๋นซี เพราะพระนางได้รับอี้เหยิน หนึ่งในทายาทของอันกั๋วจวินเป็นโอรสบุญธรรม ซึ่งขณะนั้นอี้เหยินยังเป็นองค์ประกันอยู่ที่รัฐจ้าว (趙) อีกทั้งหัวหยางฟูเหยินยังเปลี่ยนชื่อให้อี้เหยินเป็น จื๋อฉู่ (子楚) ซึ่งหมายถึง บุตรแห่งรัฐฉู่ เหตุเพราะหัวหยางฟูเหยินเดิมเป็นชาวรัฐฉู่นั่นเอง นอกจากนี้ พระนางยังโน้มน้าวอันกั๋วจวินให้ทรงแต่งตั้งจื๋อฉู่เป็นรัชทายาท ทั้งหมดนี้ส่งผลให้จื๋อฉู่สามารถก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ได้อย่างสง่าผ่าเผยในภายหลัง

—–บันทึกประวัติศาสตร์จีน《史記》ระบุไว้ว่า การที่หัวหยางฟูเหยินยอมรับอี้เหยินเป็นโอรสบุญธรรมและพยายามผลักดันให้จื๋อฉู่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์นั้น เป็นผลมาจากการวางแผนหว่านล้อมของหลี่ว์ปู้เหวย ซึ่งขณะนั้นพยายามสร้างความใกล้ชิดกับหัวหยางฟูเหยิน เนื่องจากต้องการหาเส้นสายเพื่อสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ตนเอง

 

  อี้เหยิน-พระบิดาของจิ๋นซี จากตัวประกันผู้ตกยากสู่กษัตริย์จวงเซียงหวางแห่งรัฐฉิน 

—–องค์ชายอี้เหยิน (異人 281-247 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หรือ จื๋อฉู่ ทรงเป็นพระโอรสของอันกั๋วจวินกับพระสนมนามว่า เซี่ยจี (夏姬)

—–เอกสารทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงพระมารดาแท้ๆ ของอี้เหยินนาม เซี่ยจี ว่าเป็นเพียงพระสนมธรรมดาองค์หนึ่งของอันกั๋วจวินซึ่งไม่เป็นที่โปรดปรานนัก หลังจากอันกั๋วจวินได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาทแห่งรัฐฉิน อี้เหยินก็ถูกส่งตัวไปอยู่ที่เมืองหานตาน (邯鄲) ของรัฐจ้าวในฐานะองค์ประกันทางการเมืองตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมาอี้เหยินรู้จักและได้รับความช่วยเหลือจากหลี่ว์ปู้เหวยจนกระทั่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา และเปลี่ยนพระนามเป็น จวงเซียงหวาง (莊襄王) อย่างไรก็ตาม พระองค์ครองราชย์ได้เพียง 4 ปีเศษ ก็สวรรคตด้วยพระอาการประชวร เมื่อ 247 ปีก่อนคริสต์ศักราช

—–การแลกเปลี่ยนตัวประกันทางการเมืองระหว่างกันของบรรดาเจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปในสมัยชุนชิวจ้านกั๋ว (春秋战国 770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นยุคแห่งความแตกแยก แผ่นดินจีนในเวลานั้นถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย การรบรากันระหว่างรัฐจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ถ้ามีตัวประกันเป็นบุคคลสำคัญ เช่น องค์ชายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ ก็จะช่วยให้เกิดการหย่าศึก หรือป้องกันไม่ให้สงครามทวีความรุนแรงขึ้น หรือทำให้การเจรจาระหว่างกันบรรลุผลได้โดยง่าย

—–ส่วนสาเหตุการส่งอี้เหยินไปเป็นองค์ประกันทางการเมืองที่รัฐจ้าวนั้น นักประวัติศาสตร์มีมุมมองการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันไป ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ด้วยอี้เหยินเป็นหนึ่งในทายาทจำนวนยี่สิบกว่าคนของอันกั๋วจวิน อีกทั้งเซี่ยจี มารดาแท้ๆ ของอี้เหยินก็ไม่เป็นที่โปรดปรานของอันกั๋วจวิน จึงถูกเลือกให้ไปเป็นองค์ประกัน สำหรับความคิดเห็นของอีกฝ่ายกลับมองว่า อี้เหยินเป็นทายาทคนหนึ่งที่ได้รับความสำคัญจากอันกั๋วจวิน ซึ่งหมายตาไว้ให้สืบตำแหน่งองค์รัชทายาทแห่งรัฐฉิน จึงถูกส่งตัวไปยังรัฐจ้าว เพื่อเป็นองค์ประกันทางการเมืองแทนพระบิดา จะได้มีโอกาสสร้างผลงานและสั่งสมความดี ถือเป็นพระราชกรณียกิจก่อนที่จะสืบทอดราชบัลลังก์

 

♣   หลี่ว์ปู้เหวย-พระบิดาบุญธรรมของจิ๋นซี ผู้ผันชีวิตจากพ่อค้าสู่อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉิน

—–หลี่ว์ปู้เหวย (吕不韋 ไม่แน่ชัด-235 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งแห่งยุคจั้นกั๋ว (戰國 ราว 475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เกิดที่เมืองหยางตี๋ (陽翟) แห่งรัฐหาน (韓) อาชีพเดิมเป็นพ่อค้าที่ทำมาค้าขายระหว่างรัฐต่างๆ แต่เนื่องจากรัฐหานมีขนาดเล็ก เศรษฐกิจไม่ค่อยดี เขาจึงย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองหานตานในรัฐจ้าว ซึ่งเป็นรัฐใหญ่และมีเศรษฐกิจคึกคักกว่า

—–ด้วยความชาญฉลาดและความสามารถในการเจรจาธุรกิจ หลี่ว์ปู้เหวยจึงสามารถผลักดันตัวเองจนกลายเป็นพ่อค้าเกลือรายใหญ่และครอบครองนาเกลือจำนวนมาก ซึ่งสมัยก่อนการค้าเกลือถือเป็นธุรกิจผูกขาดเฉพาะผู้มีอิทธิพลเท่านั้น เพราะเกลือจัดเป็นยุทธปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางการทหาร

—–แต่เมื่อหลี่ว์ปู้เหวยตระหนักว่าอาชีพพ่อค้าไม่อาจจะนำมาซึ่งอำนาจบารมีและเกียรติยศได้ เพราะไม่ใช่อาชีพที่เชิดหน้าชูตานักในสังคมจีนโบราณ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะยกระดับสถานภาพตัวเองไปสู่สังคมชั้นสูงด้วยการวิ่งเต้นเพื่อเข้ารับราชการ

—–ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของรัฐต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ หลี่ว์ปู้เหวยจึงเริ่มต้นก้าวแรกบนเส้นทางการเมืองอย่างมีชั้นเชิง นอกจากจะทุ่มเททรัพย์สมบัติมากมายเข้าแลกแล้ว เขายังตัดสินใจยกจ้าวจี (趙姬) นางบำเรอคนโปรดของตนซึ่งภายหลังคือพระมารดาของจิ๋นซีฮ่องเต้ให้แก่องค์ชายอี้เหยิน โดยเชื่อกันว่าขณะนั้นจ้าวจีกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่แล้ว นอกจากนี้หลี่ว์ปู้เหวยยังเป็นผู้สนับสนุนให้องค์ชายอี้เหยินได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์จวงเซียงหวางแห่งรัฐฉิน และต่อมากษัตริย์จวงเซียงหวางก็ทรงแต่งตั้งให้หลี่ว์ปู้เหวยได้เป็นอัครมหาเสนาบดี

 

  จ้าวจีพระมารดาของจิ๋นซี หญิงงามสามชายผู้สร้างปมในใจแก่จิ๋นซี
—–จ้าวจี (趙姬 ไม่ระบุแน่ชัด-228 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พระมารดาของจิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นชาวเมืองหานตานแห่งรัฐจ้าว แต่ไม่มีการบันทึกชื่อสกุลที่แท้จริง คำว่า ‘จ้าวจี’ พบการใช้ครั้งแรกในตำนานประวัติศาสตร์โจวตะวันออก[2]《東周列國志》ซึ่งเป็นเพียงชื่อที่ผู้เขียนใช้เรียก มิใช่ชื่อสกุลจริงแต่อย่างใด


—–ตามตำนานพื้นบ้านเล่ากันว่า หลี่ว์ปู้เหวยพบกับจ้าวจีที่เมืองหานตาน ความงามและความฉลาดของนางเป็นที่ถูกใจหลี่ว์ปู้เหวยอย่างมากจนรับนางมาเลี้ยงดู ต่อมาหลี่ว์ปู้เหวยได้ถวายจ้าวจีให้แก่องค์ชายอี้เหยิน และหลังจากนั้นไม่นานจ้าวจีก็ให้กำเนิดบุตรชาย นามว่า ‘อิ๋งเจิ้ง’ หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ในเวลาต่อมานั่นเอง
—–หลังจากที่องค์ชายอิ๋งเจิ้งขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์จวงเซียงหวาง พระบิดาที่เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการประชวร จ้าวจีจึงได้เลื่อนฐานะเป็นไทเฮา ความเหงาและความว้าเหว่ทำให้หม้ายสาวเรียกคนรักเก่าอย่างหลี่ว์ปู้เหวยเข้าเฝ้าบ่อยครั้ง ด้านหลี่ว์ปู้เหวยที่ตอนนั้นดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีเกรงจะไม่เหมาะสม ทั้งตนยังมีงานมากมายต้องรับผิดชอบ จึงวางแผนส่งเล่าไอ่ (嫪毐) ชายหนุ่มผู้มีของลับใหญ่กว่าบุรุษทั่วไป ปลอมเป็นขันทีเข้าวังเพื่อถวายการรับใช้ไทเฮา ต่อมาเมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงทราบว่าจ้าวจีและเล่าไอ่ลักลอบเล่นชู้กัน จึงไม่พอพระทัยอย่างมากและส่งทั้งคู่ไปยังพระตำหนักห่างไกล ฝ่ายเล่าไอ่ผู้มีใจทะเยอทะยานจึงใช้โอกาสนี้ซ่องสุมไพร่พลและข้าทาสบริวารมากมายหวังก่อกบฏขึ้น ทว่าจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงทราบแผนการเสียก่อนจึงสั่งประหารชีวิตเล่าไอ่ด้วยวิธีห้าอาชาแยกร่าง[3] และพระราชทานยาพิษแก่หลี่ว์ปู้เหวยโทษฐานชักนำคนทรยศเข้าสู่ราชสำนัก หลังจากที่สูญเสียคนรักไปคนแล้วคนเล่า จ้าวจีโศกเศร้าเสียใจมาก และสิ้นพระชนม์เนื่องจากตรอมพระทัยใน 3-4 ปีต่อมา

 

[1] กษัตริย์เจาเซียงหวาง มีพระนามเดิมว่า อิ๋งเจ๋อ (贏則) หรืออีกพระนามหนึ่งว่า อิ๋งจี้ (赢稷) เป็นเจ้าผู้ครองรัฐฉินในสมัยจั้นกั๋ว (戰國) ครองราชย์ในช่วง 306-251 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยในรัชสมัยของพระองค์นั้น รัฐฉินมีฐานอำนาจและอาณาเขตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

[2]ชาวไทยรู้จักวรรณคดีอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ในนาม ‘เลียดก๊ก’

[3]ห้าอาชาแยกร่าง (五马分尸) เป็นวิธีการประหารชีวิตอย่างหนึ่งของจีนโบราณ โดยใช้เชือกมัดแขนขาและศีรษะไว้กับม้าหรือรถม้า 5 ทิศ แล้วให้ม้าควบไปเพื่อฉีกร่างออกจากกัน