เขตล่าสัตว์มู่หลานและพิธีล่าสัตว์ประจำราชสำนักชิง

เรื่องโดย เดชาวัต เนตยกุล

 

——เมื่อพูดถึงคำว่า ‘มู่หลาน’ (木蘭) หลายคนอาจจะนึกถึง ‘ฮวามู่หลาน’ (花木蘭) วีรสตรีจีนที่ปรากฏในบทร้อยกรองโบราณก่อนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในภายหลัง ทว่าคำว่า ‘มู่หลาน’ ในบทความนี้เป็นชื่อสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับฮวามู่หลานแต่อย่างใด สถานที่นี้มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ‘เขตล่าสัตว์มู่หลาน’ (木蘭圍場) อันเป็นเขตล่าสัตว์ประจำราชวงศ์ชิง

ภาพองค์ชายหงลี่ (จักรพรรดิเฉียนหลง) ออกล่าสัตว์

——คำว่า ‘มู่หลาน’ (ภาษาแมนจู :ᠮᡠᡵᠠᠨ) ถอดเสียงมาจากภาษาแมนจู มีความหมายว่า ‘กิจกรรมล่าสัตว์ที่เลียนแบบเสียงกวาง’ ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งชื่อสถานที่ดังกล่าวว่า ‘เขตล่าสัตว์มู่หลาน’ เขตล่าสัตว์นี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเหอเป่ย (河北省) คาบเกี่ยวเมืองเฉิงเต๋อ (承德市) กับเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (內蒙古自治區) เป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชและสัตว์ป่านานาพรรณ แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้มีชื่อว่า ‘ป่าสนพันลี้’ (千里松林) เคยเป็นเขตล่าสัตว์อุทยานหลวงประจำราชวงศ์เหลียว (遼 ค.ศ. 907-1125) ใน ค.ศ. 1681 จักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ. 1654-1722) เสด็จประพาสตอนเหนือของประเทศจีน ผู้นำของกลุ่มคาหล่าชิ่น (喀喇沁) กลุ่มเอ๋าฮั่น (敖漢) และกลุ่มเวิงหนิวเท่อ (翁牛特) น้อมเกล้าฯ ถวายลานเลี้ยงสัตว์แด่จักรพรรดิคังซี พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ขนาด 14,000 ตารางกิโลเมตรนี้ให้เป็นเขตล่าสัตว์ประจำราชสำนักชิง และมีพระราชดำริให้จัด ‘พระราชพิธีล่าสัตว์ประจำสารทฤดู’ (木蘭行圍 หรือ 木蘭秋狝) ขึ้น ณ บริเวณนี้

——‘พระราชพิธีล่าสัตว์ประจำสารทฤดู’ เป็นหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญประจำปีของราชวงศ์ชิง โดยทั่วไปจัดขึ้นในช่วงเดือน 7 ถึงเดือน 8 องค์จักรพรรดิทรงจัดพิธีล่าสัตว์ขึ้นเพื่อฝึกปรือกำลังทหาร โดยซ้อมจัดวางทหารทั้งแปดกองธงเช่นเดียวกับการรบจริง ทั้งนี้เหล่าพระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา รวมถึงเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางคนสำคัญก็ตามเสด็จไปยังเขตล่าสัตว์มู่หลาน เพื่อเสริมทักษะการขี่ม้าและยิงเกาทัณฑ์ด้วย นอกจากจัดขึ้นเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังเป็นกุศโลบายไม่ให้เหล่าทหารและชนชั้นสูงชาวแมนจูลืมรากเหง้าของตน ติดการกินหรูอยู่สบายจนเกินไป ยิ่งกว่านั้นยังเปิดช่องให้เหล่าพระโอรสแสดงความกล้าหาญและฝีมือกังฟูให้เป็นที่ประจักษ์แก่องค์จักรพรรดิ เพื่อสร้างโอกาสในการรับเลือกเป็นรัชทายาท

——นอกจากนี้แล้ว พิธีล่าสัตว์ประจำสารทฤดูนี้ยังมีความสำคัญทางการเมืองการปกครอง กล่าวคือ การที่เขตล่าสัตว์มู่หลานอยู่ที่เขตมองโกเลียใน ไม่ใช่เพราะมีความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยสัตว์ป่าเท่านั้น แต่บริเวณนี้ยังคาบเกี่ยวระหว่างจีนกับมองโกล จักรพรรดิจึงทรงเรียกพบผู้นำชนเผ่าต่างๆ ของมองโกลได้โดยสะดวกเพื่อกระชับและพัฒนาความสัมพันธ์ของราชสำนักชิงกับชนเผ่าน้อยใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสงบสุขตามพรมแดนด้วย

——เขตล่าสัตว์มู่หลานมีพื้นที่กว้างขวางมาก จึงมีการแบ่งเขตล่าสัตว์เป็นเขตย่อยถึง 72 เขต แต่ละเขตมีประเภทของสัตว์แตกต่างกันไป ในการล่าสัตว์แต่ละครั้งองค์จักรพรรดิทรงเลือกเขตล่าสัตว์ย่อยที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

——การล่าสัตว์ขององค์จักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ย่อมต่างจากการล่าสัตว์ของสามัญชน เพราะการล่าสัตว์ในแต่ละครั้งต้องใช้ไพร่พลและม้าจำนวนนับหมื่น พิธีล่าสัตว์นั้นแบ่งเป็นสี่ขั้นตอนหลัก ดังนี้

  1. ไล่ล้อม (布圍/撒圍) : ในยามห้า (五更 ช่วงเวลา 03.00-05.00 น. ) ทหารแปดกองธง หน่วยปืนไฟพยัคฆ์ รวมถึงชาวเผ่ามองโกลที่เข้าร่วมพิธีล่าสัตว์จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม และกระจายกำลังกันออกไปไล่ล้อมต้อนสัตว์มายังใจกลางเขตล่าสัตว์นั้นๆ
  2. ชมการล้อม (觀圍/待圍) : ในขณะที่ไล่ล้อมอยู่นั้น ก็มีการล้อมม่านสีเหลืองในอีกสถานที่หนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก เรียกว่า ‘เขตรับชม’ (看城) เพื่อให้จักรพรรดิรอทอดพระเนตรบรรดาสัตว์ที่ถูกต้อนมา นอกจากนี้จักรพรรดิยังทรงลงมือปรุงน้ำแกงพร้อมทั้งเนื้อสัตว์ด้วยพระองค์เอง และพระราชทานให้แก่เหล่าขุนนางในระหว่างที่รอการไล่ล้อมเสร็จสิ้น
  3. ล่าในวงล้อม (行圍) : ในขั้นตอนนี้จักรพรรดิทรงออกล่าสัตว์ด้วยพระองค์เอง โดยมีราชองครักษ์และข้าราชบริพารคอยติดตาม หลังจากล่าเสร็จแล้วก็เสด็จกลับมายังเขตรับชมเพื่อทอดพระเนตรการล่า รวมถึงความสามารถของเหล่าโอรสและขุนนางคนต่างๆ
  4. สิ้นสุดการล้อม (罷圍) : เมื่อการล่าสัตว์ผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้วก็มีพระเมตตาให้ปล่อยสัตว์ออกไปสืบพันธุ์ หลังจากนั้นก็ปูนบําเหน็จตามความเหมาะสมให้แก่ผู้ที่ล่าสัตว์ได้ เมื่อสิ้นสุดพิธีล่าสัตว์ในตอนกลางวัน ตกกลางคืนก็มีงานเลี้ยงสังสรรค์ ทั้งแสดงดนตรี ร้องรำทำเพลง การละเล่นมวยปล้ำ ฯลฯ

ภาพเฉียนหลงและพระสนมง้างเกาทัณฑ์ล่ากวาง

——ในช่วงเวลากว่า 140 ปีตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซีจนถึงจักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉慶 ค.ศ. 1760-1820) มีการจัดพิธีล่าสัตว์ขึ้นทั้งหมด 105 ครั้ง ครั้งแรกเริ่มในสมัยจักรพรรดิคังซี ซึ่งพระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จนถือว่าพิธีล่าสัตว์เปรียบดังข้อบัญญัติของบรรพชน แต่เมื่อจักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正 ค.ศ. 1678-1735) ขึ้นทรงราชย์กลับไม่ได้เสด็จเขตล่าสัตว์เลยสักครั้ง ‘บันทึกพระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อ’ (避暑山莊後序) พระราชนิพนธ์ในจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ. 1711-1799) ชี้แจงสาเหตุที่จักรพรรดิยงเจิ้งไม่เคยเสด็จเขตล่าสัตว์ไว้ว่า “…การที่ข้าพเจ้าไม่ไปพระราชวังฤดูร้อนรวมถึงเขตล่าสัตว์มู่หลานนั้น เนื่องด้วยราชกิจรัดตัว จึงไม่ค่อยมีเวลา อีกทั้งข้าพเจ้ายังโปรดความสุขสบาย ไม่ชอบการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความผิดของข้าพเจ้าเอง ลูกหลานทั้งหลายจงปฏิบัติตามพระราชบิดาของข้าพเจ้า ฝึกปรือทักษะการต่อสู้ที่เขตล่าสัตว์มู่หลาน ไม่ลืมเลือนกฎบรรพชน…”

——ต่อมาจักรพรรดิเฉียนหลงทรงรื้อฟื้นพิธีนี้อีกครั้ง และมีการจัดขึ้นกว่า 40 ครั้ง จนกลายเป็นพิธีที่มีความสำคัญต่อการสืบทอดพระราชประเพณีของราชวงศ์ชิงอย่างยิ่ง ครั้นจักรพรรดิเจียชิ่งสืบราชสมบัติ ก็ทรงจัดพิธีนี้อย่างต่อเนื่อง ทว่าเมื่อถึงยุคของจักรพรรดิเต้ากวง (道光 ค.ศ. 1782-1850) ปีที่ 4 ก็ทรงออกราชโองการยกเลิกพิธีนี้[1] สาเหตุแท้จริงของการยกเลิกไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเพราะพิธีล่าสัตว์เป็นพิธีที่ต้องใช้เงินจากท้องพระคลัง รวมถึงแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จักรพรรดิเต้ากวงทรงมีนิสัยมัธยัสถ์ จึงไม่ยินยอมสูญเสียเงินเพื่อการนี้ ดังนั้นพระราชพิธีดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง

——หลังจากราชสำนักชิงยกเลิกพิธีล่าสัตว์ไปแล้ว เขตล่าสัตว์มู่หลานก็กลายเป็นสถานที่รกร้าง และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้พื้นที่ได้ ในสมัยปลายราชวงศ์ชิงอยู่ๆ มีคำสั่งจากราชสำนักให้ตัดโค่นต้นไม้ทั้งหมดทิ้ง ท้องที่ซึ่งเคยสวยงามด้วยแมกไม้ก็แปรเปลี่ยนเป็นทุ่งร้างธรรมดาแห่งหนึ่งเท่านั้น ต่อมาถึง ค.ศ. 1962 รัฐบาลจีนตัดสินใจก่อตั้งแหล่งอนุรักษ์ป่าไม้ขนาดใหญ่ ณ บริเวณนี้ ภายในระยะเวลาสิบกว่าปีเขตล่าสัตว์มู่หลานก็กลายเป็นผืนป่าด้วยฝีมือมนุษย์ (人工林場) และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ป่าไม้อันไพศาลได้รับการฟื้นฟูดุจดังอดีต ทุ่งหญ้าอันกว้างขวาง ภูผาที่เต็มไปด้วยบุปผชาตินานาพรรณรอต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสถานที่อันเป็นแหล่งอนุรักษ์และเป็นอุทยานประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง

 

สถานที่ท่องเที่ยวภายในเขตล่าสัตว์มู่หลานและย่านใกล้เคียง

——ถึงปัจจุบันจะไม่มีการจัดพิธีล่าสัตว์ขึ้นแล้ว แต่ชื่อของเขตล่าสัตว์มู่หลานก็ยังคงอยู่ ปัจจุบันเขตล่าสัตว์มู่หลานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ของประเทศจีน และยังกลายเป็นโลเคชั่นถ่ายทำภาพยนตร์และละครชุดที่สำคัญของจีนด้วย อาทิ ‘องค์หญิงกำมะลอ’ (還珠格格) ‘หมี่เยี่ย จอมนางเหนือมังกร’ (羋月傳) ‘ดาบแค้นสกุลจ้าว’ (趙氏孤兒) ฯลฯ ภายในลานสามารถแบ่งเขตชมทิวทัศน์เป็นสามเขตใหญ่ ดังนี้

  1. เขตชมทิวทัศน์ไซ่ห่านป้า (塞罕壩國家森林公園)

——ไซ่ห่านป้า (塞罕壩) เป็นภาษามองโกล หมายถึงยอดเขาสูงตระหง่าน เป็นส่วนหนึ่งของเขตล่าสัตว์มู่หลาน ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 4A ของประเทศจีน มีพื้นที่ถึง 1.42 ล้านไร่ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แหล่งธารากำเนิด บ้านเกิดหมู่เมฆา โลกหล้าของมาลี มหาสมุทรแห่งพงพี สุขาวดีแห่งการพักผ่อน’ จุดชมวิวที่มีชื่อเสียงได้แก่ 1.แท่นคังซีบัญชาทัพ (康熙點將台) 2.ทะเลสาบแม่ทัพ (將軍泡子) 3.เจดีย์ไซ่ห่าน (塞罕塔) 4.ทะเลสาบสัตตดารา (七星湖)

  1. เขตชมทิวทัศน์อวี้เต้าโข่ว (御道口草原森林風景區)

——อวี้เต้าโข่วเป็นส่วนหนึ่งของเขตล่าสัตว์มู่หลาน มีเนื้อที่ 1,000 ตารางกิโลเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ตั้งอยู่ทางทิศเหนือกับตะวันออกติดกับเขตไซ่ห่านป้า ด้วยความงามของธรรมชาติ ทิวทัศน์ที่ไม่เป็นสองรองใคร จึงมีนักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย ในเขตชมทิวทัศน์นี้มีกิจกรรมมากมาย อาทิ ขี่ม้า ดูนก ตกปลา เป็นต้น

—–จุดชมวิวที่มีชื่อเสียง เช่น 1.ทะเลสาบจันทรา (月亮湖) 2.ทะเลสาบดวงตะวัน (太陽湖) 3.ภูเขายาไต้ (壓岱山) ฯลฯ

  1. เขตอนุรักษ์ธรรมชาติหงซงวา (紅松窪國家自然保護區)

——เขตอนุรักษ์ธรรมชาติหงซงวาเป็นอีกส่วนหนึ่งของเขตล่าสัตว์มู่หลาน มีพื้นที่ 7,300 เฮกตาร์ มีเอกลักษณ์คือเป็นแหล่งพลังงานลมขนาดใหญ่ เนื่องด้วยมีการสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลมขึ้นที่นี่ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงจามรีป่าเพื่อบริโภค เขตนี้อุดมด้วยพฤกษาและสัตว์นานาพรรณซึ่งนอกจากมีความสวยงามแล้ว ยังมีคุณค่าด้านเศรษฐกิจและงานวิจัยอีกด้วย

——กว่าเขตล่าสัตว์ประจำราชสำนักจะกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศจีนได้ จะต้องผ่านเรื่องราวดีร้ายต่างๆ มานับไม่ถ้วน แต่กาลเวลาก็ไม่ได้ทำให้ความโอ่อ่าตระการตาของเขตล่าสัตว์มู่หลานลดลงไปแม้แต่น้อย ความยิ่งใหญ่ ความสวยงามและคุณค่าของสถานที่แห่งนี้ยังคงเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวจีน และจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ตราบจนชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

 


[1]อ้างอิงจากบันทึก พงศาวดารราชวงศ์ชิง เล่มที่ 17 บรรพที่ 17 (清史稿·卷十七·本紀十七)