คดีแมวดาวสับเปลี่ยนองค์ชาย:
เรื่องจริงหรืออิงนิยาย
เรื่องโดย เสี่ยวฮุยฮุย
——ตำนานเรื่อง ‘แมวดาวสับเปลี่ยนองค์ชาย’ (狸貓換太子) เป็นนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งซึ่งชาวจีนนิยมเล่ากันอย่างแพร่หลาย มีเนื้อหาอ้างอิงถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งที่เกิดขึ้นในราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) โครงเรื่องปรากฏครั้งแรกในละครจ๋าจี้ว์[1] (雜劇) สมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ.1206-1368) จากนั้นได้เล่าขานกันอย่างกว้างขวางในสังคมจีนเรื่อยมา จนมีรูปแบบการเผยแพร่ที่หลากหลาย ทั้งฉบับมุขปาฐะและฉบับวรรณกรรมลายลักษณ์[2] ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด
——เมื่อปี ค.ศ. 1995 สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำละครชุดเรื่อง ‘เปาบุ้นจิ้น’ จากไต้หวันมาออกอากาศในเมืองไทย ทำให้ตำนานเรื่อง ‘แมวดาวสับเปลี่ยนองค์ชาย’[3] ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในละครชุดเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวไทยเป็นอย่างมาก โครงเรื่องกล่าวถึงท่านเปาบุ้นจิ้นผู้ผดุงความยุติธรรม ได้คลี่คลายคดีการสับเปลี่ยนพระโอรสเพื่อแย่งชิงตำแหน่งฮองเฮาของสนมหลิว ซึ่งเกี่ยวพันถึงชาติกำเนิดของฮ่องเต้องค์ที่สี่แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ พระนามว่าซ่งเหรินจง (宋仁宗 ค.ศ. 1010-1063) อันเป็นการเปิดโปงความลับในวังหลวงซึ่งถูกเก็บงำมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และปิดฉากด้วยหลิวฮองเฮาผู้อยู่เบื้องหลังแผนชั่วร้ายตลอดจนเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดต่างได้รับการลงโทษสถานหนัก
——ตามต้นฉบับการแสดงอุปรากรจีนเรื่อง ‘แมวดาวสับเปลี่ยนองค์ชาย’ มีโครงเรื่องหลักอ้างอิงถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จีนช่วงหนึ่งในรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งเจินจง (宋真宗 ค.ศ. 968-1022) แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือว่า หลังจากฮ่องเต้ซ่งเจินจงซึ่งขณะนั้นยังไม่มีรัชทายาททรงทราบเรื่องการตั้งครรภ์ในเวลาไล่เลี่ยกันของ ‘สนมหลิว’ (劉妃) กับ ‘สนมหลี่’ (李妃) จึงมีรับสั่งว่า ผู้ใดให้กำเนิดพระโอรสองค์แรกจะได้รับการแต่งตั้งเป็นฮองเฮา สนมหลิวหวังจะเป็นใหญ่ในฝ่ายในจึงวางแผนทำร้ายสนมหลี่ โดยให้กัวหวย (郭槐) ขันทีคนสนิทลอบนำแมวดาวที่ถลกหนังออกไปสับเปลี่ยนกับองค์ชายตัวน้อยจากตำหนักสนมหลี่ แล้วจึงใส่ความว่าพระสนมหลี่ให้กำเนิดตัวประหลาดเป็นกาลกิณีต่อราชสำนัก ฮ่องเต้ซ่งเจินจงหลงเชื่อในกลลวงจึงลงโทษให้สนมหลี่ไปอยู่ตำหนักเย็น ส่วนองค์ชายที่สับเปลี่ยนมานั้นสนมหลิวให้โค่วจู (寇珠) นางกำนัลประจำตำหนักนำไปทิ้งน้ำ แต่โค่วจูผู้ใจบุญไม่อาจทำใจสังหารทารกน้อยได้ จึงหารือกับเฉินหลิน (陳琳) หัวหน้าขันทีผู้จงรักภักดีต่อราชสำนักซ่ง เฉินหลินตัดสินใจนำองค์ชายองค์น้อยใส่หีบเครื่องสำอางส่งไปยังจวนท่านอ๋องแปด (八王) ต่อมาอ๋องแปดผู้ทรงคุณธรรมจึงรับเลี้ยงทารกน้อยไว้ในฐานะบุตรของตน ตั้งชื่อให้ว่าเจ้าเจิน (趙禎) และตั้งใจว่าจะเปิดเผยความจริงเมื่อถึงเวลาอันควร
——เจ็ดปีต่อมาองค์รัชทายาทซึ่งเป็นพระโอรสของหลิวฮองเฮาสิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการประชวร ฮ่องเต้ซ่งเจินจงจึงมีรับสั่งให้เจ้าเจินซึ่งมีศักดิ์เป็นบุตรของอ๋องแปด และเป็นองค์ชายองค์เดียวที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าวังพร้อมแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาท เรื่องนี้ทำให้หลิวฮองเฮาเกิดความระแวงจึงรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีตขึ้นและนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนอีกครั้ง จนนำไปสู่การประหารชีวิตโค่วจู ส่วนเฉินหลินที่ช่วยเหลือสนมหลี่ให้หลบหนีออกจากวังหลวงก็ต้องโทษประหารเช่นกัน
——กาลเวลาผ่านไปกว่าสิบปี ฮ่องเต้ซ่งเจินจงสวรรคต เจ้าเจินได้ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ซ่งเหรินจง ทางฝ่ายเปาบุ้นจิ้นซึ่งเป็นเจ้าเมืองไคฟงได้พบสนมหลี่โดยบังเอิญ เมื่อท่านเปาได้รับฟังเรื่องราวทั้งหมด จึงเริ่มสืบสวนเพื่อเปิดโปงความร้ายกาจของหลิวฮองเฮา (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นไทเฮา) การต่อสู้กับอำนาจมืดของหลิวฮองเฮาและเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดเพื่อผดุงความยุติธรรมของท่านเปาจึงเริ่มต้นขึ้น…
——ตำนานเรื่องนี้มีการเล่าขานกันในหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกันทั้งโครงเรื่องและรายละเอียด เพราะสืบทอดมาหลายยุคหลายสมัย อีกทั้งตลอดระยะเวลาแปดร้อยปีมานี้ เหล่านักเล่านิทาน นักประพันธ์ต่างก็ตีความ เสริมแต่งเรื่องราวตามความเข้าใจของตน บ้างก็สนุกสนาน บ้างก็ลุ้นระทึกน่าตื่นเต้น บ้างก็พิศวงชวนสงสัย ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกับภูมิหลังทางสังคมในแต่ละยุคอย่างแนบแน่น อย่างไรก็ตาม สองสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คือ ตัวละครเอกทั้ง 3 ตัวอันได้แก่ ฮ่องเต้ซ่งเหรินจง หลิวฮองเฮา สนมหลี่ ศึกแย่งชิงตำแหน่งฮองเฮาด้วยแผนการสับเปลี่ยนพระโอรสนั่นเอง
——จากบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง (宋史) มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับฮ่องเต้ซ่งเหรินจง หลิวฮองเฮา และสนมหลี่ตามลำดับ เป็นการยืนยันว่าตัวละครเอกทั้งสามล้วนมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องจริงกับตำนานกลับห่างไกลกันมาก ในหมวดประวัติพระสนม (后妃傳) มีความตอนหนึ่งบันทึกไว้ว่า สนมหลี่เดิมเป็นนางกำนัลประจำตำหนักของสนมหลิว ด้วยหน้าตาที่งดงามต้องพระทัยฮ่องเต้ซ่งเจินจงจึงมีโอกาสถวายการปรนนิบัติจนตั้งครรภ์ ทว่าเมื่อนางให้กำเนิดพระโอรสแล้ว สนมหลิวผู้ไร้ทายาทก็ทูลขอฮ่องเต้ซ่งเจินจงเพื่อรับทารกน้อยมาเป็นโอรสของตน ส่วนนางกำนัลหลี่ให้อยู่ในฐานะนางกำนัลเช่นเดิม นางใช้ชีวิตอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตนและรับเบี้ยหวัดเช่นเดียวกับนางกำนัลธรรมดาทั่วไป จน ค.ศ. 1032 นางกำนัลหลี่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสนม นามว่าหลี่เฉินเฟย (李宸妃) ทว่าหลังจากนั้นไม่ถึง 1 วัน หลี่เฉินเฟยก็สิ้นพระชนม์ด้วยวัย 46 พรรษา
——ทางฝ่ายหลิวฮองเฮาซึ่งได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นไทเฮา (太后) หลังจากที่ซ่งเหรินจงขึ้นครองราชย์ต่อจากฮ่องเต้ซ่งเจินจงด้วยวัยเพียง 13 พรรษา เนื่องจากซ่งเหรินจงยังทรงพระเยาว์นัก พระนางจึงออกว่าราชการหลังม่านแทนเป็นเวลา 11 ปี มีพระราชอำนาจเหนือฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เมื่อหลี่เฉินเฟยสิ้นพระชนม์ หลิวไทเฮาทรงจัดงานพระศพให้อย่างสมเกียรติตามคำแนะนำของอัครมหาเสนาบดีหลี่ว์อี๋เจี่ยน (呂夷簡) มีการจัดหาโลงพระศพ เครื่องทรง และเครื่องประดับต่างๆ เทียบเท่าฮองไทเฮาและยังใช้ปรอทเลี้ยงพระศพ เพื่อคงสภาพพระศพไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยอีกด้วย
——ด้านฮ่องเต้ซ่งเหรินจงไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าแท้จริงแล้วพระราชมารดาผู้ให้กำเนิดคือหลี่เฉินเฟย แม้ว่าเหล่านางกำนัลและขันทีในวังต่างรับรู้เรื่องนี้อย่างลับๆ แต่ใครเล่าจะกล้าเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ที่มีพระราชอำนาจมากที่สุด จนกระทั่งหลังจากหลิวไทเฮาสิ้นพระชนม์ไปแล้วหลายปีจึงมีกระแสข่าวลือขึ้นว่า หลี่เฉินเฟยเป็นผู้ให้กำเนิดซ่งเหรินจงและถูกหลิวไทเฮาวางยาจนสิ้นพระชนม์ ครั้นซ่งเหรินจงทรงทราบเรื่องจึงตกพระทัยมากและรับสั่งให้เปิดโลงพระศพของหลี่เฉินเฟยเพื่อพิสูจน์ความจริง แต่เมื่อได้ทอดพระเนตรสภาพพระศพของพระราชมารดาที่อยู่ในสภาพดีและสมศักดิ์ศรี จึงทรงอุทานว่า “กระแสข่าวลือเชื่อไม่ได้จริงๆ” จากนั้นซ่งเหรินจงได้พระราชทานสมัญญานามให้พระราชมารดาผู้ให้กำเนิดว่าจางอี้ไทเฮา (章懿太后)
——เรื่องราวการรับพระโอรสที่กำเนิดจากหลี่เฉินเฟยมาเป็นทายาทของหลิวฮองเฮา[4] และการที่ฮ่องเต้ซ่งเหรินจงมีรับสั่งให้เปิดโลงพระศพของหลี่เฉินเฟยเพื่อพิสูจน์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ที่แท้จริง[5] ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ ได้รับการยืนยันจากบันทึกประวัติศาสตร์ซึ่งบันทึกด้วยถ้อยคำที่สั้นกระชับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยราชวงศ์ซ่ง และนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การเกี่ยวพันถึงชาติกำเนิดของผู้สูงส่งอย่างฮ่องเต้ ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างบุคคลในวังหลวง และการกระทำซึ่งถือว่าผิดจารีตประเพณีอย่างการเปิดโลงพระศพ
——อย่างไรก็ดี กาลเวลายิ่งผ่านไปเนิ่นนานเท่าใด เรื่องราวที่ถูกเล่าขานก็ยิ่งห่างไกลจากความจริงเท่านั้น แม้ว่าหลิวฮองเฮาผู้ได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักปกครองชั้นเยี่ยมคนหนึ่งไม่ได้ร้ายกาจอย่างที่เหล่านักประพันธ์เติมแต่งไว้ในตำนาน แต่กลับมีภาพลักษณ์ติดลบและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนรุ่นหลังมาโดยตลอด ในสมัยราชวงศ์หยวนเริ่มมีการแสดงเป็นละครพื้นบ้านขึ้นครั้งแรก ใช้ชื่อเรื่องว่า ‘เฉินหลินอุ้มหีบเครื่องสำอางข้ามสะพานนทีทอง’ (金水橋陳琳抱妝盒) แต่ไม่ทราบนามผู้แต่ง เรื่องราวกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่สนมหลิววางแผนสังหารพระโอรสของสนมหลี่ และจบลงด้วยซ่งเหรินจงซึ่งขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดามีรับสั่งให้สืบหาความจริงเรื่องพระราชมารดา ทว่าละครพื้นบ้านฉบับนี้ยังไม่ปรากฏโครงเรื่องการนำแมวดาวมาสับเปลี่ยนองค์ชาย รวมทั้งตัวละครอย่างเปาบุ้นจิ้นแต่อย่างใด
——ในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ.1368-1644) ตำนานเรื่องนี้แพร่หลายมากขึ้น จนมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ‘จินหวันจี้’ (金丸記) ‘จวงเหอจี้’ (妝盒記) ‘จินตั้นจี้’ (金彈記) เป็นต้น ครั้นรัชศกเฉิงฮว่า (成化 ค.ศ. 1465-1487) จึงเริ่มมีตัวละคร ‘เปาบุ้นจิ้น’ ปรากฏในละครพื้นบ้านเรื่อง ‘ประวัติการสืบหาพระราชมารดาของซ่งเหรินจง’ ซึ่งบันทึกไว้ในบทละครรวมเล่มชื่อว่า ‘ชุดรวมบทละครฉบับใหม่ว่าด้วยประวัติการสืบหาพระราชมารดาของซ่งเหรินจง’ (新刊全相說唱足本仁宗認母傳) เรื่องราวเริ่มต้นหลังจากเปาบุ้นจิ้นรับเรื่องร้องทุกข์จากยายเฒ่าหลี่ ณ หมู่บ้านซังหลิน (桑林鎮) จากนั้นจึงเร่งสืบหาความจริงจนทราบว่าแท้จริงแล้วยายเฒ่าผู้นั้นคือสนมหลี่ที่ถูกรังแกจนต้องหนีมาอาศัยอยู่นอกวัง และนำไปสู่การเปิดโปงความโหดเหี้ยมของหลิวฮองเฮาในที่สุด ด้วยสาระสำคัญที่ว่า ‘ธรรมย่อมชนะอธรรม’ อีกทั้งเรื่องราวภายในวังหลวงก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านสนใจเป็นทุนเดิม ดังนั้นตำนานฉบับนี้จึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเปาบุ้นจิ้นก็กลายเป็นตัวละครเอกของตำนานพื้นบ้านเรื่องนี้ในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรม
——ครั้นสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) ถึงแม้จะปกครองโดยชาวแมนจู แต่วัฒนธรรมด้านต่างๆ ของชาวฮั่น เช่น ด้านวรรณกรรมยังคงได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทนวนิยายซึ่งเจริญถึงขีดสุด เรื่องราวความลับในวังหลวงเมื่อครั้งราชวงศ์ซ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นที่เล่าขานกันอย่างกว้างขวาง และได้ถูกหยิบยกมาทำเป็นบทละครและนวนิยายต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาและรายละเอียดแตกต่างกันตามความคิดจินตนาการของนักประพันธ์ สำหรับฉบับที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง ‘ว่านฮวาโหลว’ (萬花樓演義) ซึ่งกล่าวถึงการนำแมวดาวที่ถลกหนังแล้วมาสับเปลี่ยนองค์ชายอันถือได้ว่าเป็นจุดหักเหของตำนานเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีการเติมแต่งจนห่างไกลจากความจริงทางประวัติศาสตร์ไปมาก ทว่ากลับเป็นฉบับที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งนี้เพราะโครงเรื่องที่ไม่เพียงแตกต่างจากของเดิม แต่ยังสร้างความแปลกใหม่ด้วยการวางเรื่องราวได้อย่างสยดสยองและโหดเหี้ยมอำมหิต ตลอดจนเนื้อเรื่องเข้มข้นบีบคั้นหัวใจของผู้อ่านให้มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ จึงถือเป็นต้นฉบับสำคัญอีกหนึ่งเรื่องของตำนานพื้นบ้าน ‘แมวดาวสับเปลี่ยนองค์ชาย’ ที่สืบทอดมายาวนาน
——อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สู่ตำนานพื้นบ้านเรื่อง ‘แมวดาวสับเปลี่ยนองค์ชาย’ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์กับเรื่องแต่งทางวรรณกรรม แต่การเพิ่มตัวละครฝ่ายดีอย่าง อ๋องแปด โค่วจู เฉินหลิน เปาบุ้นจิ้น ฯลฯ ยังสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษที่หยั่งรากฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนจีน และกลายเป็นแนวคิดองค์รวมเรื่องการเชิดชูคุณธรรมในวัฒนธรรมที่สั่งสอนกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แม้ในยุคสมัยที่พลังอำนาจทุนนิยมขยายไปทั่วอย่างในปัจจุบันก็ตาม
[1] ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจีน ซึ่งมีรูปแบบการแสดงที่หลากหลาย ทั้งร้อง พูด รวมถึงเต้นรำ คล้ายกับการแสดง “ละครพันทาง” ของไทย
[2] มุขปาฐะ หมายถึง การบอกเล่าต่อ ๆ กันมาโดยมิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร
วรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ เช่น หนังสือ บทละคร เป็นต้น
[3] คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘เปาบุ้นจิ้น ตอนสับเปลี่ยนองค์ชาย’
[4] ‘李宸妃生仁宗,后以為己子,與楊淑妃撫禮甚至。’ คัดมาจากบทที่ 242 บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่งแปลความว่า หลี่เฉินเฟยให้กำเนิดพระโอรส (หลิว) ฮองเฮาทรงถือเป็นเสมือนโอรสของพระองค์เอง (และ) มอบหมายให้พระสนมหยางซูเฟยดูแลอย่างดียิ่ง
[5] ‘易梓宮,親哭視之,妃玉色如生,冠服如皇太后,以水銀養之,故不壞。’ คัดมาจากบทที่ 242 บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง แปลความว่า หลังจากเปิดฝาโลงแล้ว (ซ่งเหรินจง) ทอดพระเนตรพระศพพลันกันแสงด้วยความอาลัย พระพักตร์หลี่เฉินเฟยดูสดใสประหนึ่งยังมีพระชนม์ชีพอยู่ สวมพระมาลาและพัสตราภรณ์เฉกเช่นฮองไทเฮา ด้วยมีปรอทหล่อเลี้ยง (พระศพ) จึงไม่เน่าสลาย