เคอจี่ว์: เรื่องโดย หยาดฟ้า |
——เคอจี่ว์ (科舉) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “การสอบจอหงวน” (考狀元) คือการทดสอบความรู้ความสามารถด้วยการแข่งขันเพื่อคัดเลือกบัณฑิตชั้นยอดเข้าสู่ระบบราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งขุนนางโดยจักรพรรดิ แม้ว่าทุกวันนี้ระบบการสอบดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังคงถือเป็นระบบการคัดเลือกเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการที่สำคัญและหยั่งรากลึกในสังคมจีนมาอย่างยาวนาน
——“ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” (科舉制度) อยู่คู่กับสังคมจีนมากว่า 1,300 ปี นับแต่เริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581–618) และถูกยกเลิกในสมัยปลายราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1912) ระบบการสอบนี้ยังเป็นต้นแบบที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
——“เคอจี่ว์” ในภาษาจีนย่อมาจาก “เฟินเคอจี่ว์ซื่อ” (分科舉士) ซึ่งเป็นคำประสมอันประกอบด้วย “เฟินเคอ” (分科) แปลว่า “แบ่งเป็นรายวิชา” กับ “จี่ว์ซื่อ” (舉士) แปลว่า “คัดเลือกและบรรจุผู้มีความรู้ความสามารถให้เป็นข้าราชการ” คำนี้จึงมีความหมายว่า “ทดสอบโดยแบ่งเป็นรายวิชา เพื่อคัดเลือกและบรรจุผู้มีความรู้ความสามารถให้เป็นข้าราชการ” วิธีจัดการสอบแบบ “เฟินเคอจี่ว์ซื่อ” มีลักษณะพิเศษอยู่หลายประการ ดังนี้
- รูปแบบการสอบ ทดสอบโดยแบ่งเป็นรายวิชา
- จัดสอบโดยราชสำนัก ส่วนกลางมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการคัดเลือกบุคคล
- ไม่จำกัดชนชั้นทางสังคมของผู้เข้าสมัคร
- ถือผลการสอบเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก
- ความหมายของ “เคอจี่ว์”
——เอกสารภาษาอังกฤษส่วนใหญ่แปลคำว่า “เคอจี่ว์” เป็น “Examination System” หรือ “ระบบการสอบ” ซึ่งไม่สอดคล้องกับนิยามในภาษาจีนที่หมายถึง “ระบบการจัดสอบแบบกำหนดรายวิชา เพื่อคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการตามการปกครองระบอบราชาธิปไตยของจีน” (中國帝制時代設科考試、舉士任官的制度。) ทว่าในวงวิชาการกลับมีความเห็นแย้งกันเกี่ยวกับนิยามดังกล่าว บ้างว่าหากรวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ที่เลียนแบบจีนด้วยการนำ “ระบบเคอจี่ว์” ไปใช้ ก็ควรขยายความให้ชัดเจนขึ้นว่า “ใช้กันที่จีนและบางประเทศในเอเชียตะวันออก” มิใช่เฉพาะ “ของจีน” เท่านั้น บ้างก็ว่าหากพิจารณาจากจุดมุ่งหมายของผู้เข้าสอบบางคนที่ไม่มีความประสงค์จะเข้ารับราชการ ก็ควรให้คำจำกัดความเพิ่มเติมว่า “ระบบการสอบหรือวิธีการคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถของรัฐในประเทศจีนสมัยโบราณและบางประเทศในเอเชียตะวันออก” (科舉是古代中國及部分東亞國家通過考試來選拔人才的制度或方式。)
——นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่เคอจี่ว์อยู่คู่กับสังคมจีนมาช้านานและผ่านวิวัฒนาการมาหลายยุคสมัยกว่าพันปี คำว่า “เคอจี่ว์” จึงมีความหมายหลายนัยแล้วแต่บริบท เช่น ในแง่การปกครองบ้านเมืองหมายถึง “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการ” (科舉制度) หรือหมายถึง “ตัวบุคคล” สำหรับบัณฑิตผู้สอบผ่านรอบแรกตามระบบการสอบแบบเคอจี่ว์ (科舉生員) แต่ถ้าเป็นการสอบระดับท้องถิ่นจะหมายถึง “โควตา” หรือจำนวนผู้มีสิทธิสอบเข้ารับราชการ (科舉名額) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่อาจชี้ขาดได้ว่านิยามที่ดีที่สุดของ “เคอจี่ว์” คืออะไร
- กว่าจะมาเป็น “เคอจี่ว์”
——จีนมีวิธีคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถอยู่หลากหลายวิธีก่อน “ระบบการสอบแบบเคอจี่ว์” ถือกำเนิด สมัยโจวตะวันตก (西周 1,046–771 ปีก่อนค.ศ.) ใช้ระบบบรรดาศักดิ์ตามเชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบต่อกันมา (世卿世祿制) และระบบความดีความชอบทางทหาร (軍功制) นั่นหมายความว่า ชนชั้นศักดินาเข้ารับราชการและมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการบ้านเมืองโดยใช้ช่องทางสืบสกุล ดูแลทั้งที่ดินและภาษีที่ตระกูลตนเรียกเก็บจากราษฎรมาหลายชั่วอายุคน ส่วนสามัญชนจะมีโอกาสรับราชการหรือได้ตำแหน่งขุนนางก็ต่อเมื่อพวกเขามีทักษะทางการทหารเป็นเลิศ หรือสร้างวีรกรรมจนเป็นที่ประจักษ์แก่ตาในสนามรบ
——ในเวลาต่อมา ประมุขรัฐต่างๆ มีนโยบายปรับปรุงการบริหารกิจการบ้านเมือง เพื่อระดมผู้มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนให้สังคมก้าวหน้า จึงเริ่มกำหนดคุณสมบัติของผู้รับราชการและจัดระบบการสอบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเน้นคุณธรรมเป็นหลัก ทั้งยังจำแนกผู้ที่สอบผ่านออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น ผู้มีคุณธรรม ผู้มีความสามารถ ผู้มีความซื่อสัตย์ ฯลฯ ถึงกระนั้น ก็ยังไม่ปรากฏความคิดเห็นต่างหรือคัดค้านองค์จักรพรรดิอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น ผู้วางระบบการสอบจึงเริ่มจัดให้มีการสอบข้อเขียนควบคู่กับการสอบปากเปล่าเพื่อสำรวจและรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ที่มีต่อการบริหารกิจการบ้านเมือง
——ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202 ปีก่อน ค.ศ.–ค.ศ. 8) มีการใช้ระบบแนะนำและเสนอชื่อบุคคลดีเด่นจากขุนนางท้องถิ่นไปยังส่วนกลาง (察舉制) เพื่อให้ราชสำนักดำเนินการคัดเลือกต่อไป จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (漢武帝156–87 ปีก่อนค.ศ.) มีพระบัญชาเมื่อ 134 ปีก่อน ค.ศ. ให้บรรดาเจ้ารัฐเสนอชื่อบุคคลเข้ารับราชการ โดยเน้นคุณสมบัติด้านคุณธรรม ความกตัญญู และความรู้ความสามารถที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลผู้แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่จะได้รับอภิสิทธิ์ให้ไม่ต้องเข้าสอบแข่งขัน ในเอกสารประวัติศาสตร์เรียกวิธีการนี้ว่า “จี่ว์เซี่ยวเหลียน” (舉孝廉) หรือ “การสอบแบบฉาจี่ว์” (察舉考試)
——ระหว่างสมัยราชวงศ์เว่ย จิ้น ถึงสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (魏晉南北朝 ค.ศ. 220–589) รัฐเว่ย (魏國 ค.ศ. 220–266) เริ่มใช้นโยบายคัดเลือกบุคคลแบบใหม่ โจผี (曹丕 เฉาพี ค.ศ. 187–226) ปฐมกษัตริย์แห่งรัฐเว่ยทรงรับข้อเสนอแนะจากราชเลขาธิการนามว่า ตันกุ๋น (陳群 เฉินฉวิน ค.ศ. ไม่ทราบปีที่เกิด–237) สั่งแต่งตั้งขุนนางจงเจิ้ง (中正) ขึ้น รวบอำนาจการตรวจสอบ พิจารณา และประเมินคุณสมบัติของบุคคลให้อยู่กับส่วนกลาง โดยอาศัยหน่วยงานราชการท้องถิ่นทำหน้าที่รับสมัครและคัดกรองเบื้องต้นทีละขั้นตอน เป็นการเปิดช่องให้สามัญชนที่ไม่ได้มาจากตระกูลสูงศักดิ์มีโอกาสขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง นโยบายดังกล่าวนิยมเรียกกันว่า ระบบขุนนางจงเจิ้ง 9 ระดับ (九品中正制) ตามอำนาจปกครองท้องถิ่นซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ระดับชั้น แต่ในทางปฏิบัติ ระบบดังกล่าวยังคงหนีไม่พ้นปัญหาแบบเดิม คือการเอื้อประโยชน์แก่กันและกันระหว่างตระกูลใหญ่ หรือคัดเลือกบุคคลจากสถานะครอบครัว ตามลักษณะของระบบอุปถัมภ์ในสังคมศักดินา ด้วยมูลเหตุด้านความแตกต่างด้านสิทธิหน้าที่และอำนาจของบุคคลในสังคม รวมถึงช่องว่างระหว่างชนชั้น จึงเป็นที่มาของถ้อยคำอันสะท้อนสภาพสังคมผ่านระบบการคัดเลือกข้าราชการสมัยนั้นว่า “ชนชั้นสูงไม่มีคนยากจน ชนชั้นล่างไม่มีคนตระกูลใหญ่” (上品無寒門 ,下品無世族) หมายถึง เป็นไปไม่ได้ที่สามัญชนจากตระกูลธรรมดาจะกลายเป็นคนระดับสูง และเป็นไปไม่ได้ที่ลูกผู้ดีจากตระกูลขุนนางจะตกอับกลายเป็นคนระดับล่าง
——เมื่อสังคมและเศรษฐกิจพัฒนาไป การขยายอำนาจทางการเมืองของชนชั้นปกครองก็ประสบความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกบุคคลคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการซึ่งมีปัญหาจนเป็นเหตุให้ระบบราชการด้อยประสิทธิภาพ จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการคัดเลือกบุคคลตามคำแนะนำมาเป็นการคัดเลือกโดยผ่านการสอบ
——ครั้นค.ศ. 587 จักรพรรดิสุยเหวินตี้ (隋文帝 ค.ศ. 541–604) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุย รับสั่งให้แบ่งวิชาสอบเป็น 2 วิชา ประเมินจากปณิธานและความประพฤติชอบ (志行修謹) ทำงานด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพ (清平幹濟) หากมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดวิชาใดวิชาหนึ่ง ก็จะได้รับการบรรจุราชการและพิจารณาเลื่อนตำแหน่งตามความรู้ความสามารถ ต่อมาในค.ศ. 606 จักรพรรดิสุยหยางตี้ (隋煬帝 ค.ศ. 569–618) มีพระราชโองการยกเลิก “ระบบขุนนางจงเจิ้ง 9 ระดับ” โอนอำนาจการจัดสอบและคัดเลือกบุคคลให้แก่ราชสำนัก ประกาศเปิดรับสมัครผู้เข้าสอบจากสังคมทุกระดับชั้น และจัดการสอบเฉพาะวิชาเพื่อคัดเลือกบุคคลคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ เป็นการขยายช่องทางการเปิดรับบุคคลของรัฐและยุติการคัดเลือกแบบผูกขาดโดยขุนนาง แวดวงวิชาการมองว่า นโยบายนี้เป็นสัญลักษณ์ของการสถาปนาระบบการสอบแบบเคอจี่ว์ของจักรพรรดิ ระบบการสอบคัดเลือกราชการโดยแบ่งเป็นรายวิชาจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์จีนนับแต่นั้น
——“ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” เริ่มใช้ในสมัยราชวงศ์สุย และครบบริบูรณ์ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐ค.ศ. 618–907) มีการสอบหลายสาขาวิชา ครอบคลุมศาสตร์ทั้งหลายในการปกครองแผ่นดิน เช่น ยุทธศาสตร์ทหาร กฎหมาย ภูมิศาสตร์ ปรัชญาขงจื่อ คณิตศาสตร์ ขี่ม้า ฯลฯ รวมทั้งการสอบวัฒนธรรมและจารีตประเพณีตามหลักขงจื่อ (孔子 551–479 ปีก่อน ค.ศ.) การสอบในแต่ละราชวงศ์มีรูปแบบ เนื้อหา และรายละเอียดที่แตกต่างกัน เมื่อมาถึงราชวงศ์สุดท้ายอย่างราชวงศ์ชิง ก็ยังคงยึดระบบแบบแผนของราชวงศ์หมิงเอาไว้ดังเดิม แต่แตกต่างกันที่ขั้นตอนหรือรายละเอียดของการจัดสอบ เช่น การกำหนดคุณสมบัติ วันเวลา หรือแบ่งระดับการสอบ ฯลฯ
——กล่าวได้ว่า สังคมจีนสมัยโบราณพยายามแสวงหาการคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถอย่างเที่ยงธรรมและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพเสมอมา การสอบถือเป็นมาตรการสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย นับว่าจีนเป็นประเทศแรกในโลกที่คัดเลือกข้าราชการโดยใช้วิธีการสอบ ในตำราลัทธิหรู (儒) ก่อนสมัยราชวงศ์ฉิน (先秦 ยุคหินเก่า–221 ปีก่อน ค.ศ.) เช่น “โจวหลี่”《周禮》และ “หลี่จี้”《禮記》ต่างก็มีบันทึกว่าด้วยการจัดสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่าของชาวจีน
——อนึ่งชาวจีนมีอุดมคติเกี่ยวกับการบริหารปกครองบ้านเมืองโดยเชื่อว่า บ้านเมืองจะดีได้ก็เพราะมีผู้ปฏิบัติงานที่ฉลาดเฉลียว มีสติปัญญา และเปี่ยมด้วยคุณธรรม ใน “ซูจิง หมวดจักรพรรดิซุ่น”《書經·舜典》ได้บันทึกข้อความไว้ตอนหนึ่งว่า “จักรพรรดิซุ่นทรงตรวจสอบผลงานข้าราชการทุกสามปี หลังจากการประเมินสามครั้งภายในเก้าปี พระองค์ก็จะปลดข้าราชการผู้โง่เขลา และเลื่อนตำแหน่งข้าราชการผู้มีปัญญาควบคู่กับคุณธรรม” (三載考績,三考黜陟幽明) นอกจากนี้ กวีนิพนธ์บท “ตู้กวนซาน”《度關山》ของโจโฉ (曹操 ค.ศ. 155–220) สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ค.ศ. 25–220) ยังรจนาไว้ในทำนองเดียวกันว่า “การปลดข้าราชการผู้โง่เขลา เลื่อนตำแหน่งข้าราชการผู้มีปัญญาควบคู่กับคุณธรรม จะนำความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองมาสู่ราษฎร” (黜陟幽明,黎庶繁息) ด้วยเหตุนี้ การสอบเคอจี่ว์เพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีคุณภาพจึงเป็นที่นิยมและใช้สืบต่อกันมาจนถึงราชวงศ์ชิง