เล่าเรื่อง “เทศกาลกินเจ”
โดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา
–—-เทศกาลกินเจคืออะไร? เหตุใดจึงนิยมในประเทศไทย? แล้วประเทศจีนมีการกินเจหรือไม่? เชื่อว่าคำถามเหล่านี้คงจะปรากฏขึ้นในความคิดของผู้อ่านหลายท่านเมื่อถึงเทศกาลกินเจประจำทุกปี วันนี้อาศรมสยามฯ จะมาไขข้อสงสัยเหล่านี้ให้แก่ทุกท่านเอง
-
เทศกาลกินเจคืออะไร?
—–เทศกาลกินเจ (九皇勝會) เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นทุกปลายปี (ขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำเดือน 9) ในประเทศไทย ชาวจีนโพ้นทะเล ชาวไทยเชื้อสายจีน หรือผู้ที่นับถือเทพเจ้าทั้งหลายมักจะถือศีลกินเจ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อบูชาองค์เทพต่างๆ ในช่วงเวลา 9 วันนี้
-
เหตุใดเทศกาลกินเจจึงนิยมในประเทศไทย
—–หลายท่านอาจคิดว่าการกินเจในประเทศไทย เริ่มต้นมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนามหายาน แต่แท้จริงแล้ว เทศกาลกินเจในไทยมีต้นตอมาจากธรรมเนียมการรับประทานอาหารเจของ “คณะงิ้ว” เป็นหลัก จนเหล่าชาวบ้านค่อยๆ ปฏิบัติตามกันจนเคยชิน และได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาสายมหายานในภายหลัง
—–อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไทย-จีน ได้เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของการกินเจในไทยไว้ในหนังสือ “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” โดยกล่าวถึงข้อความที่พระสันทัดอักษรได้เคยบรรยายไว้ในคอลัมน์ประวัติงิ้วเมืองไทย จากนิตยสาร “ศัพท์ไทย” เล่ม 3 ตอน 9 ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2467 ว่า
“พวกงิ้วเป็นต้นเหตุที่นำเอาแบบธรรมเนียมการกินเจเข้ามา ได้ตั้งโรงกินเจเรียกว่า ‘เจตั๊ว’ งิ้วนี้เมื่อถึงคราวกินเจต้องกินเจทุกโรง ต่อมาพวกจีนทั้งหลายก็พลอยพากันกินเจไปด้วย แต่ปัจจุบันการกินเจได้เสื่อมลงไปหมดแล้ว” (ถาวร สิกขโกศล, 2557: 492)
—–จากข้อความข้างต้นเห็นได้ว่า คณะงิ้วมีความเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดเทศกาลกินเจในประเทศไทยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ นอกจากคณะงิ้วแล้ว กลุ่ม “อั้งยี่” (洪字) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เทศกาลกินเจแพร่หลายในแผ่นดินไทยเช่นเดียวกัน
—–กลุ่มอั้งยี่ มีที่มาจากสมาคมฟ้าดิน (天地會) หรือ “พรรคฟ้าดิน” ที่ชาวไทยอาจคุ้นเคยจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่องต่างๆ สมาคมนี้ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยอุดมการณ์ต่อต้านราชวงศ์ชิง กอบกู้ราชวงศ์หมิง (反清復明) ทว่ากลับถูกราชสำนักชิงกวาดล้าง สมาชิกหลายคนต้องข้ามน้ำข้ามทะเล ระหกระเหินไปตามดินแดนต่างๆ และได้นำวัฒนธรรมจีนไปเผยแพร่ยังพื้นที่นั้นๆ เช่นการสร้างศาลเจ้า หรือโรงเจ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งในประเทศไทยก็มีโรงเจของกลุ่มอั้งยี่เช่นกัน ทว่าภายหลังราชวงศ์ชิงล่มสลาย อุดมการณ์ทางการเมืองของโรงเจอั้งยี่ก็ค่อยๆ เลือนหายไป เหลือเพียงกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น
—–เมื่อการนิยมกินเจของคณะงิ้ว โรงเจของกลุ่ใอั้งยี่ ความเชื่อท้องถิ่นของชาวจีนโพ้นทะเล รวมถึงพุทธศาสนาสายมหายาน ได้มาผสมผสานกัน จึงพัฒนากลายเป็นเทศกาลกินเจดังที่เห็นในปัจจุบัน
-
ประเทศจีนมีกินเจหรือไม่?
—–ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่มีผู้คนสงสัยอยู่ตลอด บ้างก็ว่าการกินเจไม่มีในจีน บ้างก็ว่าชาวจีนในไทยเป็นผู้ริเริ่มขึ้น แต่ในเมื่อกล่าวว่าการกินเจในประเทศไทยมีที่มาจากคณะงิ้วและกลุ่มอั้งยี่ เช่นนั้นการกินเจย่อมมีต้นกำเนิดจากแผ่นดินจีนแน่นอน ทว่าก่อนที่กลุ่มอั้งยี่จะนำการกินเจมาใช้จนแพร่หลายเป็นเทศกาลตามดินแดนที่ชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ การกินเจก็มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว โดยเริ่มมาจาก “การกินเจบูชาดวงดาว”
—–ในสมัยโบราณ ชาวจีนนิยมบูชาดวงดาว เพราะเชื่อว่าดวงดาวเหล่านั้นมีเทพที่คอยกำกับดูแลชีวิตมนุษย์อาศัยอยู่ โดยหมู่ดาวที่ชาวจีนนิยมบูชาคือหมู่ดาวกระบวยเหนือ (北斗) ซึ่งมีเทพสถิตทั้งหมด 7 องค์ ประกอบกับเทพในดาวบริวารข้างๆ อีก 2 องค์ รวมเป็น 9 องค์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการบูชาเทพจากดาวทั้ง 9
—–ในเวลาต่อมา ศาสนาเต๋าได้รวมเทพประจำดาวเหล่านั้นกับ “นวจักรพรรดิ” (九皇) ซึ่งเป็นเทพอีกกลุ่มตามความเชื่อของเต๋าให้เป็นมหาเทพชั้นสูง ทั้งยังสร้างเทพมารดร “โต๋วหมู่” (鬥姆元君 เต้าบ้อ) อันเป็นมารดาของเทพทั้ง 9 เสริมเข้ามา ซึ่งการบูชาเทพทั้ง 9 รวมถึงเทพมารดรนั้น จักต้องสำรวมกาย วาจา และใจ รวมถึงต้องรับประทานเจ เช่นนี้ผู้ที่บูชาก็จะประสบแต่ความสุขความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน คิดทำสิ่งใดก็สมความปรารถนา
—–ทั้งนี้ชาวจีนมีความเชื่อว่าในวันขึ้น 1 – 9 ค่ำเดือน 9 เป็นวันที่เทพทั้งหลายลงมาตรวจตราโลกมนุษย์ ประกอบกับวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ตรงกับเทศกาลฉงหยาง (重陽節) ซึ่งเป็นเทศกาลกลัวตายพอดี เหล่าชาวบ้านกลัวโรคภัยที่มากับฤดูหนาว จึงเกิดกิจกรรมขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลายทั้งปวง รวมถึงการกินเจ ทำความดีให้เหล่าทวยเทพเห็นเพื่อจะได้รับพร เป็นเหตุให้การกินเจบูชาดวงดาวกับเทศกาลฉงหยางได้รับการผสานกันจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันมา
—–ในฝ่ายพระพุทธศาสนามนตรยานก็มีการบูชาดวงดาวเช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่าหมู่ดาวกระบวยเหนือทั้ง 7 กำเนิดจากอดีตพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ ส่วนดาวบริวารสองดวงกำเนิดจากพระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ ทั้งนี้ทางพุทธก็ยังมีความเชื่อว่าดาวทั้งเก้าดวงนี้ มีกำเนิดจากมรีจิเทวีโพธิสัตว์ (摩利支天菩薩) คล้ายกับความเชื่อเรื่องเทพมารดรของศาสนาเต๋า
—–เมื่อความเชื่อของศาสนาเต๋า พุทธศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนส่งอิทธิพลถึงกันและกัน จึงได้กลายมาเป็นการกินเจบูชาดวงดาววัน 1-9 เดือน 9 ในที่สุด โดยวัดเต๋าในปักกิ่งเป็นผู้รวมการบูชาดวงดาวทั้ง 9 กับการกินเจวัน 1-9 ค่ำเดือน 9 จึงเป็นเหตุให้เทศกาลกินเจมีชื่อว่า “九皇齋節” (เทศกาลกินเจนวจักรพรรดิเทพ) หรือ “九皇勝會” (นวจักรพรรดิมหาสันนิบาต)
—–ในเวลาต่อมา “กลุ่มอั้งยี่” หรือ “หงเหมิน” (洪門) ซึ่งเป็นกลุ่มต้านชิงกู้หมิง ได้นำการกินเจมาปรับใช้กับสมาคมของตน เนื่องจากเป็นกลุ่มต่อต้านราชสำนักเลยมิอาจดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างโจ่งแจ้ง จึงใช้เทศกาลกินเจบูชาดวงดาวของจีนโบราณบังหน้า แต่งชุดขาวไว้ทุกข์ให้ราชวงศ์หมิง แล้วนำตำนานเรื่องเทพนวจักรพรรดิที่มีอยู่ก่อนหน้า ผูกเป็นเรื่องราวจนกลายเป็นตำนานวีรชนของราชวงศ์หมิงให้เหล่าสมาชิกหรือผู้คนภายนอกรำลึกถึง จนสุดท้ายได้กลายเป็นตำนานของเทศกาลกินเจในหลายพื้นที่
—–อนึ่ง สาเหตุที่เทศกาลนี้เลือนหายไปจากจีน จนแทบไม่มีชาวจีนรู้จัก เป็นเพราะการกำจัดผู้แข็งข้อของราชสำนักชิง ทำให้กลุ่มอั้งยี่ต้องหนีไปตามที่ต่างๆ ประกอบกับในภายหลัง พรรคคอมมิวนิสต์ได้รณรงค์ต่อต้านความเชื่องมงายของสังคมศักดินา (封建迷信) เทศกาลหรือความเชื่อต่างๆ ที่ถูกสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจึงได้รับผลกระทบ การกินเจบูชาดวงดาวที่มีอยู่ก่อนหน้าก็สูญหายไปด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง เทศกาลกินเจจึงไม่เป็นที่นิยมในประเทศจีน แต่นิยมในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลเสียมากกว่า