—–หลายคนเข้าใจว่ามังกรเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติจีน จึงเรียกประเทศจีนว่า ‘แผ่นดินมังกร’ หรือแม้แต่ชาวจีนเองก็เรียกตัวเองว่า ‘龙的传人’ ซึ่งหลายคนแปลว่า ‘ลูกหลานของมังกร’

—–แต่เอ๊ะ ทำไมคนจีนถึงกลายเป็นทายาทของมังกรล่ะ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกัน

—–ประเด็นแรก มังกรคืออะไร มีตัวจริงอยู่ในโลกหรือเปล่า ตามคำอธิบายของ ‘อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ’ (说文解字) ระบุไว้ว่า มังกร สัตว์ขนาดยาว มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่วทั้งลำตัว ปรากฏกายได้ทั้งที่มืดและที่สว่าง ขยายลำตัวใหญ่ขึ้นหรือย่อเล็กลงได้ ยืดลำตัวยาวขึ้นหรือหดสั้นลงได้ จะโบยบินไปบนท้องฟ้าในวันชุนเฟิน (春分) คือ วสันตวิษุวัต หรือช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิ และมุดลงใต้น้ำในวันชิวเฟิน (秋分) คือ วันศารทวิษุวัต หรือช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง (龙:鳞虫之长。能幽能明,能细能巨,能短能长;春分而登天,秋分而潜渊。) จะเห็นได้ว่า 龙 (หลง) ในที่นี้แปลงร่างได้ บินขึ้นฟ้าได้ มุดลงดินหรือน้ำลึกได้ เสมือนมีอิทธิฤทธิ์ในตัว สามารถปรับตัวอยู่ได้ในหลายสถานการณ์

—–ส่วนมังกรมีตัวตนจริงหรือไม่ ทุกวันนี้ยังคงเป็นประเด็นปริศนาที่รอการพิสูจน์ ในวงการชีววิทยาเคยค้นพบสัตว์หลายชนิดที่ตั้งชื่อว่า 龙 แต่นั่นล้วนแต่ไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์มังกรที่ทุกคนรู้จัก โดยมีลักษณะได้แก่ เขาเหมือนกวาง หัวเหมือนวัว ตาเหมือนกุ้ง ปากเหมือนลา ท้องเหมือนงู เกล็ดเหมือนปลา เท้าเหมือนหงส์ (ฟีนิกซ์) หนวดเคราเหมือนมนุษย์ และหูเหมือนช้าง

—–ประเด็นที่สอง มังกรกลายเป็นเครื่องสัญลักษณ์ได้อย่างไร ด้วยมุมมองของเหวินอีตัว (闻一多 ค.ศ. 1899-1946) นักวิชาการแห่งสาธารณรัฐจีนเล็งเห็นว่า มังกรถือเป็นเครื่องสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของชาติจีน สันนิษฐานว่ามีที่มาจากความเชื่อการบูชาโทเท็ม (Totem) ของชนเผ่าในยุคโบราณ โดยรวมเอาสัญลักษณ์ประจำเผ่าของกลุ่มชนต่างๆ มาเข้าด้วยกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีในโลกแห่งความเป็นจริง กล่าวคือ ในยุคของชนเผ่าโบราณ แต่ละเผ่าต่างมีสัญลักษณ์แตกต่างกันแล้วแต่จะบูชานับถือ บ้างก็เป็นงู บ้างก็เป็นกวาง บ้างก็เป็นนกอินทรี อาจเป็นสัตว์ พืช หรือสิ่งของอื่นๆ ก็เป็นได้ เมื่อใดก็ตามที่ชนเผ่าใดเอาชนะเผ่าอื่นได้ ก็จะนำเอาสัญลักษณ์ประจำเผ่าของฝ่ายคู่ต่อสู้มารวมเป็นของตนเอง มูลเหตุอาจจะเพื่ออวดพละกำลังหรือเพื่อปลอบโยนชนเผ่าที่พ่ายแพ้ก็เป็นได้ การรวมเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ประจำเผ่านั้นในที่สุดก็เกิดเป็นมังกรขึ้น ดังนั้นมังกรจึงมีหลากหลายลักษณะอยู่ในตัวเดียวกัน เป็นการยืนยันว่า วัฒนธรรมจีนเป็นพหุวัฒนธรรมที่หล่อหลอมขึ้นจากสังคมที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่สังคมวัฒนธรรมเดียว

—–ประการที่สาม คำว่า ‘ลูกหลานของมังกร’ (龙的传人) มาจากไหน ใครเป็นคนคิดเรื่องลูกหลานของมังกร ถ้อยคำนี้ปรากฏขึ้นในสังคมชาวจีนและเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจากเพลง ‘龙的传人’ ใน ค.ศ. 1978 โดยนักแต่งเพลงชาวไต้หวันชื่อโหวเต๋อเจี้ยน (侯德健) ในขณะที่เพลงนี้ดังไปทั่วในหมู่ชาวจีน ทุกคนก็ค่อยๆ ยอมรับกับแนวคิดเรื่อง ‘龙的传人’  จริงๆ คำนี้ไม่ได้แปลว่า ‘ลูกหลานของมังกร’ แต่จะหมายถึง ‘ผู้สืบทอดจิตวิญญาณมังกร’