“หวงเฟยหง”
ยอดพยัคฆ์กังฟูแดนกวางตุ้ง

เรื่องโดย: กงจื่อเสียน


หวงเฟยหง รับบทโดย (李連杰) จากภาพยนตร์หวงเฟยหง 2 ถล่มมารยุทธจักร 《黃飛鴻之二:男兒當自強》

——เมื่อกล่าวถึง “จอมยุทธ์” คอนิยายกำลังภายในหลายท่านคงทึกทักว่ามีแต่ในโลกแห่งจินตนาการ ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ก็ปรากฏยอดนักสู้ผู้มีฝีมือลือเลื่องไปทั่วแผ่นดินจีนเช่นกัน และชื่อเสียงเรียงนามของ “หวงเฟยหง” (黃飛鴻 ค.ศ. 1847 หรือ 1856–1925) ย่อมจะอยู่ในความคิดคำนึงของผู้คนเป็นอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน

——“หวงเฟยหง” เป็นจอมยุทธ์ จีนแส (หมอ) และนักเชิดสิงโตผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยปลายราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1911) เขาเกิดเมื่อค.ศ. 1856 ณ เมืองฝอซาน (佛山) มณฑลกวางตุ้ง (廣東 กว่างตง) บิดามีนามว่า หวงฉีอิง(黃麒英) เป็นหนึ่งในสิบพยัคฆ์กวางตุ้ง (廣東十虎)[1] แต่เนื่องด้วยครอบครัวมีฐานะยากจน หวงฉีอิงจึงต้องทำมาหาเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัวด้วยการแสดงวิทยายุทธ์ข้างถนน ด้วยเหตุนี้ หวงฉีอิงจึงมุ่งหมายให้บุตรชายตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อสอบเอาตำแหน่งขุนนาง สร้างชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล ทว่าลูกไม้กลับหล่นไม่ไกลต้น พรสวรรค์ด้านวิทยายุทธ์ของหวงเฟยหงโดดเด่นกว่าด้านการศึกษา ไม่เพียงเรียนรู้ได้เร็ว แต่ยังสามารถผสมผสานจุดแข็งของกระบวนท่าต่อสู้ต่างๆ ได้อย่างลงตัว หวงเฟยหงจึงตัดสินใจยุติชีวิตวัยเรียน และเปลี่ยนเส้นทางใหม่โดยหันไปเอาจริงในยุทธจักรแทน

 

⦿ เร่แสดงเพลงยุทธ์ ยื่นมือช่วยด้วยมโนธรรม

——หวงเฟยหงเริ่มฝึกวิทยายุทธ์กับบิดาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ครั้นอายุได้ 8 ขวบก็ติดตามบิดาไปแสดงเพลงยุทธ์เพื่อหาเลี้ยงชีพ แม้ยังเป็นแค่เด็กเมื่อวานซืน แต่ก็หาญกล้าท้าประลองกับเจิ้งต้าสง (鄭大雄) ปรมาจารย์ผู้ช่ำชอง กระบวนพลองตกปลามือซ้าย(左手釣魚棍法) หวงเฟยหงได้ใช้ “กระบวนพลองมังกรสี่ลักษณ์(四象標龍棍法) จนเจิ้งต้าสงยอมสยบอย่างราบคาบ เด็กหนุ่มคนหนึ่งสามารถเอาชนะยอดฝีมือ ถือเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง หวงเฟยหงจึงได้รับฉายา วีรบุรุษหนุ่ม (少年英雄) มาด้วยเหตุนี้

——นอกจากนั้น สองพ่อลูกตระกูลหวงยังเคยช่วยชีวิตหลินฝูเฉิง (林福成) ศิษย์เอกของเหลียงคุน (梁坤 ค.ศ. 1813–1886) หนึ่งในสิบพยัคฆ์กวางตุ้งจากการถูกไล่ล่า หลินฝูเฉิงจึงตอบแทนด้วยการถ่ายทอดวิชาหมัดเหล็กเส้น (鐵線拳) รวมถึงเคล็ดการใช้อาวุธลับให้ ฝีมือของหวงเฟยหงจึงรุดหน้าอย่างรวดเร็วจนกระทั่งเหนือกว่าบิดา

 

⦿ จากจอมยุทธ์วัยเยาว์สู่ครูสอนวิทยายุทธ์

——ครั้นอายุ 16 ปี หวงเฟยหงได้ออกเดินทางตามลำพังจนถึงเมืองกวางเจา (廣州 กว่างโจว) และพบเห็นกับตาว่าบรรดาเหล่าแรงงานเหมืองกำลังถูกกลุ่มนายทุนขูดรีด แม้แรงงานเหล่านี้จะไม่พอใจ แต่ก็ไม่มีใครกล้าต่อต้านกลุ่มนายทุน พอพวกเขาทราบกิตติศัพท์ของหวงเฟยหง ก็พากันรวบรวมเงินเปิดโรงฝึกวิทยายุทธ์ให้ เมื่อใดที่พวกเขาว่างเว้นจากการทำงานก็จะมาเรียนวิชากับหวงเฟยหง นับแต่นั้นหวงเฟยหงจึงได้กลายเป็นครูสอนวิทยายุทธ์ซึ่งอ่อนวัยยิ่งกว่าครูคนใดในแดนใต้

——นอกจากเป็นครูฝึกให้เหล่าแรงงานแล้ว หวงเฟยหงยังได้รับการว่าจ้างให้เป็นครูฝึกวิทยายุทธ์แก่คนของร้านขายผัก ผลไม้ รวมถึงแผงขายปลา มีเรื่องเล่าขานกันมาว่าคืนหนึ่ง เขาเคยกำราบหัวขโมยกว่า 10 คนที่มาปล้นร้านได้ในคราวเดียวกัน หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็มีผู้คนจำนวนมากมาฝากตัวเป็นศิษย์ของหวงเฟยหง

——ต่อมาไม่นาน วันที่บิดาของเขารอคอยก็มาถึง หวงเฟยหงได้ถูกเรียกเข้าประจำการในกองทัพ โดยเริ่มจากการเป็นผู้ฝึกสอนวิทยายุทธ์แก่กองทัพเรือกวางเจา ภายหลัง อู๋เฉวียนเหม่ย (吳全美) ว่าที่ผู้บัญชาการทหารประจำมณฑล (記名提督) ยังว่าจ้างเขาเป็น ผู้ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้(技擊教練) ในกองทัพอีกด้วย

หวงเฟยหง รับบทโดย จ้าวเหวินจั๋ว (赵文卓) จากภาพยนตร์ หวงเฟยหง วีรบุรุษสะท้านยุทธจักร 《黃飛鴻之南北英雄》

 

⦿โรงหมอ เป่าจือหลิน

——ขณะที่ชีวิตราชการของหวงเฟยหงกำลังรุ่งโรจน์นั้น หวงฉีอิงผู้เป็นบิดาก็ได้เสียชีวิตด้วยอาการป่วยในค.ศ. 1886 ถัดมาไม่กี่เดือนอู๋เฉวียนเหม่ย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาก็สิ้นบุญไปอีกคน เหตุการณ์ทั้งสองส่งผลกระทบต่อจิตใจและทำให้หวงเฟยหงรู้สึกเศร้าหมองมาก เขาจึงลาออกจากตำแหน่ง และไปเปิดโรงหมอเฉพาะทางขึ้นที่กวางเจา ใช้ชื่อว่า “เป่าจือหลิน (寶芝林)

——ผู้คนส่วนใหญ่รู้ว่าหวงเฟยหงเชี่ยวชาญเพลงยุทธ์ แต่หารู้ไม่ว่าเขาก็เชี่ยวชาญการแพทย์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาอาการฟกช้ำดำเขียว หรือที่เรียกว่า เตียต่า (跌打) เดิมทีไม่มีใครกล้ามารักษา เพราะแคลงใจในความสามารถด้านนี้ของเขา ทั้งที่เขาไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทว่าอยู่มาวันหนึ่ง หลิวหย่งฝู (劉永福  ค.ศ. 1837–1917) ผู้บัญชาการกองทัพธงดำ ได้ลองให้หวงเฟยหงรักษาอาการบาดเจ็บเรื้อรังจนทุเลา ชื่อเสียงของโรงหมอเป่าจือหลินจึงดีขจรขจาย จางจือต้ง (張之洞 ค.ศ. 1837–1909) ผู้ว่าราชการมณฑลกวางตุ้ง-กวางเจา ถึงกับเขียนป้ายสดุดีว่า ทักษะการแพทย์ล้ำเลิศ (醫藝精通) แม้หวงเฟยหงจะโด่งดังเพียงใด แต่ก็ไม่เคยหวงวิชาความรู้ ทั้งยังเผยแพร่ตำรับชาจับเลี้ยงแก้ร้อนใน และวิธีดองสุราเพื่อรักษาอาการฟกช้ำ โดยหวังว่าจะช่วยเยียวยาชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

——ต่อมา ผู้บัญชาการหลิวหย่งฝู  ซึ่งชื่นชมทักษะการแพทย์และวิทยายุทธ์ของหวงเฟยหงอยู่แล้ว ได้มอบตำแหน่งแพทย์ทหาร (軍醫官) และหัวหน้าผู้ฝึกสอนทักษะการต่อสู้ (技擊總教練) แก่หวงเฟยหง ให้คอยติดตามเขาไปยังไต้หวัน กระทั่ง ค.ศ. 1895 หลิวหย่งฝูแพ้สงคราม หวงเฟยหงจึงกลับมาประจำอยู่ที่โรงหมอเป่าจือหลินอีกครั้ง

 

⦿ บั้นปลายของชีวิต

——ย่างเข้าวัยกลางคนหวงเฟยหงยังคงรับงานอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนหน่วยกำลังพลเรือนกวางตุ้ง (廣東民團)[2] คอยดูแลความสงบของบ้านเมือง หรือผู้คุ้มกันสนามแข่งจิ้งหรีดตระกูลเหลียง (梁氏蟀獵場) รวมถึงแสดงเพลงยุทธ์หรือเชิดสิงโตตามสถานที่ต่างๆ แต่ที่น่าเศร้าคือบั้นปลายของชีวิตเขาต้องเผชิญเรื่องเจ็บช้ำระกำใจหลายเรื่อง

——ค.ศ. 1919 หวงฮั่นเซิน (黃漢森 ค.ศ. 1898–1919) บุตรชายคนรองที่เขารักมากต้องเสียชีวิตเพราะถูกคู่อริวางแผนฆ่าเนื่องจากอิจฉาริษยาฝีมือในการต่อสู้ นับแต่นั้นหวงเฟยหงก็ไม่เคยถ่ายทอดวิทยายุทธ์ให้แก่บุตรคนไหนอีกเลย กระทั่ง ค.ศ. 1924 กวางเจาเกิดการจลาจลของกลุ่มพ่อค้ากวางเจา (廣州商團事變) เป็นเหตุให้พื้นที่เขตซีกวน (西關) ถูกเผาทำลาย แน่นอนว่าโรงหมอเป่าจือหลิน รวมถึงทรัพย์สินทั้งหมดก็วอดวายกลายเป็นเถ้าถ่านด้วย ซ้ำร้ายลูกชายคนโตยังตกงาน ด้วยปัจจัยต่างๆ หวงเฟยหงจึงเกิดอาการซึมเศร้าจนล้มป่วย และวายปราณในปีถัดมาขณะอายุได้ 69 ปี ปิดตำนานจอมยุทธ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกวางตุ้ง

สันนิษฐานว่าเป็นภาพจริงของ “หวงเฟยหง”

 

⦿ ชีวิตรักของหวงเฟยหง

——ในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับหวงเฟยหง มักปรากฏสตรีนางหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ใจของเขา จนตัวละครดังกล่าวตรึงตราอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้ชม นั่นก็คือ น้าสิบสาม(十三姨) แต่ที่แท้นางคือใครก็ยังคงเป็นข้อสงสัยมาจนทุกวันนี้

——ในชีวิตจริงหวงเฟยหงมีภรรยาทั้งหมด 4 คน คือ

——1. นางหลัว (羅氏) ภรรยาคนแรก แต่งงานกันราว ค.ศ. 1879 ทว่า 3 เดือนถัดมานางหลัวก็สิ้นลม

——2. นางหม่า (馬氏) แต่งงานกันราว ค.ศ. 1896 มีบุตรชายร่วมกันคือหวงฮั่นหลิน (黃漢林) และหวงฮั่นเซิน (黃漢森) ผ่านไปไม่นานนางหม่าก็สิ้นใจ

——3. นางเฉิน (岑氏) แต่งงานกันราว ค.ศ. 1902 มีบุตรชายร่วมกันคือหวงฮั่นซู (黃漢樞) และ หวงฮั่นซี (黃漢熙) ผ่านไปไม่ทันไรนางก็สิ้นบุญไปอีกคน

——4. ม่อกุ้ยหลัน (莫桂蘭 ค.ศ. 1892–1982) แต่งงานกันราวค.ศ. 1915 ในฐานะอนุภรรยา ทั้งนี้เพราะภรรยาสามคนแรกของหวงเฟยหงต่างก็ด่วนจากไป เขาจึงคิดว่าตนมีดวงกินเมีย ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้เคล็ด เขาจึงไม่ได้ยกย่องให้เกียรติม่อกุ้ยหลันในฐานะเอกภรรยา แต่ยังคงปฏิบัติต่อนางดั่งคู่ครองที่แท้จริง

——มีเรื่องเล่าว่าขณะที่หวงเฟยหงกำลังแสดงวิทยายุทธ์ บังเอิญทำรองเท้าหลุดไปโดนม่อกุ้ยหลันซึ่งชมการแสดงอยู่ นางจึงกรากเข้าไปตบหน้าและด่าทอหวงเฟยหง ทว่าหวงเฟยหงเห็นเป็นเด็กสาวเลยมิได้ถือสา ทั้งยังชื่นชมความแก่นกล้าของนางซึ่งผิดแผกกับหญิงทั่วไป จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งสองได้พบกันบ่อยขึ้น จนกลายเป็นความรักความผูกพัน และตกลงปลงใจร่วมเรียงเคียงหมอนกันในที่สุด

ม่อกุ้ยหลันในวัยชรา | ภาพจาก http://pochilam.org

——ชีวิตสมรสของหวงเฟยหงกับม่อกุ้ยหลันดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งสองไม่ได้เป็นเพียงคู่ชีวิต แต่ยังมีสถานะเป็นอาจารย์กับศิษย์ด้วย หวงเฟยหงถ่ายทอดวิทยายุทธ์ต่างๆ ให้แก่ม่อกุ้ยหลัน ส่วนนางเองก็คอยช่วยเหลือเกื้อหนุนหวงเฟยหงอย่างเต็มกำลังเสมอมา แม้หวงเฟยหงจะลาโลกไปก่อน แต่นางก็ยังคงเผยแพร่วิทยายุทธ์ของเขาต่อไป กระทั่งค.ศ. 1982 ม่อกุ้ยหลันสิ้นชีวิตตามอายุขัย 90 ปีที่ฮ่องกง ชนรุ่นหลังพากันลงความเห็นว่า นางคือต้นแบบของตัวละคร “น้าสิบสาม” ที่ทุกคนรู้จัก

 

⦿ หอรำลึกหวงเฟยหง

ภาพจาก www.sohu.com

——ปัจจุบัน แม้หวงเฟยหงจะล่วงลับไปแล้วกว่าหนึ่งศตวรรษ แต่กิตติคุณและเกียรติประวัติของเขายังคงเป็นที่กล่าวขวัญของชาวจีนและชาวโลก ทั้งในเรื่องเล่า งิ้ว ภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ นอกจากนี้ ที่เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้งยังมี หอรำลึกหวงเฟยหง (黃飛鴻紀念館) เพื่อระลึกถึงปรมาจารย์ด้านศิลปะการต่อสู้ผู้มีชื่อเสียงลือชาปรากฏท่านนี้ด้วย

——“หอรำลึกหวงเฟยหง” ตั้งอยู่ที่เมืองฝอซาน ทางทิศเหนือของศาลบรรพชน (祖廟) สร้างขึ้นเมื่อค.ศ. 2000 แล้วเสร็จเมื่อค.ศ. 2001 ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนที่เคยเกี่ยวข้องกับหวงเฟยหงทั้งในและนอกประเทศ ทั้งยังมอบรูปภาพรวมถึงของล้ำค่านับพันชิ้นที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติชีวิตหวงเฟยหงให้หอรำลึกช่วยเก็บรักษาไว้อีกด้วย ผู้เข้าชมจึงสามารถสัมผัสวัฒนธรรมของชาวกวางตุ้ง และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่หวงเฟยหงยังมีชีวิตอยู่ได้จากหอรำลึกแห่งนี้

รูปปั้นสำริดหวงเฟยหง ณ หอรำลึกหวงเฟยหง | ภาพจาก www.sohu.com

——รูปแบบของอาคารที่นี่คงไว้ซึ่งลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านฝอซานในช่วงกลางสมัยราชวงศ์ชิงถึงสมัยสาธารณรัฐ แม้กระทั่งวัสดุที่ใช้ก่อสร้างก็เป็นวัสดุเก่าที่รวบรวมมาเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัตถุแบบโบราณไว้ จุดเด่นของตัวอาคารอยู่ตรงโครงหลังคาที่มีรูปทรงคล้ายกับหูหม้อในสมัยก่อน จึงเรียกกันว่า บ้านหูหม้อ(鑊耳屋) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของท้องถิ่นหลิ่งหนาน (嶺南)[3] โครงหลังคาเช่นนี้ นอกจากทนความร้อนและช่วยระบายอากาศแล้ว ยังสื่อความหมายในด้านโชคลาภและสิริมงคลอีกด้วย

โครงสร้างหลังคาแบบ “บ้านหูหม้อ” | ภาพจาก www.sohu.com

——หอรำลึกแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องนิทรรศการต่างๆ บริเวณประตูหลักทางด้านหน้าของหอมีรูปปั้นหวงเฟยหงซึ่งทำจากสำริดตั้งอยู่ คอยต้อนรับบรรดาผู้มาเยี่ยมชม เมื่อเดินเข้าประตูไปจะเห็นอาคารสองชั้นเด่นเป็นสง่า หน้าอาคารเป็นลานแสดงยุทธ์กลางแจ้ง (演武天井)  ส่วนชั้นล่างของอาคารเรียกว่า โถงแสดงยุทธ์ (演武廳) ทั้งสองแห่งนี้จะมีการจัดแสดงวิทยายุทธ์เป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ตื่นตาตื่นใจกับวิทยายุทธ์แดนใต้อย่างใกล้ชิด

——ข้างโถงแสดงยุทธ์เป็นห้องชมวีดิทัศน์กังฟู (功夫影像室) ส่วนชั้นสองของอาคารจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับหวงเฟยหงที่ปรากฏในวรรณกรรมต่างๆ ทั้งเรื่องราวของผู้เขียน รูปภาพ หนังสือพิมพ์เก่าในสมัยนั้นๆ รวมถึงงิ้วกวางตุ้งด้วย

——ปีกด้านซ้ายและขวาของอาคารมีการจัดแสดงศัสตราวุธ ภาพกระบวนท่าวิทยายุทธ์ต่างๆ ห้องจำลองโรงหมอเป่าจือหลิน ข้อมูลเกี่ยวกับการเชิดสิงโตและภาพยนตร์ซึ่งมีหวงเฟยหงเป็นตัวละครหลัก รวมถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับหวงเฟยหง นอกจากนี้ ภายในหอรำลึกยังเก็บวัตถุโบราณจำนวนมากที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยนั้น ส่วนด้านหน้าหอก็มีการแสดงเชิดสิงโตตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

——หอรำลึกดังกล่าวจึงไม่เพียงเป็นอนุสรณ์สถานแห่งปรมาจารย์ด้านวิทยายุทธ์คนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นดั่งแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรมหลิ่งหนาน รวมถึงจิตวิญญาณศิลปะการต่อสู้ของจีนให้ชาวโลกได้ประจักษ์

 


[1] สิบจอมยุทธ์ หรือผู้เชี่ยวชาญทักษะการต่อสู้ในมณฑลกวางตุ้ง

[2] กองกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยของบ้านเมือง

[3]  หลิ่งหนาน (嶺南) ดินแดนอนารยะตอนใต้ของจีน ตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาหนานหลิ่ง หรือหมายถึงพื้นที่ทั้งหมดของมณฑลกวางสี มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลไหหลำ รวมถึงบางส่วนของมณฑลหูหนานและมณฑลเจียงซีในปัจจุบัน