—–หลังจากจีนพ่ายแพ้ญี่ปุ่นในสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (甲午戰爭) เมื่อ ค.ศ. 1895 ญี่ปุ่นได้บังคับยึดครองเกาะไต้หวันซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของจีน พร้อมกับใช้เกาะไต้หวันเป็นแหล่งทรัพยากรและปราการด่านแรกทางทิศใต้ของประเทศ ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันตั้งแต่ยุคราชวงศ์ชิงใน ค.ศ. 1895 จนถึงยุคสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ. 1945 ช่วงเวลา 50 ปีอาจดูยาวนาน แต่เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของช่วงเวลาที่ราชวงศ์ชิงปกครองไต้หวันเท่านั้น ตลอดระยะเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นพัฒนาไต้หวันในหลากหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ จนไต้หวันก้าวเข้าสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็ว

—–ในช่วงที่ราชวงศ์ชิงปกครองเกาะไต้หวัน ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ซึ่งอพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยน (福建) และมณฑลกว่างตง (廣東) มีฐานะยากจน กลุ่มคนเหล่านี้มิได้มีวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองติดตัวมาด้วย ส่งผลให้วัฒนธรรมของผู้คนบนเกาะแห่งนี้ไม่หลากหลาย มีเพียงวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ค่อนข้างชัดเจน

ชนพื้นเมืองไต้หวัน

ญี่ปุ่นยึดเกาะไต้หวันเป็นอาณานิคม

—–ช่วงแรกที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เศรษฐีและขุนนางจำนวนมากเดินทางกลับจีนแผ่นดินใหญ่เพราะหวั่นเกรงความไม่ปลอดภัย ส่วนชาวไต้หวันที่ยังอยู่บนเกาะก็รวมตัวกันต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างหนัก เกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองขึ้นมากมาย ส่งผลให้ชาวไต้หวันนับหมื่นต้องสังเวยชีวิต เช่น เหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนถูกกราดยิง ฯลฯ

—–ขณะนั้นชนชั้นปกครองญี่ปุ่นมองว่าเกาะซึ่งอยู่ในเขตร้อนนี้เต็มไปด้วยโรคติดต่อ ไม่เหมาะที่ชาวญี่ปุ่นจะอยู่อาศัย บ้างเสนอว่าควรขายเกาะให้ชาติตะวันตก แต่สุดท้ายรัฐบาลญี่ปุ่นเลือกใช้เกาะไต้หวันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารส่งกลับไปให้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลดีต่อไต้หวัน เนื่องจากช่วยให้เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของเกาะแห่งนี้พัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ญี่ปุ่นพัฒนาเกาะไต้หวัน

—–จักรวรรดิญี่ปุ่นดำเนินการปฏิวัติเกษตรกรรมในไต้หวัน ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งแรกของเอเชีย ญี่ปุ่นส่งเสริมการทำปศุสัตว์ เพาะปลูกพืชชนิดใหม่ ใช้ปุ๋ยเคมี วางแผนระบบชลประทาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังตั้งโรงงานน้ำตาลทดแทนการทำน้ำตาลที่ใช้แรงงานมนุษย์และสัตว์แบบเดิม จนน้ำตาลกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้มหาศาล

—–ไต้หวันยังได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น เริ่มใช้ไฟฟ้า สร้างทางรถไฟเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ก่อตั้งธนาคารไต้หวัน รวมทั้งเปิดท่าเรือสำคัญสองแห่ง คือ ท่าเรือเกาสง (高雄港) และท่าเรือจีหลง (基隆港) ขณะเดียวกันเกษตรกรญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ภาคตะวันออกของเกาะไต้หวันซึ่งเรียกว่าโฮ่วซาน (後山) ส่งผลให้พื้นที่โฮ่วซานซึ่งไร้ประโยชน์ กลายมาเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ให้ผลผลิตจำนวนมาก

ท่าเรือจีหลง

ชาวไต้หวันรับอิทธิพลจากญี่ปุ่น

—–ช่วงครึ่งแรกที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน แม้ญี่ปุ่นจะพยายามเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่ชาวไต้หวันยังคงยืนหยัดในการศึกษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ในด้านการศึกษา ญี่ปุ่นผลักดันนโยบาย “การศึกษาของพลเมือง” เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานหกปี ส่วนด้านสาธารณสุข ญี่ปุ่นได้จัดตั้งตำรวจอนามัย มีหน้าที่ควบคุมดูแลสุขอนามัยของประชาชนในชีวิตประจำวัน มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ผลักดันการแพทย์สมัยใหม่ ด้วยการฝึกอบรมแพทย์จากมหาวิทยาลัยไถเป่ยตี้กั๋ว (台北帝國大學) ให้ออกรักษาผู้ป่วยตั้งแต่เมืองใหญ่ไปจนถึงชนบทห่างไกล นอกจากนี้ยังนำเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาถ่ายทอดสู่ไต้หวัน ทั้งในด้านภาษาศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ

แพทย์กำลังรักษาผู้ป่วย

—–ในช่วงครึ่งแรกของการปกครอง ชาวไต้หวันบางส่วนยังคงยืนหยัดศึกษาและเผยแพร่วัฒนธรรมจีน ประชาชนบางส่วนนิยมรวมตัวกันที่ศาลเจ้าเพื่อทำกิจกรรม เช่น เล่าเกร็ดเกี่ยวกับประเทศจีน ชมงิ้ว ฟังดนตรี ฯลฯ ต่อมามีปัญญาชนไต้หวันก่อตั้งโรงเรียนที่เรียกว่า “ซูฝาง” (書房) เพื่อเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนมิให้สูญหาย เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ซูฝางยังช่วยเสริมความรู้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนปกติของโรงเรียน

—–ในช่วงครึ่งหลังของการปกครอง ชาวไต้หวันเริ่มยอมรับวัฒนธรรมญี่ปุ่น มีการใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน ใน ค.ศ. 1940 ทำเนียบผู้ว่าการประกาศสนับสนุนให้ชาวไต้หวันใช้ชื่อญี่ปุ่นแทนชื่อจีน นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังส่งเสริมให้ประกอบพิธีกรรมของศาสนาชินโตอย่างแพร่หลาย

นักเรียนไต้หวันถือธงชาติญี่ปุ่นรับเสด็จจักรพรรดิโชวะ

ชาวไต้หวันตกเป็นพลเมืองชั้น 2

—–เมื่อญี่ปุ่นเข้าปกครองไต้หวัน ชาวไต้หวันก็กลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ไปโดยปริยาย ชาวญี่ปุ่นมีสิทธิต่างๆ เหนือกว่าชาวไต้หวันในหลายด้าน เช่น การเลือกตั้ง การประกอบกิจการ ฯลฯ รัฐบาลญี่ปุ่นแต่งตั้งข้าราชการในหน่วยงานราชการขั้นพื้นฐานกว่าครึ่งขึ้นเอง อาชีพที่สงวนไว้สำหรับชาวญี่ปุ่นคือผู้พิพากษา ช่างฝีมือระดับสูง และผู้บริหาร ส่วนชาวไต้หวันที่มีศักยภาพขณะนั้นนิยมประกอบอาชีพทนายความหรือแพทย์

—–รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ส่งเสริมให้ชาวไต้หวันประกอบกิจการขนาดใหญ่ เช่น อนุญาตให้บริษัทญี่ปุ่นดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ได้เท่านั้น แม้โรงงานน้ำตาลช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของไต้หวัน แต่เป็นการผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติ และถือเป็นการผูกขาดการเลือกสินค้าด้านการเกษตรของประชาชนด้วย ผู้บริหารและผู้ควบคุมโรงงานที่รู้วิธีบริหารจัดการล้วนเป็นชาวญี่ปุ่น ส่วนชาวไต้หวันเป็นเพียงคนงานทั่วไปเท่านั้น มีเพียงธุรกิจขนาดเล็กเกี่ยวกับการเกษตรที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้ชาวไต้หวันเป็นเจ้าของ ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้าเกษตร ธุรกิจสีข้าว ธุรกิจโม่แป้ง ฯลฯ

โรงงานผลิตน้ำตาล

—–ชาวไต้หวันจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการกดขี่ข่มเหงของญี่ปุ่น พยายามเรียกร้องความเท่าเทียม หลายต่อหลายครั้งที่ประชาชนและชาวพื้นเมืองพากันลุกฮือ แต่ทุกครั้งล้วนประสบความล้มเหลว บ้างถูกกวาดล้างอย่างรุนแรงจากกำลังทหาร บ้างก็ถูกสังหารหมู่

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่

—–ใน ค.ศ. 1911 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) และการสถาปนาสาธารณรัฐจีน การปฏิวัติครั้งนี้ชาวไต้หวันหลายคนได้เข้าร่วมด้วย เช่น หลัวฝูซิง (羅福星 ค.ศ. 1886-1914) ผู้เคยเป็นสมาชิกพรรคปฏิวัติของซุนยัดเซ็น (孫中山 ค.ศ. 1866-1925) ต่อมาการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม (五四運動) ค.ศ. 1919 ก็มีชาวไต้หวันเข้าร่วมเช่นกัน อันที่จริงชาวไต้หวันและชาวจีนแผ่นดินใหญ่มิได้ตัดขาดความสัมพันธ์กันเสียทีเดียว ทั้งสองฝ่ายยังไปมาหาสู่กันเช่นเดิม ผู้นำการปฏิวัติฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น ซุนยัดเซ็น และเหลียงฉี่เชา (梁啟超) ก็เคยเดินทางมาที่เกาะไต้หวัน และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวไต้หวัน

—–หลังจากเกิดสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (中日戰爭) และสงครามมหาเอเชียบูรพา (太平洋戰爭) ญี่ปุ่นได้เพิ่มมาตรการควบคุมไต้หวันเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

 

ความลำบากของชาวไต้หวันในช่วงสงคราม

—–ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) ชาวไต้หวันจำนวนมากโดยเฉพาะแพทย์ ถูกส่งตัวไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเพื่อช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่น ต่อมา ค.ศ. 1932 ญี่ปุ่นก่อตั้งประเทศแมนจู (滿洲國) ได้สำเร็จ ขณะนั้นชาวไต้หวันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนยังคงมีสถานะด้อยกว่าชาวญี่ปุ่น แต่สูงกว่าชาวจีนท้องถิ่น ฝ่ายญี่ปุ่นไม่นับว่าชาวไต้หวันเป็นชาวญี่ปุ่น ส่วนชาวจีนแผ่นดินใหญ่มองว่าชาวไต้หวันเป็นพวกญี่ปุ่น ปรากฏการณ์นี้ทำให้ชาวไต้หวันสับสนกับสถานภาพของตนเอง

—–ช่วงหลังของสงครามมหาเอเชียบูรพา ชาวไต้หวันบางส่วนถูกส่งตัวไปทำสงครามอยู่ในแถบหนานหยาง[1] (南洋) และประเทศญี่ปุ่น บ้างถูกส่งไปทำงานที่โรงงานเครื่องบินที่ญี่ปุ่น ทดแทนแรงงานญี่ปุ่นที่ขาดแคลน

—–ขณะนั้นเสบียงอาหารของญี่ปุ่นเริ่มร่อยหรอ ชาวไต้หวันจึงได้รับส่วนแบ่งน้อยลง ส่งผลให้ชาวไต้หวันต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ไม่ต่างกับการถูกบังคับให้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไม่ยินยอมพร้อมใจ

—–ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกามองว่าเกาะไต้หวันมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อญี่ปุ่น กองทัพอเมริกันจึงศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเกาะไต้หวัน คิดว่าหากยึดครองเกาะไต้หวันได้ ก็จะควบคุมญี่ปุ่นเอาไว้ได้ เดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดโจมตีเกาะไต้หวัน ทำให้ถนนหนทาง ทางรถไฟ ท่าเรือ โรงงาน รวมทั้งสถานที่ราชการได้รับความเสียหายอย่างหนัก ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ กองทัพญี่ปุ่นต้องควบคุมหนังสือพิมพ์และวิทยุอย่างเข้มงวด ข้อมูลข่าวสารด้านสงครามถูกปกปิด แต่ยังคงมีข่าวลือส่งต่อในหมู่ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ทำให้ชาวเมืองจำนวนมากอพยพไปยังชนบท

กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดโจมตีไต้หวัน เมื่อปี ค.ศ. 1945

—–ต่อมาอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ ส่งผลให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 พร้อมกับประกาศยกเลิกการปกครองไต้หวันอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้กองทัพอเมริกันจึงไม่จำเป็นต้องโจมตีและพยายามยึดครองไต้หวันอีกต่อไป

—–ญี่ปุ่นทิ้งหลายสิ่งหลายอย่างไว้บนเกาะไต้หวัน หากมองในแง่ดี ญี่ปุ่นนำพาเอาความทันสมัยและเทคโนโลยีเข้ามาสู่เกาะไต้หวัน แต่หากมองในแง่ร้าย ชาวไต้หวันถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างหนักในหลากหลายด้าน ปัจจุบันเกาะที่งดงามแห่งนี้ยังคงหลงเหลือกลิ่นอายวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย และเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร แม้ไต้หวันจะได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่นมานานกว่า 70 ปี แต่สถานะของไต้หวันก็ยังคงคลุมเครือในสายตาชาวโลกอยู่จนถึงทุกวันนี้

———————————————

[1] หนานหยาง เป็นชื่อเรียกพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ หมู่เกาะมลายู สิงคโปร์ อินโดนีเซีย รวมทั้งมณฑลที่ติดทะเลของประเทศจีน

เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์