—–หญิงขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณในทุกบ้านเมืองทั่วโลก มีทั้งแบบยินยอมพร้อมใจและถูกบีบบังคับ แม้ในปัจจุบันหญิงขายบริการเป็นอาชีพที่ ‘ไร้เกียรติ’ ในสายตาคนทั่วไป แต่ก็ยังมีผู้นิยมประกอบอาชีพนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ ประวัติศาสตร์จีนมีบันทึกมากมายเกี่ยวกับหญิงขายบริการ แท้จริงแล้วหญิงขายบริการจีนมีหลากหลายประเภท แบ่งอย่างหยาบๆ ได้เป็น ‘อี้จี้’ (藝妓) คือหญิงขายบริการด้านศิลปะและความบันเทิง เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี แต่งกลอน ฯลฯ มิได้ขายบริการทางเพศเป็นหลัก และ ‘เซ่อจี้’ (色妓) คือโสเภณีหรือหญิงขายบริการทางเพศ

หญิงขายบริการเล่นดนตรีให้ความบันเทิง

กำเนิดโสเภณีจีน

—–สันนิษฐานว่าโสเภณีจีนถือกำเนิดขึ้นในสังคมทาส (ราวราชวงศ์เซี่ยถึงยุคชุนชิว) เมื่อผู้คนอาศัยร่วมกันเป็นสังคม ชนชั้นปกครองมีความเข้มแข็ง อำนาจและทรัพย์สินจึงถูกรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง ชนชั้นสูงเลี้ยงข้าทาสหญิงไว้จำนวนมาก จนหญิงชายในสังคมทั่วไปมีอัตราส่วนไม่สมดุลกัน

—–ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ธุรกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง พ่อค้าวาณิช คนงาน นักเดินทาง ฯลฯ พากันเดินทางไปทำมาหากินต่างบ้านต่างเมือง ผู้คนเหล่านี้หาวิธีปลดเปลื้องอารมณ์ทางเพศ จึงเกิดความต้องการโสเภณี ผู้หญิงหันมาขายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

—–กล่าวกันว่าพระเจ้าเจี๋ย (桀 ราว 1654-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กษัตริย์สมัยราชวงศ์เซี่ย (夏 2070-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มี ‘หนี่ว์เล่อ’ (女樂) มากถึง 3 หมื่นคน ‘หนี่ว์เล่อ’ หรือ ‘ชางโยว’ (倡優) คือทาสสาวที่ร้องเพลง เต้นรำ หรือแสดงละครเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่นายทาส โดยมากมักถูกบีบบังคับให้ร่วมเพศกับนายทาส สันนิษฐานว่า ‘หนี่ว์เล่อ’ เป็นที่มาของ ‘นางบำเรอในบ้าน’ (家妓) ซึ่งเป็นทาสหญิงที่ถูกกักบริเวณเพื่อสนองตัณหาของเจ้าของบ้าน  ถูกบีบบังคับให้ร่วมเพศกับเจ้าของบ้าน ข้าราชการ หรือครอบครัวเศรษฐี นางบำเรอประเภทนี้จึงมิได้มีเป้าหมายเพื่อเงินเหมือนโสเภณีในปัจจุบัน และไม่ได้ขึ้นตรงกับทางการ คาดกันว่าเริ่มมีนางบำเรอในบ้านตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (西周 1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เพราะถือเป็นยุคแห่งทาส บันทึกเกี่ยวกับหนี่ว์เล่อหรือนางบำเรอในบ้านที่เก่าแก่ที่สุดกล่าวว่า ‘จิ้นเต้ากง’ (晉悼公586-558 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มอบหนี่ว์เล่อ 8 คนแก่เว่ยเจี้ยง (魏絳 ไม่แน่ชัด-552 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ต่อมาในสมัยเว่ยจิ้น (魏晉 220-420) ราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝 ค.ศ. 420-589) ราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581-618) และราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) นางบำเรอในบ้านได้รับความนิยมอย่างยิ่ง บางตระกูลมีนางบำเรอในบ้านนับพันคน

—–ในสังคมจีนยุคโบราณนางบำเรอเหล่านี้ถูกกดขี่ราวกับไม่ใช่มนุษย์ มีบันทึกว่าในฤดูหนาวเมื่อเจ้าบ้านบางคนรู้สึกมือเท้าหนาวเย็นก็ล้วงหน้าอกของพวกเธอเพื่อความอบอุ่น เรียกกันว่า ‘เตาเนื้ออบอุ่น‘ (肉暖爐) หากลมแรงก็ให้นางบำเรอในบ้านมายืนเรียงแถว เพื่อเป็น ‘ฉากเนื้อกันลม‘ (肉屏風) หากต้องการขับเสมหะไม่ต้องใช้กระโถน ให้พวกเธออ้าปากรับ เรียกว่า ‘กระโถนหอม‘ (香痰盂) นางบำเรอในบ้านมีลักษณะคล้ายกับโสเภณีชาวบ้าน (民妓) ต่างกันตรงโสเภณีชาวบ้านใช้ชีวิตปกติในสังคม มีอิสระในการขายบริการ ไม่ต้องถูกกักบริเวณ คล้ายกับโสเภณีที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน

—–ขณะเดียวกัน ก็เกิดนางบำเรอในราชสำนัก (宮妓) ขึ้นมา นางบำเรอในราชสำนักส่วนใหญ่มีหน้าที่ร้องเพลงและร่ายรำสร้างความบันเทิงแก่จักรพรรดิหรือพระบรมวงศานุวงศ์ พวกเธอถูกเลี้ยงดูอยู่ในราชสำนักฝ่ายใน บางยุคมีจำนวนนับหมื่นคน นางบำเรอในราชสำนักมีของกินของใช้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แม้หญิงเหล่านี้มักยินดีถวายตัวแด่พระจักรพรรดิ แต่ในวังหลวงมีหญิงงามมากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นคนโปรดจึงค่อนข้างลำบาก ความเจ็บปวดส่วนใหญ่ของพวกเธอคือการถูกกักบริเวณอยู่แต่ราชสำนักฝ่ายในอย่างไร้อิสระ เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ และไร้ความสุขในด้านความรักและกามารมณ์

นางบำเรอในราชสำนัก

—–นอกจากนางบำเรอในบ้านและนางบำเรอในราชสำนักแล้ว ยังมี ‘นางบำเรอของขุนนาง’ (官妓) อีกประเภท นางบำเรอของขุนนางขึ้นตรงต่อรัฐ มีหน้าที่ให้บริการแก่ขุนนางหรือข้าราชการ ขุนนางสามารถแบ่งปันนางบำเรอกันได้ หรืออาจบังคับให้รับแขกขุนนางต่างเมือง นางบำเรอของขุนนางไม่อาจปฏิเสธการร่วมหลับนอนตามคำสั่ง และไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ ทั้งนี้ขุนนางที่ใช้บริการอาจให้สิ่งของหรือเงินทองเป็นรางวัล ขุนนางชั้นสูงบางคนเมื่อพอใจนางบำเรอคนใดก็มักครอบครองไว้แต่เพียงผู้เดียว จึงเคยเกิดเหตุการณ์ที่ขุนนางแย่งชิงนางบำเรอด้วยความหึงหวงมาแล้ว

—–สมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (漢武帝 156-87 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีการตั้งนางบำเรอในกองทัพ (軍妓) นางบำเรอในกองทัพคือนางบำเรอที่ติดตามกองทัพไปเพื่อให้บริการทางเพศแก่ทหาร ช่วยให้ทหารได้ปลดเปลื้องความใคร่ ทหารในกองทัพที่กำลังทำสงครามมักเกิดความเครียด นางบำเรอในกองทัพจึงต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขมขื่นและเศร้าหมองท่ามกลางสงคราม แต่ถึงกระนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงความรอบคอบของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ ซึ่งอาจเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ทหาร

สถานเริงโลกีย์เคล้าดนตรี

—–บันทึก ‘ตงโจวเช่อ’ 《東周策》 เล่าว่าในช่วงต้นสมัยชุนชิว (春秋 770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก่วนจ้ง (管仲 ราว 723-645 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักการเมืองการปกครองผู้ยิ่งใหญ่และเป็นอัครมหาเสนาบดีของรัฐฉี (齊國) ได้ตั้ง ‘หนี่ว์หลีว์’ (女閭) หรือ ‘แหล่งนางโลม’ ขึ้นมา พร้อมจัดให้โสเภณีเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของซ่องจีน หนี่ว์หลีว์ดูแลโดยรัฐ มีการเก็บภาษี การก่อตั้งมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ ได้แก่

  1. เพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐ ใช้ผู้หญิงดูดเงินจากบรรดาชายชอบเที่ยวเข้าคลัง
  2. เพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคม ด้านหนึ่งเพื่อให้ผู้ชายที่ไม่มีหนทางปลดเปลื้องได้ระบายความกำหนัด อีกด้านก็เพื่อให้ทาสหญิงจำนวนมากอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
  3. เพื่อดึงดูดนักเดินทางผู้มีความรู้ความสามารถ ในยุคนั้นแต่ละรัฐขัดแย้งแย่งชิงความเป็นใหญ่ จึงต้องหาผู้ปรีชามาช่วยงาน ทั้งนี้นักเดินทางส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตอิสระ ชื่นชอบสุรานารี การเปิดหนี่ว์หลีว์จึงเป็นการดึงดูดนักเดินทางเหล่านี้
  4. สร้างความสำราญให้ฉีหวนกง (齊桓公 ปีเกิดไม่แน่ชัด-643 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เจ้าครองรัฐฉีและเป็นห้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิว (春秋五霸) พระองค์เป็นคนหมกมุ่นเรื่องเพศ แม้ในวังจะมีสนมจำนวนมาก แต่ก็ยังต้องการหาความตื่นเต้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่วนจ้งที่ปรึกษาคนสนิทก่อตั้งหนี่ว์หลีว์ขึ้น

—–เมื่อก่วนจ้งก่อตั้งหนี่ว์หลีว์อย่างเป็นทางการ รัฐต่างๆ ก็พากันเลียนแบบ ฉกฉวยประโยชน์จากโสเภณีเพื่อให้รัฐมั่นคงแข็งแกร่งเช่นกัน

ก่วนจ้ง

—–ในสมัยราชวงศ์สุย จักรพรรดิสุยหยางตี้ (隋煬帝 ค.ศ. 569-618) ก่อตั้งเจี้ยวฟาง (教坊) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจี้เยวี่ยน (妓院) มีลักษณะเป็นสถานเริงรมย์ ซึ่งเหล่าบัณฑิตได้มาพบปะ ชมการแสดง อ่านบทกวี ฯลฯ ไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการทางเพศเป็นหลัก ต่อมาจักรพรรดิถังเสวียนจง (唐玄宗 ค.ศ. 685-762) สมัยราชวงศ์ถังได้ขยายโครงสร้างของเจี้ยวฟางออกไปอีก จนมีหญิงให้บริการถึง 11,409 คน

—–สมัยจักรพรรดิหมิงอู่จง (明武宗 1491-1521) แห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ได้นำนักแสดงในเจี้ยวฟางทั้งหมดเข้าวังหลวง ส่งผลให้เจี้ยวฟางต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่มีนักแสดงฝีมือดี และลงท้ายก็จำต้องควบรวมกิจการกับซ่องในย่านใกล้เคียง ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง เจี้ยวฟางจึงกลายเป็นซ่องไปโดยปริยาย

—–สมัยราชวงศ์หมิงนี้ยังเกิดตำราที่ชื่อว่า ‘ชิงโหลวอวิ้นอวี่’ (青樓韻語) เป็นคู่มือเที่ยวโสเภณี ซึ่งสะท้อนสังคมโสเภณีสมัยราชวงศ์หมิง และบันทึกบทกวีที่แต่งโดยคณิกาหรือโสเภณีตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้นถึงราชวงศ์หมิง

—–ในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) จักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正帝 ค.ศ. 1678-1735) รับสั่งให้ยกเลิกระบบโสเภณีของรัฐทั้งหมด โสเภณีรัฐถูกสั่งห้าม เมื่อขุนนางไม่มีเงินสนับสนุนให้ใช้บริการโสเภณี จึงต้องเสียเงินซื้อบริการเอาเอง บ้างทุจริตเงินหลวงไปซื้อบริการก็มี กระทั่ง ค.ศ. 1949 หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้อำนาจการปกครองจีนไม่นาน รัฐบาลประชาชนมีมาตรการปิดซ่องโสเภณีและลงโทษแม่เล้า จนการขายบริการถูกห้ามโดยเด็ดขาดเมื่อ ค.ศ. 1957 แต่ภายหลังเมื่อจีนเปิดประเทศ การขายบริการทางเพศก็กลับมาอย่างลับๆ โดยเฉพาะเมืองเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและเมืองท่าชายทะเล

สี่สุดยอดคณิกาจีน

—–ในบรรดาคณิกาแต่ละยุค มีคณิกาที่เลื่องชื่อถูกเรียกว่า ‘สี่สุดยอดคณิกาจีน’ (四大名妓) ได้แก่ ซูเสียวเสี่ยว (蘇小小 ค.ศ. 479-502) สาวตัวเล็กชาวรัฐฉี บิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย จึงต้องอาศัยอยู่กับแม่นม ชีวิตค่อนข้างลำบาก แต่เนื่องด้วยมีรูปร่างหน้าตาสะสวย มีความสามารถด้านศิลปะและกวีนิพนธ์ คบหาบัณฑิตมากหน้าหลายตา และมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ พัวพันอย่างต่อเนื่อง ชื่อเสียงของเธอมาจากกวีที่เหล่าบัณฑิตแต่งให้

หลี่ซือซือ

—–หลี่ซือซือ (李師師 ค.ศ. 1102-1129) เป็นชาวเปี้ยนจิง (汴京 เมืองไคเฟิงในปัจจุบัน) สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960-1127) เมื่ออายุ 4 ขวบ บิดาถูกจับขังคุกและเสียชีวิต เธอจึงใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน จนเจ้าของหอคณิกาเห็นว่าเธอหน้าตาดี จึงเก็บมาเลี้ยงพร้อมกับสอนวิชาความรู้แขนงต่างๆ จนมีความสามารถหลากหลาย ทั้งแต่งกวี ร้องเพลง เล่นดนตรี และร่ายรำ จึงเป็นที่ชื่นชอบและแอบมีความสัมพันธ์ลับๆ กับขุนนาง ชนชั้นสูง และบัณฑิตมากมาย แม้แต่จักรพรรดิซ่งฮุยจง (宋徽宗 ค.ศ. 1082-1135) ก็นิยมชมชอบในตัวเธอ ชื่อของเธอจึงมักปรากฏในนวนิยายหลายเรื่อง

—–เฉินหยวนหยวน (陳圓圓 ค.ศ. 1623-1695) เป็นชาวซูโจว (蘇州) มีกิริยาท่าทางงดงาม ฉลาดหลักแหลม บิดามารดาของเธอทำอาชีพหาบเร่ขายของ จึงส่งเธอไปให้ญาติช่วยเลี้ยงดู เธอถูกญาติขายให้กับหอคณิกา เมื่อเติมโตขึ้นมีรูปโฉมงดงาม ประกอบกับมีความสามารถหลากหลาย จึงเป็นที่หมายตาของชายหลายคน รวมถึงอู๋ซานกุ้ย (吳三桂 ค.ศ. 1608-1678) แม่ทัพในปลายราชวงศ์หมิง เฉินหยวนหยวนเป็นสาเหตุที่ทำให้อู๋ซานกุ้ยเปิดประตูเมืองให้กองทัพแมนจูบุกปักกิ่ง หลังจากอู๋ซานกุ้ยเสียชีวิต กล่าวกันว่าเฉินหยวนหยวนออกบวช บ้างก็ว่าฆ่าตัวตายตามสามี

—–และคนสุดท้ายคือ หลิ่วหรูซื่อ (柳如是 ค.ศ. 1618-1664) บ้างว่าเป็นชาวเจียงซู (江蘇) บ้างว่าเป็นชาวเจ้อเจียง (浙江) เป็นคณิกาปลายสมัยราชวงศ์ชิงต้นราชวงศ์หมิง เกิดในครอบครัวยากจน ตอนเด็กจึงถูกขายให้เป็นเด็กรับใช้ แต่เนื่องด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับความสามารถด้านการประพันธ์ โตมาจึงคบหากับกวี มีความสัมพันธ์กับกวีหลากหลายคน

—–โสเภณีมีบทบาทอยู่ในทุกยุคทุกสมัยของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะให้บริการอย่างเปิดเผยหรือต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่ถึงกระนั้นโสเภณีก็ไม่เคยหายไปจากโลก ยังคงเป็นอาชีพที่ยืนยงยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์