—–ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก[1] (東周) หรือยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว (春秋戰國 770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) แผ่นดินจีนเกิดความขัดแย้งและแตกแยกออกเป็นแว่นแคว้นน้อยใหญ่จำนวนมาก สังคมจีนในเวลานั้นกำลังพัฒนาจากยุคการปกครองแบบระบบทาส เข้าสู่ยุคการปกครองแบบระบอบศักดินา ยุคนั้นจึงถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมอันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย

—–แต่ยุคแห่งความแตกแยกนี้กลับเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิด จึงมีนักคิด นักปรัชญา และสำนักความคิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมายภายใต้บรรยากาศของสังคมที่มีอิสระทางความคิด ต่างฝ่ายต่างเสนอและเผยแพร่แนวคิดของตน ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์แนวปรัชญาซึ่งกันและกัน เพื่อหาทางออกให้แก่สังคมและยุติความวุ่นวาย นักประวัติศาสตร์จีนเปรียบเทียบบรรยากาศทางสังคมในยุคนั้นว่า ‘ร้อยบุปผาบานสะพรั่ง ร้อยสำนักประชันกัน’ (百花齊放 百家爭鳴) โดยเปรียบแนวคิดของหลักปรัชญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้เหมือนกับดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์เบ่งบานแข่งความงามกัน และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ถกกันถึงทฤษฎีปรัชญาต่างๆ ก็เหมือนดั่งเหล่าวิหคที่แข่งกันประชันเสียง

—–ปรัชญาทางการเมืองถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดนโยบายการปกครองของแว่นแคว้นต่างๆ เนื่องจากผู้ครองแคว้นทั้งหลายต่างให้ความสำคัญและแสดงท่าทีขอคำชี้แนะไปยังนักปราชญ์เอง จึงเป็นอีกมูลเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดแนวคิดปรัชญาทางการเมืองขึ้นมากมายในยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว

 

ขงจื่อ

—–ถึงแม้จะรับฟังความคิดเห็นอันหลากหลายจากปวงปราชญ์ แต่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการตัดสินใจของผู้ครองแคว้น ซึ่งมีหน้าที่บริหารปกครองบ้านเมือง และต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการใช้นโยบายนั้นๆ ดังเช่นกรณีหลักปรัชญาหรู (儒) ของขงจื่อ (孔子 551-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่มีอิทธิพลในแผ่นดินจีนอย่างกว้างขวางจนทุกถึงวันนี้ แต่กระนั้นคำสอนของขงจื่อก็มีทั้งคนยกย่องให้การยอมรับและมีคนคัดค้านไม่เห็นด้วย ดังเช่นบันทึกในคัมภีร์หลุนอวี่[2] (論語) ว่า วันหนึ่ง ฉีจิ่งกง (齊景公) ผู้ครองแคว้นฉีซักถามประเด็นการปกครองบ้านเมืองไปยังขงจื่อ ขงจื่อจึงทูลตอบว่า ‘ผู้ปกครองเป็นผู้ปกครอง ขุนนางเป็นขุนนาง บิดาเป็นบิดา บุตรเป็นบุตร’ (君君,臣臣,父父,子子) กล่าวคือ สอนให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง นับเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้เกิดสังคมอุดมคติ ฉีจิ่งกงเห็นชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็นว่าหลักคิดที่เน้นแนวทางจริยศาสตร์ของขงจื่อน่าจะใช้เยียวยาสังคมที่เสื่อมโทรมได้

คัมภีร์หลุนอวี่

—–แต่กระนั้น ฉีจิ่งกงก็ไม่ได้นำแนวคิดของขงจื่อไปปฏิบัติ เนื่องจากความปรารถนาที่จะแต่งตั้งขงจื่อให้ดำรงตำแหน่งขุนนางในแคว้นฉี สร้างความไม่พอใจให้เหล่าขุนนางจำนวนมาก โดยผู้นำปลุกกระแสคัดค้านขงจื่อคือเยี่ยนอิง[3] (晏嬰 578-500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ขุนนางฝีปากเก่งกาจและมีความใกล้ชิดกับฉีจิ่งกง เยี่ยนอิงวิจารณ์แนวคิดของขงจื่อว่า ฟื้นฟูจารีตประเพณีตามแบบแผนของยุคโบราณ (ราชวงศ์โจว) เป็นการยึดแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบไม่พัฒนา วิธีที่มุ่งเน้นขัดเกลาคนในสังคมให้ประพฤติปฏิบัติตามจารีตประเพณีนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่แคว้นฉีได้

—–ขงจื่อไม่ชํานาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการทหาร แนวความคิดของท่านจึงไม่สามารถตอบโจทย์และไม่อาจแก้ปัญหาสังคมในยุคนั้นได้จริง

—–ขงจื่อชํานาญด้านการศึกษา ท่านเปิดสำนักการศึกษาในชุมชน เปิดเสรีทางการศึกษา รับลูกศิษย์จากสังคมทุกระดับชั้นมากถึง 3,000 คน และเผยแพร่ความรู้สู่ชนชั้นรากหญ้าตามแนวคิดของตนที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน (有教無類) เป็นการสลายระบบผูกขาดทางการศึกษาที่เดิมมีอยู่แต่ในชนชั้นสูงเท่านั้น

—–หลักแนวคิดของขงจื่อมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็น ได้แก่

1. เมตตาธรรม (仁) เป็นหลักการที่ค้ำจุนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล โดยสอนว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีจิตเมตตาและรักใคร่ปรองดองกัน ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ เพื่อนฝูง หรือผู้อื่น

2. จารีตประเพณี (禮) มุ่งเน้นการฟื้นฟูระเบียบของสังคมตามแบบแผนของราชวงศ์โจว ซึ่งส่งผลต่อบุคคลในด้านบทบาท หน้าที่ และการประพฤติตน

—–เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇 259-210 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ตี 6 รัฐจนแตกพ่าย และรวมเข้าเป็นจักรวรรดิฉิน พระองค์กุมอำนาจการปกครองจีนแบบเบ็ดเสร็จโดยยึดแนวคิดนิตินิยมเป็นหลัก ราชสำนักฉินส่งเสริมให้ทุกคนเรียนรู้กฎหมายด้วยการปลูกฝังความคิดที่ว่า ‘ใช้กฎหมายแทนการศึกษา ข้าราชการแทนครูผู้สอน’ (以法為教 以吏為師) ซึ่งเป็นวิธีที่ตรงข้ามกับแนวคิดของขงจื่อ

—–จักรพรรดิจิ๋นซีมิได้ควบคุมเพียงชีวิตราษฎร ทว่ายังควบคุมไปถึงความคิดความอ่านของผู้คน พระองค์สั่งให้ชาวบ้านเผาทำลายตำราต่างๆ ที่ไม่ใช่การบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐฉินภายใน 30 วัน มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษสถานหนัก ในช่วงเวลาระหว่างปี 213-212 ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิจิ๋นซีออกคำสั่งให้สังหารบัณฑิตสำนักหรูผู้มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับพระองค์จำนวนถึง 460 คน ด้วยวิธีการฝังดินทั้งเป็น จึงไม่แปลกที่ผู้คนมากมายต่างเฝ้ารอโอกาสก่อกบฏเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนในที่สุดราชวงศ์ฉินก็ล่มสลายด้วยฝีมือของกบฏชาวนาที่มีหลิวปัง (劉邦) เป็นผู้นำ

จักรพรรดิฮั่นเกาจู่

—–หลิวปังสถาปนาราชวงศ์ฮั่น (漢 206 ก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (漢高祖 256-195 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พระองค์ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์ฉินเป็นอย่างดี ทรงเห็นว่าจักรวรรดิฉินที่เคยมีอำนาจเกรียงไกรกลับรักษาอำนาจไว้ได้เพียง 15 ปี จักรพรรดิฮั่นเกาจู่จึงใช้เรื่องดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจและตั้งปณิธานไว้ว่า พระองค์จะปกครองแผ่นดินด้วยหลักเมตตาธรรม

—–แต่กระนั้นพระองค์ก็ต้องประสบกับความท้าทายครั้งใหญ่ กล่าวคือ การเกิดสงครามต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทั้งสงครามกบฏต่อต้านราชวงศ์ฉิน และสงครามฉู่-ฮั่น[4] (楚漢戰爭) ส่งผลให้สังคมในสมัยต้นราชวงศ์ฮั่นตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เศรษฐกิจตกต่ำ คุณภาพชีวิตย่ำแย่ จำนวนประชากรลดลงอย่างมากจนขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร พระองค์จึงใช้นโยบายผ่อนปรนภาษี ยกเลิกกฎหมายห้ามเก็บตำราหนังสือไว้ในบ้าน ส่งเสริมให้พัฒนาด้านการเกษตรควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการศึกษา สำนักการศึกษาต่างๆ จึงค่อยๆ ฟื้นฟู รวมถึงสำนักปรัชญาหรูด้วย

—–ทว่าในเวลาต่อมา จักรพรรดิฮั่นเกาจู่จัดระบบการปกครองแบบจักรพรรดิรวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง และแต่งตั้งผู้ครองแคว้นเพื่อปกครองแว่นแคว้นต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ราชสำนักฮั่นจึงต้องเผชิญกับปัญหากบฏชนชั้นสูง ซึ่งเป็นผู้ครองแคว้นต่างๆ ในท้องถิ่น แต่สุดท้ายก็สามารถปราบปรามกลุ่มกบฏอย่างราบคาบ

—–กระทั่งถึงยุคจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (漢武帝 156-87 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้เกรียงไกร พระองค์สยบกบฏ 7 แคว้น (七國之亂) ได้สำเร็จ การเผชิญกับปัญหากบฏทำให้พระองค์ตระหนักว่า ระบบการปกครองของราชสำนักฮั่นจำเป็นต้องมีหลักยึดทางความคิดที่ประชาชนให้การยอมรับ ขณะนั้นสำนักการศึกษาต่างๆ อยู่ในสภาวะกระจัดกระจาย พระองค์จึงขอคำแนะนำจากบรรดาลูกศิษย์ขงจื่อ ในบรรดาบัณฑิตลัทธิหรู ต่งจ้งซู (董仲舒) เป็นผู้เสนอให้ใช้หลักปรัชญาขงจื่อ เนื่องจากเป็นแนวความคิดที่เน้นการพัฒนาจริยธรรม และเป็นแนวคิดที่สนับสนุนความจงรักภักดี จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงเห็นชอบในข้อเสนอดังกล่าว จึงรับสั่งให้ใช้หลักแนวคิดของลัทธิหรูเป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือกข้าราชการ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ลัทธิหรูก็ได้รับการยกย่องเชิดชูมาโดยตลอด ส่งผลต่อการจัดระเบียบสังคมชาวจีนในแต่ละยุคสมัย จนลัทธิหรูซึมซับเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของประชาชนชาวจีนมาเป็นเวลานานกว่า 2,500 ปี

 

[1] ราชวงศ์โจว (周 1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) แบ่งได้เป็นสองช่วงเวลาคือ ราชวงศ์โจวตะวันตก (西周 1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และราชวงศ์โจวตะวันออก (東周 770-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) สำหรับราชวงศ์โจวตะวันออกนั้นคนไทยมักรู้จักในชื่อยุคชุนชิว (春秋 770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และยุคจั้นกั๋ว (戰國 476-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

[2] หลุนอวี่ คือ ประมวลคำสอนของขงจื่อ เรียบเรียงโดยบรรดาลูกศิษย์ของขงจื่อ

[3] เยี่ยนอิง เป็นนักคิด นักบริหารในยุคชุนชิว มีความสามารถในการเจรจาทางการทูตเป็นเลิศ มักแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับขงจื่อ ซึ่งนักปราชญ์ทั้งสองถือเป็นคู่ปรับแห่งยุค

[4] สงครามฉู่-ฮั่น คือ ศึกแย่งชิงอำนาจการปกครองแผ่นดินจีนระหว่างเซี่ยงอวี่ (項羽) กับหลิวปัง กินเวลากว่า 4 ปี จบลงด้วยการได้รับชัยชนะของหลิวปังและการฆ่าตัวตายของเซี่ยงอวี่

[5] ตามบันทึกโบราณเล่าไว้ว่าเผิงจู่เป็นลื่อของจวนซวี (顓頊) กษัตริย์ในยุคตำนานของจีน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบำรุงสุขภาพตามตำนานพื้นบ้าน เชื่อกันว่ามีอายุยืนยาวถึง 800 ปี จึงเป็นที่สักการะในฐานะเทพเจ้าแห่งความมีอายุยืน คือ เทพเจ้า ‘ซิ่ว’ ในกลุ่มเทพมงคล ‘ฮก ลก ซิ่ว’ (福祿壽) ของชาวจีน

 

เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์