—–จากประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานกว่า 5,000 ปีนั้น ในสังคมจีนมีความเชื่อกันว่า การได้ลูกผู้หญิงถือว่าขาดทุน เพราะเมื่อโตขึ้นก็ต้องแต่งงานออกจากบ้านไปเป็นสมบัติของครอบครัวสามี ผู้หญิงจีนจึงไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญให้เห็นนัก แม้แต่ชื่อเสียงเรียงนามก็ยังไม่ปรากฏ ทว่าตลอดช่วงเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ก็ได้บอกเล่าเรื่องราวของอิสตรีที่ทรงอิทธิพลในแต่ละยุคแต่ละสมัย ทั้งที่เป็นเพียงสามัญชนธรรมดาไปจนถึงชนชั้นสูงสุดอย่างจักรพรรดินี สตรีนางหนึ่งซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์จีนอย่างมากก็คือ ฟู่ห่าว (妇好ปีเกิดไม่ชัดเจน-1200 ปีก่อนคริสต์ศักราช) วีรสตรีแห่งราชวงศ์ซาง (商 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

—–ฟู่ห่าวเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงและได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี พระนางเป็นหนึ่งในภรรยากว่า 60 คนของพระเจ้าอู่ติง[1](武丁 ปีเกิดไม่ชัดเจน – 1192 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และเป็นคนที่ทรงรักมากที่สุด พระนางมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ราชวงศ์ซางเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และเป็นราชวงศ์ที่มีการย้ายถิ่นฐานบ่อยที่สุด จนกระทั่งสุดท้ายได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณยินซวี[2](殷墟) ปัจจุบันคือ เมืองอันหยาง (安阳) มณฑลเหอหนาน (河南) ราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์แรกที่มีการค้นพบหลักฐานบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรค่อนข้างสมบูรณ์ อีกทั้งการขุดค้นพบสุสานของพระนางก็เพิ่มเติมข้อมูลสำคัญทางด้านโบราณคดีให้มากขึ้นด้วย

—–ตามข้อมูลบนกระดูกสัตว์ที่ขุดค้นได้จากแหล่งโบราณสถานยินซวีบริเวณหมู่บ้านเสี่ยวถุน (小屯村) 10,000 กว่าชิ้นนั้น ปรากฏชื่อของพระนางอยู่กว่า 200 ชิ้น บอกเล่าเกี่ยวกับพระนางว่าทรงเป็นนักการทหารผู้เก่งกาจแห่งราชสำนัก ดังเห็นได้จากบันทึกเรื่องการออกรบครั้งแรกของพระนาง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่พระเจ้าอู่ติงทรงทำศึกสงครามกับข้าศึกทางทิศเหนือ พระนางทรงเห็นพระเจ้าอู่ติงทุกข์ใจเป็นอย่างมากจึงขออาสานำทัพไปตีข้าศึก จนกระทั่งได้รับชัยชนะกลับมา และจากการออกรบครั้งนี้ทำให้พระนางได้รับพระบัญชาให้เป็นผู้นำทัพออกสู้รบอยู่เป็นประจำ พระนางทรงช่วยปราบปรามความวุ่นวายอันเกิดจากสงครามภายในและจากแคว้นต่างๆ กว่า 30 แคว้น เช่น แคว้นถู่ (土方) ทางตอนเหนือ แคว้นปา (巴方) และแคว้นอี๋ (夷方) ทางตอนใต้

บันทึกเกี่ยวกับการปราบแคว้นปาบนกระดูกสัตว์

—–ยังมีหลักฐานบันทึกว่า พระนางเป็นผู้บัญชาการทหารกว่า 13,000 นาย เพื่อขับไล่กองทัพแคว้นเชียง (羌方) ให้ออกไปจากดินแดนของซางอย่างองอาจห้าวหาญและไม่มีผู้ใดสามารถต่อกรได้ พระนางจึงมีชื่อเสียงในฐานะนักรบเทียบเท่ากับนักรบชายเลยทีเดียว ทรงเป็นแม่ทัพหญิงพระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีนที่นำทัพออกรบจนได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งยังช่วยพระสวามีบุกเบิกและพัฒนาดินแดนแห่งราชวงศ์ซางให้เจริญก้าวหน้าและสงบสุข

—–นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งโหรหลวง ทำนายโชคชะตาของชาติบ้านเมือง และเป็นผู้ดำเนินการจัดพิธีกรรมใหญ่ๆ เช่น การบวงสรวงฟ้า การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การเซ่นไหว้วิญญาณ การจัดพิธีบวงสรวงแบบนี้เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหาร รวมทั้งสร้างความสบายใจแก่ประชาชน คุณงามความดีนานัปการที่พระนางมีต่อราชวงศ์ ทำให้ทรงได้รับพระราชทานทาส ที่นาและสิ่งของอันมีค่าต่างๆ มากมาย หลังจากพระนางสิ้นพระชนม์เมื่ออายุราว 30 กว่าพรรษา พระเจ้าอู่ติงทรงจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับสร้างสุสานหลวงสำหรับพระนางขึ้นโดยเฉพาะ

พระเจ้าอู่ติง

—–หลังจากฟู่ห่าวสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอู่ติงได้ทำพิธีหมิงฮุน (冥婚 พิธีแต่งงานหลังความตาย) ให้พระนางอภิเษกสมรสกับกษัตริย์องค์ก่อนๆแห่งราชวงศ์ซางถึง 3 พระองค์คือ เฉิงทัง (成汤  กษัตริย์องค์แรก) ไท่เจี่ย (太甲 กษัตริย์องค์ที่ 5) จู่อี่ (祖乙 กษัตริย์องค์ที่ 14) และสาเหตุที่เลือก 3 พระองค์นี้เนื่องจาก 1. พระนางทรงมีคุณูปการโดดเด่น จึงจัดงานแต่งงานกับกษัตริย์องค์ก่อน 2. ในสมัยราชวงศ์ซางมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาและชะตาฟ้าลิขิต อีกทั้งยังเชื่อว่า บรรพบุรุษและเทพเจ้าเป็นผู้ชี้ชะตากรรมของมนุษย์ นอกจากนี้การแต่งงานกับกษัตริย์ผู้มีคุณธรรมจะช่วยปกป้องคุ้มครองมเหสีอันเป็นที่รักในยมโลก และจะปกป้องคุ้มครองตนเองให้ปกครองบ้านเมืองได้อย่างราบรื่นและสงบสุขในโลกมนุษย์

 

สุสานของพระนาง
—–สุสานของฟู่ห่าวตั้งอยู่ภายในศาลบรรพบุรุษของราชสำนักบริเวณแหล่งโบราณสถานยินซวี ซึ่งนับเป็นการขุดค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นสุสานเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ซางที่สมบูรณ์เพียงแห่งเดียวนับตั้งแต่มีการขุดค้นโบราณสถานบริเวณนี้ สุสานแห่งนี้ยาว 5.6 เมตร กว้าง 4 เมตร และสูงราว 8 เมตร หลังการขุดค้นภายในสุสานของพระนางพบโครงกระดูกมนุษย์ 16 โครง (อันเป็นบุคคลที่ถูกฝังทั้งเป็นพร้อมผู้ตายเพื่อไปเป็นข้ารับใช้ในปรโลก) นอกจากนี้ยังมีการค้นพบวัตถุโบราณ 1,928 ชิ้น ได้แก่ เครื่องมือประกอบพิธีกรรมจำพวกสำริดที่พระนางเคยใช้สมัยมีพระชนม์ชีพอยู่ ของใช้จำพวกหยก และอาวุธจำพวกสำริดจำนวนมาก อีกทั้งยังมีอาวุธประจำตัวของพระนางอยู่ด้วย เช่น เย่ว์ (钺อาวุธโบราณลักษณะคล้ายขวาน) พร้อมด้ามไม้ มีน้ำหนักถึง 10 กิโลกรัม เป็นอาวุธที่มีการแกะสลักลวดลายอย่างงดงามและขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยราชวงศ์ซางซึ่งขุดค้นพบในปัจจุบัน และแหวนหยกที่ทรงใช้สวมหัวแม่มือขณะยิงธนู เป็นแหวนหยกชิ้นแรกที่มีการขุดค้นพบในทางโบราณคดีและเป็นชิ้นใหญ่สุดที่ขุดค้นพบในสมัยราชวงศ์ซางและโจว การขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ นี้ทำให้นักโบราณคดีสามารถสันนิษฐานได้ว่า พระนางมีความสูงราว 175 เซนติเมตร นับว่าสูงใหญ่กว่าผู้หญิงทั่วไป อีกทั้งยังบ่งบอกถึงค่านิยมในการชื่นชอบสิ่งของที่แกะสลักจากหยกของชนชั้นสูงในสมัยนั้น ดังจะเห็นได้จากของใช้จำพวกหยกกว่า 755 ชิ้นภายในสุสาน

ขวาน 2 คมของและแหวนหยกของฟู่ห่าว

———————————————

[1] พระเจ้าอู่ติง (武丁) เป็นกษัตริย์องค์ที่ 23 แห่งราชวงศ์ซาง ซึ่งครองราชย์ยาวนานถึง 59 ปี เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ปฏิรูปการปกครองประเทศจากสภาวะตกต่ำให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง เรียกว่า “ยุคสมัยอันรุ่งเรืองของพระเจ้าอู่ติง
(武丁盛世)

[2] ยินซวี (殷墟) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอันหยาง เป็นทั้งเขตพระราชวัง ศาลบรรพบุรุษ และเมืองหลวงในสมัยปลายราชวงศ์ซาง เป็นแหล่งโบราณสถานซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบได้เป็นแห่งแรกของประเทศจีน ปัจจุบันเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวระดับ 4A

 

ผู้เขียน ศิริพร เซียนพานิช