—–ความคิดเรื่องการบำรุงรักษาชีวิตอยู่คู่กับสังคมจีนมาช้านาน ได้รับความสนใจจากกลุ่มชนต่างๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านระดับรากหญ้าหรือชนชั้นสูงในทุกวงการ กอปรกับได้รับอิทธิพลจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาหลายพันปี จนได้พัฒนาขึ้นเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีองค์ประกอบซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน เรียกว่า ‘ศาสตร์แห่งการบำรุงรักษาชีวิต’ (養生學)

—–ศาสตร์แห่งการบำรุงรักษาชีวิตของชาวจีนยึดหลักการแพทย์แผนโบราณของจีน โดยเน้นว่ามีพลังงาน 3 ประเภทเกี่ยวข้องกับการทำงานของร่างกายและชีวิตมนุษย์อย่างแนบแน่น ซึ่งจำเป็นต้องบำรุงรักษาไว้ให้ดี ประเภทแรก คือ ‘จิง’ (養精 บำรุงรักษาพลังชีวิต) ประเภทที่ 2 คือ ‘ชี่’ (養氣 บำรุงรักษาพลังลมปราณ) และประเภทที่ 3 คือ ‘เสิน’ (養神 บำรุงรักษาพลังสมองหรือพลังระบบประสาท) พลังทั้ง 3 ทำงานประสานกันและต่างเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งบอกว่าสุขภาพร่างกายและคุณภาพชีวิตดีหรือแย่อย่างไร กล่าวคือ เมื่อพลังทั้ง 3 อยู่ในภาวะที่ดีและสมบูรณ์จะส่งผลให้ร่างกายมนุษย์อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมทำงานเต็มที่

—–สำหรับ  ‘จิง’ ‘ชี่’ และ ‘เสิน’ ตามหลักการแพทย์แผนโบราณของจีนให้คำนิยามเพิ่มเติมว่า ‘จิง’ คือ สารประเภทน้ำอสุจิ เลือด รวมถึงของเหลวในร่างกายทั้งหมด เป็นแหล่งที่มาของการสืบพันธุ์และภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ส่งเสริมให้ร่างกายเจริญเติบโตและทำให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้ จึงถือเป็นสุดยอดพลังแห่งชีวิต

—–ส่วน ‘ชี่’ คืออากาศ รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย มีขนาดเล็กจิ๋วไหลเวียนไปทั่วร่าง อีกทั้งยังเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารต่างๆ ‘ชี่’ จึงถือเป็นพลังขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ทางร่างกาย เช่น การหายใจเข้าออก การสันดาป การดูดซึมสารอาหาร การหมุนเวียนของโลหิต การลำเลียงสารคัดหลั่ง การสร้างความอบอุ่น ฯลฯ เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

—–สำหรับ ‘เสิน’ ถือเป็นพลังดั้งเดิมที่ได้จากกระบวนการปฏิสนธิ  ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด สติการรับรู้ ฯลฯ แพทย์แผนจีนเชื่อกันว่า ‘จิง’ ‘ชี่’ และ ‘เสิน’ ทำงานแบบส่งเสริมซึ่งกันและกัน หากพลังทั้ง 3 อยู่ในภาวะอ่อนแอหรือเสื่อมสภาพถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังมีโรคภัยไข้เจ็บหรืออยู่ในวัยชรา และเมื่อใดที่สูญสิ้นพลังดังกล่าว ชีวิตมนุษย์ก็จะดับสิ้นลงในที่สุด

—–แพทย์แผนจีนจึงให้ความสำคัญแก่การบำรุงรักษา ‘จิง’ ‘ชี่’ และ ‘เสิน’ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะบกพร่องด้วยกรรมวิธีที่ครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่

  1. 神養 คือ การบำรุงรักษาชีวิตด้วยการดูแลรักษาพลังสมองหรือพลังระบบประสาท
  2. 行爲養 คือ การบำรุงรักษาชีวิตด้วยการดูแลพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ถูกทาง
  3. 氣養 คือ การบำรุงรักษาชีวิตด้วยการดูแลด้านลมปราณเพื่อเสริมสร้างพลังภายใน
  4. 形養 คือ การบำรุงรักษาชีวิตด้วยการฝึกฝนทางกายภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกาย เช่น ออกกำลังกาย ฝึกกังฟู เป็นต้น
  5. 食養 คือ การบำรุงรักษาชีวิตด้วยการดูแลอาหารการกินด้านโภชนาการ ทั้งปริมาณและคุณภาพ
  6. 藥養 คือ การบำรุงรักษาชีวิตด้วยการรับประทานยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย
  7. 術養 คือ การบำรุงรักษาชีวิตด้วยการบำบัดรักษาทางแพทย์แผนจีน เช่น ฝังเข็ม (針灸) ครอบแก้ว (拔罐) นวดกดจุด (推拿) เป็นต้น

—–สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ สังคมจีนมุ่งเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกและบ่มเพาะสุขนิสัยที่ดีในด้านการบำรุงสุขภาพร่างกายและการดูแลคุณภาพชีวิตให้แก่ลูกหลานตั้งแต่เยาว์วัย ครอบคลุมทุกด้านทั้งการกินการอยู่และการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำรงชีวิตตลอดจนรู้จักรักและถนอมชีวิตของตน

—–นอกจากการบำรุงรักษาชีวิตในมุมมองทางแพทย์แผนจีนแล้ว บรรดานักปราชญ์ต่างก็เน้นย้ำในเรื่องการบำรุงรักษาจิตใจ ตัวอย่างเช่น ลัทธิหรู (儒) ลัทธิเต๋า (道) และพุทธศาสนา (釋) ซึ่งนักปราชญ์หลายสำนักต่างพากันประชันภูมิปัญญาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับหนทางการมีอายุวัฒนะ ซึ่งสรุปประเด็นหลักๆ ได้ 3 แนวคิด ได้แก่

  1. แนวคิดของลัทธิหรู : เน้นบำรุงรักษาชีวิตด้วยคุณธรรม (仁者壽)

—–ขงจื่อ (孔子 551-478 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ปราชญ์คนสำคัญผู้เป็นปฐมปรมาจารย์แห่งลัทธิหรูเคยกล่าวไว้ว่า “ผู้มีคุณธรรมย่อมมีอายุยืนยาว”

—–ในคัมภีร์ทางสายกลางหรือคัมภีร์จงยง《中庸》กล่าวถึงการมีคุณธรรมว่า “ผู้มีคุณธรรมอันสูงส่ง เขาผู้นั้นย่อมได้รับสถานะที่คู่ควร ยศศักดิ์ ชื่อเสียง และชีวิตที่ยืนยาว” จะเห็นได้ว่าผู้มีคุณธรรมจะมีชีวิตที่ยืนยาวและชักนำสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต

—–นอกจากนี้ ต่งจ้งซู (董仲舒 179-104 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักคิดสำนักหรูผู้โด่งดังแห่งยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ.25) เคยกล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมกับอายุวัฒนะในหนังสือชุนชิวฝานลู่《春秋繁露》มีใจความว่า “เหตุที่ผู้มีคุณธรรมมีอายุยืนยาว เพราะไม่กระทำทุจริตและรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ภายในจิตใจ ไร้ซึ่งความละโมบต่อสิ่งต่างๆ จิตใจที่สงบและยึดหลักทางสายกลางจะเปิดรับสิ่งดีๆ จากฟ้าดินมาบำรุงร่างกายและจิตใจจนมีชีวิตยืนยาว”

—–ลัทธิหรูเน้นว่าคุณธรรมเป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีคุณธรรม จิตใจก็จะเป็นสุขและส่งผลให้มีชีวิตยืนยาว

  1. แนวคิดของลัทธิเต๋า : เน้นบำรุงรักษาชีวิตด้วยการดำเนินตามวิถีธรรมชาติ (道法自然)

—–ลัทธิเต๋าเน้นเรื่องการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยมองว่ามนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน (天人合一) คนเราเกิดมาจากธรรมชาติ เมื่อตายก็กลับคืนสู่ธรรมชาติ วิถีแห่งธรรมชาติจึงเป็นแนวทางดำเนินชีวิตของมนุษย์

—–เหลาจื่อ (老子 571–471 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ปราชญ์คนสำคัญผู้เป็นบิดาแห่งลัทธิเต๋ามุ่งสอนให้มนุษย์ลดอัตตาละกิเลส และรักษาพลังงานชีวิตของตนอันได้มาจากธรรมชาติแต่กำเนิด เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงพร้อมด้วยจิตใจที่เบิกบาน คำสอนดังกล่าวปรากฏในหนังสือไท่ซ่างเหล่าจวินหย่างเซิงเจวี๋ย《太上老君養生訣》มีใจความว่าผู้ที่สามารถบำรุงรักษาชีวิตได้ดี ก่อนอื่นต้องขจัดภัยร้ายทั้ง 6 ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงจะรักษาชีวิตให้ยืนยาวถึงร้อยปีได้ สิ่งเหล่านั้นได้แก่ 1.ไม่ยินดีในลาภยศสรรเสริญ 2.งดเว้นกามกิเลส 3.ลดความลุ่มหลงในวัตถุ 4.ไม่ยึดติดในรสสัมผัส 5.ขจัดความคิดเพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน 6.ขจัดความอิจฉาริษยา

—–ในบทหย่างเซิงจู่ของคัมภีร์จวงจื่อ 《莊子•養生主》 บันทึกไว้ว่า “ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน และดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ” (安時而處順) นับเป็นการชี้ทางให้มนุษย์เข้าใจถึงสัจธรรมแห่งชีวิต โดยเน้นให้เห็นว่าธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แห่งกาลเวลาซึ่งครอบคลุมถึงความเป็นไปของสรรพสิ่ง เมื่อมนุษย์ไม่อาจฝ่าฝืนจึงควรปฏิบัติตัวตามครรลอง จะได้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและพบกับความสุข

—–อาจกล่าวได้ว่า ลัทธิเต๋ามีความคิดแบบองค์รวมคือทุกสิ่งในธรรมชาติรวมถึงชีวิตมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจต่างสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น มนุษย์ต้องหมั่นบำรุงรักษาชีวิตด้วยการทะนุถนอมพลังงานดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ

  1. แนวคิดของพุทธศาสนา : เน้นบำรุงรักษาชีวิตด้วยการรักษาจิตใจให้เป็นปกติ (平常心)

—–พุทธศาสนามุ่งเน้นความสงบทางใจ กล่าวคือ มนุษย์ควรรักษาความสมดุลทางจิตใจให้เป็นปกติ โดยเริ่มจากทำความเข้าใจกับความเป็นไปของสรรพสิ่งบนโลกและจบด้วยการให้อภัย ขจัดโลภะ โมหะ และโทสะที่คอยเกาะกินจิตใจ รู้จักการปล่อยวางและทำใจเปิดกว้าง ไม่ยึดติดกับลาภยศสรรเสริญ ไม่จมอยู่กับความพ่ายแพ้ผิดหวังในอดีต และไม่ฟุ้งซ่านเป็นกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงดังคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า “ได้รับการชื่นชมหรือถูกเหยียดหยามจงอย่าตื่นตระหนก ได้มาหรือเสียไปจงอย่าครุ่นคิดกังวล จงใช้ความสงบสยบเสียงนินทาว่าร้าย เปลี่ยนสิ่งเลวร้ายเป็นบุญวาสนา”

—–จากคำสอนดังกล่าวบอกเป็นนัยให้มนุษย์มองสิ่งต่างๆ เป็นสัจธรรมของชีวิต สุขทุกข์เป็นของคู่กันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็ต้องดับสูญไป ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ถาวรโดยไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อมนุษย์มีจิตใจที่สมดุลเป็นปกติก็เท่ากับมีจิตใจที่สะอาด สว่าง และสงบ ทำให้พบกับความสุขที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต และส่งผลให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงตลอดจนมีอายุยืนยาว

—–กล่าวโดยสรุป การบำรุงรักษาชีวิตแบบจีนนำเอาการรักษาสุขภาพร่างกายกับการดูแลจิตใจหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่โบราณกาล เพื่อให้มนุษย์มีสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตที่เบิกบานกระทั่งนำไปสู่การมีอายุวัฒนะสมดังที่มุ่งหวัง

เรื่องโดย พงศ์ศิษฏ์ อุดหนุนสมบัติ