—–ของขวัญเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษามอบให้แก่กันเพื่อแสดงออกถึงการอวยพรหรือมิตรภาพในโอกาสต่างๆ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ‘ของขวัญ’ ไว้ว่า
- สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้ว
- สิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด
—–ส่วนพจนานุกรมภาษาจีนปัจจุบัน (現代漢語詞典) นิยามคำว่า ‘禮物’ (ของขวัญ) ไว้ว่า สิ่งของที่มอบให้เพื่อแสดงความเคารพหรือเฉลิมฉลองแสดงความยินดี (為了表示尊敬或慶賀而贈送的物品)
—–ประเทศจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปีก็มีวัฒนธรรมการให้ของขวัญเช่นกัน ของขวัญถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง คนจีนมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เน้นเรื่องมารยาทและมีพิธีรีตองอันโดดเด่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ คัมภีร์ ‘หลี่จี้ บทชวีหลี่’ 《禮記·曲禮》 บันทึกเรื่องมารยาทไว้ โดยบรรยายว่ามนุษย์ควรเน้นเรื่องมารยาท หากอีกฝ่ายมีมารยาทต่อเรา เราก็ต้องมีมารยาทตอบแทน (禮尚往來)
—–อักษร ‘หลี่’ (禮) ในอักษรกระดองเต่า (甲骨文) ประกอบด้วยส่วนประกอบคือหยกและถั่ว ซึ่งเป็นของมีค่าของคนจีนโบราณที่เอาไว้เซ่นไหว้เทพเจ้าเพื่อขอพร (事神至福) ต่อมาความหมายคลี่คลายเป็น ‘บรรทัดฐานของการกระทำ’ (行為規範)
—–การให้ของขวัญเกิดขึ้นและดำรงอยู่ควบคู่กับขนบธรรมเนียมในสังคมจีน คนจีนเซ่นไหว้ภูติผีวิญญาณหรือเทพเจ้าด้วยความนอบน้อม ขณะเดียวกันก็มีของเซ่นไหว้มาถวาย ซึ่งต้องเป็นของดีมีคุณค่าจริงๆ เช่น เนื้อสัตว์อย่างวัวหรือแพะ
ภาพการเซ่นไหว้ในจิตรกรรมฝาผนัง
—–ต่อมาคำว่า ‘หลี่’ (禮) เริ่มกินความถึงสิ่งของที่เป็นขวัญด้วย จึงมีการเรียกของขวัญว่า ‘หลี่อู้’ (禮物) คำว่า ‘หลี่อู้’ ประกอบด้วยตัวอักษร 2 ตัว คือ 1. ‘หลี่’ (禮) หมายถึง พิธี มารยาท รวมทั้งแนวคิดเรื่องคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู 2. ‘อู้’ (物) หมายถึง สิ่งของ
—–ในยุคโบราณ ชนเผ่าหรือรัฐต่างๆ ต้องส่งมอบบรรณาการให้แก่ฮ่องเต้ เช่น อาหาร ข้าทาส ฯลฯ เพื่อแสดงว่าตนยอมรับการปกป้องจากผู้ปกครอง มีบันทึกประวัติศาสตร์ว่าบางเผ่าไม่ส่งมอบบรรณาการ ส่งมอบไม่ทัน หรือผู้รับไม่พอใจบรรณาการ จึงเกิดศึกสงครามขึ้นภายหลัง เช่น สมัยชุนชิว (春秋 770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) รัฐฉู่ (楚国) ไม่ได้ส่งมอบหญ้าเหมาเฉ่า (茅草) หนึ่งคันรถไปให้จักรพรรดิโจว (周天子) จึงเกิดศึกสงครามครั้งใหญ่ขึ้นที่จงหยวน (中原)
—–ค่านิยมเกี่ยวกับของขวัญผันแปรไปในแต่ละยุคสมัย ของขวัญที่นิยมในราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ได้แก่หนังสือจำพวกตำราโบราณที่ให้ข้อคิด เช่น ‘หงหมิงจี๋’ 《弘明集》 ‘หัวเหยียนจิง’ 《華嚴經》 ‘จงเฟิงกว่างลู่’ 《中峰廣錄》 ‘เหยียนซื่อเจียซวิ่น’ 《顏氏家訓》 ‘เต๋อซื่อลู่’ 《得士錄》 ฯลฯ ของใช้ เช่น พัด จานฝนหมึก ตลับไม้ไผ่ กาน้ำชา แจกัน ฯลฯ ของกิน เช่น ใบชา เกาลัด กระจับ แตงโม ส้มมือ ฯลฯ
พัดเขียนบทกวี
—–ในยุคหมิงนี้เมื่อเพื่อนสนิทส่งจดหมาย โดยทั่วไปมักแนบของขวัญชิ้นเล็กๆ มาด้วย เช่น พัด หนังสือ คัมภีร์ ผ้าทอประจำถิ่น หรือของกระจุกกระจิกอื่นๆ เพื่อแสดงถึงมิตรภาพ แต่ของเหล่านี้จะต้องไม่หนักเกินไปจนเป็นภาระแก่คนส่ง ในบรรดาของขวัญทั้งหมด พัดเป็นของขวัญที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ส่วนใหญ่ปัญญาชนมักเขียนบทกวีลงในพัดหรือภาพวาดแล้วมอบให้กันเป็นของขวัญ
ของขวัญในหน้าประวัติศาสตร์จีน
—–บันทึกประวัติศาสตร์จีนมักบรรยายเหตุการณ์ที่กษัตริย์พระราชทานเงินให้ขุนนางหรือเจ้าครองแคว้น นอกจากนี้อาวุธ เครื่องมือ หรือแม้แต่ม้าซึ่งเป็นสัตว์ที่มีคุณประโยชน์ก็มักมอบเป็นของขวัญให้แก่กัน เช่น ม้าเซ็กเธาว์ (赤兔) ซึ่งเป็นม้าที่โจโฉ (曹操) มอบให้กวนอู (關羽) และม้าเต๊กเลา (的盧) ซึ่งเป็นม้าที่เล่าเปียว (劉表) มอบให้เล่าปี่ (劉備)
กวนอูขี่ม้าเซ็กเธาว์ที่ได้รับเป็นของขวัญ
—–ยังมีของขวัญอีกชนิดซึ่งถือเป็นของขวัญล้ำค่าในสมัยโบราณคือ ‘มนุษย์’ ตัวอย่างได้แก่ฟ่านหลี่ (范蠡 536-448 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เคยถวายไซซี (西施 ปีเกิดและปีตายไม่แน่ชัด) หนึ่งในสี่ยอดหญิงงามของจีนเป็นของขวัญแด่พระเจ้าอู๋ฟูไช (吴王夫差 ราว 528-473 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นอกจากนี้อ้องอุ้น (王允 ค.ศ. 137-192) ก็เคยมอบเตียวเสี้ยน (貂蟬 ปีเกิดและปีตายไม่แน่ชัด) หนึ่งในสี่ยอดหญิงงามอีกคนเป็นของขวัญให้ตั๋งโต๊ะ (董卓 ปีเกิดไม่แน่ชัด-ค.ศ. 192)
—–อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าลือกันในหน้าประวัติศาสตร์ยุคใหม่คือการมอบปืนเป็นของขวัญวันแต่งงาน วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1915 ซุนยัตเซ็น (孫中山 ค.ศ. 1866-1925) แต่งงานกับซ่งชิ่งหลิง (宋慶齡 ค.ศ. 1893-1981) ในงานแต่งงานเล็กๆ ที่จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ซุนยัตเซ็นมอบปืนสั้นเป็นของขวัญแต่งงานให้แก่ซ่งชิ่งหลิง พร้อมกับกล่าวว่า “ปืนกระบอกนี้มีกระสุน 20 นัด เตรียมไว้ให้ศัตรู 19 นัด ส่วนอีก 1 นัดเตรียมให้ตัวเองเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน…” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นรอบตัวของซุนยัตเซ็นอยู่ในภาวะล่อแหลม
ซ่งชิ่งหลิงและซุนยัตเซ็น
—–ซ่งชิ่งหลิงเคยกล่าวว่า “ดิฉันมีความสุขมาก… สำหรับดิฉันแล้ว การแต่งงานก็เหมือนการเข้าโรงเรียน เพียงแต่ไม่มีการสอบที่น่าเบื่อ” ส่วนซุนยัตเซ็นกล่าวว่า “ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนและผู้ช่วยที่รู้ใจ ผมมีความสุขมาก” ซ่งชิ่งหลิงเก็บรักษาปืนกระบอกนี้เป็นอย่างดีชั่วชีวิตของเธอ
ความเชื่อเรื่องการมอบของขวัญ
—–สิ่งที่ต้องระวังเวลามอบของขวัญคือการแสดงออกด้วยท่าทางและภาษา ต้องสุภาพอ่อนน้อม ไม่ควรวางของขวัญไว้ใต้โต๊ะหรือในมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ยกตนหรือกล่าวทำนองว่าของขวัญที่มอบให้เป็นสิ่งล้ำค่า ไม่ควรโอ้อวดว่าเป็นของดีมีราคา แต่ควรเน้นที่ความรู้สึกแท้จริงในการมอบของขวัญ
—–สังคมจีนมีความเชื่อเรื่องสิริมงคลหรือตัวเลข ดังนั้นการเลือกของขวัญจึงต้องสอดคล้องกับความเชื่อด้วย ในภาษาจีนมีสำนวนว่า ‘เรื่องดีมาเป็นคู่’ (好事成雙) จึงนิยมให้ของขวัญเป็นเลขคู่โดยเฉพาะเลข 8
—–แม้สีขาวจะเป็นสีที่ดูบริสุทธิ์ไร้ความมัวหมอง แต่ก็สื่อถึงความโศกเศร้าและความยากจน ส่วนสีดำถูกมองว่าไม่เป็นมงคล คนจีนจึงไม่นิยมมอบของขวัญสีขาวหรือสีดำ สีที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งคือสีแดง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลและการเฉลิมฉลอง
—–นอกจากนี้คนจีนในบางท้องถิ่นจะไม่นิยมมอบนาฬิกาให้แก่ผู้สูงอายุ เพราะคำว่า ‘ซ่งจง’ (送鐘 มอบนาฬิกา) พ้องเสียงกับคำว่า ‘ซ่งจง’ (送終 ส่งสู่สัมปรายภพ) ไม่มอบสาลี่ให้คนรัก เพราะคำว่า ‘หลี’ (梨 สาลี่) พ้องเสียงกับคำว่า ‘หลี’ (離 ลาจาก) และไม่มอบร่ม ที่ออกเสียง ‘ส่าน’ (傘) เพราะเสียงใกล้เคียงกับคำว่า ‘ซ่าน’ (散 กระจาย, แยกจากกัน)
ธรรมเนียมการมอบของขวัญของชาวจีน
- การมอบของขวัญต้องพิจารณาสถานการณ์และสถานที่ หากเป็นงานเลี้ยงที่เจ้าของงานเป็นผู้หญิง ของขวัญอาจเป็นช่อดอกไม้ ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น หากเป็นเด็ก ของขวัญอาจเป็นของเล่น ลูกอม หรือลูกกวาด หากเป็นงานแต่งงาน ของขวัญอาจเป็นผลงานศิลปะ ช่อดอกไม้ หรือของใช้ต่างๆ หากเป็นวันปีใหม่หรือวันคริสต์มาส ของขวัญอาจเป็นปฏิทิน ใบชา เหล้า บุหรี่ ลูกกวาด ฯลฯ
- โดยทั่วไปนิยมมอบของขวัญให้ถึงมือผู้รับ แต่บางครั้งเมื่อไปร่วมงานแต่งงานอาจจะส่งของขวัญล่วงหน้า ซึ่งควรแนบนามบัตรหรือการ์ดอวยพรใส่ซองด้วย เขียนชื่อผู้รับบนซองแล้วติดลงบนของขวัญอีกที
—–ไม่ควรให้ของขวัญเจาะจงคนใดคนหนึ่งในกลุ่มคน เพราะผู้ที่ไม่ได้รับอาจรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
—–การมอบของขวัญคนที่สนิทสนมไม่ควรให้ในที่สาธารณะ เพื่อเลี่ยงมิให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าความสัมพันธ์เกิดจากวัตถุสิ่งของ
- หลักการเลือกของขวัญ หากผู้รับเป็นคนรวย ควรเน้นของขวัญประเภทงานศิลปะหรือของที่ประณีตมีความคิดสร้างสรรค์ หากผู้รับเป็นคนรัก ควรเน้นของขวัญที่มีความหมายทางใจให้ระลึกถึง หากผู้รับเป็นเพื่อน ควรเน้นของขวัญที่น่าสนใจ หากผู้รับเป็นผู้สูงอายุ ควรเน้นของขวัญที่ใช้งานได้จริง หากผู้รับเป็นเด็ก ควรเน้นของขวัญที่ช่วยพัฒนาทักษะและมีความแปลกใหม่ หากผู้รับเป็นชาวต่างชาติ ควรเน้นของขวัญอันมีเอกลักษณ์
—–ปัจจุบันวัฒนธรรมการให้ของขวัญของคนจีนยังคงได้รับความนิยม และปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นของขวัญแต่งงาน ของขวัญเด็กแรกเกิด ของขวัญวันเกิด ของขวัญวันแห่งความรัก ของขวัญสำหรับพ่อแม่ ฯลฯ วัฒนธรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่มอบให้แก่กันผ่านสิ่งของที่มีมูลค่าหรือมีคุณค่าทางจิตใจ
เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์