—–มนุษย์หลายยุคหลายสมัยแสวงหาวิธีเพื่อการมีชีวิตเป็นอมตะ แต่ไม่ว่าจะเกิดในชั้นวรรณะหรือวัฒนธรรมใด ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ วัฒนธรรมและความเชื่อที่หลากหลายของชาวจีนส่งผลต่อแนวคิดหรือมุมมองเรื่องชีวิตและความตาย อันแบ่งได้เป็น 3 แนวคิดหลัก ได้แก่ แนวคิดของลัทธิหรู แนวคิดของลัทธิเต๋า และแนวคิดของพุทธศาสนา
ทัศนะของลัทธิหรู ‘ศีลธรรมสำคัญกว่าชีวิต’
—–ลัทธิหรู (儒家) หรือ ลัทธิขงจื่อ เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมและพัฒนาคำสอนของขงจื่อ (孔子 551-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้เป็นนักคิด นักปรัชญา นักการศึกษา และนักรัฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่สมัยชุนชิว (春秋 770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ของจีน อันมีหลักคำสอนเรื่องมนุษยนิยม โดยเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งเชื่อว่ามนุษย์เกิดมามีคุณค่าและเพิ่มพูนคุณค่าได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตนเอง
ขงจื่อ
—–ลัทธิหรูให้ความสำคัญกับคุณค่าของชีวิตโดยถ่ายทอดทัศนคติในคัมภีร์ซั่งซู《尚書》 ซึ่งรวบรวมโดยขงจื่อ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องชีวิตที่มีคุณค่าและชีวิตที่ด้อยคุณค่า โดยแบ่งเป็นเรื่อง ‘5 วาสนา’ (五福) ได้แก่
- การมีอายุยืนยาว (壽)
- การมีทรัพย์สินเงินทอง (富)
- การมีความปลอดภัยและมีสุขภาพแข็งแรง (康寧)
- การปฏิบัติตามศีลธรรมอันดีเพื่อสั่งสมบารมี (攸好德)
- การตายอย่างสงบ (考終命)
และเรื่อง ‘6 หายนะ’ (六極) ได้แก่
- การมีอายุสั้น หรือตายก่อนวัยอันควร (兇短折)
- โรคภัยไข้เจ็บ (疾)
- ความกังวลใจ (憂)
- ความยากจนและต่ำต้อย (貧)
- ความชั่วร้าย (惡)
- การมีร่างกายอ่อนแอ (弱)
—–จะเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความตาย แนวคิดหรูมองว่าการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีอายุยืนยาว และสิ้นลมอย่างสงบเป็นเรื่องที่ดี ในทางกลับกันการตายก่อนวัยอันควรและการมีโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องที่ไม่ดี ดังนั้นเราต้องพยายามดำเนินชีวิตให้ดีที่สุดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
—–บัณฑิตหรูหลายท่านกล่าวเรื่องชีวิตเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองว่าการรักษาชีวิตและศีลธรรมเป็นเรื่องสำคัญ กล่าวคือมนุษย์เกิดมาต้องให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต ใส่ใจคุณธรรม มีความอดทน มีจิตสำนึก และพยายามต่อสู้เพื่อความสำเร็จ รวมทั้งตั้งปณิธานว่าจะเป็น ‘ยอดนักปราชญ์’ อันมีจิตใจเปี่ยมด้วยคุณธรรม โดยไม่หวั่นเกรงความตาย
ขงจื่อสอนลูกศิษย์
—–จี้ลู่ (季路 542-480 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ศิษย์ของขงจื่อเคยถามขงจื่อเรื่องภูตผีปีศาจ ขงจื่อตอบว่า “ยังไม่รู้เรื่องชีวิต แล้วจะรู้เรื่องความตายเพื่ออะไร” (未知生,焉知死?) เป็นการสื่อว่าเมื่อมีชีวิตหนึ่งวัน ก็ควรทำหน้าที่ในหนึ่งวันนั้นให้สมบูรณ์ จงใช้ความอดทนแสวงหาหลักความจริง แม้ว่าชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงจะมีข้อจำกัด แต่สามารถใช้ศีลธรรมข้ามผ่านข้อจำกัดนั้นไปได้ สะท้อนให้เห็นหลักที่ว่า “ฟ้าดำเนินไปอย่างแข็งขัน บัณฑิตเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง” (天行健,君子以自強不息。)
—–นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเมิ่งจื่อ (孟子 372-289 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เคยกล่าวไว้ว่า “คงจิตใจอันใฝ่รู้ ธำรงอุปนิสัยดั้งเดิม พร้อมรับมือลิขิตฟ้า ไม่ว่าจะอายุสั้นหรือยืนยาว จงหมั่นสั่งสมคุณธรรมและศีลธรรมแก่ตนเอง อันเป็นวิถีดำรงชีวิตอย่างสงบสุข” (存其心,養其性,所以事天也。殀壽不貳,修身以俟之,所以立命。) แสดงให้เห็นว่า แม้ชีวิตจะมีขีดจำกัด แต่จิตใจสามารถข้ามผ่านขีดจำกัดจนบรรลุถึงความสถิตสถาพรและความเป็นอมตะ สอดคล้องกับคำกล่าวเรื่อง ‘3 อมตะ’ (三不朽) อันโด่งดังว่า “สูงสุดคือสร้างคุณธรรม รองลงมาคือสร้างคุณประโยชน์ ถัดจากนั้นคือรังสรรค์ถ้อยคำ แม้เนิ่นนานก็ไม่เสื่อมสลาย นี่แหละคือความอมตะ” (太上有立德,其次有立功,其次有立言,雖久不廢,此之謂三不朽。) ความเป็นอมตะดังกล่าวหมายถึงคุณค่าที่เป็นอมตะ ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกายไม่ว่าจะเป็นหรือตาย
—–นอกจากจะเห็นพ้องในเรื่องการเพิ่มพูนคุณค่าชีวิตด้วยการหมั่นฝึกฝนตัวเองแล้ว บัณฑิตหรูยังมองเรื่องความตายในแง่มุมของความเป็นจริง โดยแสดงนานาทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องพบเจออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
—–หยางสง (揚雄 53 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 18) นักภาษาศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) เขียนไว้ในคัมภีร์ฝ่าเหยียน บทจวินจื่อ 《法言•君子》ว่า “มีเกิด ย่อมมีดับ มีเริ่มต้น ย่อมมีสิ้นสุด เป็นกฎแห่งธรรมชาติ” (有生者,必有死,有始者,必有終,自然之道也。)
—–หวังชง (王充 ค.ศ. 27-97) นัดคิดสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เขียนไว้ในคัมภีร์ลุ่นเหิง บทเต้าซวี《論衡•道虛》ว่า “มนุษย์ก็เป็นสสาร แม้มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง สถานะก็ไม่แตกต่างกับสสาร สสารทั้งปวงย่อมต้องดับไป แล้วมนุษย์จะเป็นอมตะอย่างไรได้?” (夫人,物也。雖貴為王侯,性不異於物。物無不死,人安能仙?)
—–ฟั่นเจิ่น (范縝 ค.ศ. 450-515) นักคิดสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (南北 ค.ศ. 420-589) เขียนไว้ในคัมภีร์เสินเมี่ยลุ่น《神滅論》ว่า “ร่างกายอยู่วิญญาณอยู่ ร่างกายดับวิญญาณสูญ” (形存則神存形謝則神滅)
—–จูซี (朱熹 ค.ศ. 1130-1200) นักปรัชญาลัทธิหรูสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) เขียนไว้ในคัมภีร์จูจื่ออวี่เล่ย《朱子語類》ว่า “ชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นจากการรวมตัวของลมปราณ มนุษย์ครอบครองลมปราณเหล่านี้อยู่เพียงชั่วคราว เมื่อถึงจุดจบ ดวงวิญญาณส่วนหนึ่งกลายสภาพเป็นลมปราณแล้วคืนสู่ท้องฟ้า อีกส่วนหนึ่งกลายสภาพเป็นสสารแล้วคืนสู่ผืนดิน คือการตายนั่นเอง” (人之所生,精氣聚也。人只有許多氣, 須有個盡時, 盡則魂氣歸於天, 形魄歸於地, 而死矣。) และเขียนอีกท่อนหนึ่งว่า “ตอนมนุษย์ใกล้จะตาย ลมปราณจะค่อยๆ ออกจากร่างกายจากล่างขึ้นบน อุณหภูมิร่างกายจะค่อยๆ ลดลงตามวงจรธรรมชาติ มีเกิดย่อมมีดับ มีเริ่มต้นย่อมมีสิ้นสุด” (人將死時, 熱氣上出, 所謂魂升地, 下體漸冷, 所謂魄降也。此所以有生必有死, 有始必有終也。)
—–ศาสตราจารย์หนานหวายจิ่น (南懷瑾 ค.ศ. 1918-2012) ผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิหรู เคยบรรยายลำดับการตายไว้ว่า ร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ หากมนุษย์ตายโดยธรรมชาติ จะเกิดการแตกสลายของธาตุทั้ง 4 (四大分散) เริ่มจากธาตุดินแตกสลาย (地大分散) มีอาการขาแข้งไร้ความรู้สึก ขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ ต่อมาจะรู้สึกเหมือนมีภูเขาลูกใหญ่มาทับตัวไว้ จากนั้นจะเข้าสู่การแตกสลายของธาตุน้ำ (水大分散) เริ่มมีเหงื่อเป็นเม็ดๆ ผุดขึ้นทั่วตัว รู้สึกเบลอเหมือนกำลังฝันอยู่ท่ามกลางฝนตกหนักหรือลอยอยู่ในมหาสมุทร เริ่มไม่ได้สติและไม่รู้สึกตัว จากนั้นร่างกายจะขับเสมหะ ของเหลวในสำไส้และปัสสาวะออกมา แสดงว่าไม่อาจช่วยชีวิตผู้นั้นไว้ได้แล้ว เมื่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายหมดลง นั่นหมายถึง ธาตุลมและธาตุไฟแตกสลาย (風大分散,火大分散) ช่วงเวลานั้นเขาจะรู้สึกสบาย ถือเป็นการเสียชีวิตอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างสูญสลายในทันใด
ศาสตราจารย์หนานหวายจิ่น
—–นอกจากจะมองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องพบเจอแล้ว แนวคิดหรูยังมองว่าคุณธรรมสำคัญกว่าชีวิต ดังเช่นความคิดของขงจื่อที่ได้รับการบันทึกลงในคัมภีร์หลุนอวี่ บทเว่ยหลิงกง《論語•衛靈公》ว่า “ผู้มีคุณธรรม จะไม่ทำลายคุณธรรมเพื่อแลกกับการมีชีวิต แต่จะยอมสละชีวิตเพื่อบรรลุคุณธรรม” (志士仁人,無求生以害仁,有殺身以成仁。) และในบทหลี่เหริน《里仁》ว่า “เช้าได้สัมผัสสัจธรรม คืนนั้นแม้ตายก็ยินดี” (朝聞道,夕死可矣) ขงจื่อมองว่าสิ่งสำคัญของมนุษย์คือวิถีธรรม (道) และเมตตาธรรม (仁) ซึ่งสอดคล้องกับเมิ่งจื่อที่เคยบันทึกประเด็นนี้ไว้ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ บทเก้าจื่อซั่ง《孟子•告子上》ว่า “ปลาเป็นสิ่งที่ข้าปรารถนา อุ้งตีนหมีก็เป็นสิ่งที่ข้าปรารถนา แต่หากมิอาจได้ทั้งสองสิ่งพร้อมกัน ก็จำต้องสละปลาเพื่อให้ได้อุ้งตีนหมี ชีวิตเป็นสิ่งที่ข้าปรารถนา คุณธรรมก็เป็นสิ่งที่ข้าปรารถนา แต่หากมิอาจได้ทั้งสองสิ่งพร้อมกัน ก็จำต้องสละชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณธรรม” (魚,我所欲也,熊掌,亦我所欲也,二者不可得兼,舍魚而取熊掌者也。生,亦我所欲也,義,亦我所欲也,二者不可得兼,舍生而取義者也。) และ “ชีวิตเป็นสิ่งที่ข้าต้องรักษา แต่ยังมีสิ่งที่ต้องรักษาซึ่งสำคัญกว่าชีวิต อย่าได้แต่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างไร้ค่า ความตายเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ แต่สิ่งที่เราไม่ต้องการยังมีมากกว่าความตาย ซึ่งล้วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” (生亦我所欲,所欲有甚於生者,故不為苟得也。死亦我所惡,所惡有甚於死者,故患有所不避也。) เนื้อหาดังกล่าวแฝงความหมายว่า เมื่อมนุษย์ยังมีชีวิตอยู่บนโลก ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าชีวิตคือคุณธรรม เมิ่งจื่อมองว่าหากกล่าวถึงชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สุนัข หรือแม้แต่วัว ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากต้องเลือกระหว่าง ‘ชีวิต’ และ ‘คุณธรรม’ ก็จำเป็นต้องสละชีวิตเพื่อรักษาคุณธรรม แสดงให้เห็นว่าคุณค่าของคุณธรรมสำคัญกว่าชีวิต
ซือหม่าเชียน
—–ซือหม่าเชียน (司馬遷 145-90 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น เขียนไว้ในคัมภีร์เป้าเริ่นอันซู 《報任安書》ว่า “มนุษย์ย่อมต้องตาย (ความตายของ) บางคนหนักอึ้งปานขุนเขา บางคนบางเบาราวขนนก เนื่องจากใช้ชีวิตแตกต่างกัน” (人固有一死,或重於泰山,或輕於鴻毛,用之所趨異也。)
—–ทัศนคติในเรื่องชีวิตและความตายของบัณฑิตหรูดังกล่าว ได้หยั่งรากลงในจิตใจของคนจีนซึ่งอยู่คู่กับสังคมที่เชิดชูลัทธิหรูมาช้านาน บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จำนวนมากที่ยึดมั่นใช้แนวคิดหรูในการดำเนินชีวิต ดังเช่นกวนอู (關羽 ค.ศ. 160-220) ผู้กล้าหาญที่ไม่กลัวตาย แม้ว่าจะถูกโจโฉ (曹操ค.ศ. 155-220) หว่านล้อมอย่างไรก็ไม่หลงกล มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเล่าปี่ (劉備 ค.ศ. 161-223) จนกระทั่งเสียชีวิต
—–งักฮุยหรือเยว่เฟย (岳飛 ค.ศ. 1103-1142) ผู้เป็นแม่ทัพของราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ. 1127-1279) เมื่อต้องออกไปรับใช้ชาติ มารดาได้สักกลางหลังไว้ว่า ‘จงรักภักดีตอบแทนประเทศชาติ’ (精忠報國) ขณะที่ต่อสู้กับทหารแคว้นจินจนใกล้จะได้รับชัยชนะนั้น จักรพรรดิซ่งเกาจง (宋高宗 ค.ศ. 1107-1187) หูเบาฟังคำยุยงใส่ร้ายงักฮุยของฉินฮุ่ย (秦檜 ค.ศ. 1190-1155) พระองค์จึงมีพระบัญชาให้เยว่เฟยยกทัพกลับ ด้วยอ้างว่าเยว่เฟยเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสงบศึก เยว่เฟยได้รับพระบัญชาทั้งหมด 12 ฉบับจนยอมถอดใจ แม้จะรู้ดีว่าหากกลับไปจะมีอันตราย แต่จำต้องยกทัพกลับด้วยความซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ ภายหลังเยว่เฟยถูกฉินฮุ่ยป้ายสีจนถูกประหารชีวิต
สุสานเย่ว์เฟย
—–เหวินเทียนเสียง (文天祥 ค.ศ.1236-1283) เสนาบดีสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ขายทรัพย์สินของตนเองเป็นทุนจัดตั้งกองทัพสู้กับมองโกล ภายหลังเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งใต้ถูกกองทัพมองโกลบุกโจมตีสำเร็จ และได้จับตัวเหวินเทียนเสียงไว้เป็นเชลยนานถึง 4 ปี ระหว่างนี้ให้คนมาเกลี้ยกล่อมให้ยอมสวามิภักดิ์และเข้ารับราชการกับราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ.1206-1368) แต่เหวินเทียนเสียงตอบกลับว่า “นอกจากความตายแล้ว ก็ไม่อาจทำอย่างอื่นได้อีก” (一死之外,無可為者) ท้ายที่สุดจึงถูกประหารชีวิตขณะอายุ 47 ปี
—–แนวคิดเรื่องความตายของลัทธิหรูค่อยๆ ซึมซับจนกลายเป็นแนวคิดหลักของวัฒนธรรมจีน แม้ความตายจะเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่หากยึดหลักแนวคิดหรูพร้อมกับปฏิบัติตาม ชีวิตก็จะเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าและความหมายสมกับที่ได้เกิดมา
ทัศนะของลัทธิเต๋า ‘ความเป็นความตายเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ’
—–ลัทธิเต๋า (道教) ถือกำเนิดขึ้นโดยเหลาจื่อ (老子 ราว 571-471 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของจีน หลักคำสอนของลัทธิเต๋าเน้นเรื่องการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ ด้วยกฎแห่งความสมดุลของธรรมชาติ คือ หยิน (陰) เช่น กลางคืน ผู้หญิง ความเย็น ฯลฯ และ หยาง (陽) เช่น กลางวัน ผู้ชาย ความร้อน ฯลฯ
เหลาจื่อ
—–แม้ปัจจุบันยังมีการถกเถียงในนิยามของคำว่า ‘เต๋า’ ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร แต่โดยทั่วไปให้การยอมรับว่า ‘เต๋า’ คือ วิถีธรรมชาติ โดยมีหลักในการดำเนินชีวิตคือ ให้ยอมรับธรรมชาติ ปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ โดยไม่ฝ่าฝืนกฎแห่งธรรมชาติ มิเช่นนั้นอาจเกิดเรื่องเลวร้ายตามมา เช่น ลดน้ำหนักด้วยการกินยาลดความอ้วนอาจทำให้ได้รับอันตราย ปลูกบ้านด้วยการตัดไม้ทำลายป่าอาจทำให้เกิดอุทกภัยเนื่องจากฝืนธรรมชาติ เป็นต้น
—–แนวคิดเรื่องชีวิตและความตายของลัทธิเต๋ามีอิทธิพลอย่างมากต่อความเชื่อของชาวจีน ส่วนแนวคิดเรื่อง ‘ชีวิตเกิดจากการรวมตัวของลมปราณ เมื่อลมปราณแตกสลายชีวิตก็ดับลง’ (人之生,氣之聚也;聚則為生,散則為死。จากคัมภีร์จวงจื่อ บทไว่เพียน《莊子•外篇》) นั้น ลัทธิเต๋าเชื่อใกล้เคียงกับลัทธิหรูเนื่องจากล้วนเป็นลัทธิที่เกิดขึ้นในผืนแผ่นดินจีนมาช้านาน แต่แนวคิดทั้ง 2 ก็แตกต่างกันที่มุมมองและทัศนคติ ซึ่งลัทธิเต๋ามีมุมมองว่า ชีวิตจะเกิดขึ้นหรือดับลงล้วนเป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ มนุษย์ควรปฏิบัติต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติด้วยท่าทีที่ยอมรับดุจคำสอนที่ว่า “生死氣化,順應自然。” (เกิดดับคือการเปลี่ยนแปลงของลมปราณ ยอมรับความเป็นไปตามธรรมชาติ) เช่นเดียวกับเมื่อมี ‘เข้า’ ก็ต้องมี ‘ออก’ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง《道德經》ที่ว่า “出生入死” (เกิดและดับเหมือนกับเข้าและออก) คือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น
—–เหลาจื่อสอนให้มนุษย์ยอมรับว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มาจากธรรมชาติและกลับคืนสู่ธรรมชาติเท่านั้น เหลาจื่อเชื่อว่าการมองข้ามเรื่องความเป็นความตายนี่เอง กลับเป็นวิธีการถนอมชีวิตที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับหลักการดำรงชีวิตของเต๋าที่เน้นว่า เมื่อมนุษย์มองข้ามอัตตาและกิเลสทั้งปวง กลับจะได้รับการยอมรับจากผู้อื่นมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในคัมภีร์เต้าเต๋อจิงอีกตอนหนึ่งที่ว่า “ปราชญ์วางตนอยู่หลัง จึงได้นำหน้า วางตนอยู่นอกวงจึงดำรงอยู่” (是以聖人後其身而身先,外其身而身存。) อันเป็นแนวคิดเดียวกันกับเนื้อหาอีกตอนที่ว่า
“ยามมีชีวิตอยู่อ่อนนุ่ม ตายแล้วจึงแข็งกระด้าง”
(之生也柔弱,其死也堅強。)
“พฤกษานานายามมีชีวิตอยู่อ่อนเปราะ พอตายแล้วจึงแห้งแข็ง”
(草木之生也柔脆,其死也枯槁。)
“ดังนั้นพวกแข็งกร้าวจึงเป็นพวกที่ตาย พวกที่อ่อนโยนคือพวกที่มีชีวิต”
(故堅強者死之徒,柔弱者生之徒。)
“กองทหารที่แข็งกร้าวจึงถูกทำลาย ไม้ที่แข็งแกร่งจึงหักโค่น”
(是以兵強則滅,木強則折。)
“ความแข็งแกร่งเป็นของต่ำ ความอ่อนนุ่มเป็นของสูง”
(強大處下,柔弱處上。)
—–ดังนั้นวิธีการรักษาชีวิตที่ดีที่สุดคือ “ให้อยู่ในที่ที่ผู้คนไม่ปรารถนาจะอยู่” (處眾人之所惡) การให้ความสำคัญกับร่างกายตนเองมากไปก็เป็นผลเสีย ดังเนื้อหาอีกตอนที่ว่า “ชีวิตของผู้คน (ที่) เคลื่อนไหวดิ้นรนสู่แดนมรณะ มีอยู่สามในสิบส่วน ไฉนเป็นเช่นนั้น ก็เพราะอยากมีอายุยืนยาว เสพสุขปรนเปรอสังขารจนเกินควร” (人之生,動之於死地,亦十有三。夫何故?以其生生之厚。)
—–นอกจากเหลาจื่อแล้ว จวงจื่อ (莊子 ราว 369-286 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักปรัชญาเต๋าคนสำคัญเคยบรรยายเกี่ยวกับชีวิตและความตายเอาไว้อย่างลึกซึ้งว่า ชีวิตและความตายล้วนเกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาหนึ่งขณะสรรพสิ่งหมุนเวียน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรน่าหวาดหวั่น เป็นเพียงกฎแห่งธรรมชาติ ร่างกายมนุษย์เกิดจากลมปราณ (氣) ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
จวงจื่อ
—–ภายหลังมีนักอภิปรัชญา (ศาสตร์สาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา ว่าด้วยความแท้จริงของโลกและชีวิต) นามว่ากัวเซี่ยง (郭象 ค.ศ.252-312) ได้อธิบายแนวคิดเรื่องชีวิตและความตายของจวงจื่อเอาไว้ว่า การเกิดหรือการตายล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ เหมือนฤดูกาลทั้ง 4 ที่เป็นวัฏจักรหมุนเวียน ความเป็นและความตายเป็นสภาวะที่อยู่คู่กัน อยู่ที่ว่าจะมองจากมุมไหน
—–จวงจื่อเคยเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์เหมือนกับความฝันอย่างโรแมนติก ด้วยการระบุว่าชีวิตและความตายไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ความตายที่มนุษย์คิดว่ามืดมิดน่ากลัวอาจเป็นแสงสว่างอันงดงาม มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาจากผืนดิน และท้ายที่สุดก็ต้องกลับสู่ผืนดิน ความตายจึงไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า แต่เป็นความสุขที่น่ายินดี เช่นเดียวกับจวงจื่อที่บรรยายว่าตนเองฝันว่าเป็นผีเสื้อ หรือความจริงคือผีเสื้อซึ่งกำลังฝันว่าเป็นจวงจื่อกันแน่ มนุษย์ที่ไม่กลัวตายก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะชอบความตาย ถึงแม้จวงจื่อจะไม่แสดงออกว่ากลัวความตาย แต่ก็รักและหวงแหนชีวิตตนเองไม่แพ้ผู้อื่นแม้แต่น้อย แนวคิดดังกล่าวส่งผลต่อเนื้อหาในคัมภีร์ที่เขาเขียนอันเกี่ยวกับการใช้ชีวิตทั้งสิ้น
—–เมื่อมองภาพรวมแนวคิดเรื่องชีวิตและความตายในทัศนะของลัทธิเต๋าแล้ว จะเห็นว่าลัทธิเต๋าสอนให้มนุษย์ยอมรับความเป็นไปของธรรมชาติ รู้จักปล่อยวางและไม่ยึดติดสิ่งใด แม้แต่เรื่องความเป็นหรือความตายก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ให้ก้าวข้ามความคิดที่ยึดติดและไม่จำเป็นต้องหวาดกลัว เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะพบความสงบสุขอย่างแท้จริงคือหยั่งรู้และเป็นหนึ่งเดียวกับ ‘เต๋า’ อันเป็นอมตะ
ทัศนะของพุทธศาสนา ‘หลุดพ้นจากการเกิดและการตาย’
—–จากหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ พุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่แผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) โดยเจริญรุ่งเรืองสลับกับเสื่อมความนิยมตามยุคสมัย พุทธศาสนาที่แพร่หลายในประเทศจีนส่วนใหญ่เป็นแบบมหายาน ซึ่งแตกต่างจากแบบเถรวาทของประเทศไทย หลักสำคัญของพุทธศาสนามหายานคือการบำเพ็ญบารมีตามแนวทางพระโพธิสัตว์ เพื่อนำพาสรรพสัตว์สู่ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏให้หมดสิ้น
ภาพสังสารวัฏ หนึ่งในงานแกะสลักหินต้าจู๋
—–แนวคิดของพุทธศาสนามองว่าชีวิตคือความทุกข์ เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้วก็ต้องแบกรับความทุกข์ ซึ่งสะท้อนไปถึงมุมมองเรื่องชีวิตและความตายได้เป็นอย่างดี พุทธศาสนาแบบเถรวาทเชื่อว่าความทุกข์หลักๆ มี 4 ประการ ได้แก่
- เกิด (生)
- แก่ (老)
- เจ็บ (病)
- ตาย (死)
—–ทว่าพุทธศาสนามหายานมองว่าความทุกข์มีทั้งหมด 8 ประการ นอกจาก เกิด แก่ เจ็บ และตายแล้ว ยังมีอีก 4 ประการ ได้แก่
- ทุกข์เพราะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ (怨憎會) เช่น สามีภรรยาทะเลาะกัน เพื่อนผิดใจกัน แม่สามีกับลูกสะใภ้เขม่นกัน ฯลฯ
- ทุกข์เพราะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (愛別離) เช่น สูญเสียคนที่รักไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก หรือเพื่อนสนิท ฯลฯ
- ทุกข์เพราะผิดหวังจากความคาดหวัง (求不得) เช่น การอยากได้บางสิ่งบางอย่างแต่ไม่ได้ดั่งใจหวัง การรักคนที่เขาไม่ได้รักเรา ฯลฯ
- ทุกข์จากการรวมตัวของขันธ์ 5 (五蘊聚) ได้แก่ 1. รูป (色) 2. เวทนา (受) 3. สัญญา (想) 4. สังขาร (行) 5. วิญญาณ (識) เพราะหากไม่มีการรวมตัวของขันธ์ทั้ง 5 ก็ไม่มีที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งปวง
—–สาเหตุหลักของความทุกข์คือความทะเยอทะยาน อยากได้ อยากมี จนต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) ดังนั้นพุทธศาสนาจึงสอนหลักธรรมที่ช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ แต่การจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ต้องหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หากมิอาจหลุดพ้นก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏตลอดไป แนวคิดของพุทธศาสนามองว่าสาเหตุที่มนุษย์ต้องเป็นทุกข์มาจากตนเองทั้งสิ้น
—–หลังจากพุทธศาสนาเข้าสู่แผ่นดินจีนได้ราว 700 ปี ก็ผนวกรวมกับวัฒนธรรมของบางศาสนาที่มีอยู่เดิมในประเทศจีน โดยเฉพาะลัทธิเต๋า จนเกิดเป็น ‘พุทธศาสนานิกายเซน’ (แบบจีน) ซึ่งยึดหลัก ‘ค้นพบตนเองเพื่อเข้าสู่พุทธภาวะ’ (ธรรมชาติแห่งการรู้แจ้งของมนุษย์ทุกคนที่สามารถพัฒนาตนจนพ้นทุกข์ได้)
—–พระฮุ่ยเหนิง (慧能 ค.ศ. 638-713) ภิกษุมหายานผู้มีชีวิตสมัยราชวงศ์ถังเคยกล่าวว่า “มนุษย์สะอาดดั่งฟ้าใส” (世人性淨,猶如青天) และ “ความคิดฟุ้งซ่านเหมือนดั่งเมฆลอยปกคลุม บดบังธาตุแท้ตนเองจนไร้แสงสว่าง” (妄念浮雲蓋覆,自性不能明) ทั้งสองประโยคแฝงความหมายว่า หากผู้ใดผู้หนึ่งรู้สึกตัวและเข้าใจแก่นแท้ของชีวิต ผู้นั้นก็จะข้ามเข้าสู่เขตแดนของความหลุดพ้น แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะเข้าใจแก่นแท้ของชีวิตเพื่อจะหลุดพ้นจากความทุกข์ พุทธศาสนานิกายเซนสร้างวิธีบำเพ็ญเพียรง่ายๆ อย่างหนึ่ง เรียกว่า ‘การปล่อยวาง’ ทั้งนี้ การปล่อยวางมิใช่ไม่สนใจเรื่องใดๆ เลย แต่เป็นการฝึกจิตใจมิให้ได้รับผลกระทบจากสิ่งภายนอกที่เข้ามา ดังนั้นมนุษย์ไม่จำเป็นต้องหลีกหนีชีวิตประจำวัน เข้าป่า หรือทรมานตนเอง เพียงแค่ใช้ชีวิตประจำวันด้วยการปล่อยวางเท่านั้น
พระฮุ่ยเหนิง
—–นอกจากนี้ นิกายเซนยังมีแนวคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องมองความทุกข์ในชีวิตอย่าง ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ ว่าเป็นความทุกข์ แต่ขึ้นกับว่าตัวเองจะ ‘มีสติ’ หรือไม่ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงควรใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติโดยไร้ทิฐิ หาก ‘มีสติ’ ก็จะก้าวข้ามตนเอง ชีวิต และความตาย สามารถสลัดความทุกข์ออกไปจนเข้าสู่พุทธภาวะ และได้รับความสุขอันเป็นนิรันดร์
—–นิกายเซนไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตหลังความตายเหมือนกับพุทธศาสนาแบบอินเดีย แนวคิดบางอย่างใกล้เคียงกับลัทธิหรูและลัทธิเต๋า คือไม่มองว่าชีวิตและความตายคือความทุกข์ แต่มองว่าการใช้ชีวิตไม่เป็นหรือไม่ถูกต้องจึงนำไปสู่ความทุกข์
เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์