—–ชิงเต่า (青島) เป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นมีอิสระในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรซานตง มณฑลซานตง (山東省) ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับทะเลเหลือง (黃海) ทิศตะวันตกติดกับเมืองเหวยฟาง (濰坊) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับเมืองเยียนไถ (煙台) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเมืองยรื่อจ้าว (日照) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบชายฝั่งทะเล พื้นที่ลาดเอียงจากตะวันออกสู่ตะวันตก ตรงกลางเป็นแอ่งกระทะ มีพื้นที่ทั้งหมด 11,292 ตารางกิโลเมตร และประชากรกว่า 9 ล้านคน (ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2016) อีกทั้งยังมีชนกลุ่มน้อย 52 กลุ่ม อาศัยอยู่ 76,696 คน ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตอบอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปี 12.7 องศาเซลเซียส

—–ท้องที่ชิงเต่านี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่ยุคหินใหม่ก็มีกลุ่มชนมาตั้งรกรากและสืบสายอยู่ทางตอนปลายของที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห ขณะนั้นยังไม่ปรากฏชื่อเมืองชิงเต่า ท้องที่แห่งนี้มีบทบาทสำคัญเรื่อยมาในแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่น ในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇帝) เคยเสด็จประพาสเมืองหลางหยาไถ[1] (瑯琊台) อีกทั้งสวีฝู[2] (徐福) ได้เดินทางข้ามทะเลจากเมืองนี้ไปเกาหลีและญี่ปุ่น นับเป็นการเดินเรือข้ามทะเลครั้งแรกของประเทศจีนที่มีการบันทึกไว้ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) และราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) ท้องที่นี้มีความสำคัญในด้านการขนถ่ายสินค้าทางทะเลจากเหนือไปใต้ เป็นท่าเรือการค้าและศูนย์กลางการเดินทางริมทะเลทางภาคเหนือของจีน ในสมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271-1368) มีการขุดคลองเชื่อมต่อกับทะเลเพื่อเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างคาบสมุทรซานตง ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) และราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1644-1912) มีการก่อตั้งเมืองเจียวอ้าว (膠澳 ชื่อเดิมของเมืองชิงเต่า) เพื่อใช้เป็นป้อมปราการป้องกันตามแนวชายฝั่งทะเลที่สำคัญทางภาคเหนือของจีน จากนั้นใน ค.ศ. 1897 จักรวรรดิเยอรมันได้ยก “คดีสังหารมิชชันนารีชาวเยอรมันที่จวี้เหย่[3] (鉅野教案) มาเป็นเหตุบีบบังคับราชสำนักชิงให้ลงนามในสนธิสัญญาให้เช่าเมืองเจียวอ้าว《膠澳租界條約》เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1898 เมืองเจียวอ้าวจึงตกเป็นเขตเช่าของจักรวรรดิเยอรมันนับแต่นั้น แต่แล้วในยุคสาธารณรัฐจีน เมื่อ ค.ศ. 1914 สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น ญี่ปุ่นซึ่งประกาศสงครามกับเยอรมันได้บุกรุกและยึดครองเมืองเจียวอ้าวเพื่อใช้ประโยชน์ทางการทหารแทน

—–ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประชาชนชาวจีนได้ต่อสู้เพื่อแย่งชิงเมืองเจียวอ้าวกลับคืน จนนำมาซึ่งเหตุการณ์ “ขบวนการ 4 พฤษภา 1919” (五四運動) เดินขบวนคัดค้านมติขององค์การสันนิบาตชาติที่ให้ญี่ปุ่นมีสิทธิ์เหนือมณฑลซานตงทั้งหมดแทนเยอรมนี การเริ่มต้นเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ลุกลามไปทั่วประเทศจีนจนสามารถนำเมืองเจียวอ้าวกลับคืนมาได้ พร้อมเปิดเมืองท่า ก่อตั้งศาลาว่าการสำหรับดูแลควบคุมท่าเรือเมืองเจียวอ้าว

สถาปัตยกรรมยุโรปที่เมืองชิงเต่า

—–ใน ค.ศ 1930 เมืองเจียวอ้าวเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองชิงเต่า คำว่า ชิง (青) แปลว่า เขียว และคำว่า เต่า (島) แปลว่า เกาะ รวมหมายถึง เกาะแห่งความเขียวขจี เนื่องจากสมัยก่อนเมืองแห่งนี้ปกคลุมด้วยแมกไม้สีเขียวทั่วทั้งเมือง และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน แต่แล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกประเทศจีนและยึดเมืองชิงเต่าอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1938 ครั้นญี่ปุ่นแพ้สงคราม รัฐบาลก๊กมินตั๋ง (國民黨) ได้ปกครองเมืองชิงเต่าแทน ทว่าช่วงเวลานั้นกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาในท้องที่เมืองชิงเต่าโดยอ้างว่าจะช่วยดูแลความปลอดภัยให้แก่ประเทศจีน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1946 มีการเซ็นสนธิสัญญาการเดินเรือมิตรภาพเพื่อการค้าจีน-อเมริกา《中美友好通商航海條約》เพื่อให้กองทัพเรือสหรัฐฯ มีสิทธิผ่านน่านน้ำจีน จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น กองทัพสหรัฐฯ จำต้องถอนทหารออก เนื่องจากเมืองชิงเต่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งทางการค้า การทหารและความมั่นคงแห่งชาติ ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1949 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จึงได้เข้ามาปกครองเมืองชิงเต่าโดยสมบูรณ์นับแต่นั้นมา

—–ปัจจุบันชิงเต่าเป็นเมืองเศรษฐกิจและท่าเรือสากลที่มีชื่อเสียง เป็นเมืองต้นกำเนิดกีฬาเรือใบของประเทศจีนและมีการจัดการแข่งขันเรือใบในกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 2008 จนได้ชื่อว่า ‘เมืองแห่งเรือใบ’

—–นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ขึ้นชื่อคือเบียร์ชิงเต่า ซึ่งเป็นเบียร์อันดับ 1 ของประเทศจีน และส่งออกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ในเดือนสิงหาคมของทุกปีมีการจัดเทศกาลเบียร์นานาชาติชิงเต่าขึ้น นับเป็นเทศกาลเบียร์ระดับโลกรองจากเทศกาลเบียร์มิวนิกของประเทศเยอรมนี นอกจากมีเบียร์ที่ขึ้นชื่อแล้ว เมืองนี้ยังเป็นสถานที่พักตากอากาศอันเลื่องลือ เนื่องด้วยภูมิประเทศติดกับทะเลและภูเขา เกิดเป็นทัศนียภาพอันงดงามทางธรรมชาติ ประกอบกับมีบรรยากาศและสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปอยู่แทบจะทั่วเมือง จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สวิตเซอร์แลนด์แห่งตะวันออก’

เบียร์ชิงเต่า – เบียร์แห่งชาติจีน

—–เบียร์ชิงเต่า (青島啤酒) เป็นแบรนด์สากลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปีตั้งแต่จักรวรรดิเยอรมันเข้ายึดครองเมืองชิงเต่าและต้องการสร้างเมืองนี้เป็นนิคมต้นแบบ ในเวลานั้นชิงเต่าเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง และประเทศจีนก็ยังไม่มีเบียร์เป็นของตัวเอง หลังจากที่เยอรมันเข้ามาปกครองได้ซ่อมแซมถนน อาคารบ้านเรือน สร้างโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงแรมให้เป็นเมืองสไตล์ยุโรป และที่ขาดไม่ได้ก็คือโรงงานเบียร์

เบียร์ชิงเต่า

—–ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1903 จักรวรรดิเยอรมันได้ก่อตั้งโรงงานเบียร์ชื่อ ‘บริษัทเบียร์เยอรมัน’ (日耳曼啤酒公司) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจชาวเยอรมันกับนักธุรกิจชาวอังกฤษ (ปัจจุบันบริษัทตั้งอยู่อาคารเลขที่ 56 ถนนเติงโจวเมืองชิงเต่า) ได้เริ่มกลั่นเบียร์ดำรสชาติอ่อนแบบเบียร์ Pilsner ของเยอรมันและเบียร์ดำแบบมิวนิคจนเกิดเครื่องดื่มที่มีฟองขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีน ชาวเยอรมันเรียกว่า “Bier” คนจีนจึงเรียกว่า “Bier酒” (ใน ค.ศ. 1928 ได้ปรากฏคำจีนว่า ‘ผีจิ่ว’ (啤酒) เป็นครั้งแรกในบันทึก ‘เจียวอ้าวจื้อ’ หรือ ‘จดหมายเหตุเมืองเจียวอ้าว’《膠澳志》คำว่า ‘ผี’ (啤) เป็นตัวอักษรเลียนเสียงคำว่า BIERซึ่งชาวเมืองชิงเต่าประดิษฐ์ขึ้นมา และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองชิงเต่า)

—–ช่วงต้นของการก่อสร้างโรงงาน ไม่เพียงวัตถุดิบ อาทิ ข้าวบาร์เล่ย์ ดอกฮ็อพ ที่ต้องนำเข้าจากจักรวรรดิเยอรมัน แต่เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตก็ผลิตขึ้นจากโรงงานที่เมืองเคมนิส (Chemnitz) ในจักรวรรดิเยอรมันเช่นกัน ส่วนน้ำที่ใช้เป็นน้ำใต้ดินจากภูเขาเหลาซาน (嶗山) ซึ่งได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากเบอร์ลินว่าเป็นน้ำตามธรรมชาติที่มีคุณภาพดีเหมาะสำหรับการหมักเบียร์ การผลิตมีขั้นตอนควบคุมที่เข้มงวดระหว่างการหมักห้ามมีสิ่งเจือปน ต้องอยู่ภายใต้อุณหภูมิต่ำ เมื่อผ่านกระบวนการหมักโดยธรรมชาติ 45 วัน เบียร์จะมีกลิ่นข้าวบาร์เล่ย์และดอกฮ็อพอย่างชัดเจน กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานชั้นเยี่ยมนี้ ทำให้เบียร์ชิงเต่าได้รับรางวัลชนะเลิศในงานเทศกาลเบียร์มิวนิกใน ค.ศ. 1906 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อุตสาหกรรมเบียร์ของจีนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ

โฆษณาเบียร์ชิงเต่าบนหนังสือพิมพ์ในอดีต

—–หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดและจักรวรรดิเยอรมันแพ้สงคราม ญี่ปุ่นจึงเข้ามาปกครองชิงเต่าพร้อมกับเข้าซื้อโรงงานเบียร์แห่งนี้ และเปลี่ยนชื่อเป็น Dai Nippon Beer Company ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลก๊กมินตั๋งได้เข้ามาบริหารโรงงานเบียร์แทน และถ่ายภาพยนตร์โฆษณาเรื่องแรกขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1947 (ฟิล์มถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เบียร์ชิงเต่า) ภาพยนตร์ดังกล่าวได้บันทึกกระบวนการผลิตในปีนั้นไว้ว่า ตอนแรกนำข้าวบาร์เล่ย์มาบดให้ละเอียดแล้วต้มกับน้ำในหม้อขนาดใหญ่ จากนั้นนำเบียร์ที่ได้ไปหมักและเก็บไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเป็นเวลา 2 เดือน จึงจะได้เบียร์รสชาติดี

—–ใน ค.ศ. 1949 รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาปกครองชิงเต่า และเปลี่ยนชื่อโรงเบียร์เป็นรัฐวิสาหกิจเบียร์ชิงเต่า (State Tsingdao Brewery) จนกระทั่งปี 1993 จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นบริษัทเบียร์ชิงเต่า จำกัด (青島啤酒股份有限公司)

—–อนึ่ง ใน ค.ศ. 1950 มีการทดลองปลูกฮ็อพด้วยตัวเองขนาด 32 เอเคอร์ที่เขตหลี่ชุน (李村) เมืองชิงเต่าซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตเบียร์ (ขณะนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ) จนเป็นแหล่งกำเนิดดอกฮ็อพแห่งแรกของประเทศจีน พร้อมกับได้รับสมญานามว่า ‘บุปผชาติแห่งชิงเต่า’

—–นอกจากนั้น ยังมีการส่งเบียร์เข้าประกวดในงานแข่งขันเบียร์นานาชาติหลายครั้งและกวาดรางวัลชนะเลิศหลายรายการ เช่น งานเทศกาลเบียร์นานาชาติที่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา (ส่งผลให้เบียร์ชิงเต่าเป็นเบียร์เอเชียที่ขายดีที่สุดในสหรัฐฯ) งานแข่งขันเบียร์นานาชาติเอ็ดมันตันที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

—–ใน ค.ศ. 2006 นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) จัดให้บริษัทเบียร์ชิงเต่าอยู่ในอันดับ 68 จากจำนวน 200 บริษัททั่วโลกที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุด และใน ค.ศ. 2005 กับ 2008 หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) ก็คัดเลือกให้เบียร์ชิงเต่าเป็น 1 ใน 10 แบรนด์ชั้นนำของจีน เบียร์ชิงเต่าจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้นและโด่งดังจนกลายเป็นเบียร์ระดับโลก

พิพิธภัณฑ์เบียร์ชิงเต่า

—–พิพิธภัณฑ์เบียร์ชิงเต่า (青島啤酒博物館) เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ 4A ตั้งอยู่เลขที่ 56 ถนนเติงโจว อันเป็นแหล่งกำเนิดของเบียร์ชิงเต่า มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการราว 6,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างกว่า 5 ล้านหยวน ภายในพิพิธภัณฑ์ได้ประมวลเทคโนโลยีการผลิตทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาเบียร์ในช่วงเวลา 100 ปี และแสดงถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เทคโนโลยีการผลิต อีกทั้งยังมีกิจกรรมบันเทิงและแหล่งช้อปปิ้งที่เกี่ยวกับเบียร์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เปิดเป็นทางการเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ยี่ห้อชิงเต่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2003

โรงงานเบียร์ชิงเต่าในอดีตและปัจจุบัน

—–ต่อมาใน ค.ศ. 2013 ได้ทุ่มทุนกว่า 10 ล้านหยวน เพื่อปรับปรุงและยกระดับพื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้างมา 10 ปีจนสำเร็จ เหมือนเป็นการชุบชีวิตเบียร์ชิงเต่า 100 ปีให้รุ่งเรืองอีกครั้ง เตรียมพร้อมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศที่แวะมาเยี่ยมชม

—–พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือ ส่วน A เป็นส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 100 ปี จัดแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับเบียร์ วงจรพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเบียร์ประเทศจีนกับเบียร์ชิงเต่า มีการแสดงข้อมูลรายละเอียดตามช่วงเวลาผ่านรูปภาพที่สวยงาม เพื่อให้เข้าใจการกำเนิดของเบียร์ รวมทั้งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของเบียร์จีน สิ่งล้ำค่าในส่วนนี้คือหนังสือรับรองการจดทะเบียนการค้าฉบับแรกเริ่มและฟิล์มโฆษณาที่เก่าแก่ที่สุด (ถ่ายทำเมื่อ ค.ศ. 1947)

อุปกรณ์การผลิตเบียร์ในอดีต

—–ส่วน B เป็นส่วนเทคโนโลยีการกลั่นเบียร์ชิงเต่า เปิดให้เยี่ยมชมความลับทางเทคโนโลยีการกลั่นเบียร์ 100 ปี และอุปกรณ์การกลั่นสมัยโบราณอันล้ำค่า สามารถศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการกลั่นเบียร์ได้จากสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานจริง มีการใช้เทคนิคฮอโลแกรม (hologram) เพื่อช่วยในการสาธิต ตัวอย่างบ่อหมักเบียร์แบบดั้งเดิม สายการผลิตเบียร์ยุคปัจจุบันและอุปกรณ์การผลิตระบบอัตโนมัติประสิทธิภาพสูง เพื่อเป็นประจักษ์พยานของพัฒนาการเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมเบียร์ของประเทศจีน สิ่งล้ำค่าในส่วนนี้คือมอเตอร์รุ่นคุณปู่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน และหม้อต้มน้ำตาลรุ่นคุณย่าที่ทำด้วยทองแดง

—–ส่วน C เป็นส่วนอเนกประสงค์ ชั้นที่ 1 เป็นศูนย์การค้าและพื้นที่ชิมผลิตภัณฑ์เบียร์ รับรองลูกค้าได้กว่า 200 คน มีบริการให้ลิ้มลองเบียร์ชิงเต่าแบบดั้งเดิมและสดใหม่ที่สุด สามารถซื้อสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับเบียร์ชิงเต่าหลากหลายชนิด ชั้นที่ 2 มีห้องแลกเปลี่ยนความรู้และห้องสันทนาการต่างๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้พักผ่อนอย่างเพลิดเพลิน

 

[1]เมืองหลางหยาไถเป็นเมืองที่จักรพรรดิจิ๋นซีเคยเสด็จประพาสถึง 3 ครั้ง เพื่อเสาะหายาอายุวัฒนะ และเป็นจุดที่ทรงส่งสวีฝูออกทะเลไปแสวงหายาอายุวัฒนะจากแดนไกล อีกทั้งยังทรงสร้างและซ่อมแซมเมืองขนานใหญ่เพื่อย้ายประชาชนเข้ามาอาศัย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองหลางหยา (琅琊镇) เขตหวงเต่า (黄岛区) เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง

[2]สวีฝู ขุนนางในสมัยราชวงศ์ฉิน ได้รับพระบัญชาจากจักรพรรดิจิ๋นซีให้ออกทะเลไปสืบหายาอายุวัฒนะ แต่ค้นหาที่ไหนก็ไม่พบ ค้นหาอยู่หลายปี จน 210 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้พบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีสภาพอากาศอบอุ่น คนท้องถิ่นเป็นมิตร จึงได้ตั้งหลักแหล่งที่นั่น สอนการเพาะปลูก ตกปลาแก่ชาวท้องถิ่น แล้วไม่กลับไปรัฐฉินอีกเลย (มีการสันนิษฐานว่า สถานที่ซึ่งสวีฝูไปพบคือประเทศญี่ปุ่น)

[3]คดีสังหารมิชชันนารีชาวเยอรมัน (巨野教案) เกิดขึ้นหลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 จีนลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับมหาอำนาจ 4 ชาติ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา จีนต้องเป็นดินแดนในอาณัติของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ค.ศ. 1896 มหาอำนาจ 4 ชาติเข้ามาแบ่งเขตการปกครองประเทศจีนตามอำเภอใจ แทรกแซงทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ จนกระทั่งมิชชันนารีที่อำเภอจวี้เหย่ (เมืองเหอเจ๋อ 菏泽 มณฑลซานตงในปัจจุบัน) ใช้อำนาจบาตรใหญ่ กระทำการรีดไถ ก่อกรรมทำเข็ญมากมาย ราชสำนักชิงก็เข้าข้าง ประชาชนจึงเกิดความโกรธแค้น ถึงขั้นลุกฮือขึ้นสังหารบาทหลวงชาวเยอรมัน 2 คน เยอรมันเลยยกเป็นข้ออ้างในการยึดครองพื้นที่แถบมณฑลซานตงของจีน

 

เรื่องโดย เสี่ยวเฉิน